ตอนที่เราได้เห็นชื่อหนังสือเล่มนี้เมื่อครั้งนานมาแล้วในทีแรก ก็ให้รู้สึกถึงความฉงนงงงวยและสงสัยใคร่รู้ว่าภายในจะมีการเล่าเรื่องแบบไหน โดยไม่อ่านคำโปรย โดยไม่อ่านหลังปก รู้เพียงแค่ว่าเป็นของนักเขียนหญิงคนนี้ เป็นนวนิยายที่ได้รับรางวัลการันตีระดับชาติ เราก็ได้ตัดสินใจซื้อมันมาอ่านทันทีเมื่อผ่านมาพบมันอีกครั้งในร้านหนังสือมือสองออนไลน์ที่มีให้เห็นอย่างดาษดื่น หลังจากได้ซึมซับถ้อยคำปวดร้าวและความเป็นมนุษย์ของผู้เขียนมากมายผ่านสเตตัสเฟซบุ๊กของเธอเอง “วีรพร นิติประภา”
ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต เป็นนวนิยายที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในปีพ.ศ.2558 และนั่นทำให้การหยิบยกหนังสือเล่มนี้มากล่าวถึงจากมุมมองส่วนตัวของเราค่อนข้างกังวลว่าควรจะนำความรู้สึกที่ได้รับมาบอกเล่าต่อดีหรือไม่ เพราะรางวัลนั้นชี้ชัดว่าทรงคุณค่าแก่การอ่านแล้ว เจ้าของผลงานก็ยังเป็นผู้อิ่มเต็มไปด้วยความรู้ความสามารถที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ด้วยความรู้สึกจุกเอ่อและท่วมท้นล้นอยู่ในอก ก็อดไม่ได้ที่อยากจะนำมาเล่าอยู่ดี (^^”) เพราะนอกเหนือจากคุณค่าทางสังคมที่ช่วยสะท้อนภาพบริบทคนหนุ่มคนสาวและภาพอุดมคติ คลังศัพท์ที่สวยงาม ไพเราะ สื่อความได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ต้องบอกว่าเรื่องราวที่ดูธรรมดาเฉกเช่นนวนิยายทั่วไปดังผู้เขียนว่าไว้นั่นก็ด้วย ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเราได้ยิ่งกว่าพล็อตใหม่แปลกหูแปลกตาที่เคยเฝ้าตามหา
เพราะการใช้ส่วนผสมเพื่อทำให้อรรถรสของความสามัญนั้นเฉิดฉายเจิดจรัสได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใคร ๆ ก็รู้
เรื่องราวบอกเล่าถึงชีวิตตัวละครหลัก ๆ อยู่ 3 ตัว คือ ชลิกา ชารียา – สองสาวพี่น้องผู้อาศัยอยู่ในบ้านริมแม่น้ำ ในครอบครัวที่ปริร้าวแหว่งวิ่นอยู่ภายใน – และปราณ เด็กชายผู้ระหกระเหเร่ร่อนออกเดินทางไปกับพ่อและได้ผูกโยงสายสัมพันธ์นับแต่วันที่เขาก้าวเข้ามาเป็นผู้รั้งชีวิตชารียาขึ้นจากความตายในครานั้น การเผชิญหน้าแต่ละคืนวันเวลา เรื่องราวที่มาคนแล้วคนเล่า ที่ผู้เขียนหยิบยกมาอย่างไม่ปะติดปะต่อ แต่กลับสร้างเสน่ห์ให้เราทำงานกับตัวอักษรและผูกเชื่อมโยงเอาเองตามความรู้สึกที่ฉวยคว้าได้ขณะโลดแล่นไปกับจินตภาพเหล่านั้น ความสัมพันธ์หลากหลายที่กลายมาเป็นความขัดแย้งของเรื่องราวยิ่งตอกย้ำความเป็นมนุษย์ได้อย่างถึงซึ้งเมื่อรับรู้ที่มาที่ไปทั้งหมดแล้ว ความสวยงามของถ้อยคำที่ครวญเล่าถึงท่วงทำนองจากบทเพลงอีกนับสิบชวนพาให้เรารู้สึกดื่มด่ำกับศิลป์เสียงเหล่านั้นผ่านตัวอักษรแทนการได้ยิน ความบรรยายถึงบรรยากาศแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในจากหนังสือก็ล้วนแจ่มชัดราวกับบทที่ถูกเขียนไว้เพื่อรอวันกลายไปเป็นภาพยนตร์สักเรื่อง และไม่แค่ตัวละครหลักที่ยืนแกนเท่านั้น หากแต่ผู้มีส่วนกอปรความสามัญก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกถึงตัวตนที่มีอยู่จริงสักแห่งสักที่บนโลกใบนี้ หรืออาจจะแทรกตัวอยู่ใต้บทบาทเบื้องหน้าที่ปรากฏของใครบางคนซึ่งพยายามบดบังไว้
