Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : ikigai อิคิไก (เอ็กตอร์ การ์เซีย และฟรานเซสค์ มิราเยส)

รีวิวหนังสือ : ikigai อิคิไก (เอ็กตอร์ การ์เซีย และฟรานเซสค์ มิราเยส)

รีวิวหนังสือ อิคิไก เชิงสุขภาพ

80 เปอร์เซ็นต์ของมนุษย์ ยอมรับว่าจำเป็นต้องมีเหตุผลในการมีชีวิตอยู่

และประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าพร้อมจะตายเพื่อใครบางคน หรือเพื่ออะไรบางอย่างในชีวิต

– จากหนังสือหน้า 58
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️

เอ็กตอร์ การ์เซีย (Héctor García)
เกิดที่ประเทศสเปน และย้ายมาอยู่ที่ญี่ปุ่น
จนได้รับสถานะเป็นพลเมืองของประเทศญี่ปุ่น
อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์แห่งองค์การเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (CERN)
ผลงานของเขาคือการคิดค้นโปรแกรมวิเคราะห์และจดจำเสียงพูดของคน
มีผลงานเขียนหนังสือขายดีติดอันดับ 1 ของญี่ปุ่น เรื่อง A Geek in Japan
ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของบล็อก Kirainet.com
และยังคงสนุกกับความสงสัยใคร่รู้ของตนเองไปตลอดการใช้ชีวิต

ฟรานเซสค์ มิราเยส (Francesc Miralles)
นักเขียนหนังสือแนวพัฒนาตนเองและสร้างแรงบันดาลใจ
บ้านเกิดของเขาอยู่ที่บาร์เซโลนา
ศึกษาด้านวารสารศาสตร์ วรรณคดีอังกฤษ และภาษาเยอรมัน
ปัจจุบันทำงานเป็นทั้งบรรณาธิการ นักแปล และผู้เรียบเรียงเนื้อหา
รวมถึงการเป็นนักดนตรีด้วย
🎯 SUMMARY VIEW 🎯

: อิคิไกเล่มนี้จัดอยู่ในหมวดหนังสือสุขภาพ เขียนขึ้นมาจากการศึกษาหมู่บ้านแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ที่ซึ่งมีประชากรอายุถึงหรือเกิน 100 ปีอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผู้เขียนชวนไปดูวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนแห่งนั้นและพบว่าการมีอายุที่ยืนยาวได้เกิดจากที่พวกเขารู้จักอิคิไกของตนเอง อิคิไกที่เป็นแนวคิดของคนญี่ปุ่น ซึ่งสามารแปลได้อย่างง่าย ๆ ว่าเป็น "ความสุขอันเกิดจากการมีอะไรให้ทำตลอดเวลา"

: หนังสือแบ่งออกเป็นทั้งหมด 9 บท ได้แก่
(1)หลักปรัชญาอิคิไก 
(2)เคล็ดลับต้านชรา 
(3)จากโลโกเทอราปีถึงอิคิไก 
(4)มีสมาธิกับทุกสิ่งที่ทำ 
(5)ปรมาจารย์ด้านอายุยืน 
(6)แรงบันดาลใจจากศตวรรษิกชน 
(7)อาหารแบบอิคิไก 
(8)การเคลื่อนไหวร่างกายเบา ๆ ทำให้อายุยืนขึ้น 
(9)มีหัวใจที่ไม่ยอมแพ้และวะบิซะบิ 
และมีเพิ่มอีก 1 บทเป็นส่วนของการส่งท้ายที่ผู้เขียนได้สรุปศิลปะแห่งการใช้ชีวิตให้เป็นของขวัญแก่ผู้อ่าน

: ต้องบอกว่าเป็นการถ่ายทอดมุมมองที่ศึกษาผู้คนในสถานที่แห่งหนึ่งภายใต้ช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ให้ภาพการใช้ชีวิตได้ค่อนข้างหลากหลายและชัดเจน เล่าถึงความเป็นวิถีแห่งอิคิไกที่ผู้คนนำไปปฏิบัติใช้กันตามความเป็นจริง มากกว่าการบอกเล่าหลักการของแนวความคิด

: เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจแนวความคิดปรัชญาอิคิไกและต้องการเรียนรู้ถึงรูปแบบที่ชาวญี่ปุ่นนำมันไปใช้ในชีวิตโดยพวกเขาเองอาจแทบไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ราวกับว่ามันถูกปลูกฝังลงในดีเอ็นเอที่สืบทอดกันมาช้านาน และยังเหมาะกับผู้ที่กำลังมองหาเคล็ดลับการใช้ชีวิตให้ยืนยาวอย่างเป็นสุขทั้งในแง่ของสุขภาวะทางร่างกายและสุขภาวะทางจิต

: เรามองว่าหนังสือเล่มนี้คล้ายคู่มือชีวจิตบำบัดที่สามารถหยิบมาอ่านได้เรื่อย ๆ เพื่อคอยกระตุ้นให้เราไม่ลืมการใช้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งถือเป็นวัตถุดิบที่ให้พลังงานเชิงบวกชั้นดี
รีวิวหนังสือ อิคิไก สำนักพิมพ์ เนชั่น

