ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องและเฝ้ารอคำพูดจากผู้ที่ยืนเด่นตระหง่านในสปอตไลต์
อาจสร้างความประหม่า – ไม่มั่นใจ หากใครที่ยังมีประสบการณ์ไม่มากนัก
แต่ด้วยแนวทางเทคนิคที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อฝึกฝนอย่างจริงจังนี้
อาจช่วยให้ค้นพบวิธีที่นำไปสู่การเป็นนักพูดที่ดีในแบบของตัวเอง
- ✒️ ประวัติผู้เขียน เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie)
- ✒️ อาลัยแด่ผู้แปล อาษา ขอจิตต์เมตต์
- 🎯 มุมมองสรุป
- การศึกษาการพูดให้ประสบความสำเร็จ
- ปราการที่ต้องผ่านและการพูดให้ประทับใจในที่ชุมนุม
- ความรู้สึกหลังอ่านงานเขียน 70 ปีเล่มนี้
- 🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
- สนใจ Boxset หนังสือ 🛒 CLICK 🛒
- อ่านรีวิวหนังสือเล่มอื่น ๆ ใน Boxset เดียวกัน
✒️ ประวัติผู้เขียน เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie)
เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) (ค.ศ. 1888 – 1955) นักเขียน ครู และนักพูดชาวอเมริกัน ผู้พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาตนเอง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทักษะการขาย ทักษะองค์กร และการพูดในที่สาธารณะ วัยเด็กของเขาเติบโตขึ้นอย่างแร้นแค้นในรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา แม้จะลำบากและท้อถอยจนคิดฆ่าตัวตาย เขาก็ผ่านพ้นทุกช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ กระทั่งเริ่มต้นศึกษาวิชามากมายระหว่างการประกอบอาชีพเป็นคนเดินตลาด และทะยานสู่การเป็นมือหนึ่งจากการขายสินค้าในถิ่นทุรกันดาร ก่อนตัดสินใจลาออก และมาประกอบวิชาชีพครูสอนการพูดในท้ายที่สุด ด้วยเชื่อมั่นในความสามารถนี้ของตน หลักสูตรนี้ได้กลายเป็นที่ต้องการอย่างแพร่หลายเนื่องด้วยเป็นการสอนที่สามารถปฏิบัติได้จริง ผิดกับวิชาเรียนอื่นในสมัยนั้นที่ล้วนเต็มไปด้วยหลักวิชาการทางตำรา
✒️ อาลัยแด่ผู้แปล อาษา ขอจิตต์เมตต์
อาษา ขอจิตต์เมตต์ (ค.ศ.1908 – 1976) เกิดที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช สนใจภาษาอังกฤษมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม ด้วยนิสัยรักการอ่าน แต่วรรณกรรมในสมัยนั้นยังมีไม่มากนัก อาษาจึงต้องพยายามศึกษาด้วยตนเองเพิ่มเติมเพื่ออ่านวรรณกรรมชั้นเยี่ยมของต่างประเทศ และจากความพยายามพร้อมด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านภาษา อาษาจบวิชาการบัญชีสากลโดยเรียนทางไปรษณีย์ จากซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทำงานประจำเป็นเวลานานถึง 13 ปีจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จึงลาออกและยึดอาชีพแต่งและแปลหนังสือเลี้ยงครอบครัว ผลงานการแปลหนังสือชุดนี้ทำให้อาษาได้รับการขนานนามในฐานะนักแปลผู้สร้างมิติใหม่ให้แก่วงการหนังสือ ถือเป็นต้นตำรับหนังสือประเภทจิตวิทยาพัฒนาตนเองของประเทศไทย และทำให้ เดล คาร์เนกี เจ้าของผลงานเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อขอบคุณ (ข้อมูลประวัติจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย)
