Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : FACTFULNESS จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน (ฮันส์ โรสลิง,โอลา โรสลิง,อันนา เรินน์ลุนด์)

รีวิวหนังสือ : FACTFULNESS จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน (ฮันส์ โรสลิง,โอลา โรสลิง,อันนา เรินน์ลุนด์)

จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน บทความรีวิว

ไม่ใช่การบอกเล่าเรื่องราวทางจิตวิทยา

ไม่ใช่แค่สิ่งที่ได้มาจากมุมมองหรือทัศนคติ

แต่หนังสือเล่มนี้ จะตอกหน้าคุณด้วย “ข้อเท็จจริง” มหาศาล

ที่อาจทำให้คุณสำลักข้อมูลทั้งหลายก่อนจะได้กล่อมเกลาสัญชาตญาณบางอย่างที่คุณเคยเข้าใจว่าเป็นสิ่งจริงแท้

‘อย่าแค่รู้สึก – เอาหลักฐานมายืนยันกัน !!’ – นี่คือเสียงที่เราได้ยินตอนอ่านเล่มนี้

✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️

ฮันส์ โรสลิง
จบการศึกษาด้านสถิติและแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอุปซาลา สวีเดน และสาธารณสุขที่เมืองบังกาลอร์ อินเดีย
ได้รับปริญญาเอกจากการสืบสวนโรคอัมพาตโดยไม่ทราบสาเหตุที่เขาค้นพบขณะเป็นเจ้าหน้าที่แพทย์ในนากาลา
ประเทศโมซัมบิก (ปัจจุบันเรียกว่าโรคคอนโซ) 
ปี 2005 ฮันส์ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Gapminder กับโอลาและอันนา ลูกชายและลูกสะใภ้ของเขา 
โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาระดับโลกอย่างยั่งยืนด้วยสถิติและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ผู้คนสามารถเข้าใจได้
นอกจากนี้ เขายังเป็นศาสตราจารย์ด้านสุขภาพระหว่างประเทศแห่งสถาบันแคโรลินสกา
อดีตที่ปรึกษาองค์กรอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ และหน่วยงานให้ความช่วยเหลืออีกหลายหน่วยงาน
ได้รับการยกย่องจากสภาเศรษฐกิจโลก เวที TED Talks
และยังเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลที่สุดในโลก 100 คนซึ่งจัดอันดับโดยนิตยสารไทม์ในปี 2012

โอลา โรสลิง (ลูกชาย)
นักสถิติชาวสวีเดน และประธานมูลนิธิ Gapminder ในปัจจุบัน
ผู้คิดค้นและพัฒนาแบบทดสอบความไม่รู้ โครงการวัดความไม่รู้ และกระบวนการให้ประกาศนียบัตรของ Gapminder
เป็นผู้นำในการพัฒนาเครื่องมือแผนภาพฟองอากาศที่เคลื่อนไหวได้ (Trendalyzer) ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจลำดับเวลาในมิติ
อดีตผู้นำกลุ่มข้อมูลสาธารณะของ Google
และยังได้รับรางวัลจากการทำงานในมูลนิธิที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอีกจำนวนมาก

อันนา โรสลิง เรินน์ลุนด์ (ลูกสะใภ้)
จบการศึกษาด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยลุนด์ และการถ่ายภาพจากมหาวิทยาลัยโกเทนเบิร์ก สวีเดน
เป็นอาจารย์และผู้ดูแลผู้ใช้งานของ Gapminder ซึ่งทำให้ทุกผลผลิตเหล่านี้เข้าใจได้ง่าย
เธอเคยทำงานให้ Google ในฐานะนักออกแบบด้านการใช้งานอาวุโส
เมื่อ Google ได้สิทธิ์เป็นเจ้าของเครื่องมือแผนภาพฟองอากาศ (Trendalyzer) 
และยังเป็นต้นคิดโครงการ Dollar Street ที่รวบรวมภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละระดับรายได้ทั่วโลก
IN SYMPATHY

เดือนกันยายน ปี 2016 
หรือประมาณหนึ่งปีหลังจากที่พวกเขาตัดสินใจเขียนหนังสือร่วมกัน
ฮันส์ โรสลิง ตรวจพบว่าเขาเป็นมะเร็งตับอ่อนที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด
และเขามีเวลาเหลืออีกเพียงสองหรือสามเดือน
หรือหากประคับประคองระยะสุดท้ายได้ผลดี ก็อาจจะอยู่ได้ถึงปี

การรวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ จึงอาจเรียกได้ว่านอกจากข้อเท็จจริงแล้ว
มันได้บรรจุแรงบันดาลใจในการมีชีวิตอยู่ของฮันส์ไว้ด้วย

ราว 5 เดือนหลังจากนั้นสุขภาพของฮันส์แย่ลง
เขาจากไปอย่างสงบในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2017
ในช่วงเวลาสุดท้ายที่งานของพวกเขาได้เปลี่ยนเป็นตัวหนังสือ
และพร้อมให้ผู้คนได้ทำความเข้าใจโลกด้วยวิธีที่เขาเฝ้าอธิบายมันมาทั้งชีวิต
🎯 SUMMARY VIEW 🎯

: Factfulness นอกจากจะเป็นหนังสือที่บิล เกตส์ซื้อแจกนักศึกษาจบใหม่ในอเมริกาแล้ว ยังเป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องจากสื่อชั้นนำด้านธุรกิจการเงินมากมาย เช่น Bloomberg และ Financial Times ว่าช่วยพลิกมุมมองเรื่องของธุรกิจและการตลาดของโลก

: เนื้อหาภาพรวมกล่าวถึงข้อเท็จจริงของโลกที่คนเรามักมองผิดไปจากความเป็นจริงโดยใช้สถิติและข้อมูลขนาดใหญ่มาอธิบาย ผ่านการวิเคราะห์ตีความถึงสัญชาตญาณ 10 ประการที่ทำให้มุมมองของเราผิดเพี้ยน อันได้แก่ สัญชาตญาณแห่งการแบ่งแยก สัญชาตญาณแห่งความเป็นลบ สัญชาตญาณแห่งเส้นตรง สัญชาตญาณแห่งความกลัว สัญชาตญาณแห่งขนาด สัญชาตญาณแห่งการเหมารวม สัญชาตญาณแห่งโชคชะตา สัญชาตญาณแห่งมุมมองด้านเดียว สัญชาตญาณแห่งการตำหนิ และสัญชาตญาณแห่งความเร่งด่วน

: อัตลักษณ์เด่นคือการอธิบายชุดข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ ผ่านกราฟและแผนภาพฟองอากาศที่ช่วยสร้างความเข้าใจได้ชัดเจนและง่ายดายขึ้น

: แต่หากเป็นผู้ที่ไม่ค่อยชื่นชอบข้อมูลตัวเลขอาจจะมึน ๆ อยู่บ้าง (เช่นเรา) แต่ต้องบอกว่าการอธิบายเป็นรูปภาพช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้นเยอะ และไม่ต้องกลัวว่าการท่วมท้นด้วยข้อมูลจะทำให้เราพลาดประเด็นสำคัญ เพราะท้ายบทจะมีแนวทางการปฏิบัติที่ผู้เขียนสรุปไว้อย่างกระชับ ๆ ให้เรานำไปปรับใช้ได้

: อย่างไรก็ดี หนังสือเต็มไปด้วยแหล่งอ้างอิงที่มาของข้อมูลจำนวนมาก สำหรับใครที่ชอบตามหาแหล่งอ้างอิงเพื่อนำไปเป็น Ref. สร้างสรรค์บทความอื่นต่อ เล่มนี้มีเยอะมากกก (เฉพาะรายการหมายเหตุแหล่งที่มา มีการรวบรวมไว้ร่วม 20 หน้า)

: เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปรับวิสัยทัศน์ของตัวเองและเปิดมุมมองที่มีต่อโลกด้วยข้อเท็จจริงมากมาย เพื่อลดอคติและความรู้สึก รวมไปถึงสัญชาตญาณส่วนตัวบางอย่างที่อาจทำให้เราพลาดโอกาสสำคัญ และนำการตระหนักรู้ข้อเท็จจริงที่ได้ไปปรับประยุกต์ใช้ต่อยอดในชีวิต 

: จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน จึงไม่ใช่แค่เรื่องของความคิดตามความเข้าใจ แต่เป็นภาพแห่งความเป็นจริงที่ปรากฏผ่านชุดตัวเลขและข้อมูลทางสถิติจำนวนมากที่ผู้เขียนตั้งใจศึกษาและนำมาถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมาด้วยวิธีเรียบเรียงเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายที่สุด

