ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจที่ดี ไม่ใช่การตัดสินใจที่สมบูรณ์แบบ
การตัดสินใจที่ “ดีพอ” จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
ในขณะที่การยึดติดกับความสมบูรณ์แบบจะทำให้การตัดสินใจของคุณหยุดชะงัก
ซึ่งการปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นต้องอาศัยการตัดสินใจและลงมือทำ
( – จากหนังสือหน้า 61 )
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
Dr.Julie Smith
นักจิตวิทยาคลินิกผู้ให้คำปรึกษาผู้คนหลากหลายแวดวงมามากกว่า 10 ปี
ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ ผู้ประกอบการ หรือนักกีฬาอาชีพ
นอกจากนี้ เธอยังให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตบนแพลตฟอร์มออนไลน์
และได้รับการกล่าวถึงมากมายผ่านสื่อต่างๆ
เช่น หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ นิตยสารวีเมนส์ เฮลธ์
เว็บไซต์ข่าวสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น และรายการ BBC Breakfast
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือจิตวิทยาฉบับกระชับที่รวบรวมสาเหตุของปัญหาทางด้านความคิดและจิตใจซึ่งจะช่วยให้เราทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีการรับมือที่สอดคล้องกับปัญหาเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเครียด อารมณ์เชิงลบ หรือความวิตกกังวลต่อเป้าหมายของชีวิต
: เนื้อหาแบ่งออกเป็น 8 บทใหญ่ที่บรรจุเรื่องราวแยกย่อยไว้ภายในบท และสามารถอ่านจบได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก ได้แก่
(1)ด้านที่มืดมน – ทำความเข้าใจภาวะจิตตก / ระวังหลุมพรางทางอารมณ์ / ตัวช่วย / เปลี่ยนวันแย่ๆ เป็นวันดีๆ / ใส่ใจปัจจัยพื้นฐาน
(2)แรงจูงใจ – ทำความเข้าใจแรงจูงใจ / วิธีหล่อเลี้ยงแรงจูงใจ / คุณบังคับตัวเองให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำในตอนนั้นได้อย่างไร / การเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่ควรเริ่มจากตรงไหน
(3)ความเจ็บปวดทางอารมณ์ – ทำให้มันหายไปที! / จัดการกับอารมณ์อย่างไร / การใช้ประโยชน์จากพลังของถ้อยคำ / การช่วยเหลือคนอื่น
(4)ความโศกเศร้า – ทำความเข้าใจความโศกเศร้า / ลำดับขั้นของความโศกเศร้า / ภารกิจที่ต้องทำเมื่อโศกเศร้า / เสาหลักของความเข้มแข็ง
(5)ความสงสัยในตัวเอง – การรับมือกับคำวิจารณ์และการไม่เป็นที่ยอมรับ / กุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นใจ / ความผิดพลาดไม่ใช่ตัวตนของคุณ / ดีพอ
(6)ความกลัว – ทำให้ความวิตกกังวลหายไปที! / สิ่งที่เราทำซึ่งส่งผลให้ความวิตกกังวลยิ่งแย่ลง / วิธีบรรเทาความวิตกกังวลแบบเร่งด่วน / วิธีจัดการความคิดวิตกกังวล / ความกลัวในสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
(7)ความเครียด – ความเครียดต่างจากความวิตกกังวลหรือไม่ / การลดความเครียดไม่ใช่ทางออกเดียว / เมื่อความเครียดที่ดีกลายเป็นร้าย / ทำให้ความเครียดกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ / การรับมือกับความเครียดในช่วงเวลาสำคัญ
(8)ชีวิตที่เปี่ยมความหมาย – ปัญหาของคำพูดที่ว่า “ฉันแค่อยากมีความสุข” / ค้นหาสิ่งที่สำคัญต่อตัวเอง / การสร้างชีวิตที่มีความหมาย / ความสัมพันธ์ / เมื่อไหร่ที่ต้องขอความช่วยเหลือ