อิคิไก (ikigai) โดย Héctor García และ Francesc Miralles ได้รับการถ่ายทอดออกมาในมุมมองของสองนักเขียนชาวสเปนซึ่งออกเดินทางไปยังหมู่บ้านโอะกิมิ หมู่บ้านที่มีประชากรราว 3,000 คนทางตอนเหนือของเกาะโอะกินะวะ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นหมู่บ้านศตวรรษิกชน (หมู่บ้านที่มีกลุ่มคนอายุถึงหรือเกิน 100 ปี) เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตและค้นพบความลับของผู้คนบนเกาะแห่งนั้น

อิคิไกเล่มนี้จะอยู่ในหมวดสุขภาพ เนื้อหาภายในเล่มจึงเผยให้เห็นเรื่องราวพื้นฐานการใช้ชีวิตของผู้คนบนเกาะ เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ทว่าแฝงไว้ด้วยข้อมูลในการขบคิดที่สามารถนำไปต่อยอดสู่บริบทของการเรียนรู้เชิงลึกที่มากขึ้นไปอีกได้ตามความสนใจของเรา

พื้นฐานง่าย ๆ ที่ว่านั้นคืออะไร ?

หลายคนที่เคยศึกษาแนวความคิดอิคิไกอาจจะพอนึกภาพออกถึงวงกลม 4 วงที่มีพื้นที่ทับซ้อนกันอันประกอบไปด้วยวงกลมของสิ่งที่รัก สิ่งที่ทำได้ดี สิ่งที่มีคนจ้าง และสิ่งที่โลกต้องการ แต่สำหรับอิคิไกที่ผู้เขียนถ่ายทอดผ่านเล่มนี้จะเน้นเล่าถึงวิธีการที่ชาวญี่ปุ่นบนเกาะโอะกิมิใช้มันอย่างอัตโนมัติราวกับว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป (ซึ่งก็คงปกติจริง ๆ สำหรับพวกเขา) นั่นทำให้เราได้เรียนรู้จากแนวทางการปฏิบัติมากกว่าเน้นหนักที่หลักการทางปรัชญา ทำให้มันกลายเป็นหนังสือที่อ่านง่ายและตรงไปตรงมา ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน การทำงาน การเคลื่อนไหวร่างกาย และการสานสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

หนังสือเต็มไปด้วยกรณีตัวอย่าง เรื่องเล่าจากบทสัมภาษณ์ที่เรียบง่ายแต่ซุกซ่อนความลับบางอย่างที่ถูกมองข้ามเอาไว้ ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาประกอบคำแนะนำหลาย ๆ กรณีเพื่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลซึ่งถูกอธิบายไว้อย่างเข้าใจง่าย ตัวอย่างเช่น จิตบำบัดแนวแสวงหาความหมายของชีวิต (logotherapy)​ ของวิคเตอร์ ฟรังเคิล จิตแพทย์ผู้ถูกกักกันอยู่ในค่ายเอาชวิทซ์ของนาซีที่เหี้ยมโหดที่สุด ผู้ซึ่งเปิดเผยบทเรียนในการนำพาจิตวิญญาณให้อยู่รอดผ่านหนังสือ Man’s search for Meaning : ชีวิตไม่ไร้ความหมาย อันโด่งดังและถูกเล่าขานว่าเป็น 1 ในนวนิยายที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอเมริกา โดยแนวความคิดของจิตบำบัดนี้จะชวนให้คนไข้มองไปยังอนาคตเพื่อให้เขาค้นพบความหมายในการมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่วิธีการบำบัดจะเน้นให้คนไข้มองย้อนกลับไปในอดีตเพื่อขุดค้นจิตใต้สำนึกลึก ๆ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและส่งผลมายังชีวิตปัจจุบัน ซึ่งวิธีการของวิคเตอร์ ฟรังเคิลนั้นค่อนข้างสอดคล้องกับปรัชญาอิคิไกมากเลยทีเดียว

ผู้เขียนจับจุดพฤติกรรมของผู้คนในหมู่บ้านโอะกิมิและนำมาบอกเล่าแบบบทต่อบท ตั้งแต่เรื่องการทำงานของผู้คนที่นั่น ซึ่งพวกเขามักจดจ่ออยู่กับงานที่ทำและมีวิธีการทำงานที่เน้นทำทีละอย่าง (ในขณะที่เราเองนี่แหละ คุ้นเคยกับความเป็นมนุษย์ Multitasking และคิดว่าเป็น Productivity ขั้นสูงสุด ^^”) ประเพณีและภาพการใช้ชีวิตแบบชุมชนที่เน้นการฉลองร่วมกันและมักมีกิจกรรมสัมพันธ์ที่สร้างความเคลื่อนไหวทั้งในด้านร่างกายและมิตรภาพ ไปถึงเรื่องการกินดื่มที่เน้นการบริโภคปริมาณที่น้อยแต่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกวิธีออกกำลังกายเบา ๆ อย่างราจิโอ ไทโซ (Radio taiso) ไท่เก็ก และชี่กงที่นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวภายใต้ความมีสมาธิและเหมาะสมอย่างยิ่งกับศตวรรษิกชน

