Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : GRIT สิ่งที่ต้องมี…เมื่อคุณไม่มีแต้มต่อในชีวิต (Angela Duckworth)

รีวิวหนังสือ : GRIT สิ่งที่ต้องมี…เมื่อคุณไม่มีแต้มต่อในชีวิต (Angela Duckworth)

รีวิว GRIT The power of passion and perseverance

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ปรารถนาความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะด้านหน้าที่การงาน

แต่สิ่งหนึ่งที่เรามักได้ยินคำกล่าวอ้างถึงผู้ขึ้นสู่จุดสูงสุดบ้างว่าเขาเป็นผู้มี “พรสวรรค์”

แล้วคนที่ไม่อาจใช้คำนั้นได้ – ควรทำอย่างไร? … ทำไปเท่าที่ทำได้ หรือ ยอมรับและพึงพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แล้วเท่านั้น?

หนังสือเล่มนี้จะชวนคุณเดินทางสู่ประสบการณ์ความสำเร็จผ่านการพัฒนาศักยภาพเต็มรูปแบบด้วยสิ่งที่ฝึกฝนได้

นั่นคือ ‘ความทรหด’ ของตัวเราเอง

✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน

Angela Duckworth
จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ปริญญาโทสาขาประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
และปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
เธอเคยเป็นที่ปรึกษาให้บุคลากรจากทำเนียบขาว ธนาคารโลก
ทีมบาสเกตบอลเอ็นบีเอ ทีมอเมริกันฟุตบอลเอ็นเอฟแอล
รวมถึงบริษัทชั้นนำระดับโลก 500 อันดับแรกจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูน
ปัจจุบันเป็นอาจารย์จิตวิทยา ณ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
และยังเป็นผู้ก่อตั้ง Character Lab ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
โดยมีภารกิจด้านการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้เด็ก ๆ เจริญเติบโตอีกด้วย

🎯 มุมมองสรุป

: หนังสือแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกัน ส่วนแรกคือการทำความรู้จักกับความทรหดรวมถึงความสำคัญของมัน ส่วนที่สองเป็นการสร้างความทรหดจากภายในสู่ภายนอก (พัฒนาตัวเอง) และส่วนสุดท้ายคือการสร้างความทรหดจากภายนอกสู่ภายใน (สภาพแวดล้อม)

: ความทรหด เป็นลักษณะที่ความอุตสาหะในตัวตนทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมแพ้ ซึ่งต่างจากพรสวรรค์ที่คนมักนำมาอ้างถึงเมื่อมีใครสักคนประสบความสำเร็จ ข้อดีของมันที่ต่างจากพรสวรรค์คือความทรหดเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้

: ความทรหดแบบยาก = สร้างด้วยตนเอง / ความทรหดแบบง่าย = ปรับตัวให้สอดคล้องกับคนอื่น

: หนังสือกล่าวว่าผู้มีความทรหดจะมีองค์ประกอบทางจิตวิทยาที่คล้ายคลึงกัน 4 อย่าง อันได้แก่ ความสนใจ การฝึกฝน จุดมุ่งหมาย และความหวัง โดยสิ่งเหล่านี้จะถูกขัดเกลาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างความทรหดจากภายใน

: การนำพาตัวเองไปอยู่ในระบบนิเวศแบบส่งเสริม เช่น ผู้คนที่มีทัศนคติแบบไม่ยอมแพ้ จริงจัง มีความพยายาม หรือมีวัฒนธรรมความทรหด ก็จะช่วยให้พัฒนาการของเรามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย เป็นการสร้างความทรหดจากภายนอกซึ่งอาศัยการช่วยเหลือจากผู้อื่น

: หนังสือเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคำแนะนำในการเรียนรู้ที่จะฝึกฝนความทรหดเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตหรือมุ่งสู่การประสบความสำเร็จ

: นอกจากนี้ หากคุณอยู่ในบทบาทของผู้ปกครอง พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือกระทั่งผู้นำและผู้บริหารที่ต้องการเรียนรู้วิธีสร้างความทรหดทางสภาพแวดล้อมให้แก่ผู้อื่น หนังสือก็มีการอ้างถึงอยู่ในส่วนสุดท้าย ซึ่งประกอบไปด้วยการเลี้ยงดูลูกให้มีความทรหด สนามการศึกษาแห่งความทรหด และวัฒนธรรมแห่งความทรหดด้วย

: หนังสือเต็มไปด้วยการอ้างถึงงานวิจัยและผลการทดลองจำนวนมากในการสนับสนุนแนวความคิดของการสร้างความทรหดและการเรียนรู้ฝึกฝน ช่วยให้ชุดข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ และบางส่วนใช้การสัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เราเห็นมุมมองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
รีวิวหนังสือ GRIT พรสวรรค์และความพยายาม

