ถ้าคุณไม่อยากได้คำวิจารณ์ แค่ทำให้ดีก็พอ ไม่ต้องทำให้โดดเด่น
( – ชัค คลอสเตอร์แมน, จากหนังสือหน้า 318 )
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
Ron Friedman (รอน ฟรีดแมน) นักจิตวิทยา คณาจารย์มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ วิทยาลัยนาซาเรธ และวิทยาลัยโฮบาร์ตและวิลเลียม สมิธ ให้คำปรึกษาแก่ผู้นำทางการเมือง องค์กรไม่แสวงหากำไร และหลายแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ignite80 ซึ่งเป็นบริษัทด้านการเรียนรู้และการพัฒนา ที่ตีความงานวิจัยด้านประสาทวิทยา สรีรวิทยาของมนุษย์ และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมให้เป็นกลยุทธ์เชิงปฏิบัติการ หนังสือเล่มแรกของเขาเรื่อง The Best Place to Work (แปลไทยในชื่อ ที่(น่า)ทำงาน:ศาสตร์และศิลป์แห่งการสร้างที่ทำงานชั้นยอด โดยสำนักพิมพ์ Bookscape) ได้รับเลือกให้เป็นหนังสือธุรกิจยอดเยี่ยมแห่งปีจากนิตยสาร Inc
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือที่หยิบการทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineer) มาประยุกต์ใช้กับแนวทางการทำงานแขนงต่าง ๆ อย่างครอบคลุม ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการ พนักงานระดับปฏิบัติการ หรือแม้แต่ผู้ที่ทำงานสร้างสรรค์ จะเห็นได้ว่าเราสามารถหยิบยกวิธีการทำวิศวกรรมย้อนกลับมาใช้ได้แทบจะในทุกผู้คนหรือทุกเรื่องราวที่ต้องการศึกษา : การทำวิศวกรรมย้อนกลับ คือ การศึกษากระบวนการทำงานอย่างละเอียดโดยแยกแต่ละกิจกรรมออกมาเป็นส่วน ๆ อาจได้ทั้งกรณีที่เป็นสิ่งของ (เช่น การถอดชิ้นส่วนเครื่องบินรบเพื่อดูวงจรการทำงาน) ไปจนถึงแนวคิดหรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จ (เช่น การวิเคราะห์ผลงานภาพวาดหรืองานเขียนเพื่อดูวิธีแบ่งสัดส่วน) : ข้อดีของการทำวิศวกรรมย้อนกลับด้วยตนเองคือช่วยให้เราค้นพบแนวทางที่อาจเป็นเรื่องใหม่ก่อนที่มันจะถูกพูดถึงหรือหยิบใช้กันทั่วไป การค้นพบที่ถูกผสมผสานความเป็นตัวเราเข้าไปก็มีโอกาสที่จะสร้างความโดดเด่นได้อีกด้วย : เนื้อหา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ศิลปะแห่งการปลดล็อกรูปแบบที่ซ่อนอยู่ และ ช่องว่างระหว่างวิสัยทัศน์กับความสามารถ ซึ่งเนื้อหาข้างต้นจะประกอบไปด้วย 7 บท ได้แก่ (1) นักสืบความชำนาญ (2) การคิดแบบมีอัลกอริทึม (3) คำสาปของความคิดสร้างสรรค์ (4) หลักการกระดานคะแนน (5) วิธีเสี่ยงแบบไม่เสี่ยง (6) ฝึกฝนแบบสามมิติ (7) วิธีพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ : เป็นหนังสือพัฒนาตนเองอีกเล่มที่เราอยากแนะนำเพราะมันโฟกัสไปที่กระบวนการซึ่งทำให้เราหยิบไปปรับใช้ได้ตามสะดวก ขึ้นอยู่กับว่าบริบทไหน สำหรับเรามันอ่านได้เพลิน ๆ ไม่เครียด ด้วยวิธีนำเสนอเนื้อหาที่มีการกล่าวถึงกรณีศึกษาและเรื่องเล่าอ้างอิงบุคคลเพื่อใช้เป็นตัวอย่างจำนวนมาก พร้อมทั้งการสรุปประเด็นทิ้งท้ายไว้ได้อย่างชัดเจน