รีวิวหนังสือ อิคิไก สำนักพิมพ์ เนชั่น

ในส่วนสุดท้ายของหนังสือได้มีการพูดเชื่อมโยงไปถึงเรื่อง วะบิซะบิ และ อิชิโกะอิชิเอะ ซึ่งเป็นปรัชญาญี่ปุ่นที่สำคัญและน่าศึกษาต่อไม่แพ้กัน โดยวะบิซะบิคือแนวคิดที่ชวนให้เห็นความงามตามธรรมชาติ และอิชิโกะอิชิเอะคือการเชื่อว่าช่วงเวลาที่เกิดจะอยู่เพียงปัจจุบันและไม่หวนกลับมาอีก ซึ่งการใช้ชีวิตแบบอิคิไกก็ล้วนมีความเชื่อมโยงกับทั้งสองสิ่งข้างต้น ก่อนที่ผู้เขียนจะสรุปบทส่งท้ายด้วยข้อบัญญัติอิคิไก 10 ประการซึ่งได้มาจากการตกผลึกทางความคิดของพวกเขาจากการศึกษาผู้คนที่นั่น

เรียกได้ว่าตอนหยิบมาครั้งแรก มันดูเหมือนจะเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญอย่างที่ใครต่อใครก็น่าจะรับรู้และเข้าใจกันดีอยู่แล้ว

ใช่ค่ะ มันเป็นเรื่องทั่วไป…

แต่จะมีสักกี่ครั้งที่เรามองเห็นความสำคัญของสิ่งทั่วไปเหล่านั้นและหยิบยกมันขึ้นมาเพื่อพินิจพิจารณาถึงคุณค่าที่มีอยู่

หนังสือเล่มนี้ชวนให้เรารื้อฟื้นเรื่องพื้นฐานเรียบง่ายจากผู้คนในหมู่บ้านโอะกิมิมาให้เห็นเป็นภาพกันอย่างชัด ๆ แล้วสะท้อนกลับไปเป็นมุมมองการใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งให้เราได้เข้าใจ

ที่เหลือมันก็อยู่แค่ว่า เราจะมองเรื่องสามัญของเราเช่นไร เพื่อให้ค้นพบความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ต่อจากนี้


🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

“ikigai อิคิไก”

ผู้เขียน : เอ็กตอร์ การ์เซีย และ ฟรานเซสค์ มิราเยส
(เพ็ญพิสาข์ ศรีวรนารถ แปล)

จำนวนหน้า : 208 หน้า / ราคาปก : 280 บาท

สำนักพิมพ์ : เนชั่นบุ๊คส์

หมวด : สุขภาพ

รีวิว คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต
หนังสือที่จะช่วยให้คุณได้ลงรักทองประสานรอยร้าวของชีวิตที่แตกสลาย และฟื้นฟูคุณค่าแห่งจิตใจให้กลับคืนสู่สภาวะที่เต็มเปี่ยมจากภายในอีกครั้ง
ต.ค. 17, 2022
รีวิวหนังสือ : จงมองหา “…
หงุดหงิดง่ายกับเรื่องเล็กๆ หัวเสียกับเรื่องเล็กที่สำหรับเราแล้วมันคือเรื่องใหญ่ หรือระเบิดอารมณ์รุนแรงโดยไม่ตั้งใจและยั้งไว้ไม่ทัน อาการเหล่านี้ล้วนเป็น "ช้าง" ตัวใหญ่ที่แฝงอยู่หลังกาย "ยุง" ตัวกระจิ๋ว ชวนคุณมาฝึกฝนไม่ให้เป็นคนเจ้าอารมณ์ด้วยการเข้าใจปมความต้องการพื้นฐานของตนเองผ่านเล่มนี้
ม.ค. 31, 2023
รีวิวหนังสือ การจัดบ้าน มาริเอะ คนโด ฉบับการ์ตูน
หากรู้สึกกังวล หรือมีอะไรรบกวนจิตใจ และกำลังมองหาวิธีแก้ไขที่ต่างออกไป อยากชวนมาจัดระเบียบบ้านเพื่อจัดระเบียบชีวิตใหม่ ตามสไตล์คนโด มาริเอะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านระดับโลก
มี.ค. 27, 2022
รีวิวหนังสือ หยุดเลี้ยงลิงในสมองคุณ Don't feed the monkey mind Bookscape
เมื่อการใช้ชีวิตของคุณประสบปัญหาจากความวิตกกังวลจนจับต้นชนปลายไม่ถูก พักผ่อนชั่วครู่ก็กลับสู่วงจรอีกครั้ง มาร่วมค้นหาความจริงว่าพฤติกรรมใดที่หล่อเลี้ยงลิงในสมองของคุณจนแข็งแรงและทำให้มองเห็นทุกอย่างว่าเป็นภัยคุกคามของชีวิตผ่านหนังสือเล่มนี้กันค่ะ
ส.ค. 20, 2023