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือ การพูดในที่ชุมนุม เป็นเล่มที่ 3 ใน Boxset ชุดพัฒนาตนเองของ เดล คาร์เนกี ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แสงดาว เดิมได้รับการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกตั้งแต่ปี 2492 โดย อาษา ขอจิตต์เมตต์ : เนื้อหาบางส่วนเราสามารถนำเรื่องราวจากบทเรียนวิธีชนะมิตรและจูงใจคนมาผนวกเชื่อมโยงเข้ากันได้ เพราะมีความใกล้เคียงกันในเรื่องของการพูดหรือสนทนาที่เป็นจุดมุ่งหมายเพื่อโน้มน้าวและเข้าไปนั่งในใจผู้ฟัง : แบ่งออกเป็นทั้งหมด 15 บทเรียน ได้แก่ (1) สร้างความกล้าหาญ (2) ความเชื่อมั่นในตนเองโดยอาศัยการเตรียม (3) วิธีนักพูดเรืองนามปาฐกถา (4) วิธีทำให้ความจำดีขึ้น (5) วิธีทำให้ผู้ฟังตื่นอยู่ตลอดเวลา (6) สิ่งจำเป็นเพื่อบรรลุความสำเร็จในปาฐกถา (7) เคล็ดลับของการแสดงปาฐกถาที่ดี (8) ท่าทางและบุคลิกลักษณะบนเวที (9) วิธีเปิดฉากปาฐกถา (10)วิธีปิดฉากปาฐกถา (11)วิธีทำให้ความหมายแจ่มแจ้ง (12)วิธีพูดให้ประทับใจและจูงใจให้เชื่อ (13)วิธีทำให้ผู้ฟังสนใจ (14)วิธีทำให้ปฏิบัติตาม (15)วิธีปรับปรุงถ้อยคำสำนวนให้ดีขึ้น : มีสรุปใจความสำคัญแต่ละหัวข้อของบทนั้น ๆ ไว้ท้ายบทเช่นเคยเหมือนกับเล่มอื่น ๆ ใน Boxset ซึ่งช่วยให้เรากลับมาอ่านทบทวนได้อย่างไว ๆ อีกครั้ง : ภาพรวมของเนื้อหาภายในเล่มนี้ จะไม่ได้มีการตั้งออกมาเป็นกฎการปฏิบัติใด ๆ เพราะ เดล คาร์เนกี มองว่ามันใช้ไม่ได้ เนื่องด้วยความแตกต่างทั้งจากตัวบริบทเนื้อหาที่ต้องการสื่อ ลักษณะเฉพาะของผู้พูด และบทปาฐกถา (หรือการบรรยาย) ที่อาจเปลี่ยนไปตามยุค บทเรียนที่เขานำมาสอนจึงเน้นถึงการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดส่วนเสริมและทักษะต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราได้แสดงศักยภาพเฉพาะบุคคลที่ไม่เหมือนผู้อื่น : แม้จะเป็นหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นมาเกินครึ่งศตวรรษแล้ว แต่เราพบว่าเนื้อหายังสามารถปรับประยุกต์ใช้ได้ดีในหลาย ๆ ส่วน เพราะพื้นฐานของแต่ละบทเรียนมีลักษณะอ้างอิงกับหลักจิตวิทยามนุษย์ มีวิธีเปรียบเทียบให้เห็นภาพด้วยการยกตัวอย่างเชื่อมโยงปาฐกถาของบุคคลระดับประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่อง : เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเองในด้านการพูดในที่ชุมนุม ชุมชน หรือท่ามกลางคนหมู่มาก และอยากได้เคล็ดลับเพื่อเป็นแนวทางการฝึกฝน นอกจากนี้ เรามองว่าอาชีพในยุคดิจิทัลอย่างเช่น Youtuber หรือ Influencer ก็สามารถศึกษาเรื่องของการพูดและสื่อสารไปยังกลุ่มคนจำนวนมากจากเล่มนี้ได้เช่นเดียวกัน : ส่วนตัวในจำนวน 3 เล่มจากชุดนี้ เล่มนี้แม้จะมีการสื่อความได้อย่างเข้าใจง่าย แต่จะมีความยากจากในส่วนของบทปาฐกถาที่มีการยกตัวอย่างเอาไว้อย่างลึกซึ้งด้วยสำนวนดั้งเดิมแล้วเราอยากตีความความดีงามของมันแต่ด้วยข้อจำกัดทางความรู้ที่มีบางบทจึงยังไม่เข้าใจนัก : เล่มนี้สร้างความประทับใจให้ตั้งแต่บทแรกเลย รู้สึกว่าได้อะไรเยอะมาก (อาจเป็นเพราะเราไม่ถนัดพูดเลยรู้สึกว่าแต่ละคำแนะนำน่าทึ่งมาก) ระหว่างอ่านก็ชวนนึกไปถึงหนังสือจิตวิทยาพัฒนาตนเองเล่มอื่น ๆ ที่เคยผ่านตามาบ้าง ต้องบอกว่าเล่มนี้ยังคงเป็นอีกหนึ่งคู่มือที่ควรอ่านสักครั้งถ้าคิดว่าอาจมีโอกาสต้องพูดท่ามกลางคนหมู่มาก และบางส่วนในช่วงท้าย ๆ เล่มเราว่ามันสามารถประยุกต์ใช้กับเรื่องของการเขียนได้ด้วย (เพราะการเขียนก็นับเป็นวิธีสื่อสารถึงคนหมู่มากอยู่เหมือนกัน)

การศึกษาการพูดให้ประสบความสำเร็จ
การสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่สร้างพลังได้ดีเป็นอย่างยิ่ง เรานึกถึงเรื่อง “การพูด” เพราะเป็นรูปแบบที่เมื่อสื่อสารออกไปแล้วสามารถส่งผลกระทบได้ทันที เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้าแสดงออกมากนัก และแน่นอนว่าการพูดในที่ ๆ ต้องมีคนหมู่มากรายล้อมย่อมเป็นเรื่องที่ไม่มีทางที่เราจะทำแน่ แต่หากถามว่าแล้วเหตุใดเราจึงเลือกอ่านเรื่องราวเหล่านี้ ก็เพราะเรารู้สึกว่าการเรียนรู้ในสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดี เป็นเรื่องน่าสนุกและน่าค้นหา
เดล คาร์เนกี ได้ให้แง่คิดความสำคัญลำดับแรกสำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จจากการศึกษาการพูดในที่ชุมนุมเล่มนี้เลยก็คือ “ความอยาก” ไม่ว่าเรื่องใด หรือสิ่งใด มีแต่ความปรารถนาที่แท้จริงเท่านั้นที่จะทำให้คุณสัมฤทธิ์ผล เพราะมันจะทำให้คุณเอาใจใส่มันมากพอ เรียนรู้มันมากพอ และฝึกฝนมันมากพอ ซึ่งประการหลังนับว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุดหากไม่ใช่ผู้ที่ฝักใฝ่ในทางนั้น ๆ ซึ่งนักจิตวิทยามีศัพท์ที่ใช้เรียกสิ่งนี้ว่า “ที่ราบสูงในส่วนโค้งของการศึกษา” (เราคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งเดียวกับ Learning curves) คือเมื่อเราศึกษาหรือพัฒนาไปจนถึงระดับหนึ่งแล้ว การเรียนรู้ของเราจะเริ่มหยุดอยู่กับที่ จึงมีหลายคนที่หยุดชะงักบนที่ราบสูงนี้และท้อถอย แล้วเขาก็จะเป็นได้เพียงผู้ที่พูดได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถไปให้ถึงความเชี่ยวชาญได้ (ในหนังสือเล่มดังอย่าง Atomic Habits ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องโค้งแห่งการเรียนรู้นี้ไว้ในทำนองของการสร้างความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน)
หนังสือการพูดในที่ชุมนุมเล่มนี้ ไม่ได้วางกฎที่แน่นอนหรือแบบแผนตายตัวว่าคุณจะทำวิธีใดเพื่อให้ได้รับชัยชนะในการสื่อสาร สิ่งที่ เดล คาร์เนกี ส่งผ่านคือความรู้ในทางปฏิบัติที่คุณจำเป็นจะต้องหยิบจับมันไปประยุกต์ใช้ด้วยตัวเองอีกที เขามองว่าการสอนให้แสดงออกซึ่งลักษณะพิเศษของแต่ละบุคคลย่อมไม่สามารถกระทำได้ทั่วถึงในทุกผู้ทุกคนบนโลก สิ่งที่เหมาะสมกว่าคือการสอนเพื่อกำจัดอุปสรรคที่ขัดขวางซึ่งการแสดงออกเหล่านั้น และทำให้คน ๆ หนึ่ง สามารถพูดในที่ชุมนุมได้อย่างเป็นธรรมชาติตามแบบฉบับของตนเอง เพื่อสื่อสารในสิ่งที่คุณต้องการได้อย่างโดดเด่นไม่เหมือนใคร

ปราการที่ต้องผ่านและการพูดให้ประทับใจในที่ชุมนุม
สิ่งที่หลายคนเผชิญเมื่อต้องพูดในที่สาธารณะซึ่งมีคนอยู่จำนวนมาก อาจเป็นเรื่องของการนึกคำพูดไม่ออก จำสิ่งที่อยากบอกไม่ได้ และอาการประหม่า ซึ่งต้องบอกว่าหนังสือมีคำแนะนำถึงสิ่งเหล่านี้แทบทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญพื้นฐานก่อนที่จะพาไปยังจุดนั้น คุณต้องเข้าใจอย่างแจ่มชัดเสียก่อนถึงสิ่งที่คุณจะพูด เพราะปฏิกิริยาของความไม่ชัดเจนอาจส่งผ่านไปยังผู้ฟังได้หากพวกเขาจดจ่อเฝ้ารอและอยากรู้ในสิ่งที่คุณจะสื่อสารจริง ๆ
