Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : จงมองหา “ช้าง” ที่อยู่ข้างหลัง “ยุง” (แอร์นสท์ฟรีด ฮานิช และ เอวา วุนเดอเรอร์)

รีวิวหนังสือ : จงมองหา “ช้าง” ที่อยู่ข้างหลัง “ยุง” (แอร์นสท์ฟรีด ฮานิช และ เอวา วุนเดอเรอร์)

หากคนเราต้องแยกตัวออกจากความต้องการที่แท้จริงแล้ว

สิ่งต่างๆ ก็กลายเป็นการต่อสู้ทั้งหมด!

– Arno Gruen (จากหนังสือหน้า 78)

✒️ ประวัติผู้เขียน ดร.แอร์นสท์ฟรีด ฮานิช และ ดร.เอวา วุนเดอเรอร์

ดร.แอร์นสท์ฟรีด ฮานิช (Dr.Ernstfried Hanisch)
นักจิตบำบัดผู้ป่วยเดี่ยวและอาจารย์ผู้อบรบนักจิตบำบัด
ให้คำปรึกษาและบำบัดปัญหาชีวิตคู่และปัญหาครอบครัวมากว่า 30 ปี
และเป็นอาจารย์ในสถาบันการอบรมด้านพฤติกรรมบำบัดที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี

ดร.เอวา วุนเดอเรอร์(Dr.Eva Wunderer)
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา
และบำบัดปัญหาชีวิตคู่และปัญหาครอบครัวอย่างเป็นระบบ
และเป็นศาสตราจารย์สาขามุมมองเชิงจิตวิทยาในงานด้านสังคม
ที่มหาวิทยาลัยด้านศาสตร์ประยุกต์แห่งเมืองลันด์สฮูท ประเทศเยอรมนี

🎯 มุมมองสรุป

: หนังสือที่ชวนเราสำรวจตัวเองเพื่อทำความเข้าใจปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุเบื้องหลังเป็นมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งหน้าในขณะนั้น ผ่านเรื่องสั้น 4 เรื่องที่เมื่ออ่านแล้วคุณอาจรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยพบเคยผ่านมาในชีวิต

: เนื้อหาถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 บทใหญ่ ดังนี้
1.เรื่องของยุงและช้าง – เป็นส่วนเกริ่นนำที่จะชวนให้เราสังเกตสถานการณ์จำลองตัวอย่างเพื่อใช้มันเป็นบทเรียนระหว่างการเรียนรู้ภายในหนังสือ
2.สิ่งที่ค้นหา : ช้างที่ซ่อนอยู่ – เป็นบทที่ชวนทำความเข้าใจถึงภาวะอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นของเราว่ามีความเชื่อมโยงอย่างไรกับความต้องการพื้นฐานที่ไม่ได้รับการตอบสนอง
3.การค้นหาร่องรอย : คุณรู้จักความต้องการพื้นฐานของตนเองหรือไม่ - บทนี้จะเริ่มให้คุณได้ค้นหาความต้องการพื้นฐานเบื้องลึกของตนเอง ผ่านแบบทดสอบของหนังสือ เช่น ความผูกพันมั่นคง การเห็นคุณค่าและการยอมรับนับถือ การกระตุ้นทางเพศ เป็นต้น
4.ค้นหาช้างของคุณ - เริ่มชวนคุณนึกถึงสถานการณ์ทดสอบต่างๆ เพื่อแกะรอยหาจุดอ่อนและประสบการณ์ด้านลบของตนเองพร้อมหาเหตุผลว่าอะไรทำให้คุณหงุดหงิดหัวเสียกับเรื่องจุกจิกในบางครั้ง
5.เส้นทางสู่การค้นพบสมดุลภายในใจอีกครั้ง - เป็นปัจฉิมบทที่จะช่วยให้คุณเริ่มปลดล็อกและเข้าใจถึงสภาวะอารมณ์เชิงลบและสถานการณ์ที่น่าหงุดหงิดของตนเองและคนรอบข้างได้ดีขึ้น

: เหมาะสำหรับใครก็ตามที่มองหาหนังสือจิตวิทยาในการทำความเข้าใจที่มาของความหงุดหงิดหัวเสียในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของตนเองหรือคนรอบข้าง หรือผู้ที่ต้องการหนังสือที่ให้ข้อมูลการเรียนรู้ที่จะฝึกฝนตนเองเพื่อไม่ให้เป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย

: แท้จริงแล้ว เมื่อมนุษย์เราถูกคุกคามหรือจุดอ่อนถูกกระทบกระทั่งเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดการโต้ตอบในแบบเดิมๆ ที่เคยใช้ได้ผลมาแล้ว ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันตัวเองของมนุษย์ เพราะการทดลองสิ่งใหม่ๆ ในสถานการณ์เคร่งเครียดเป็นเรื่องที่ยากกว่า ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ คือการทำความเข้าใจเรื่องความต้องการพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งของตนเองให้ลึกซึ้ง