: จุดเด่นของหนังสือที่นอกจากความกระชับและไม่แทรกรายละเอียดเชิงลึกของการทดลองทางจิตวิทยาในเนื้อหาแต่ใช้วิธีรวบรวมแหล่งข้อมูลอ้างอิงไว้ในหมายเหตุแล้ว ผู้เขียนยังมีตัวอย่างคำถามซึ่งใช้เป็นแบบฝึกหัดทบทวนตัวเองในบางบทเรียนให้และเครื่องมือพร้อมใช้ (แผนภาพสำหรับการสำรวจตนเอง) ไว้ท้ายเล่ม นอกจากนี้ยังมีใจความสรุปไว้ในช่วงท้ายแต่ละบทซึ่งทำให้เราจับประเด็นความสำคัญสิ่งที่ต้องโฟกัสได้ง่ายขึ้นไปอีก
: เล่มนี้เป็นเล่มที่เราตัดสินใจซื้อจากการได้อ่านสารบัญของหนังสือแล้วรู้สึกว่าเป็นปัญหาและสิ่งที่อยู่ในความสนใจเราแทบทั้งหมด และเมื่อได้อ่านก็ค้นพบว่าเป็นหนังสือที่สามารถใช้เป็นชุดเครื่องมือเพื่อการตรวจสอบสภาพจิตใจและความคิดของตัวเองได้ดี เหมาะกับมีติดไว้และขีดเขียนใช้งานมันให้เต็มที่
: ความคิดเห็นส่วนตัวเพิ่มเติม เล่มนี้มีการทำงานที่คล้ายกันกับหนังสือ ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ (Emotional First Aid) ของ Guy Winch ในความคิดเรา โดยเล่มนี้จะครอบคลุมภาพกว้างแต่ไม่ลึก คือมีการแยกย่อยปัญหาออกมาและสรุปไว้เป็นใจความแบบกระชับ ในขณะที่ 'ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ' จะค่อนข้างชี้เฉพาะไปที่เรื่องบาดแผลทางอารมณ์และภาพสะท้อนของพฤติกรรมที่มาพร้อมคำแนะนำเพื่อช่วยเยียวยาตนเองเบื้องต้นได้
สำหรับผู้ที่มีความสนใจในการพัฒนาพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเองมีแนวโน้มที่จะหันกลับมาใส่ใจถึงปัญหาและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจของตนเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อก้าวสู่เส้นทางเป้าหมายของชีวิตที่วางไว้ หรือเพียงเพราะสงสัยใคร่รู้และต้องการฟื้นฟูเยียวยาหัวใจตัวเองเบื้องต้น แต่หลักจิตวิทยาก็ได้กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่ถูกปักไว้เพื่อนำไปสู่หนทางเหล่านั้น
ในความเป็นจริงที่เราประสบทุกวันนี้ คือการที่มีหนังสือจิตวิทยาพัฒนาตนเองมากมายเหลือเกิน และข้อมูลความรู้ก็มีอยู่อย่างดาษดื่นเหลือเกิน แล้วจะค้นพบทางออกได้จากแหล่งไหนกันแน่? … เราอยากชวนลองหยิบหนังสือเล่มนี้มาเปิดอ่านดูสักรอบ
หยุดมองว่าอารมณ์ใดเป็นมิตร อารมณ์ใดเป็นศัตรู
บทเรียนหนึ่งที่เราชื่นชอบจากหนังสือจนต้องจดจำไว้ให้ขึ้นใจ นั่นคือการอธิบายว่าอารมณ์ของมนุษย์เราไม่ใช่ความจริง! แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริง เราสัมผัสถึงมันได้จริง แต่มันไม่ใช่ความจริงของเรื่องราวทั้งหมด อารมณ์คือสิ่งที่สมองมนุษย์สร้างขึ้นเพื่อพยายามอธิบายความหมายของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกรอบตัว และมันรับรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากประสาทสัมผัสของเราทั้งหลายและระบบการทำงานภายในร่างกายของเรา ฉะนั้นวิธีหยุดยั้งไม่ให้สมองรับข้อมูลไปผิดๆ จนนำไปสู่อารมณ์ที่ผกผันไปจากความเป็นจริงนั่นก็คือการตั้งคำถาม ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เราสัมผัสถึงมันอยู่ตอนนี้เกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด มีสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้น สังเกตสิ่งรอบตัวให้มากที่สุดโดยเฉพาะสภาวะทางร่างกาย เพื่อรับรู้ถึงมันและดูว่าสิ่งเหล่านั้นพยายามจะสื่ออะไร