: ขอแนะนำเว็บไซต์ที่ปรากฏเป็นแหล่งอ้างอิงจากในหนังสือและเรารู้สึกชอบ 
(1) Dollar Street เว็บไซต์รวบรวมภาพถ่ายความเป็นอยู่และของใช้ในชีวิตประจำวันจาก 300 ครอบครัวในเกือบ 50 ประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่แบ่งแยกความต่างของผู้คนได้ชัดเจนกว่าวัฒนธรรมหรือศาสนาคือระดับรายได้
(2) Gapminder เว็บไซต์ที่ทีมผู้เขียนร่วมกันก่อตั้งขึ้น เชื้อเชิญให้ลองสำรวจข้อเท็จจริงว่าเรามีการรับรู้ผิดพลาดไปบ้างหรือไม่
แผนภาพฟองอากาศ Bubble graphs gapmider Factfulness

เราเชื่อว่าชีวิตมีเรื่องประหลาดใจที่มาพร้อมกับสัญญาณอะไรบางอย่างด้วยเสมอ หากเราไม่ละเลยที่จะมองข้าม

เหมือนดังที่ ฮันส์ โรสลิง เขาไม่เคยลืมความฝันที่ครั้งหนึ่งอยากเป็นนักแสดงในละครสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจในครั้งแรกจากทางเลือกการศึกษาแพทยศาสตร์ซึ่งดีกว่าในสายตาของคนเป็นพ่อแม่ แล้วมันก็นำพาให้เขาได้เรียนรู้ระบบช่องคอที่สามารถดึงกระดูกคางให้เคลื่อนออกมาได้จากภาพเอกซเรย์ของนักกลืนดาบ ถึงแม้ว่าความคิดล้มเลิกในครั้งที่สองจากการพบว่าการทดลองหย่อนเบ็ดตกปลาลงไปในคอตนเองบ้างนั้นไม่ประสบผลสำเร็จดังที่คาดไว้ แต่สุดท้ายสามปีให้หลัง ในขณะที่เขาเป็นแพทย์ฝึกหัด เขาก็ค้นพบกับเรื่องจริงที่ว่าคอมนุษย์เรานั้นแบน สิ่งที่นักแสดงเลือกกลืนจึงเป็นอะไรที่มีลักษณะแบน ๆ อย่างเช่น ดาบ ซึ่งมาจากคำบอกเล่าโดยอดีตนักกลืนดาบที่มาหาเขาเพื่อทำการรักษาโรคไอเรื้อรัง

หลายครั้งหลังการบรรยายของเขา จึงมักปรากฏโชว์กลืนดาบที่ช่วยเรียกเสียงฮือฮา ประหนึ่งสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ให้รู้ว่าอะไรที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ – มันสามารถเป็นไปได้จริง ๆ

หนังสือเริ่มต้นด้วยแผนภาพสุขภาพโลกโดยใช้ลักษณะเฉพาะด้วยรูปวงกลมหรือที่เรียกว่า “แผนภาพฟองอากาศ” โดยแบ่งแยกทวีปด้วยสีที่ต่างกัน และใช้ขนาดของรูปแทนขนาดของจำนวนประชากร ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับเราอย่างมาก (จริง ๆ ก็รวมถึงแผนภาพแทบทุกอันที่นำเสนอในหนังสือ) เพราะมันช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นแม้ปริมาณชุดข้อมูลที่ต้องนำเสนอจะใหญ่ระดับโลก

และก่อนการเข้าสู่เรื่องราวอันเต็มไปด้วยพฤติกรรมทางความคิดที่ติดตัวมาแต่กำเนิดของมนุษย์ ฮันส์ชวนเราทดสอบตนเองด้วยคำถาม 13 ข้อ ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับโลก

มันน่าตื่นตาตื่นใจตรงที่ ในปี 2017 คำถาม 13 ข้อนี้ถูกใช้ถามผู้คนราว ๆ 12,000 คนจาก 14 ประเทศ และไม่เคยมีผู้ใดได้คะแนนเต็ม! จะมีก็แต่ชาวสวีเดนเพียง 1 คนที่ตอบถูก 11 ข้อจาก 12 ข้อแรก และคนที่ตอบผิดทุกข้อก็มีถึงร้อยละ 15 ไม่ว่าจะเป็นผู้คนจากสาขาอาชีพใด ตั้งแต่นักเรียนแพทย์ ผู้บริหารบริษัทข้ามชาติ ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง

อะไรกันที่ทำให้เรามองทุกอย่างไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงขนาดนั้น?? อีกทั้งส่วนใหญ่ยังมองโลกร้ายกว่าที่มันเป็นจริง ๆ อีกด้วย??

