“ทางเดียวที่จะอธิบายมนุษย์สักคนได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ก็คืออธิบายความไม่สมบูรณ์แบบของเขา”
( –โจเซฟ แคมป์เบลล์, จากหนังสือหน้า 81 )
- ✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
- 🎯 มุมมองสรุป
- เหตุการณ์แวดล้อมช่วยให้เรื่องเล่าสำเร็จได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
- ไม่มีอะไรน่าพิสมัยไปกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยไม่คาดฝันอีกแล้ว (สำหรับเรื่องเล่า)
- โครงสร้าง 5 องก์ของเรื่องเล่าที่จบลงอย่างสวยงาม
- หยุดหลงรักตัวละครเอกของเราซะ!
- ความเห็นอกเห็นใจที่ถูกส่งผ่านการเล่าเรื่อง
- หนังสือที่เล่าเรื่องการเล่าเรื่องอย่างเอาเรื่อง
- 🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
วิล สตอร์ (Will Storr)
นักเขียนมือรางวัลชาวอังกฤษ
ผู้มีผลงานขึ้นแท่นหนังสือขายดีของ Sunday Times ติดต่อกันยาวนาน
เขาสอนหลักสูตรการเล่าเรื่องในลอนดอนและได้รับเชิญให้จัดอบรมศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องของเขาทั่วโลก
นอกจากนี้ เขายังเป็นนักเขียนเงาที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือว่าด้วยศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องเล่มนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษารูปแบบจากงานเขียนวรรณกรรมและภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่ โดยใช้กรอบคิดเชิงจิตวิทยาและหลักการทำงานของระบบสมอง พร้อมกับมีการถอดโครงสร้างการเล่าเรื่องของภาพยนตร์หรืองานเขียนที่น่าสนใจเพื่อดูว่ามันทำงานอย่างไรต่อผู้คน
: รูปแบบการนำเสนอกระจายออกเป็นหัวข้อย่อยจำนวนมากและมีการเขียนเล่าต่อเนื่องโดยไม่แสดงถึงวิธีการที่ตายตัว เนื่องจากผู้เขียนเองก็ไม่ต้องการให้เป็นหนังสือที่ต้องยึดว่าเป็นสูตรสำเร็จ แต่ให้มองว่าเป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่ง
: แต่ละส่วนภายในเล่มมีการเรียบเรียงเนื้อหาจากผลงานก่อนหน้าของเขาทั้งหนังสือและบทความต่างๆ พร้อมกับอิงหลักสูตรอบรมการเขียนและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
: เนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 บทใหญ่ และปิดท้ายด้วยภาคผนวกโดยการยกตัวอย่างการเริ่มต้นเล่าเรื่องในแบบของผู้เขียน ได้แก่
บทที่หนึ่ง: รังสรรค์ปั้นโลก – เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักความเป็นมาและการทำงานของสมองเพื่อเรียนรู้ว่าเรื่องเล่าแบบใดจึงจะสร้างแรงสั่นสะเทือนได้
บทที่สอง: ตัวตนอันบกพร่อง – เรียนรู้วิธีการสร้างตัวละครในเรื่องเล่าให้มีมิติและสามารถดึงดูดผู้คนได้
บทที่สาม: ปมเรื่องสำคัญ – การค้นหาตัวตนที่จะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าทั้งหมดที่เราต้องการนำเสนอ
บทที่สี่: โครงเรื่อง จุดจบ และความหมาย – นำเสนอวิธีการดำเนินเรื่องของเรื่องเล่าเพื่อหลอมรวมแนวคิดทั้งหมดที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปยังผู้คน
: สำหรับเราหนังสือเล่มนี้ดีงามในแง่ของการเป็นจุดเริ่มต้นให้กับผู้ที่ต้องการผลิตงานสร้างสรรค์ผ่านวิธีการเล่าเรื่องอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนนวนิยาย บทละครและภาพยนตร์ หรือชิ้นงานที่ต้องใช้เรื่องเล่าดึงดูดผู้คนเอาไว้ ยิ่งไปกว่านั้น เรายังชื่นชมการแปลไทยของหนังสือเล่มนี้ที่ถูกเรียบเรียงถ่ายทอดออกมาได้อย่างสละสลวย ทรงพลัง และกลายมาเป็นหนังสืออีกเล่มที่มีคลังคำซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการนำเสนอศาสตร์และศิลป์ของการเล่าเรื่องได้เป็นอย่างดี
จริงอยู่ที่การสร้างสรรค์ผลงานสักชิ้น เรื่องเล่าสักเรื่อง ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว หากกล่าวให้ถูกกว่านั้นสูตรสำเร็จที่ตายตัวอาจทำให้ความน่าสนใจของผลงานลดน้อยลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่การบอกเล่าเรื่องราวที่ขาดการยึดโยงหรือไม่สมเหตุสมผลย่อมทำให้เกิดความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องเล่าเหล่านั้นได้ยากขึ้น ทางออกทางหนึ่งสำหรับนักเล่าเรื่องที่ต้องการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กับคนรับสารของพวกเขา คือการทำความเข้าใจว่าอะไรที่จะสามารถดึงดูดผู้คนได้ท่ามกลางจินตนาการมากมายที่นักเล่าเรื่องจะเลือกหยิบใส่ลงในผลงาน
และหนังสือเล่มนี้มีเรื่องเล่าของการทำงานเหล่านั้น…
เหตุการณ์แวดล้อมช่วยให้เรื่องเล่าสำเร็จได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
บางครั้งเราตั้งต้นจากพล็อตของสถานการณ์หรือวางโครงเรื่องโดยกำหนดบริบทเหตุการณ์และสถานที่เอาไว้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่กลับหลงลืมสิ่งสำคัญที่สุดของจุดกำเนิดที่ทำให้เราต้องบรรยายถึงเรื่องเหล่านั้น นั่นคือตัวละคร เราสนใจว่าเกิดอะไร เพราะเหตุใดก็จริง แต่โดยธรรมชาติแล้วผลกระทบที่เกิดกับตัวละครต่างหากที่สร้างแรงสั่นสะเทือนได้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางการเล่าเรื่องที่เริ่มจากสร้างตัวละครเป็นหลัก เขาเป็นคนแบบไหน เชื่อในสิ่งใด และมีพฤติกรรมใดที่เขามักใช้เพื่อยืนยันความเป็นตัวตนของเขาที่เราจะถ่ายทอดให้กับผู้คนที่เฝ้ารอเรื่องเล่านี้ได้
ไม่มีอะไรน่าพิสมัยไปกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยไม่คาดฝันอีกแล้ว (สำหรับเรื่องเล่า)
เพราะสมองของมนุษย์จะมุ่งโฟกัสกับสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันด้วยสัญชาตญาณทางธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเรื่องเล่าที่จะตรึงผู้คนให้ติดตามอย่างต่อเนื่องได้อาจใช้ประโยชน์ของวิทยาศาสตร์สมองด้วยการทำให้พวกเขารับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของอะไรสักอย่าง แน่นอนว่าการจะเกิดขึ้นได้ตัวเดินเรื่องจำเป็นจะต้องมีมิติของความบกพร่องบางอย่างภายในตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นตัวละครที่หมั่นสร้างความชุลมุน หรือพุ่งชนกับเหตุการณ์ต่อเหตุการณ์อย่างไม่ลดละ ก็จะยิ่งทำให้ผู้คนลุ้นและอยากรู้อยากเห็นไปได้เรื่อยๆ
โครงสร้าง 5 องก์ของเรื่องเล่าที่จบลงอย่างสวยงาม
แม้ว่ารูปแบบโครงเรื่องเช่นนี้จะไม่ใช่สูตรสำเร็จเดียวของการเล่าเรื่องให้น่าติดตาม แต่วิธีนี้มักถูกใช้ทั่วไปผ่านเรื่องเล่าประเภท Happy Ending และยังสามารถดึงดูดใจผู้คนได้เป็นอย่างดี ซึ่งประกอบไปด้วย
- องก์ที่ 1 – อธิบายสิ่งที่ตัวละครเป็นและบอกเล่าเหตุการณ์พลิกผันที่ทำให้ตัวละครพบบททดสอบใหม่
- องก์ที่ 2 – เมื่อตัวตนของตัวละครไม่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้นได้ ทำให้ต้องลองหาวิธีใหม่ๆ ซึ่งทำให้เรื่องเล่าดำเนินไปอย่างตึงเครียด ตื่นเต้น
- องก์ที่ 3 – ตัวละครผ่านพ้นไปได้ด้วยมุมคิดแบบใหม่ แต่ก็ยังเจออุปสรรคที่ถาโถมมากขึ้น หรือเรียกว่าโดนโจมตีด้วยโครงเรื่องอีกครั้งแม้ว่าตัวละครจะเปลี่ยนไปแล้ว
- องก์ที่ 4 – จุดตกต่ำสุดขีดของตัวละครเมื่อถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ตัวละครจะเริ่มลังเลว่าความเปลี่ยนแปลงของตนถูกต้องหรือไม่ และตัวละครต้องตัดสินใจอีกครั้ง
- องก์ที่ 5 – โครงเรื่องตัดสินชี้ชะตา ตัวละครพลิกกลับมาควบคุมได้ ปมคลี่คลาย และตัวละครเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม
การสร้างสรรค์งานเขียนที่วางบริบทให้เรื่องเล่าถูกดำเนินโดยตัวละครและใช้โครงเรื่องบรรจุสถานการณ์ไว้เป็นวิธีที่ทำให้เราเอาใจใส่ตัวละครมากกว่า กล่าวได้ว่าในมุมมองของผู้เขียนแล้ว หน้าที่หลักของโครงเรื่องมีไว้เพื่อโบยตีตัวละครหลักของเราเลยด้วยซ้ำ
หยุดหลงรักตัวละครเอกของเราซะ!
เราไม่แน่ใจว่าใครเคยประสบชะตากรรมนี้หรือไม่ นั่นคือการหลงรักตัวละครที่เราสร้างขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะความมุ่งมั่นตั้งใจและการใช้ชีวิตกับตัวละครมายาวนาน แต่การหลงรักนี้เองที่อาจทำให้นักเล่าเรื่องทั้งหลายไม่กล้าใส่ข้อบกพร่อง ยินยอมลดระดับสถานการณ์เลวร้าย หรือกระทั่งรู้สึกเจ็บปวดไปกับการทุบทำลายตัวละครของตนเองได้ และสิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การขาดจุดวิกฤติพลิกผันทางโครงเรื่องที่จะทำให้ตัวละครเติบโต ขาดการตอบสนองหรือการกระทำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ พวกเขาล้วนสมบูรณ์แบบเกินไป ทำให้เรื่องเล่าชืดจางเพราะขาดมิติของความเป็นจริง
ความเห็นอกเห็นใจที่ถูกส่งผ่านการเล่าเรื่อง