เส้นทางที่ถูกแผ้วถางไว้แล้วย่อมเดินได้ง่ายกว่า
อีกหนึ่งเหตุผลที่หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมคนเราถึงเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิมได้ยากเย็นนัก ผู้เขียนให้ลองจินตนาการภาพสมองของเราว่าเป็นป่ารก เส้นทางที่ถูกเหยียบย่ำหรือใช้อยู่เป็นประจำย่อมราบเรียบและเดินง่ายกว่าทางที่ยังไม่เคยไป เพราะฉะนั้นกิจวัตรที่เราทำอยู่เป็นประจำย่อมช่วยประหยัดพลังงานสมอง ขณะที่การทำสิ่งใหม่ต้องอาศัยพลังงานมากกว่า นั่นทำให้ในเวลาที่เราเครียดหรืออ่อนล้า พฤติกรรมของเราจึงมีแนวโน้มที่จะทำสิ่งที่ทำจนเคยชินโดยอัตโนมัติ (เรื่องพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากความเคยชินนี้มีหนังสือของ Charles Duhigg ชื่อ The Power of Habit อธิบายไว้ได้ดีมาก ใครสนใจลองหามาอ่านเพิ่มเติมได้ค่ะ)
ทางออกในการเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงควรทำให้สมองของคุณไม่รู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวยุ่งยากเกินไป เช่น การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรมนั้นๆ หรือการกำหนดแผนการที่ชัดเจน ตลอดจนให้รางวัลเมื่อตัวเองทำสำเร็จ (เรานึกไปถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เจาะลึกเนื้อหาวิธีการสร้างหรือเลิกนิสัยของตนเอง นั่นคือ Atomic Habits ของ James Clear) นอกจากนี้การตระหนักถึงความสำคัญที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงก็มีส่วนช่วยให้เราไปต่อแม้จะท้อจนอยากล้มเลิกกลางคันได้ด้วย
ทางลัดที่ไวที่สุดในการส่งสัญญาณบอกสมองว่าคุณปลอดภัยดี
อารมณ์และความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการที่สมองรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยมันจึงแจ้งเตือนให้คุณพยายามหาทางออกจากสถานการณ์(ที่มันเข้าใจว่า)เลวร้ายเหล่านั้น ผู้เขียนได้แนะนำวิธีหนึ่งที่ช่วยส่งสัญญาณไปยังสมองว่าคุณไม่เป็นไรได้อย่างรวดเร็วที่สุดนั่นคือการใช้ประสาทสัมผัสการรับกลิ่น เราอาจสำรวจว่ากลิ่นใดที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นได้ บางทีอาจเป็นกลิ่นสมุนไพรอ่อนๆ ที่เราคุ้นชินเมื่ออยู่ในบ้าน หรือกลิ่นน้ำหอมของคนรัก จากนั้นจงใช้มันปลอบประโลมความตื่นตูมของสมองเพื่อช่วยให้คุณรู้สึกสงบและผ่อนคลายความคิดเชิงลบที่เกิดขึ้น
ค่านิยม = ตัวตนที่อยากเป็น + หลักการที่ยึดมั่น
หากมีบางครั้งที่รู้สึกคับข้องใจในชีวิตหรือไม่มั่นคงบนเส้นทางที่เลือกเดิน อาจเป็นเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนค่านิยมของตนเองอีกครั้ง เนื่องจากชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกนาที ประสบการณ์ที่พบเจอทำให้เราเติบโตขึ้นและมีมุมมองแตกต่างไปจากเดิมได้ ลองกลับมาทำความเข้าใจกับความเชื่อของตนเองอีกครั้งว่าเราอยากเป็นแบบไหนและสิ่งใดที่มีความสำคัญกับตัวเราในตอนนี้
เราชอบการอธิบายภายในหนังสือเกี่ยวกับ ‘ค่านิยม’ และ ‘เป้าหมาย’ ซึ่งมันดูคล้ายกันและอาจทำให้สับสนอยู่บ้าง ความแตกต่างก็คือ สิ่งที่เป็นเป้าหมาย เราสามารถบรรลุมันและจบสิ้นได้ครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วก็ตั้งเป้าหมายใหม่ แต่ค่านิยมไม่ใช่รูปแบบการกระทำ มันคือชุดความคิดที่จะทำให้เราพึงพอใจระหว่างการพยายามไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เพราะฉะนั้นใครบางคนจึงอาจทำตามเป้าหมายได้สำเร็จแต่กลับไม่มีความสุข นั่นเป็นเพราะสาเหตุมาจากการที่เขาใช้ชีวิตไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตนนั่นเอง
3 ข้อสรุปที่เราจะทดไว้ในใจหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้
หนังสือทุกเล่มจะมีผู้คนได้รับแง่มุมที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับการให้ความสนใจของแต่ละคน สำหรับเราแล้ว 3 สิ่งล้ำค่าที่ได้จากหนังสือเล่มนี้และคิดว่ามันเป็นประโยชน์มาก คือ
- การตั้งคำถาม เมื่อใดก็ตามที่สังเกตว่าความรู้สึกหรืออารมณ์เชิงลบมาเยือน ให้สำรวจสภาพแวดล้อมและร่างกายของตนเองพร้อมกับตั้งคำถามถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นรวมถึงสิ่งที่รับรู้ได้ในขณะนั้น เช่น ตอนนี้กำลังเกิดเหตุการณ์อะไร ร่างกายของเราเป็นอย่างไร ซึ่งการจะตั้งคำถามถึงสิ่งเหล่านี้ได้เราจำเป็นจะต้องมีข้อถัดไป นั่นคือ…
- การอยู่กับปัจจุบัน โดยอาจใช้วิธีทำสมาธิเจริญสติเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ (หรือง่ายกว่านั้นเพียงแค่ลองนั่งหายใจเข้า-ออกลึกๆ ยาวๆ และถ้ายิ่งหายใจออกนานกว่าหายใจเข้าก็จะยิ่งช่วยให้สมองรู้สึกสงบมากขึ้น)
- การระบายเป็นข้อความ หากมีสิ่งต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในหัวและไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จงเขียนมันออกมาเพื่อให้ตนเองได้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและตระหนักได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น การแปรความสิ่งที่สับสนให้เห็นภาพจะช่วยเว้นระยะห่างการคลุกอยู่ในห้วงความคิดได้ และจะเห็นได้ว่าแบบทบทวนภายในเล่มจำนวนมากแนะนำให้คุณใช้วิธีจดบันทึก
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นสำคัญคือการสร้างพื้นที่และแนวทางให้เราได้ทบทวนเกี่ยวกับตัวเองเพื่อช่วยทำความเข้าใจคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งบางขณะเราก็รู้สึกเปราะบางจนไม่อาจรับมือไหว และด้วยการพยายามทำความเข้าใจผ่านมุมมองเชิงจิตวิทยารวมถึงภาพรวมระบบการทำงานของร่างกาย มันจึงช่วยสร้างการรับรู้และบรรเทาความหวาดกลัวจากเรื่องที่ไม่อาจเข้าใจได้กับสิ่งที่ตัวเองเป็นในบางครั้ง
แต่มนุษย์เราคงไม่อาจหาคำตอบได้จากทุกคำถามที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ และบางทีมันอาจไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น
รู้แค่เพียงสิ่งสำคัญก็พอแล้ว
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“วิชาสำคัญที่คุณควรรู้ก่อนที่ชีวิตจะสอนคุณ (Why Has Nobody Told Me This Before?)”
ผู้เขียน : Dr.Julie Smith
(ดุษฎี สืบแสงอินทร์ แปล)
จำนวนหน้า : 346 หน้า / ราคาปก : 325 บาท
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น
หมวด : จิตวิทยา