ชุดหนังสือที่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของหนังสือแปลหมวดจิตวิทยาพัฒนาตนเอง
ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2493 และได้กลายเป็นหนังสือขายดีของยุคอย่างไม่มีใครคาดคิด
เนื้อหาบางส่วนยังคงร่วมสมัย คลับคล้ายว่าพื้นฐานข้างในตัวตนของมนุษย์เราไม่ได้เปลี่ยนไปเลย
ไม่ว่าจะการชนะใจมิตรหรือจูงใจคน – แก่นแกนคำตอบ “สำคัญ” กลับเป็นคำสั้น ๆ คำเดียว
- ✒️ ประวัติผู้เขียน เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie)
- ✒️ อาลัยแด่ผู้แปล อาษา ขอจิตต์เมตต์
- 🎯 มุมมองสรุป
- เพราะยังไม่มีการสอน เขาจึงลงมือสร้าง
- การที่จะทำให้บุคคลผู้นั้นรู้สึกสำคัญได้ ต้องทำอย่างไรบ้าง?
- การจูงใจคน ต้องสร้างจากความรู้สึก
- จุดแข็งของหนังสือ เดล คาร์เนกี แม้ตีพิมพ์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ
- 🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
- สนใจ Boxset หนังสือ 🛒 CLICK 🛒
- อ่านรีวิวหนังสือเล่มอื่น ๆ ใน Boxset เดียวกัน
✒️ ประวัติผู้เขียน เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie)
เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) (ค.ศ. 1888 – 1955) นักเขียน ครู และนักพูดชาวอเมริกัน ผู้พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาตนเอง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทักษะการขาย ทักษะองค์กร และการพูดในที่สาธารณะ วัยเด็กของเขาเติบโตขึ้นอย่างแร้นแค้นในรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา แม้จะลำบากและท้อถอยจนคิดฆ่าตัวตาย เขาก็ผ่านพ้นทุกช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ กระทั่งเริ่มต้นศึกษาวิชามากมายระหว่างการประกอบอาชีพเป็นคนเดินตลาด และทะยานสู่การเป็นมือหนึ่งจากการขายสินค้าในถิ่นทุรกันดาร ก่อนตัดสินใจลาออก และมาประกอบวิชาชีพครูสอนการพูดในท้ายที่สุด ด้วยเชื่อมั่นในความสามารถนี้ของตน หลักสูตรนี้ได้กลายเป็นที่ต้องการอย่างแพร่หลายเนื่องด้วยเป็นการสอนที่สามารถปฏิบัติได้จริง ผิดกับวิชาเรียนอื่นในสมัยนั้นที่ล้วนเต็มไปด้วยหลักวิชาการทางตำรา
✒️ อาลัยแด่ผู้แปล อาษา ขอจิตต์เมตต์
อาษา ขอจิตต์เมตต์ ✒️ (ค.ศ.1908 – 1976) เกิดที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช สนใจภาษาอังกฤษมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม ด้วยนิสัยรักการอ่าน แต่วรรณกรรมในสมัยนั้นยังมีไม่มากนัก อาษาจึงต้องพยายามศึกษาด้วยตนเองเพิ่มเติมเพื่ออ่านวรรณกรรมชั้นเยี่ยมของต่างประเทศ และจากความพยายามพร้อมด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านภาษา อาษาจบวิชาการบัญชีสากลโดยเรียนทางไปรษณีย์ จากซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทำงานประจำเป็นเวลานานถึง 13 ปีจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จึงลาออกและยึดอาชีพแต่งและแปลหนังสือเลี้ยงครอบครัว ผลงานการแปลหนังสือชุดนี้ทำให้อาษาได้รับการขนานนามในฐานะนักแปลผู้สร้างมิติใหม่ให้แก่วงการหนังสือ ถือเป็นต้นตำรับหนังสือประเภทจิตวิทยาพัฒนาตนเองของประเทศไทย และทำให้ เดล คาร์เนกี เจ้าของผลงานเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อขอบคุณ (ข้อมูลประวัติจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย)