เขาค้นพบว่ารูปแบบของความเข้าใจผิดนั้นไม่ได้เกิดแบบสุ่ม แต่เป็นลักษณะการเข้าใจผิดที่มีแบบแผน ดูเหมือนว่าแม้จะเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงและสนใจความเป็นไปของโลกก็ยังตอบผิดมากกว่าผู้ที่ไม่เคยศึกษาเรื่องราวพวกนี้เลยด้วยซ้ำ

นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นมา เราไม่มีทางแก้ไขปัญหาทั้งหลายด้วยการใช้เครื่องมือที่ขาดความแม่นยำและไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นความเข้าใจผิดที่ซึ่งเป็นรากฐานของความคิดตั้งต้นทั้งหลายที่จะริเริ่มทำสิ่งใดก็ตามที่เราเชื่อว่าจะส่งผลคุณอนันต์แก่ตัวเราหรือโลกใบนี้

ในขณะเดียวกัน ความตั้งใจของผู้เขียนนั้นไม่ได้ต้องการแปรเปลี่ยนสภาพบิดเบือนเหล่านี้ไปเป็นความอับอายแต่อย่างใด (ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนคงนึกออกว่าหากเราเลือกปิดบังความไม่รู้ของเรา หรือดึงดันในสิ่งที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงด้วยเพียงเพราะรู้สึกอับอายมันจะเกิดอะไรขึ้น ใช่!! ทุกอย่างมันจะผิดพลาดไปหมด!!!) ฮันส์ต้องการให้ทุกคนเกิดความรู้สึกประหลาดใจ และเกิดความอยากรู้อยากเห็นเพื่อเรียนรู้มันไปในทิศทางของความเป็นจริงที่ต่างไปจากสัญชาตญาณหรือการรับรู้ผิดเพี้ยนของเราก่อนหน้า

รีวิวหนังสือ Factfulness

ก่อนที่เราจะหยิบเล่มนี้ เรามีคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อเห็นชื่อหนังสือ “จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน”

จริงหรือ?? เราก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าทุกอย่างดูเลวร้ายไปหมด ปัญหาอาชญากรรม ภัยธรรมชาติ ภาวะความอดอยากแร้นแค้น แล้วถ้าเช่นนั้น การมองโลกแย่หรือดีไปกว่าที่มันเป็น จะมีผลอย่างไรกัน? … ถ้าเรามองว่าแย่ ก็ช่วยให้เกิดการแก้ไขไม่ใช่หรือ??

แต่เมื่อเราได้ลองเปิดศึกษารายละเอียดและข้อมูลต่าง ๆ ที่ทีมผู้เขียนพยายามหยิบยกมาอธิบายก็ทำให้ได้เข้าใจขึ้นมาบางส่วน

เปล่าเลย… เพราะไม่ว่าจะมองให้ดีหรือแย่ มันไม่อาจเป็นแนวทางที่ช่วยแก้ไขอะไรได้ – นอกไปจากการมองมันอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยการรู้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้เห็น ซึ่งทุกอย่างมีพื้นฐานอยู่บนความคิดเชิงความเป็นไปได้ อันเป็นทักษะที่มีลักษณะไม่มองข้ามความก้าวหน้า ไม่กลัวและไม่คาดหวังอย่างไร้เหตุผล ทุกอย่างตั้งอยู่บนหลักการที่มีต้นเหตุและผลลัพธ์ที่อาจตามมา ซึ่งถือว่าเป็นมุมมองที่มีความสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กว่ามาก

และสิ่งที่จะช่วยให้เรารู้คิดทักษะความคิดเชิงความเป็นไปได้เหล่านั้น มาจากการควบคุมและเข้าใจถึง 10 สัญชาตญาณที่มันมักเข้ามารบกวนการรับรู้และทำให้มองโลกไขว้เขวเมื่อเราเผลอใช้มันไปโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น การแบ่งแยก ที่ทำให้เราเผลอมองข้ามช่องว่างตรงกลางระหว่างการแบ่งส่วน ข้อมูลเชิงลบและมุมมองเพียงด้านเดียว ที่คอยบดบังทัศนวิสัยการมองเรื่องดี ๆ หรือแง่มุมใหม่ ๆ ที่มีอยู่ การมองภาพเป็นเส้นตรง ที่ทำให้เราพลาดแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปลายสุดของเส้นแห่งข้อมูลต่าง ๆ ความกลัว และ ข้อมูลเดี่ยวขนาดใหญ่ ที่มักขยับขยายบางการกระทำหรือบางเหตุการณ์ให้ไปไกลกว่าที่คิด การจัดกลุ่มที่ชวนให้เราเข้าใจแบบเหมารวม โชคชะตาที่ยึดโยงกับการก่อกำเนิดจนมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการตำหนิ ที่จะพาให้เราคอยหาแต่แพะรับบาปแทนที่จะหาสาเหตุในแต่ละการถกเถียง