ไม่เพียงแต่ความมืดบอดที่สมมติขึ้นในโลกของเรื่องเล่า ชวนย้อนให้คิดถึงตัวเราบางคนที่ย่อมมีช่วงเวลาของชีวิตที่คล้ายกับว่ามองอะไรไม่ออกและเดินกระท่อนกระแท่นไปบนเส้นทางซึ่งชนเข้ากับทางตันไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง บางคราวก็ล่าถอยย้อนวนไปหาเส้นทางใหม่ ทว่าบางครั้งก็กลับสยบยอมกับกำแพงตระหง่านตรงหน้าด้วยไร้ทั้งเรี่ยวแรงและอาวุธในการถล่มทลายเพื่อก้าวเดินต่อ แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไปก็ดูจะเป็นคนละเรื่องกับการใช้ชีวิต ไส้เดือนที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าพวกมันปราศจากดวงตา ไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตอีกนับร้อยนับพันอย่างที่ดำรงอยู่ ก็ยังคงชอนไชไปข้างใต้โพรงดิน กัดกิน ขับถ่าย ย่อยสลาย สืบพันธุ์ ไปตลอดช่วงอายุขัยของมันที่ไม่สั้นไม่ยาวนัก บนโลกสับสน โลกที่มันคิดว่าเป็นทั้งหมดแล้วหากแต่แท้จริงเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยว ลดเลี้ยวไปในเขาวงกตที่ไม่มีใครรู้ว่าระหว่างทางออกกับอายุขัยสิ่งใดจะมาถึงก่อน
และพวกมันก็คงไม่เคยคิดถึงสิ่งเหล่านี้
บางบทตอนจากนิยายถ่ายทอดถึงความเจ็บปวดรวดร้าวจนทำเอาเรารู้สึกเสียดเข้าไปในอก ประหนึ่งได้อ่านบทถ่ายทอดความระทมที่ประดังประเดทุบเทลงมาในตัวอักษรที่มีเรื่องราวแก่นแกนอันแข็งแรงด้วยมายาวาทศิลป์ซึ่งบรรจุความปวดปร่าเหล่านั้นเพื่อให้มันไม่กระจัดกระจายจนกลายเป็นความเพ้อคลั่ง และเราก็ได้แต่ปล่อยให้วิญญาณของเราเสพมันและทุรนทุรายเปล่าดายอยู่ในร่างกายที่ไม่ได้แสดงปฏิกิริยาอะไรออกมา
แล้วก็ปวดร้าวต่อไป รู้สึกรู้สาต่อไป เพราะชีวิตในบางขณะก็อนุญาตให้เราทำอยู่เพียงเท่านั้น เพื่อปลดปล่อยบางสิ่งภายในที่เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันก่อตัวขึ้นตอนไหน เมื่อไร และทำอย่างไรจึงจะดับสลายไปจนถึงต้นตอได้ ความชื่นชอบต่อนิยายเล่มนี้สำหรับเราคือการดื่มกลืนถ้อยคำพรรณนาและสัมผัสมวลความรู้สึกร้าวรานให้ยังรู้ตัวได้ว่าเรายังมีชีวิต
ใช่…เรายังมีชีวิต และจงใช้ชีวิตที่ไม่อาจย้อนคืนได้อีกเหล่านี้ต่อไปบนโลก
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต”
ผู้เขียน : วีรพร นิติประภา
จำนวนหน้า : 304 หน้า / ราคาปก : 279 บาท
สำนักพิมพ์ : ArtyHOUSE (ฉบับพิมพ์ล่าสุด)
หมวด : วรรณกรรม