แต่ก่อนจะเริ่ม เราต้องรู้ว่านี่ไม่ใช่โครงการสร้างความเป็นศัตรูกับจิต
เมฆามาแล้วไปไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ท้องฟ้า ความคิดก็เช่นกัน มันมาแล้วไปไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่จิต
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ความคิดก็ยังมาอยู่เรื่อย มันเป็นของมันอย่างนั้น
อย่ามองว่าเป็นปัญหา แทนที่จะเห็นว่ามันเป็นตัวร้าย
ก็แค่อ่อนโยนอยากรู้อยากเห็น …
จากหนังสือ: เราอยู่อย่างไร เราตายอย่างนั้น – เปมา โชดรอน
✒️ ประวัติผู้เขียน เปมา โชดรอน (Pema Chödrön)
เปมา โชดรอน (Pema Chödrön) ภิกษุณีชาวอเมริกันในสายธรรมของโชเกียม ตรุงปะ เป็นครูประจำอยู่ที่กัมโปแอปบี ในโนวาสโกเทีย อารามพุทธศาสนาสายทิเบตแห่งแรกในอเมริกาเหนือที่ก่อตั้งเพื่อชาวตะวันตก เธอเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายทั่วโลก และเขียนหนังสือหลายเล่มเพื่อแบ่งปันแนวคิดและคำสอนทางพุทธศาสนาแบบทิเบต
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือที่จะช่วยให้คุณเผชิญหน้ากับความตายได้อย่างอาจหาญโดยเปลี่ยนความกลัวเป็นการเตรียมพร้อมและซักซ้อมการใช้ชีวิตอย่างมีสติ : เปมา โชดรอน เป็นภิกษุณีในพุทธศาสนาสายทิเบต เนื้อหาภายในเล่มจึงมีการอ้างอิงเกี่ยวกับบาร์โด ซึ่งเป็นคำสอนของชาวทิเบตว่าด้วยเรื่องของชีวิตในชาตินี้ที่สามารถเชื่อมโยงได้กับชาติหน้า โดยคำสอนเกี่ยวกับบาร์โดนี้มาจาก "คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต" (The Tibetan Book of the Dead) ที่พรรณนาถึงประสบการณ์ที่ผู้ตายต้องผ่าน มันจึงมีไว้สำหรับอ่านให้พวกเขาฟังและนำทางพวกเขาให้ไปสู่ภพภูมิที่ดี : เป็นหนังสือที่เรารู้สึกว่าไม่มีชื่ออื่นใดจะเหมาะสมไปกว่านี้อีกแล้ว ผู้เขียนได้มอบมุมมองทางความคิดรวมถึงวิธีปฏิบัติในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบาร์โดปกติของชีวิต และเปิดโอกาสให้เราได้จินตนาการรับรู้ถึงชั่วขณะของการตาย อันเป็นการเปลี่ยนผ่านที่อาจฟังดูน่ากลัวสำหรับใครหลายคน : หนังสือเล่มนี้มีความเฉพาะตัวและเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อส่วนบุคคลที่มีความเปราะบางอย่างยิ่ง เราจึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเหมาะสำหรับใคร แต่หากคุณอยู่ระหว่างค้นหาทิศทางของการดำเนินชีวิตหรือต้องการเรียนรู้กระบวนการดังกล่าวผ่านความเชื่อในแบบของพุทธศาสนาสายทิเบต การเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้นับว่าคุ้มค่า : สิ่งประทับใจแรกสุดสำหรับเราจากหนังสือคือคำอธิบายกระบวนการตายซึ่งเล่าวิธีการสลายรวมธาตุแข็งไปสู่ธาตุละเอียด ราวกับว่าการอ่านขั้นตอนเหล่านี้มันดูดซับความกลัวในเรื่องของความตายเราลงไปแล้วครึ่งหนึ่ง เราจึงรู้สึกว่าเนื้อหาถัดไปภายในเล่มอาจเป็นวิธีการฝึกตนอีกรูปแบบที่จะนำไปใช้หลอมรวมเพื่อพัฒนาตนเองทางด้านอารมณ์ได้ แล้วมันก็ช่วยเติมเต็มช่องว่างบางอย่างสำหรับเราได้อย่างที่คิดไว้จริงๆ : และหากเพื่อนๆ ติดตามหนังสือที่เราเคยรีวิวไว้ในเว็บไซต์นี้ก็อาจจะพอจับทางได้ว่าเราค่อนข้างสนใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์กับตัวเราเอง แต่ก็ต้องบอกตามตรงว่าบ่อยครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกละหุกแล้วโหมดป้องกันตัวเองของเราทำงานจนลืมทฤษฎีจิตวิทยาไปเกือบหมด (ฮ่าๆ) ส่วนตัวเลยคิดว่าอาจจะต้องลองสมดุลระหว่างความเชื่อและความเข้าใจเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งนี่ก็ยังนับเป็นแค่ความอยากรู้อยากลองที่ไม่อาจอ้างอิงหรือใช้เป็นแนวทางได้ทั้งหมด (แต่เราสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้นะคะ^^)
เราอาจตายเหมือนตอนที่ใช้ชีวิตอยู่?