: หนังสือเล่มนี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการอ่านและทำความเข้าใจเนื่องด้วยมีแบบทดสอบและต้องทำงานกับตัวเองไม่น้อยเพื่อบรรลุประสิทธิผลตามความตั้งใจของหนังสือ ภาพรวมเนื้อหามีรายละเอียดและวิธีอธิบายโดยอาศัยการเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาต่างๆ ความเห็นส่วนตัวสำหรับเรา ทั้งแบบทดสอบและเนื้อหายังไม่โดดเด่นนัก แต่บทสุดท้ายซึ่งเป็นใจความสรุปค่อนข้างให้แง่คิดและมุมมองที่ดีที่จะนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้

‘ยุง’ และ ‘ช้าง’ ตามบริบทของหนังสือ

ใครเลยจะรู้ว่าบางครั้งเรื่องเล็กน้อยที่เกิดขึ้นอาจทำให้คนตรงหน้าเราหัวฟัดหัวเหวี่ยงอย่างไม่น่าเชื่อ และอาจมีบางหนเช่นเดียวกันที่เราเกิดอารมณ์รุนแรงเมื่อมีใครสักคนมองว่าเรื่องใหญ่สำหรับเรากลับเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับเขาไปได้ สิ่งเหล่านี้หากไม่มองลงไปให้ลึกถึงใต้ภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ยอดเล็กๆ เหนือผิวน้ำขึ้นมาก็อาจสร้างความบาดหมางให้กับคนในสถานการณ์จนนำไปสู่จุดแตกหักที่ยากต่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ผู้เขียนได้เริ่มเล่าจากเรื่องราวสั้นๆ 4 เรื่องที่เกิดขึ้นโดยมีฉากหน้าว่ามันคือยุงเพียงตัวเล็กๆ ที่บังช้างตัวใหญ่ด้านหลังเอาไว้ เรื่องเหล่านี้เมื่อถูกหยิบมาเล่าแบบรวบรัดโดยยังไม่ต้องพิจารณาข้อมูลเชิงลึกหรือพื้นฐานการเติบโตของตัวละครอาจทำให้เรารู้สึกว่าแต่ละอย่างช่างดูเล็กน้อยและไม่น่ากลายมาเป็นปัญหาใหญ่ (แน่นอนว่าความรู้สึกนี้ต้องเคยเกิดขึ้นกับพวกคุณอยู่บ้าง จริงไหม?) แต่ทันทีที่เราได้รู้รายละเอียดที่ลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งการถูกเลี้ยงดูและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเรื่องราวเหล่านั้น เราก็จะเริ่มมองเห็นเค้าโครงและที่มาของการบันดาลโทสะที่เกิดขึ้นทีละน้อย มนุษย์เรามักมีความต้องการพื้นฐานบางอย่างที่ถูกละเลยหรือไม่ได้รับการตอบสนองในอดีตจนกลายเป็นปัญหาที่แสดงออกผ่านพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างไม่รู้ตัว เมื่อเกิดสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้จุดอ่อนหรือความเปราะบางของตัวเราในอดีตถูกเขย่าขวัญ มันจึงทำให้เราหรือเขาแสดงออกเพื่อเอาตัวรอดจากเหตุการณ์คับขันที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย

บรรดารอยแผลจากอดีตนี่เองที่เป็น “ช้าง” ตามบริบทของหนังสือที่ว่า

เกณฑ์การศึกษาที่มาของ ‘ช้าง’

ผู้เขียนได้แบ่งช้างโดยใช้เกณฑ์ความต้องการพื้นฐานที่ขาดการตอบสนองและพบได้บ่อยที่สุดในผู้คนไว้เป็น 7 ประเภท ได้แก่ การกลัวที่จะสูญเสียความอบอุ่นมั่นคง การไม่ได้รับการยอมรับนับถือ การตีกรอบให้ตนเองไม่ได้ การโหยหาคุณค่า การรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การรู้สึกถูกมองข้ามความสำคัญ และการรู้สึกขาดที่พึ่ง ซึ่งภายในเล่มผู้เขียนจะใช้วิธียกกรณีตัวอย่างขึ้นมาเพื่อบ่งบอกถึงจุดอ่อนและกลไกป้องกันตนเองต่างๆ พร้อมสะท้อนภาพการมองเห็นตนเองและคนอื่นจากมุมมองของผู้ที่เกิดแผลในใจเพื่อให้เราทำความเข้าใจภาพรวมอย่างคร่าวๆ

หลังจากนั้นจึงเริ่มชวนให้เราได้ทดลองค้นหาประสบการณ์ในอดีตและร่องรอยของช้างในตนเองด้วยแบบทดสอบต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นคำถามที่จะต้องทำงานกับตัวเองในเชิงลึกโดยการนึกย้อนไปในอดีตแล้วกลับมามองที่ปัจจุบัน และยังมีแบบทดสอบที่สะท้อนภาพของตัวเองเพื่อค้นหาทั้ง “ยุง” และ “ช้าง” ในชีวิต