ในโลกที่ส่วนใหญ่ความเร็วทำให้คนได้เปรียบในแวดวงธุรกิจนั้น ระบบการศึกษาเองก็ไม่อาจถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ตำราหรือในหลักสูตรการเรียนการสอนอีกต่อไปได้ ผู้คนจำนวนมากพยายามก้าวนำก่อนใครเพื่อเข้าถึงโอกาสที่จะพาไปสู่ความสำเร็จ แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากเราเป็นผู้สร้างโอกาสในแบบของตัวเองขึ้นมา
เรามีตัวอย่างผู้ประสบความสำเร็จจำนวนมากให้ได้ทดลองศึกษา และด้วยการเรียนรู้วิธีมองอย่างทะลุปรุโปร่งก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้เราค้นพบเคล็ดลับหรือกระบวนท่าที่ซุกซ่อนไว้โดยที่เจ้าตัวเองอาจยังไม่ทันสังเกตเลยก็ได้ว่าแบบแผนนั้นมีประโยชน์และเราสามารถหยิบมันมาเชื่อมโยงหรือสร้างกลไกในแบบของเราเอง
มันคือการใช้เทคนิคของการทำ “วิศวกรรมย้อนกลับ” – การศึกษาและถอดประกอบชิ้นส่วนทีละชิ้น กระบวนการทีละหน่วย ขั้นตอนทีละบท เพื่อดูว่าอะไรทำให้สิ่งเหล่านั้นบรรลุศักยภาพของมัน และเราจะนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของเราได้อย่างไร
มองให้ออกว่าพวกเขาชำนาญเรื่องอะไร
“เพราะก้าวแรกสู่ความชำนาญก็คือการมองให้เห็นความชำนาญในตัวผู้อื่นก่อน” ผู้เขียนได้มอบมุมมองขั้นตอนการทำวิศวกรรมย้อนกลับอย่างหนึ่งนั่นคือการมองให้เห็นแบบแผน จงหมั่นสะสมตัวอย่างที่เราหลงใหลและตั้งคำถามอย่างใส่ใจว่าอะไรที่เราถูกดึงดูด หรืออาจใช้วิธีเลียนแบบอัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์ด้วยการแปลงข้อมูลเป็นตัวเลขเพื่อให้เห็นโครงสร้างได้อย่างละเอียด เช่น การศึกษารูปแบบการบรรยายที่ชื่นชอบแล้วแยกออกมาว่าวิทยากรใช้เวลาไปกี่นาที เนื้อหาที่ใช้บรรยายแบ่งสัดส่วนแต่ละเรื่องเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ตลอดระยะเวลาที่นำเสนอนั้น จำนวนสไลด์ที่ใช้ในการบรรยาย เป็นต้น

มากกว่าการมองเห็นแบบแผน คือการมีสูตรความสำเร็จเป็นของตนเอง
แม้การเข้าใจโครงสร้างได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนและทดลองสร้างผลงานโดยใช้อัตราส่วนเทียบเท่าแล้ว สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ เราจะต้องไม่ลอกเลียนแบบ แต่ต้องมองหาตัวตนของเราที่จะทำให้ชิ้นงานใหม่นี้มีลายเซ็นของเราอย่างแท้จริง หนึ่งในวิธีที่น่าสนใจคือการหยิบยืมแนวคิดที่ใช้ได้ผลในแวดวงหนึ่งมาใช้กับอีกแวดวงหนึ่ง ตัวอย่างเช่นอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่เปลี่ยนสไตล์การสื่อสารในปราศรัยการเลือกตั้งด้วยเทคนิคที่เขาพบจากการฟังนักเทศน์ตามโบสถ์นั่นคือเล่าเรื่องราวแทนที่จะยกแนวคิดทางวิชาการที่ซับซ้อนขึ้นมากล่าว การเน้นย้ำเสียงหนักเสียงเบา และการเว้นจังหวะให้พอดี
สร้างดัชนีชี้วัดที่สำคัญเท่านั้น