เราไม่อาจยกรายละเอียดทั้ง 10 สัญชาตญาณมาบอกเล่าในแง่มุมสรุปผ่านบทความรีวิวนี้ได้ เพราะนั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของเรา การเรียนรู้กระบวนการทางความคิดและประมวลให้เห็นเป็นภาพแห่งความจริงต่างหากที่ควรจะนำไปสู่การตระหนักรู้ถึงข้อเท็จจริงเหล่านั้นและนำทางให้เราเข้าใจมันได้อย่างถาวร แต่มันอาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้หากมองในแง่ที่ว่าทรัพยากรเวลาเป็นสิ่งที่มีจำกัดในแต่ละบุคคล และวิธีเร่งรัดในการเรียนรู้ก็ช่วยประหยัดทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อนำไปใช้ในเรื่องที่เร่งด่วนกว่า

แต่ไม่ล่ะ…เพราะสัญชาตญาณแห่งความเร่งด่วนก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรต้องตระหนักรู้เอาไว้ และมันก็ถูกบรรจุอยู่ในข้อสุดท้ายจาก 10 สัญชาตญาณจอมลวงของหนังสือเล่มนี้

และการจะควบคุมมันให้ดีก็คือการค่อย ๆ ทำไปทีละขั้น

… เพราะฉะนั้น ต้องขอโทษด้วย …

10 สัญชาตญาณจอมลวง จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน

“FACTFULNESS จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน”

ผู้เขียน : ฮันส์ โรสลิง ร่วมกับโอลา โรสลิง และอันนา เรินน์ลุนด์ (นพ.นที สาครยุทธเดช แปล)

จำนวนหน้า : 356 หน้า / ราคาปก : 345 บาท

สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ฮาวทู

หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง

📌 สนใจหนังสือเล่มนี้

ร้าน SE-ED 🛒

SHOPEE ONLINE 🛒

LAZADA ONLINE 🛒

รีวิวหนังสือ The Bullet Journal Method วิถีบันทึกแบบบูโจ
หนังสือที่จะช่วยให้คุณจัดระเบียบชีวิต และค้นพบวิธีการจัดการตารางเวลาได้อย่างเป็นระบบ พร้อมปลูกฝังทัศนคติการเขียนบูโจให้ได้ผลอย่างแท้จริง
ก.ค. 28, 2021
tuesday with morrie รีวิว ครูมอร์รี
ร่วมเรียนรู้วิชาสุดท้ายแห่งความหมายของชีวิตจากครูมอร์รี ผู้โอบรับความตายอย่างเปี่ยมด้วยเมตตา พร้อมสัมผัสความอบอุ่นจากสายสัมพันธ์ระหว่างการถ่ายทอดเรื่องราวโดยศิษย์รักของเขา มิตช์ อัลบอม
ก.ค. 5, 2022
A Short guide to a long life คู่มือสุขภาพ รีวิวหนังสือ
ร่วมทบทวนและค้นหาวิธีที่เหมาะที่สุดที่จะออกแบบวิถีการใช้ชีวิตของตนเองเพื่อสุขภาพที่ดีและการมีชีวิตอยู่อย่างยืนยาว ผ่านคู่มือการดูแลตนเองฉบับกะทัดรัด ตั้งแต่การกิน การอยู่ สิ่งที่ต้องทำ และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
ก.ค. 1, 2023
How will you measure your life? รีวิว
การกำหนดวิสัยทัศน์และมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายในชีวิตไม่มีทางเป็นเรื่องแย่ แต่การปล่อยให้ตนเองวัดความสำเร็จจากผลลัพธ์ที่จับต้องได้เท่านั้นอาจเป็นเรื่องผิดพลาด หนังสือที่จะชวนคุณทบทวนมาตรวัดในชีวิตใหม่ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับคุณอย่างแท้จริง
ธ.ค. 21, 2023