อาจเป็นเพราะการมีชีวิตอยู่ของเราเองในทุกวันนี้มีคำถามอยู่มากมาย บางคราวค้นพบคำตอบได้อย่างหลากหลาย แต่โดยธรรมชาติเรามักวนเวียนอยู่กับความสงสัยวันแล้ววันเล่า แน่นอนว่าคำถามหนึ่งที่ยิ่งอายุเพิ่มขึ้นมันก็ดูเหมือนจะค่อยๆ ปรากฏภาพขึ้นมาจากที่เคยเห็นเพียงเค้าลาง สถานะที่ผู้ก้าวไปถึงไม่เคยมีโอกาสกลับมาบอกเล่าประสบการณ์ที่พ้นผ่านเฉกเช่นการทำงานหรือการทำธุรกิจ มันคือเรื่องของ “ความตาย” – คำสั้นๆ ที่แฝงไว้ด้วยมวลความหมายมากมายให้ตีความ
ฉะนั้นทันทีที่เราเห็นชื่อหนังสือ … มันคือนาทีที่เรารู้สึกเลยว่าต้องอ่านเล่มนี้ให้ได้
เราอยู่อย่างไร – เป็นประโยคที่น่าคิดตาม ทุกวันนี้คล้ายกับว่าเราก็แค่มีชีวิตอยู่และใช้ชีวิตไปตามวิถีของการเอาตัวรอดอย่างสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งบนโลกใบนี้ มนุษย์ทุกคนล้วนรับรู้ว่าปลายทางของตนคือความตายอย่างแน่นอน แต่เราไม่ค่อยได้หวนคิดถึงมัน หรืออาจบอกได้ว่าไม่ค่อยใช้เวลาใคร่ครวญเกี่ยวกับมันสักเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องวางแผนยังไงนอกเสียจากการเตรียมจัดการข้าวของมากมายที่จะถูกทิ้งไว้ เรามองออกมากกว่ามองกลับเข้ามาภายใน และสำหรับเรา ความตายมันคล้ายกับกระดาษรองปกหลังที่ว่างเปล่า เป็นความสิ้นสุด และคิดว่าคงไม่ต้องรับรู้อะไรอีกต่อไปแล้ว
ด้วยความเชื่อเช่นนี้มันเปิดโอกาสให้เราเพิกเฉยแทนที่จะเตรียมตัวล่วงหน้าให้กับสภาพจิตใจสำหรับสิ่งที่จะต้องมาถึงอย่างแน่นอน ผลคือเมื่อถึงนาทีวิกฤติที่มันมาเยือนอย่างฉับพลัน ความกลัวก็กลืนกินเราลงไปทั้งร่าง
ความเชื่อและความหมายของบาร์โด
คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบตนั้นเดิมทีเป็นคำสอนที่อาจารย์จะเผยแพร่แก่ศิษย์ครั้งละคน แต่ในที่สุดเมื่อมีการสอนอย่างเปิดเผย นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันนามวอลเตอร์ อีแวนส์ ก็ได้จัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษขึ้นครั้งแรกในปี 1920 ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของบาร์โดทั้งหก ได้แก่ บาร์โดปกติของชีวิต บาร์โดความฝัน บาร์โดสมาธิ บาร์โดการตาย บาร์โดธรรมตา และบาร์โดการเปลี่ยนภพ
โดยความหมายบาร์โดคือการเปลี่ยนผ่าน หรือ ช่วงว่าง คำสอนนี้จึงอยู่บนพื้นฐานความเชื่อถึงการมีอยู่ของโลกหลังความตาย และเมื่อเราเข้าใจว่าชีวิตของเราในตอนนี้ก็คือบาร์โดหนึ่งซึ่งเป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็อาจทำให้เราตระหนักถึงความแจ่มชัดของความไม่แน่นอนในชีวิตยิ่งกว่าที่คิดเอาไว้