การประเมินผลออกมาเป็นตัวเลขเพื่อให้เห็นได้อย่างเป็นรูปเป็นร่างจะช่วยให้เราเกิดการคิดทบทวนและสะท้อนภาพผลสำเร็จของงานได้เป็นอย่างดี แต่ความผิดพลาดที่ผู้คนมักติดหล่มนั่นคือการระบุดัชนีไม่ชัดเจนหรือวัดผลในตัวเลขที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น การเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานแทนที่จะเพิ่มลูกค้าที่จับจ่าย ฉะนั้นหากเราลองเปลี่ยนวิธีกำหนดดัชนีชี้วัดใหม่ โดยอาศัยการแยกกิจกรรมเดี่ยวของการสร้างผลงานออกมาเป็นทักษะย่อย และเลือกองค์ประกอบเด่น ๆ ของผลงานทีละส่วนเพื่อให้คะแนน ก่อนที่สุดท้ายจะประเมินภาพรวมของกิจกรรมทุกอย่างภายใต้กรอบเวลาที่เหมาะสม นั่นก็จะช่วยให้เราได้ชุดตัวเลขที่มีความสำคัญและควรค่าต่อการลงทุนเวลาวัดผลของเราได้

วิธีตั้งคำถามกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้คำตอบที่นำมาใช้ได้
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนอาจอธิบายขั้นตอนของกระบวนการได้ไม่เก่งนัก ส่วนหนึ่งนั่นเพราะกิจกรรมเหล่านั้นได้ถูกฝึกฝนและเข้าสู่โหมดทางลัดของสมองไปอย่างไม่รู้ตัว และจากผลการทดลองของนักจิตวิทยาการศึกษา ริชาร์ด คลาร์ก ก็ยังค้นพบอีกว่าหากให้พวกเขานั่งเล่าขั้นตอน ส่วนที่จำเป็นต่อความสำเร็จมักถูกข้ามไปถึงร้อยละ 70 ซึ่งอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมบางครั้งเราจึงรู้สึกราวกับว่าพวกเขาไม่ชัดเจนพอ ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์จึงเกิดจากการตั้งคำถามอย่างถูกวิธี ผู้เขียนได้แนะนำคำถามที่ควรค่าแก่การนำมาพิจารณาไว้ด้วยกัน 3 หมวดหมู่ นั่นคือ คำถามเรื่องเส้นทาง คำถามเรื่องกระบวนการ และคำถามเรื่องการค้นพบ และหากจะให้ครบถ้วนไปกว่านั้น เราก็ควรสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 1 คน
จากกระบวนการสู่งานแห่งตัวตนของคุณเอง
เราชอบหนังสือเล่มนี้ที่มันเล่าถึงกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่เราทุกคนล้วนจะค้นพบก็ต่อเมื่อทดลองทำจริงเท่านั้น เพราะความต่างในรสนิยมของแต่ละบุคคลย่อมทำให้เราเลือกทำวิศวกรรมย้อนกลับในต้นแบบที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนั้นมันยังมีส่วนผสมของอิทธิพลจากการรับรู้และปัจจัยแวดล้อมอีกจำนวนมากที่ทำให้เราสามารถสร้างเอกลักษณ์ลงบนผลงานได้แม้จะผ่านการวิเคราะห์รูปแบบของความสำเร็จมาแล้ว เพราะว่านั่นคือส่วนที่สำคัญที่สุด คุณจะสร้างผลงานหรือก้าวสู่ความสำเร็จไปทำไมหากมันไม่สามารถทำให้คุณเข้าถึงศักยภาพที่เป็นของตัวคุณเองได้อย่างแท้จริง
การเรียนรู้ความสำเร็จของผู้อื่น จึงอาจหมายถึงการสร้างกระบวนการพัฒนาในแบบของตัวคุณเองขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่การเดินตามรอยเท้าของพวกเขา

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“ถอดประกอบรูปแบบความสำเร็จ (Decoding Greatness)”
ผู้เขียน : Ron Friedman
(วรุตม์ มานพพงศ์ แปล)
จำนวนหน้า : 368 หน้า / ราคาปก : 359 บาท
สำนักพิมพ์ : Be(ing)
หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง