การต้องพึ่งยา
มักเป็นผลจากการละเลยสิ่งที่ควรทำก่อนหน้านี้…
(– Dr. David Agus)
✒️ ประวัติผู้เขียน
นายแพทย์ เดวิด บี. เอกุส (David B. Agus, M.D.) ศาสตราจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย คณะแพทยศาสตร์ Keck และคณะวิศวกรรมศาสตร์ Viterbi หัวหน้าศูนย์มะเร็งเวสต์ไซด์และศูนย์อณูทางการแพทย์ประยุกต์ เขาเป็นแพทย์ด้านมะเร็งที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากคนหนึ่งของโลก เป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์การแพทย์เฉพาะบุคคลชั้นนำ 2 แห่ง คือ Navigenics และ Applied Proteomics และยังเป็นผู้นำระดับนานาชาติเทคโนโลยีและวิธีการรักษาแบบเฉพาะบุคคลด้วย
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือนำเสนอเนื้อหาข้อมูลด้านการกิน การอยู่ และการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี (กันไว้ดีกว่าแก้) โดยเฉพาะเมื่อโรคที่คร่าชีวิตคนจำนวนมากไม่ใช่โรคติดต่อที่เห็นอาการเด่นชัดหากแต่เป็นโรคที่มักเกิดกับอวัยวะภายใน โรคทางพันธุกรรม หรือโรคที่เกิดจากการเพิกเฉยการดูแลสุขภาพของตนเองเป็นเวลานาน ๆ อย่างเช่น โรคหัวใจขาดเลือด พร้อมกับมีข้อมูลสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงและคำแนะนำการตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงอายุอย่างคร่าว ๆ : เนื้อหาถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช้ศัพท์เทคนิค มีข้อมูลกระชับและตรงประเด็น โดยแบ่งเคล็ดลับต่าง ๆ ออกเป็น 65 หัวข้อย่อย สามารถอ่านทำความเข้าใจและจบได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว : แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ภาคหลัก ได้แก่ ภาค 1 สิ่งที่ควรทำ ภาค 2 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ภาค 3 คำสั่งแพทย์ : เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการหาชุดข้อมูลแนวทางการใช้ชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงการล้มหมอนนอนเสื่อ หรือข้อมูลความรู้ทางด้านสุขภาพและคำแนะนำการดูแลตนเองเพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวโดยห่างไกลความป่วยไข้ให้มากที่สุดในเบื้องต้น : ในความเป็นคู่มือสุขภาพ เราพบว่าเคล็ดลับภายในเล่มนี้มีความครอบคลุมถึงเรื่องพื้นฐานการมีชีวิตอยู่แทบตลอดทั้งอายุขัยของเรา แต่อย่างไรก็ดี ข้อมูลการแพทย์และการดูแลตนเองยังมีลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาการแพ้เฉพาะตัว ข้อมูลยาบางประเภท หรืออาหารบางชนิด ฉะนั้นเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ผู้เขียนได้นำเสนอสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการอ่าน นั่นคือการค้นพบว่าอะไรที่จะใช้ได้สำหรับเรา : บางข้อความอาจเป็นเรื่องที่เรารู้กันดีอยู่แล้วแต่เลือกที่จะไม่ใส่ใจ จวบจนกระทั่งร่างกายส่งสัญญาณเตือนให้เรากลับมาดูแลตัวเองบ้าง ฉะนั้นการได้อ่านเล่มนี้ก็ราวกับถูกกระตุ้นเตือนซ้ำอีกครั้ง และตระหนักว่าโชคยังดีแค่ไหนที่เรายังระลึกถึงมันขึ้นมาได้
เรื่องพื้นฐานของการสร้างสุขภาพที่ดี
ในช่วงวัยรุ่น มีโอกาสอย่างสูงที่เราจะเพลิดเพลินไปกับการใช้ชีวิตให้เต็มที่ด้วยร่างกายที่สมบูรณ์โดยไม่มีการส่งสัญญาณเตือนแปลก ๆ มาให้เราได้รู้เลยแม้แต่น้อย หากแต่เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนหรือพ้นมาครึ่งค่อนชีวิต เราอาจพบว่าวิถีที่เรามีมาตลอดเป็นไปคนละทางกับเรื่องของการมีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาว
แต่อย่าปล่อยให้คำว่า ‘สายเกินไป’ เบียดบังความตั้งใจของคุณตั้งแต่เริ่ม เพียงแค่เราหวนกลับมาคิดภาพตัวเองที่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยและแข็งแรงพอที่จะมีความสุขหรือดูแลคนที่รัก นั่นก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่เพียงพอแล้ว เพราะการมองโลกแง่ดีหรือมีทัศนคติเชิงบวกต่อสิ่งที่เป็นไป ไม่ว่าด้านร่างกายหรือชีวิต ถือเป็นเคล็ดลับพื้นฐานข้อหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน
กินอาหารจริง อยู่กับสิ่งที่เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด
หนึ่งในวิถีการใช้ชีวิตของคนเราที่จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก หนีไม่พ้นเรื่องอาหารการกิน เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของความสุขสำหรับใครหลาย ๆ คนด้วย ผู้เขียนได้แนะนำเคล็ดลับสำคัญของการกินไว้ข้อหนึ่ง นั่นคือให้เน้นกินอาหารจริง ซึ่งเป็นอาหารที่ปรุงสดใหม่ หรืออาหารประเภทที่ไม่มีป้ายแปะโภชนาการบอกข้างแพคเกจและไม่ผ่านการแปรรูป อย่างเช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ที่ขายบริเวณแผงอาหารสด ซึ่งสังเกตได้ว่าอาหารเหล่านี้มักมีอายุที่สั้นกว่า แต่นั่นก็อาจหมายถึงช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการรับโภชนาการที่มากกว่า