กระบวนการตายและการสลายภายใน
ส่วนที่ตรึงใจเราที่สุดในช่วงต้นของหนังสือคือการอธิบายถึงกระบวนการตายตามคัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต มันเป็นส่วนที่เมื่อเราอ่านแล้วจินตนาการตามทำให้ความน่ากลัวของความตายคลายลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ โดยขั้นตอนของมันคือการค่อยๆ สลายรวมกันจากธาตุแข็งสู่ธาตุละเอียด เราจะรู้สึกหนัก กระหาย หนาวกาย หายใจลำบาก กระทั่งลมหายใจถูกพรากออกไปในท้ายที่สุด ซึ่งตามการแพทย์แผนตะวันตกอาจถือว่าชีวิตได้สิ้นสุดลงแล้ว หากแต่ตามคำสอนของพุทธศาสนาสายทิเบตนี้เชื่อว่าการสลายภายในจะยังคงดำเนินต่อ จนกว่าจะถึงการสลายขั้นสุดท้ายที่จิตสลายรวมกับอากาศ
และการสลายภายในนี้เองที่ผูกโยงเกี่ยวเนื่องมาจากช่วงเวลาของการมีชีวิตอยู่ – เราอยู่มาเช่นไร เราจะมลายไปเช่นนั้น
หนทางที่ดีที่สุดคือการเตรียมตนเองให้พร้อมรับมือเสียตั้งแต่ตอนที่ยังมีชีวิตเพราะเป็นชั่วขณะที่เรามีอำนาจควบคุมและฝึกปรือได้ เปมา โชดรอน จะค่อยๆ พาเราเยื้องย่างทีละก้าวในการฝึกตนเพื่อรับมือกับความตายที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ถึงสภาวะต่างๆ ที่จะพบหลังหมดอายุขัยบนโลกตามความเชื่อของพุทธศาสนาสายทิเบต
สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้เรื่อง ‘การตาย’ และส่งผลต่อ ‘การอยู่’
หนังสือมีวิธีนำเสนอและเล่าเรื่องภพหลังความตายได้อย่างน่าติดตามกระทั่งอยากลองอ่านคัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบตฉบับเต็มดูสักครั้ง สำหรับเราในแง่ของการพัฒนาทางด้านอารมณ์ การมีมุมมองต่อความเป็นไปที่เกิดขึ้นเมื่อหมดลมหายใจมันทำให้รู้สึกถึงความสำคัญของการฝึกฝนอารมณ์ในเชิงจิตวิญญาณได้ต่างไปจากการเรียนรู้หลักทางจิตวิทยาที่สะท้อนความเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรถูกต้องมากกว่าหรือดีกว่า การผสมผสานและปรับใช้ให้เหมาะสมตามจังหวะของชีวิตเป็นเรื่องที่เราคิดว่าน่าสนใจและอาจได้อะไรมากกว่าที่คาด
ไม่เพียงแค่การเรียนรู้และฝึกฝนตนเองเท่านั้น ความเชื่ออันเปรียบเสมือนพื้นหลังทางความคิดมีส่วนอย่างมากในวิถีที่มนุษย์เราตื่นรู้ว่าจะนำไปสู่ทิศทางใด
ไม่ใช่แค่การอยู่และตาย แต่เราเชื่ออย่างไร – เราจะเป็นไปอย่างนั้น
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“เราอยู่อย่างไร เราตายอย่างนั้น (How We Live is How We Die)”
ผู้เขียน : เปมา โชดรอน
(สดใส ขันติวรพงศ์ แปล)
จำนวนหน้า : 206 หน้า / ราคาปก : 320 บาท
สำนักพิมพ์ : สวนเงินมีมา
หมวด : ศาสนา