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจว่าในการพูดกับคนหมู่มากเพื่อจูงใจให้เชื่อในสิ่งที่เราต้องการบอกนั้นไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด โดยในบทของวิธีพูดให้ประทับใจและจูงใจให้เชื่อ เดล คาร์เนกี ได้อ้างถึงการค้นพบทางจิตวิทยาของ ดร.วอลเตอร์ ดิลล์ สก็อตต์ ว่า ไอเดีย ความเห็น หรือความคิดทุกอย่างที่เข้าสู่จิตใจมนุษย์จะถูกยึดถือว่าเป็นความจริง เว้นแต่จะได้รับการขัดขวางด้วยความคิดที่แย้งกัน เขาจึงมองว่าการเชื่อสิ่งใดเป็นเรื่องง่าย แต่ความสงสัยต่างหากที่ยาก เพราะการจะเกิดคำถามต่อสิ่งที่ถูกป้อนเข้ามานั้น ย่อมต้องอาศัยทั้งความรู้และการรู้จักคิด (หรือถ้าปัจจุบันเราคิดว่าน่าจะเทียบเคียงได้กับ Critical thinking) ซึ่งทำให้เรานึกไปถึงทฤษฎีพร้อมจะเชื่อใจคน (Truth-Default Theory; TDT) จากหนังสือ ศิลปะแห่งการอ่านคน ของ มัลคอล์ม แกลดเวลล์ ที่อธิบายโดยอ้างอิงจากงานวิจัยของ ทิม เลอวีน ว่ามนุษย์เราเป็นเช่นนั้นจริง คือเชื่อก่อน ต่อเมื่อมีเหตุผลมาหักล้างจึงจะเลิกเชื่อ (สามารถอ่านทฤษฎีนี้แบบกะทัดรัดที่เราสรุปไว้เพื่อเป็นบทเรียน จาก ‘3 ข้อเรียนรู้ไว้ใช้กับคนแปลกหน้า’)
เพราะฉะนั้น การพูดเพื่อปลูกฝังความคิดหรือสร้างบรรยากาศให้เป็นไปในทิศทางที่คุณต้องการนั้นจึงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง ตราบใดที่คุณรู้แจ้งในสิ่งที่บอกและไม่เสนอในสิ่งที่มันขัดแย้งกัน โดยอาศัยเทคนิคมากมายที่ เดล คาร์เนกี หยิบยกมาจากตัวอย่างของปาฐกถาบุคคลในประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งต้องบอกว่าการยกตัวอย่างนี่แหละ ที่ช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น จะมีข้อติดขัดก็เพียงเล็กน้อยจากสำนวนภาษาดั้งเดิมของบทปาฐกถาแล้วเราอยากทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งที่สุด แต่ด้วยความสามารถในการตีความอันจำกัดของเราเองจึงยังไม่อาจทำความเข้าใจได้เท่าที่ควร
ความรู้สึกหลังอ่านงานเขียน 70 ปีเล่มนี้
อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้อะไรจากมันมากกว่าที่คุณคาดไว้ แม้จะเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นครั้งแรกเมื่อ 70 กว่าปีก่อน ทว่าเทคนิคจำนวนมากกลับยังคงทรงพลังยามได้เรียนรู้ และโดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบและเคยอ่านหนังสือแนวจิตวิทยาพัฒนาตนเองมาแล้ว เราคิดว่าคุณจะรู้สึกคุ้นเคยในบางส่วนที่มีความคล้ายคลึงกันกับหนังสือในยุคปัจจุบันเลย เพียงแต่มีการนำมาตีความให้เป็นไปตามยุคสมัยและใช้ผลวิจัยอ้างอิงที่ได้รับการค้นคว้าอย่างจริงจังเพิ่มเติมเข้ามา อันช่วยให้เรื่องราวและทฤษฎีต่าง ๆ ได้รับความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่านั่นทำให้การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดการพัฒนาเจริญก้าวหน้า และยังทำให้เราได้รู้อีกว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การให้ความสำคัญกับสิ่งใด ๆ ก็ย่อมแปรเปลี่ยนตามไปด้วย
และการหมุนเวียนเปลี่ยนผันเช่นนี้ใช่หรือไม่ ที่จะทำให้เราได้ก้าวต่อไป ไม่ย่ำอยู่กับที่

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
การพูดในที่ชุมนุม (How to Develop self-confidence and Influence People by Public Speaking)
ผู้เขียน : เดล คาร์เนกี
(อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปล)
จำนวนหน้า : 360 หน้า / ราคาปก (ฉบับพิมพ์ล่าสุด) : 350 บาท
สำนักพิมพ์ : แสงดาว (Saengdao)
หมวด : จิตวิทยา
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งใน Boxset เดล คาร์เนกี
สนใจ Boxset หนังสือ 🛒 CLICK 🛒

อ่านรีวิวหนังสือเล่มอื่น ๆ ใน Boxset เดียวกัน
👉 การพูดในที่ชุมนุม • (คุณอยู่ที่หน้านี้) 👈