นอกจากนี้ อาหารเสริมและอาหารที่มีคำอธิบายถึงคุณค่าทางโภชนาการหรือคำเชิญชวนให้หยิบมันลงตะกร้าแล้วเดินไปจ่ายเงิน ยิ่งเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แม้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนในชุมชนเมืองที่เน้นความสะดวกหรือเร่งด่วนเป็นจานหลัก เราอาจต้องพิจารณาปรับวิธีการกินไปจนถึงการออกแบบตารางชีวิตให้เหมาะสมหากไม่ต้องการทรมานกับความเจ็บป่วยในภายหลัง
อวัยวะที่เป็นประสาทสัมผัสทั้งหลาย จงใช้มัน แต่ก็อย่าลืมที่จะถนอมมันด้วย
กฎข้อแรกของหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ฟัง ดู รู้สึก’ เป็นคำแนะนำที่เราอยากทดลองใช้กับตัวเองมาก นั่นคือการบันทึกรายละเอียดสุขภาพของตนไว้ในสมุดบันทึกเป็นประจำ หรืออาจจะบันทึกลงบนแอพลิเคชั่นที่ปัจจุบันมีให้ใช้อย่างหลากหลาย (หากใครทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้วต้องขอแสดงความชื่นชมไว้ตรงนี้เลยค่ะ มีวินัยมาก ๆ) เพราะในตอนที่เราป่วยด้วยโรคออฟฟิศซินโดรม กรดไหลย้อน หรือท้องเสีย เรามักเพิกเฉยสัญญาณเตือนประหลาด ๆ ของร่างกายและเลือกที่จะปล่อยมันไว้จนกลายเป็นการสะสม เมื่อมาคิดย้อนอีกทีจึงเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าก่อนหน้านี้ได้มีอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ โผล่มาบอกก่อนล่วงหน้าแล้ว และมันคงจะดีกว่านี้หากเราได้ลองสำรวจตัวเองอย่างน้อยวันละครั้งเพื่อบันทึกความรู้สึกที่เกิดต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทดสอบการมองเห็น การได้ยิน สังเกตความผิดปกติที่ปรากฏบนผิวหนัง หรือกระทั่งฟังเสียงการหายใจ การพูด สิ่งเหล่านี้เราคิดว่าหากได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงแต่เนิ่น ๆ และรีบปรับวิถีชีวิต เราก็อาจไม่ต้องเข้ารับการบำบัดทางกายภาพเป็นปี ๆ เลยก็ได้
แน่นอนว่าเจ้าประสาทสัมผัสเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมาก มันเป็นประสาทการรับรู้ที่สร้างสุขภาวะให้แก่บุคคลได้อย่างรอบด้าน การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจึงควรเพิ่มการดูแลอวัยวะเหล่านี้นอกเหนือจากการตรวจกระบวนการทำงานและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไปไม่ได้คือการตรวจสอบความเสี่ยงอันเนื่องมาจากกรรมพันธุ์ การรับรู้ข้อมูลทางด้านสุขภาพที่อาจถูกส่งต่อมาทางพันธุกรรมย่อมเป็นประโยชน์สำหรับเราได้อย่างแท้จริง
ทำความรู้จักตัวเอง และเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองดีที่สุด
เคล็ดลับหลายข้อภายในเล่มทั้งคำแนะนำให้ทำและคำแนะนำให้หลีกเลี่ยง สำหรับเราแล้วอาจมีบางข้อที่ยังสร้างความกังขาอยู่บ้าง อย่างเช่น คำแนะนำให้กินแอสไพรินปริมาณเล็กน้อยต่อวัน หรือเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่ต้องมีเลเซอร์ยิงตามร่างกาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นการดีที่สุดที่จะทำตามกฎเบื้องต้นของผู้เขียน นั่นคือ ‘ค้นให้พบว่าอะไรใช้ได้กับคุณ’ และเลือกวางแผนตารางการใช้ชีวิตในแบบของคุณเอง หรืออาจปรึกษากับแพทย์พร้อมผลการตรวจร่างกายของตนเป็นระยะ ๆ เพื่อปรับวิธีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกัน ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ก็ได้แยกชุดข้อมูลที่ควรตรวจคัดกรองไว้เบื้องต้นอย่างคร่าว ๆ ในทุก ๆ 10 ปีตลอดช่วงอายุ – ตั้งแต่ 20 ปีไปจนถึง 70 ปีขึ้นไป
โดยสรุปแล้วสิ่งที่ได้จากหนังสือนอกจากจะเป็นเครื่องเตือนใจให้กลับมาทบทวนวิถีชีวิตเพื่อการสร้างสุขภาพดีแล้ว ผู้เขียนยังมีคำเสนอแนะและสอดแทรกความรู้ทางการแพทย์อย่างย่อในการสนับสนุนข้อเขียนแต่ละข้อที่เลือกสรรไว้เพื่อให้เรานำไปปรับใช้และฝึกออกแบบการใช้ชีวิต การตรวจสุขภาพ และการโฟกัสสิ่งที่ควรเป็นในแต่ละช่วงวัยของตนเองได้เป็นอย่างดี
หลังจากปิดหนังสือเล่มนี้ ก็เหลือแค่ต้องลงมือทำจริง ๆ เท่านั้น
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“ถ้าคุณรักตัวเองมากพอ ขอให้หมอได้พูดตรง ๆ (A Short Guide to a Long Life)”
ผู้เขียน : Dr. David Agus
(นพ.เอกชัย อัศวนฤนาท แปล)
จำนวนหน้า : 210 หน้า / ราคาปก : 200 บาท
สำนักพิมพ์ : โอ้มายก้อด (OMG BOOKS)
หมวด : สุขภาพ