รู้จักตัวเองเพื่อปราบ ‘ช้าง’ จอมพยศ

ส่วนที่เราชอบที่สุดคือบทสุดท้ายของเล่มที่จะเป็นการนำภาพประสบการณ์เชิงลบเหล่านั้นมาใส่มุมมองใหม่ลงไป และยังมีคำแนะนำที่จะช่วยสนับสนุนและถมเต็มชีวิตประจำวันของเราไม่ให้บกพร่องไปด้วยร่องรอยจากความขาดแคลนความต้องการพื้นฐานในอดีตที่ผ่านมาอีกด้วย

เรื่องของการทำความรู้จักตัวเองนั้นจำเป็นต้องอาศัยทั้งเวลาและความเห็นอกเห็นใจในตัวเราเอง แต่เมื่อเริ่มต้นเรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่คุณเป็นคุณจะเริ่มรู้สึกถึงความเป็นปฏิปักษ์อยู่ภายในน้อยลงไปด้วย ไม่ว่าสถานการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตจะถูกจารึกไว้ในความคิดของเราไว้อย่างไร จงใส่มุมมองอย่างผู้มีเมตตาต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง ช้างตัวใหญ่ที่เคยดุร้ายนั้นแท้จริงมันเพียงต้องการให้คุณก้าวข้ามผ่านความยุ่งยากและไม่ปลอดภัยของสภาพจิตใจในตอนนั้น และมันอาจถึงเวลาแล้วที่คุณต้องผ่อนปรนกับวิธีการโต้ตอบแบบเดิมๆ ด้วยการไม่ยอมให้ความดุร้ายของมันแสดงแสนยานุภาพได้อีก เพราะแม้ครั้งหนึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้อาจทำให้คุณหลุดพ้นจากสถานการณ์คับขันไปได้ แต่วิธีการที่สร้างสรรค์กว่าย่อมทำให้คุณปลอดภัยและยังไม่ไปทำร้ายคนใกล้ชิด

เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชีวิต ล้วนอาศัยความเมตตาที่ต้องเริ่มจากในตัวเองก่อนให้ได้

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

จงมองหา “ช้าง” ที่อยู่ข้างหลัง “ยุง”

ผู้เขียน : แอร์นสท์ฟรีด ฮานิช ร่วมกับ เอวา วุนเดอเรอร์
(สุดาวรรณ สินธุประมา แปล)

จำนวนหน้า : 238 หน้า / ราคาปก : 285 บาท

สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ฮาวทู

หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง

รีวิวหนังสือ ธุรกิจ ความคิดสร้างสรรค์ ไอเดีย การทำโฆษณา
เมื่อ "ความไม่รู้" ก็เป็นพลังสำหรับการคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ ด้วยเรื่องเล่าอันทรงพลังและสอดแทรกแง่คิดในการสังเกตมุมมองที่ต่างออกไป ทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นคู่มือที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าตกผลึกที่ชวนคุณขบคิดพร้อมตั้งคำถามไปตลอดทาง
พ.ค. 21, 2023
รีวิวหนังสือ จิตวิทยาว่าด้วยเงิน หนังสือการเงิน การลงทุน การเล่นหุ้น
ความรู้ทางการเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอให้เราบริหารการลงทุนได้อย่างรอบด้าน มาร่วมเพิ่มมุมมองเชิงจิตวิทยาเพื่อขยายกรอบความคิดพื้นฐานและจินตนาการของคุณให้กว้างขึ้นกว่าเก่า เพื่อให้เราอยู่ในเกมการลงทุนได้ยาวนานพอที่จะก้าวไปถึงความมั่งคั่ง
ต.ค. 1, 2023
รีวิวหนังสือ หยุดเลี้ยงลิงในสมองคุณ Don't feed the monkey mind Bookscape
เมื่อการใช้ชีวิตของคุณประสบปัญหาจากความวิตกกังวลจนจับต้นชนปลายไม่ถูก พักผ่อนชั่วครู่ก็กลับสู่วงจรอีกครั้ง มาร่วมค้นหาความจริงว่าพฤติกรรมใดที่หล่อเลี้ยงลิงในสมองของคุณจนแข็งแรงและทำให้มองเห็นทุกอย่างว่าเป็นภัยคุกคามของชีวิตผ่านหนังสือเล่มนี้กันค่ะ
ส.ค. 20, 2023
how to win friends and influence people review thai version bookreview
ต้นแบบหนังสือจิตวิทยาแปลไทยเล่มแรกที่เนื้อหายังคงปรับใช้ได้ในยุคปัจจุบันแม้ผ่านพ้นนานครึ่งศตวรรษ ร่วมศึกษาแนวปฏิบัติที่จะช่วยให้คุณสร้างมิตรทั้งในเชิงธุรกิจและชีวิตส่วนตัว
ก.ค. 24, 2022