คลื่นแต่ละลูกในมหาสมุทรแห่งชีวิตล้วนมีทิศทางในการดำเนินเป็นของตนเอง
และหลายครั้งที่การเปลี่ยนผ่านไม่อาจทำให้เราย้อนคืนได้อีก
หนังสือเล่มนี้ได้ส่งสารบางเรื่องราวให้เหล่าบรรดาคลื่นทุกลูกในตอนนี้
เพื่อที่จะช่วยนำเสนอบางแง่มุมความคิดให้คุณได้เตรียมพร้อม – ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ
ก่อนสูญสลายกลับคืนสู่ชายฝั่งเฉกเช่นเดียวกับธรรมชาติทุกอย่างของโลก
✒️ ประวัติผู้เขียน ธนา เธียรอัจฉริยะ
ธนา เธียรอัจฉริยะ จบปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท เริ่มต้นงานแรกในไทยด้วยการเป็นวาณิชธนากรให้กับบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง เป็นผู้สร้างชื่อแบรนด์ยุคแฮปปี้และดีแทค Feel Goood อดีตประธานบริหารแม็คยีนส์และบรอดแคสท์จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ผู้ก่อตั้งสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ (ABC) ร่วมกับหนุ่มเมืองจันท์ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบลูบิค กรุ๊ป บริษัทที่ให้คำปรึกษากลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าหน้าที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเขามีส่วนร่วมมาตั้งแต่ยุคสร้าง SCB Easy ยกเลิกค่าธรรมเนียม แอพพลิเคชั่นแม่มณี กระทั่งถึงแพลตฟอร์ม Robinhood delivery
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือรวบรวมบทความคัดสรรจาก Facebook page ‘เขียนไว้ให้เธอ’ ซึ่งเจ้าของเพจ คุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ ได้ตั้งใจสร้างเพื่อสื่อสารไปยังลูกสาวทั้งสองคนของเขาให้ได้มาอ่านในอนาคต ต่อมาเมื่อมีผู้ติดตามมากขึ้น และพลังของการสื่อสารนั้นไม่เพียงเป็นประโยชน์แต่กับลูกสาวของเขาเท่านั้น การตกผลึกองค์ความรู้ทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัวและจากบรรดาผู้คนที่เขามีโอกาสสัมผัส ก็ได้ถูกถ่ายทอดเพื่อให้ทุกคลื่นในมหาสมุทรหยิบฉวยไปใช้ตามแต่ละสถานการณ์ : เนื้อหาแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 ภาค ได้แก่ คลื่นลูกเล็ก คลื่นลูกใหญ่ คลื่นลูกใหม่ คลื่นลูกเก่า และคือมหาสมุทร ซึ่งผู้เขียนใช้นัยยะการเปรียบเทียบของคลื่นกับผู้คนในวงจรการทำงานของชีวิต โดยคลื่นลูกเล็กแทนคนวัยเริ่มต้นทำงานที่อาจกำลังตามหาที่ทางของตัวเอง คลื่นลูกใหญ่แทนคนวัยทำงานที่มีประสบการณ์และกำลังอยู่ในสนามแห่งการขับเคี่ยวแข่งขัน คลื่นลูกใหม่แทนผู้คนที่เติมเต็มการทำงานของตนเองให้มากกว่าแค่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ และคลื่นสุดท้ายคือคลื่นลูกเก่า ตัวแทนมนุษย์ผู้ผ่านการขับเคลื่อนโลกและพร้อมส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นหลังอย่างสง่างาม : เนื้อหาในแต่ละภาคจะแบ่งเป็นบทความแยกย่อยที่เหมาะกับคนในช่วงวัยแต่ละคลื่นนั้น ๆ เช่น ในส่วนของคลื่นลูกเล็ก เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นแง่มุมทางความคิดและแนวทางการทำงานในยุควัยเริ่มต้นที่ผู้เขียนตกผลึกจากประสบการณ์ของตนเองร่วมกับสิ่งที่เคยค้นคว้าหรือรับรู้ หรือภาคของคลื่นลูกใหญ่ที่เป็นเรื่องเล่าชวนคิดสำหรับการทำงานในระดับหัวหน้า ในขณะที่คลื่นลูกใหม่จะเกี่ยวข้องกับวิธีคิดของผู้เต็มไปด้วยความหวังอย่างคนคิดใหญ่ และคลื่นลูกเก่าคือการชวนทบทวนในฐานะคลื่นที่เตรียมคืนสู่ฝั่งแล้ว : และด้วยทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา หนังสือเล่มนี้จึงบรรจุเต็มไปด้วยข้อมูลแนวคิดที่เหมาะกับคนวัยทำงานทุกช่วงวัย โดยเฉพาะนักธุรกิจในองค์กรที่ต้องทำงานร่วมกับคนหมู่มากและมีการไต่ระดับความสำเร็จด้วยตำแหน่งหน้าที่ : หนังสือมีการนำเสนอในลักษณะการเล่าเรื่อง ทำให้ผู้อ่านย่อยง่าย อ่านแล้วเพลิน และมีข้อคิดที่ให้เราเลือกหยิบมาปรับประยุกต์ใช้กับชีวิตทั้งด้านการงานและนอกเหนือจากภาระหน้าที่ได้ด้วย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันคือการรวบรวมบทความจากเพจทำให้เนื้อหามีความกระชับและทำความเข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว : อย่างไรก็ตาม สังคมการทำงานอาจมีความหลากหลายแตกต่างกันไป เราคงไม่อาจใช้กรอบความคิดใดความคิดหนึ่งครอบได้ทุกบริบท และสำหรับใครที่ไม่ได้กำลังมองหาเรื่องราวประสบการณ์และแนวคิดการทำงานในระดับองค์กรตลอดจนการเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองในทีม เล่มนี้อาจตอบโจทย์คุณได้ไม่ทั้งหมด
หนังสือสำหรับคนวัยทำงาน
ถ้าย้อนกลับไปสมัยเรียนจบใหม่ ๆ ช่วงจังหวะก้าวเท้าสลับดินแดนจากมหาวิทยาลัยไปสู่สนามชีวิตแล้วได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็คงจะดีนะ…
นี่เป็นความคิดแวบแรกที่โผล่ขึ้นมาในหัวระหว่างการเริ่มต้นอ่านเนื้อหาในภาคแรก บทความที่ได้รับการคัดสรรอย่างดีจาก Facebook page เขียนไว้ให้เธอ และอยู่ภายในหนังสือเล่มนี้นับว่ากระตุ้นแรงบันดาลใจได้ดีไม่น้อย เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไปแล้ว แม้เราอาจไม่ใช่คลื่นลูกเล็กอีกต่อไปที่นี่ และยังไม่ถึงกับเป็นเกลียวคลื่นลูกใหญ่เสียทีเดียว แต่การศึกษาแง่มุมที่หลากหลาย การตกผลึกความคิด ตลอดจนประสบการณ์ที่ถูกสั่งสมของผู้เขียนก็ทำให้เรายังพอประยุกต์เตรียมไว้ใช้ยามที่อาจต้องกลายเป็นคลื่นลูกเล็กในสถานที่ใหม่วันหนึ่งวันใดข้างหน้า
ข้อได้เปรียบของการเป็น ‘เด็กใหม่’
ในช่วงวัยทำงานเริ่มต้น การมีมุมมองเชิงบวกให้มากเข้าไว้เพื่อตอบรับทุกโอกาสและความเป็นไปได้ดูจะเหมาะสมอย่างยิ่ง ผู้เขียนเรียกว่ามันเป็น ‘ความเจ๋งของการเป็นจูเนียร์’ คือ ยังไม่ต้องแบกอนาคตใคร (ทั้งทีมงานหรือบริษัท) ไม่มีห่วงให้กังวลหนักหนา (หากยังไม่แต่งงานสร้างครอบครัวของตัวเอง) ยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ที่หากเพียงแสดงออกให้เห็นถึงความตั้งใจคนรอบข้างก็พร้อมเข้ามาแนะนำสั่งสอน กระทั่งยังสามารถเริ่มสร้างมิตรภาพและยังไม่ต้องกังวลปัญหาทางสุขภาพด้วยเพราะยังเยาว์วัยและไฟหนุ่มสาวคุกรุ่นเต็มที่ นี่เป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้การตัดสินใจลองผิดลองถูกเป็นของง่าย และยังเป็นเรื่องที่สมควรจะทำอีกด้วย
เพราะเราคงไม่มีวันได้รู้ผลลัพธ์จากสิ่งที่ปราศจากการลงมือทำอย่างแน่นอน
คงมีแต่การสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ฝึกฝนเท่านั้นที่จะบ่มเพาะและกำหนดทิศทางของตัวเราในอนาคตได้ สมัยที่เราฝึกงานกับกองบรรณาธิการนิตยสารหัวธุรกิจแห่งหนึ่งในท้องถิ่น มีรุ่นพี่คนหนึ่งได้ให้คำแนะนำที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “ตัดสินใจเลือกงานแรกของตัวเองให้ดี เพราะมันมีโอกาสที่จะกลายเป็นงานที่เราต้องทำไปตลอดชีวิต” … แม้จะไม่เสมอไปแต่ก็ต้องบอกว่าเราเป็นหนึ่งในโอกาสที่ว่านั้น มันเหมือนกับว่าสิ่งที่เราเลือกและทำมันจะปูเส้นทางขึ้นมาใหม่เส้นหนึ่งให้ความเป็นไปได้ที่จะไปต่อมีมากกว่าทางที่เราไม่เคยได้เริ่ม
เติบโตมากขึ้น รับผิดชอบให้มากขึ้น
และสายลมก็คงเปรียบเสมือนกาลเวลาที่มีส่วนพัดพาให้คลื่นแต่ละลูกใหญ่ขึ้น ในช่วงวัยที่เริ่มเข้าสู่การเรียนรู้และรับผิดชอบทั้งลมหายใจบริษัทและลมหายใจทีมงานที่ต้องร่วมมือลงแรงกันเต็มที่ อาจเป็นช่วงของความขัดแย้งที่สุดของชีวิตการทำงานเลยก็ว่าได้ บ่อยครั้งที่ต้องสื่อสารกับทั้งคนนอกและคนใน และบางครั้งยังต้องหาวิธีรับมือกับตัวเองด้วย ในภาคของคลื่นลูกใหญ่นี้ ผู้เขียนได้ชวนให้นึกถึงการทำงานแบบภาพรวมของคนตัวใหญ่ ที่ยิ่งคุณใหญ่เท่าไรก็ยิ่งต้องคิดถึงจิตใจคนรอบข้างเท่านั้น การต่อสู้ฟันฝ่าและลองผิดลองถูกของคุณจะถูกทำให้หย่อนคลายลงและเริ่มประนีประนอมมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เด็ดขาดและเฉียบคมกับเรื่องบางเรื่องให้มากพอ ซึ่งบทความแต่ละตอนสั้น ๆ ในพาร์ทนี้ชี้ชวนให้เห็นถึงพลังการทำงานที่เรากล่าวไปได้เป็นอย่างดี
ไปให้ไกลยิ่งกว่าเดิม
ในภาคที่ว่าด้วยคลื่นลูกใหม่ ส่วนตัวเรารู้สึกว่ามันเหมาะสำหรับคนที่กำลังมองหาแรงบันดาลใจในความคิดริเริ่มอย่างยิ่ง ธุรกิจบนโลกใบนี้มีอยู่มากมาย และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีคนคิดในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ยิ่งตามหาจำนวนคนที่มุมานะปั้นมันให้เป็นรูปเป็นร่างได้จริงก็ยิ่งน้อยลงไปอีก การได้อ่านเรื่องราวโดยย่อของบุคคลที่คิดทำสิ่งใหญ่ตลอดจนแนวทางการพยุงตัวในฐานะคลื่นลูกใหม่จึงนับว่ามีประโยชน์ไม่น้อย เราชอบบทที่ว่าด้วยเรื่องหลักการเจรจาจากฮาร์วาร์ด 4 ข้อที่ผู้เขียนได้ฟังจากการบรรยายของสถาบันเอริก ปอมเมอร์ ซึ่งได้แก่ การแยกความรู้สึกส่วนตัวออกมา การมุ่งที่ Interest ไม่ใช่ Position การหาหลักเกณฑ์ที่ทุกคนเห็นพ้อง และการสร้างทางเลือกให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อได้ลองอ่านดูก็รู้สึกว่าแม้ไม่ใช่นักธุรกิจใหญ่ ทักษะนี้ก็ยังนับว่าจำเป็น และแม้ข้อคิดเหล่านี้จะดูไม่สลับซับซ้อนแต่ยามต้องใช้งานจริงมันมักถูกลืมไปเสียสิ้นเชิง
เลือกทางลงอย่างทรงคุณค่า
ภาคสุดท้ายของการเป็นคลื่นลูกเก่า หนังสือบอกเล่าถึงจังหวะจบและการลงจากเวทีชีวิตซึ่งอาจยังไม่สร้างภาพสะท้อนในใจเรามากนักนอกจากแนวทางของการมองหาผู้คนที่มีชีวิตบั้นปลายในแบบที่เราอยากเป็น ซึ่งเอาจริงน่าจะใช้ได้กับคนในทุกจังหวะคลื่น มีบางข้อคิดชวนให้นึกถึงบริบทของคลื่นลูกเก่าจำนวนมากในสมัยนี้ว่าถ้าพวกเขาได้ลองอ่านแนวคิดเหล่านี้บ้างก็คงจะดีไม่น้อย เพราะไม่ช้าก็เร็ว พวกเขา – ซึ่งเป็นเพียงคลื่นลูกหนึ่งในมหาสมุทรอันยิ่งใหญ่ ล้วนแล้วแต่ต้องปิดฉากของตนเองในสักวันหนึ่ง การจบด้วยภาพจำที่ควรแก่การระลึกถึงบ้างก็น่าจะดีกว่าสำหรับมนุษย์ทั่วไปใช่หรือไม่
และชีวิตก็มีสิ่งอื่น ๆ อีกมากที่น่าสนใจ เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาอาจไม่เคยรู้จักอะไร ทั้งชีวิตที่มีความหมาย และ ความเป็นมนุษย์
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“แด่คลื่นเล็ก ๆ ในมหาสมุทร”
ผู้เขียน : ธนา เธียรอัจฉริยะ
จำนวนหน้า : 416 หน้า / ราคาปก : 375 บาท
สำนักพิมพ์ : KOOB
หมวด : จิตวิทยา/พัฒนาตัวเอง
✒️ บทความที่เกี่ยวข้อง
• 3 วิธีแบบ Shoshin เพื่อปรับ Mindset ใหม่ ไขข้อข้องใจทำไมชอบยึดติดกับอะไรเดิม ๆ