🎯 มุมมองสรุป
: วิธีชนะมิตรและจูงใจคน ฉบับแปลไทยนี้ยังคงสำนวนการแปลดั้งเดิมเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้แปลแต่ไม่ได้ยากต่อการทำความเข้าใจนักเนื่องด้วยภาพรวมมีการสื่อความที่ตรงไปตรงมา อาจมีเฉพาะบางคำที่แปลในรูปแบบสมัยนั้นซึ่งอ่านไปสักพักจึงจะรู้ว่าหมายความถึงอะไร : เนื้อหาหลักแบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 ตอน ได้แก่ (1) เทคนิคสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้อื่น (2) วิธีปฏิบัติหกประการเพื่อทำให้ผู้อื่นชอบท่าน (3) วิธีปฏิบัติสิบสองประการเพื่อให้ผู้อื่นคล้อยตามแนวความคิดของท่าน (4) วิธีปฏิบัติเก้าประการเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้อื่นโดยไม่ให้มีความรู้สึกบาดหมาง หรือก่อให้เกิดความรู้สึกขุ่นเคือง (5) จดหมายซึ่งบันดาลผลมหัศจรรย์ (6) วิธีปฏิบัติเจ็ดประการเพื่อทำให้ชีวิตในครอบครัวของท่านมีความสุขยิ่งขึ้น : แต่ละตอนมีบทเรียนย่อยที่นำเสนอไว้ได้อย่างเข้าใจง่ายจากการยกตัวอย่างถึงกรณีศึกษาต่าง ๆ ทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับบุคคลสำคัญในยุคสมัยนั้น และประสบการณ์ตรงของนักศึกษาที่มาลงเรียนวิชาการพูดกับ เดล คาร์เนกี ซึ่งการยกตัวอย่างแบบหลังนี้ทำให้การถ่ายทอดของเขาเข้าถึงผู้อ่านได้เป็นอย่างดีเพราะสามารถประยุกต์ใช้ตามได้ง่ายกว่าในความคิดของเรา : ท้ายบทเรียนมีการสรุปย่อใจความสำคัญอย่างกระชับช่วยให้ผู้อ่านได้ทบทวนอีกครั้งก่อนไปบทเรียนถัดไป และยังทำให้สามารถกลับมารื้อฟื้นการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นด้วย : เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเทคนิคและกลวิธีในการสร้างมิตรและโน้มน้าวใจคน ด้วยการเรียนรู้พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ภายในเล่มที่ถูกนำมาผนวกรวมกันแล้วสร้างออกมาเป็นเทคนิควิธีการต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่แนวปฏิบัติต่อผู้อื่นได้อย่างแยบคาย : ในความรู้สึกของเรา เดล คาร์เนกี เป็นผู้ที่นำเสนอพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งมาก บทเรียนของเขาล้วนอ้างอิงจากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่มีอยู่แทบจะในทุกผู้ทุกคนก็ว่าได้ นั่นทำให้เทคนิคที่เขาถ่ายทอดยังคงใช้ได้จริงไม่มากก็น้อยแม้จะผ่านพ้นมาหลายทศวรรษ
เพราะยังไม่มีการสอน เขาจึงลงมือสร้าง
มนุษย์แต่ละคนมีสภาพแวดล้อมที่เติบโตมาต่างกัน เดล คาร์เนกี เป็นเด็กชายที่เกิดในครอบครัวที่ไม่ร่ำรวย และตลอดชีวิตในวัยเด็กของเขาล้วนเต็มไปด้วยความยากลำบากในการจะเข้าถึงการศึกษา และไม่ใช่ว่าเขาไม่เคยท้อถอย ความรู้สึกที่ย่ำแย่จนถึงขนาดคิดสั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น แต่ด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งและความทะเยอทะยานก็ทำให้เขาเลือกไปต่อกับชีวิต ดังที่โลเว็ลล์ ทอมมัส บุคคลสำคัญในวงการสื่อของยุคเดียวกันได้ยกย่องให้เขาเป็นหนึ่งในผู้สร้างความก้าวหน้าทางด้านการศึกษาจากการเปิดสอนหลักสูตรวิชาการพูดในที่ชุมนุมเป็นของตัวเอง
จากความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดวิชา เดล คาร์เนกี ได้มองเห็นถึงจิตใจลึก ๆ ของมนุษย์ที่ไม่ได้ต้องการแค่การพูดเป็นเท่านั้น หากแต่ยังต้องการสานสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ว่าจะในแง่การทำงานหรือชีวิตประจำวันอีกด้วย แต่สมัยนั้นยังไม่มีหนังสือที่จะใช้สอนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เขาจึงตัดสินใจเขียนขึ้นมาเอง โดยลงมือค้นคว้าศึกษาทุกเรื่องราวเท่าที่หาได้ ตั้งแต่นิตยสารพ่อแม่ บันทึกคดีหย่าร้างของศาล ชีวประวัติของบุคคลสำคัญ และหนังสือที่แต่งโดยศาสตราจารย์อีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือของ อัลเฟร็ด แอ็ดเลอร์ จิตแพทย์ชาวออสเตรียผู้เผยแพร่หลักจิตวิทยาปัจเจกบุคคล (หรือจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ ซึ่งถูกนำเสนออย่างน่าสนใจในหนังสือชุด 2 เล่มชื่อดัง นั่นคือ กล้าที่จะถูกเกลียด เล่ม 1 และเล่ม 2) ประกอบกับเรื่องราวของนักศึกษาในชั้นเรียน แล้วจึงนำมาเขียนเป็นบทสรุปทฤษฎีที่สร้างความเข้าใจได้อย่างง่ายดายเล่มนี้
แกนหลักที่ เดล คาร์เนกี นำเสนอไว้ให้เป็นพื้นฐานไม่ว่าคุณจะเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคใดก็ตาม คือจงพึงระลึกไว้เสมอว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีความปรารถนาที่จะเป็นคนสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้นทุกเทคนิคและกฎภายในเล่มจึงเปรียบเสมือนเชือกที่ดึงออกมาจากม้วนเดียวกัน ความสามารถของเชือกในการผูก มัด ถัก ทอ สิ่งต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยการตระหนักถึงหลักการข้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีทำให้ผู้อื่นชอบเรา วิธีจูงใจให้ผู้อื่นคล้อยตาม หรือกระทั่งการเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้อื่นโดยไม่สร้างความรู้สึกขุ่นข้อง
การที่จะทำให้บุคคลผู้นั้นรู้สึกสำคัญได้ ต้องทำอย่างไรบ้าง?
แน่นอนว่าหากไม่บอกกล่าวอย่างชัดเจน ก็ย่อมส่งสารถึงกันได้ไม่สมบูรณ์ เดล คาร์เนกี กล่าวว่า การยกย่องสรรเสริญจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงความสำคัญได้อย่างแท้จริง โดยการยกย่องในความหมายของเขาไม่ใช่การเยินยอสอพลอ ความแตกต่างของมันอยู่ที่การรับรู้และส่งผ่านจากตัวผู้พูด เราต้องทำจากหัวใจและรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ฉะนั้น จงคิดถึงความดีงามของเขาและหยุดเทียบเอากับความวิเศษวิโสของตัวเองไว้ก่อน นั่นจึงจะทำให้เรายกย่องเขาได้อย่างบริสุทธิ์ใจ
และสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะจะเป็นการลดทอนความสำคัญของบุคคลผู้นั้นลง นั่นคือการตำหนิติเตียน เดล คาร์เนกี ให้แง่มุมว่าสิ่งนี้ไม่เคยให้ประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น เราชอบคำที่เขากล่าวไว้ในหนังสือทำนองว่า หากอยากติเพื่อการปรับปรุงแก้ไข แล้วทำไมไม่คิดปรับปรุงตัวเองก่อน เพราะถ้าดูกันตามหลักการแล้ว หากสิ่งนั้นเป็นประโยชน์แท้จริง การทำให้ตนเองก็ย่อมเป็นกำไรกว่า (ตอนอ่านแอบเถียงในใจไปแล้วไง ว่าถ้าไม่ติเพื่อก่อ เขาจะรู้ตัวหรอ …แต่พออ่านต่อเจอประโยคนี้ก็ อืมม…) / (ปล. การติเตียน ในความคิดของเรา ไม่น่ารวมถึงการทำเพื่อคนหมู่มากนะ หากชี้จุดผิดพลาดแล้วเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากได้ อันนี้ก็น่าจะดี)
การจูงใจคน ต้องสร้างจากความรู้สึก
ในส่วนของการจูงใจคน ความรู้สึกของการเป็นคนสำคัญนั้นให้ผลทางตรงต่อการสร้างแรงจูงใจได้อย่างดียิ่ง เพราะทางเดียวที่จะทำให้ใครบางคนทำบางสิ่งให้ (อย่างเต็มใจ) นั่นคือทำให้เขา “รู้สึกอยากที่จะทำ” เราจึงต้องกระตุ้นให้เขาต้องการที่จะทำด้วยตนเองอย่างแรงกล้า และวิธีที่ได้ผลทันตานั่นคือการชี้ให้เห็นเลยว่าเขาจะได้รับประโยชน์ (หรือเสียประโยชน์) อย่างไร นอกจากนี้ การใส่วิธีคิดดี ๆ โดยทำเสมือนว่ามันมาจากตัวเขาเองก็นับเป็นการกระตุ้นความต้องการให้อยากทำได้ดีเช่นเดียวกัน
หลังจากศึกษาเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ ภายในเล่ม ทักษะสำคัญอีกประการหนึ่งในความคิดเราที่จะช่วยขัดเกลาความสามารถในการสร้างความรู้สึกแก่บุคคลตรงหน้าว่าเขาสำคัญขึ้นมาจริง ๆ นั่นคือ การเรียนรู้ที่จะเข้าใจในแง่มุมของอีกฝ่าย ผสมผสานกับการอ่านคนและช่างสังเกต ซึ่งเราว่าจะช่วยให้การสานสัมพันธ์โดยเฉพาะการหาประเด็นสนทนาเชิงบวกเป็นไปได้อย่างลื่นไหล และถ้าอ่านจากอารัมภบทในตอนต้น เราคิดว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ เดล คาร์เนกี มีทักษะเหล่านี้เพิ่มเติมจากการพูดน่าจะเป็นตอนสมัยเรียนวิทยาลัยที่การชนะปาฐกถาติด ๆ กันของเขาทำให้เพื่อน ๆ ขอให้เขาสอนบ้าง และผลปรากฏว่าทุกคนต่างชนะปาฐกถาไปตาม ๆ กัน การส่งผ่านบทเรียนซ้ำ ๆ และการขวนขวายอย่างต่อเนื่องทำให้การสั่งสมประสบการณ์ยิ่งสัมฤทธิ์ผลมากขึ้นเรื่อย ๆ
จุดแข็งของหนังสือ เดล คาร์เนกี แม้ตีพิมพ์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ
เทคนิคอีกมากมายหลายประการภายในเล่มที่ถูกแตกประเด็นออกมาเพื่อให้นำไปปฏิบัติใช้ได้ง่ายขึ้นนับว่าเป็นจุดแข็งของหนังสือเล่มนี้เลยก็ว่าได้ แต่ละกลวิธีล้วนแล้วแต่น่าสนใจและควรค่าแก่การเรียนรู้แม้จะเป็นเนื้อหาที่ถูกเขียนขึ้นมาจากการศึกษาในอดีตก็ตาม เดล คาร์เนกี มีวิธีการเริ่มต้นเล่าเรื่องที่จูงใจให้อยากอ่านต่อ และยกตัวอย่างมาได้อย่างเห็นภาพ และไม่ใช่แค่เรื่องราวของความสัมพันธ์สำหรับมิตรและการทำธุรกิจเท่านั้น ความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาก็ได้ถูกกล่าวถึงไว้ด้วยเช่นกันในช่วงท้ายเล่ม หากแต่บริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปจากครึ่งศตวรรษที่แล้ว สภาพแวดล้อมแห่งยุคสมัย และประสบการณ์เฉพาะของบุคคลก็อาจทำให้บทเรียนบางส่วนในความคิดเราเริ่มมีเงื่อนไข ข้อดีคือช่วยให้ผู้ที่ศึกษาคู่มือชนะมิตรและจูงใจคนเล่มนี้ได้ฝึกสติและคิดตามก่อนนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม
สำหรับเรื่องการแปลสำนวนดั้งเดิมที่เราเคยอ่านเจอว่าทำให้อ่านยากอยู่บ้าง ในความคิดเรา การสื่อความภาพรวมของเนื้อหายังคงสร้างความเข้าใจได้ไม่ยากนัก จะมีก็เพียงบางประโยคหรือคำเชื่อมที่เป็นคำไทยเดิม และคำแปลจากภาษาต่างประเทศที่ต้องอ่านไปสักระยะ ดูตามรูปประโยคและบริบทถึงพอจะเดาออก เช่น มร. คือ คำว่า นาย (น่าจะมาจากการแปล Mr.) คนเดินตลาด เดาว่าน่าจะหมายถึงพ่อค้าคนกลาง หรือเซลล์แมน และ สรอ. คือ สหรัฐอเมริกา (อันนี้อ่านมาจนเกือบท้ายเล่มถึงรู้ ^^” ถ้าผิดถูกยังไงมาแนะนำกันได้นะคะ)
และด้วยเหตุที่เป็นหนังสือพัฒนาตนเอง เดล คาร์เนกี ไม่ลืมที่จะกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่อ่านเพื่อการปฏิบัติเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่มีประโยชน์ต่อคุณเลยถ้าอ่านเพียงเพื่อรับรู้มันไว้เฉย ๆ บทเรียนทุกข้อคู่ควรแก่การนำไปลองใช้เพื่อทดสอบว่าวิธีปฏิบัติเหล่านี้สร้างผลสำเร็จได้จริงหรือไม่ ดังเช่นที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็เคยได้ลองทดสอบเทคนิคเหล่านี้ด้วยตนเองหลังจากศึกษามันเพราะอยากฝึกฝนให้กล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น (วอร์เรนได้พูดถึงไว้ในหนังสือชีวประวัติของเขา : เปิดปมชีวิตสู่วิธีคิดแบบวอร์เรน บัฟเฟตต์) และมันก็ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ
เราเองเคยได้ลองนำวิธีจากหนังสือเล่มนี้ไปใช้ครั้งหนึ่ง นั่นคือในวันหนึ่งก่อนเริ่มต้นทำงานที่โดยปกติแล้วเราและเพื่อนร่วมงานอีกคนจะต่างฝ่ายต่างจดจ่อกับกิจกรรมตรงหน้าของตัวเองเท่านั้น เราสนทนากันสั้น ๆ ไม่สลักสำคัญนัก ก่อนที่เราจะสังเกตเห็นว่าเขาทำบางอย่าง จึงออกปากชื่นชมว่าสิ่งที่เขาทำช่วยให้ทุกคนในที่ทำงานรู้สึกอุ่นใจ (ซึ่งเรารู้สึกแบบนั้นจริง ๆ เพียงแต่ไม่เคยสบโอกาสพูดตอนที่เขาทำซึ่ง ๆ หน้า) เช้าวันนั้นบทสนทนาของเรายืดยาวต่อเนื่องอยู่อีกพักใหญ่ด้วยเรื่องสัพเพเหระอีกมากมาย และทำให้บรรยากาศการทำงานสดใสขึ้น
อาจไม่ใช่ทุกเหตุการณ์ที่จะเป็นไปอย่างที่คิด คงไม่มีใครบอกได้ว่าความพยายามของเราจะให้คำตอบออกมาแบบไหน และไม่อาจรู้ว่าเมื่อถึงโอกาสนั้นจริง เราจะยังจดจำวิธีการเหล่านี้แล้วได้ทดสอบทฤษฎีต่าง ๆ หรือไม่
แต่ชีวิตเป็นเรื่องของจังหวะและการปรับใช้ … จะใช้ได้หรือได้ใช้มีวิธีเดียวที่พิสูจน์ได้ คือ ต้องลอง
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
วิธีชนะมิตรและจูงใจคน (How to Win Friends and Influence People)
ผู้เขียน : เดล คาร์เนกี
(อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปล)
จำนวนหน้า : 360 หน้า / ราคาปก (ฉบับพิมพ์ล่าสุด) : 350 บาท
สำนักพิมพ์ : แสงดาว (Saengdao)
หมวด : จิตวิทยา
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งใน Boxset เดล คาร์เนกี
สนใจ Boxset หนังสือ 🛒 CLICK 🛒
อ่านรีวิวหนังสือเล่มอื่น ๆ ใน Boxset เดียวกัน
👉 วิธีชนะมิตรและจูงใจคน • (คุณอยู่ที่หน้านี้) 👈