โรเบิร์ต ซาโปลสกี นักประสาทวิทยาชาวอเมริกันพบว่า เมื่อทดลองสแกนสมองคนที่อ่านเรื่องคุณสมบัติอันเพียบพร้อมของคนอื่น สมองส่วนที่รับรู้ความเจ็บปวดจะเริ่มทำงาน ในขณะที่หากอ่านเรื่องราวเคราะห์ร้ายหรือความระทมทุกข์ ระบบให้รางวัลในสมองจะส่งสัญญาณความสุขออกมา สิ่งนี้ทำให้เราเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวละครที่บกพร่องและยังต้องเผชิญกับอุปสรรค ย้อนกลับไปในยุคศตวรรษที่ 18 เรื่องเล่าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอิทธิพลที่ช่วยเร่งให้เกิดหลักสิทธิมนุษยชนขึ้น เมื่อนักเขียนถ่ายทอดเรื่องราวความเจ็บปวดระทมทุกข์ผ่านตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศในนวนิยายเลื่องชื่ออย่าง Pamela (1740) หรือเรื่องเล่าชีวิตทาสที่ถูกตรวนไว้ในรัฐทางใต้ของอเมริกาใน The Narrative of the Life of Frederick Douglass
การได้อ่านหรือสัมผัสกับเรื่องเล่าที่สะท้อนความพยายามมีชีวิตอยู่ การต่อสู้ หรือแม้แต่ถ้อยความที่บรรยายมวลอารมณ์เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกที่มีความหมายต่อเราบางอย่างนั้น มันอาจกระทบใจจนเราอ่อนไหว อยากเอาใจช่วย หรือบางครั้งมันก็โอบอุ้มชุบชูความเปลี่ยวดายคล้ายกับการมีเพื่อนร่วมเดินทางในห้วงอารมณ์เหล่านี้
หนังสือที่เล่าเรื่องการเล่าเรื่องอย่างเอาเรื่อง
คงต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้ดึงดูดเราไว้ได้อยู่หมัด โดยสารตั้งต้นของเราคือความอยากรู้วิธีการสร้างสรรค์งานเขียนที่จะตรึงผู้อ่านและกระตุ้นอารมณ์ร่วมให้ได้ หลายส่วนที่ผู้เขียนนำเสนอเป็นจุดที่เรามองข้ามและบางอย่างก็เป็นจุดที่ไม่ได้สนใจนัก เรามักคิดเพียงว่าเรื่องราวแบบไหนที่จะใหม่พอ สนุกมากพอ หรือน่าสนใจมากพอ แต่บทเรียนแรกที่เราได้จากเล่มนี้นั่นคือ ผู้คนมีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจ ‘ตัวละคร’ ต่างหาก และมีอีกหลายเครื่องมือที่กระจายๆ อยู่ทั่วทั้งเล่ม ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดแง่คิดผ่านเรื่องเล่าที่ผู้เขียนมักยกงานชิ้นเอกขึ้นมาถอดองค์ประกอบ หรือการใช้เทคนิคบทบรรยายเชิงอุปลักษณ์อันเนื่องมาจากสมองมนุษย์ใช้วิธีนี้ในการทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม
อาจกล่าวได้ว่า เรื่องเล่าที่มีจุดพลิกผันและสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงนั้นมักทำให้ผู้คนสนใจและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งจุดพลิกผันส่วนใหญ่ก็มักเกิดจากตัวละครที่มีจุดอ่อนหรือตัวตนที่ไม่สมบูรณ์แบบ มันอาจเกิดจากความคิดหรือความเชื่อที่สะท้อนตัวตนบางอย่างซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีรากฐานมาจากการบ่มเพาะระหว่างช่วงวัยแห่งการเติบโต มันอาจด่างพร้อย ย้อนแย้ง สับสน ไปจนกระกระทั่งบิดเบี้ยว การเล่าเรื่องคือการสร้างโลกจำลองขึ้นมาจากสมการความเป็นจริงเพื่อให้ผู้คนรู้สึกเชื่อมโยงถึงมันได้
และคงไม่มีสิ่งใดที่จริงไปกว่าความจริงที่ว่าทุกอย่างไม่มีทางสมบูรณ์แบบไร้ที่ติอีกแล้ว
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่องให้ตรึงใจด้วยวิทยาศาสตร์สมอง (The Science of Storytelling)”
ผู้เขียน : Will Storr
(ศิริกมล ตาน้อย แปล)
จำนวนหน้า : 288 หน้า / ราคาปก : 350 บาท
สำนักพิมพ์ : Bookscape
หมวด : สารคดี