ทฤษฎีการก้าวสู่ความสำเร็จ

ในชีวิตของคนเรา อาจมีบางช่วงเวลาที่เคยคิดว่าการที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นจะต้องมีสิ่งหนึ่งที่ถูกกำหนดมาไว้โดยกำเนิดอยู่แล้ว นั่นคือ “พรสวรรค์” ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ทางวิชาการหรือศิลปะแขนงต่าง ๆ ซึ่ง Angela Duckworth ได้มีการตีพิมพ์บทความถึงการนำเสนอทฤษฎีด้วย 2 สมการที่อธิบายว่าเราพัฒนาจากพรสวรรค์ไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร ดังนี้

พรสวรรค์ x ความพยายาม = ทักษะ

ทักษะ x ความพยายาม = ความสำเร็จ

เพราะศักยภาพที่คนเรามีนั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับการนำไปใช้ ต่อให้พรสวรรค์เด่นชัดเปล่งประกาย แต่หากปราศจากการนำไปขัดเกลาฝึกฝน มันก็อาจเป็นได้แค่ความสามารถติดตัวแบบคงที่ จะสังเกตได้ว่าในสมการความสำเร็จของเธอนั้น ปรากฏเงื่อนไขของความพยายามถึงสองตำแหน่ง แสดงถึงความสำคัญไม่น้อยของสิ่ง ๆ นี้ในการที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ โดยความพยายามที่มีส่วนผสมของความมุ่งมั่นจริงจังอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมล้มเลิกแม้จะล้มเหลวเมื่อมีจุดมุ่งหมายใหญ่ที่ต้องการไปให้ถึง นั่นจึงเรียกว่า ‘ความทรหด’ หรือ GRIT นั่นเอง

หากใครที่อยากรู้ว่าตัวเองมีความทรหดมากแค่ไหน ภายในหนังสือยังมีแบบทดสอบที่ทางผู้เขียนใช้ในงานวิจัยของตนเองมาให้เพื่อน ๆ ได้ลองเปรียบเทียบคะแนนความทรหดกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนอเมริกันวัยผู้ใหญ่ไว้ด้วย (แน่นอนว่าคะแนนของเราต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ฮ่า ๆ) แต่ถึงอย่างไรก็ทำให้เราได้สะท้อนมุมมองตัวเองบางส่วนถึงความทรหดที่หลบซ่อนอยู่ภายในให้ได้เห็นเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

การสร้างความทรหดให้กับตัวเอง

จากผลการวิจัยต่าง ๆ ของผู้เขียน ทั้งในส่วนที่ทำการศึกษากับนักเรียนเตรียมทหารที่เวสต์พอยต์และผู้เข้าแข่งขันสะกดคำระดับชาติ สามารถสรุปองค์ประกอบทางจิตวิทยาที่พบในผู้ที่มีความทรหดเหมือนกันได้ทั้งหมด 4 องค์ประกอบโดยมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเด่นชัดมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านเลยไป และหากเราต้องการเป็นหนึ่งในผู้ที่ฝึกฝนการสร้างความทรหดจากภายใน เราก็ควรจะปั้นแต่งสิ่งเหล่านี้เข้ามาไว้ในชีวิต ซึ่งได้แก่

1.) ความสนใจ

เป็นองค์ประกอบแรกเริ่มจากการรักในสิ่งที่ทำ เมื่อรู้สึกสนุกและเกิดความอยากรู้อยากเห็นอย่างไม่สิ้นสุดจะทำให้จากความสนใจกลายเป็นความหลงใหล หนังสือชี้ให้เห็นว่าแม้จะเป็นองค์ประกอบที่แสดงถึงความทรหดได้แต่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการค้นพบที่จะนำไปสู่การพัฒนาและเพิ่มพูนการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่ง ๆ นั้นไปตลอดชีวิต

หลายคนอาจคอตกด้วยคำถามที่ว่า ‘แล้วอะไรกันล่ะคือสิ่งที่ฉันรักอย่างแท้จริง?’ อะไรกันที่จะดูดดึงความสนใจให้กลายเป็นความหลงใหลได้ โชคดีที่คำตอบของสิ่งนี้ไม่ได้เกิดจากการหยั่งรู้ หากแต่ต้องอาศัยการบ่มเพาะและขัดเกลาไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องผิดหากเราจะไม่พบเจอสิ่งที่ใช่ในเวลาที่ต้องการ เราเพียงแค่ต้องใช้เวลาไปกับมันและทดลองทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อมุ่งไปยังหนทางที่ชอบ

2.) การฝึกฝน

หลังจากที่เราค้นพบสิ่งที่ความหลงใหลทำงานได้อย่างไม่สิ้นสุด ต่อจากนั้นเราจึงมุ่งสู่หนทางแห่งการพัฒนาด้วยวิธีการฝึกฝนอย่างจดจ่อ และการทำให้มันบรรลุประสิทธิผลสูงสุดนั้นสามารถทำได้โดยอาศัยหลักพื้นฐานของตัวมันเองอยู่แล้ว ได้แก่ การมีเป้าหมาย มีความพยายาม มีการพัฒนาและขัดเกลาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำให้เรื่องของการฝึกฝนนี้อยู่ในตารางกิจวัตรประจำวันก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถฝึกฝนได้โดยอัตโนมัติ (ในพาร์ทนี้ทำให้เรานึกถึงหนังสือสอนสร้างนิสัยชื่อดังอย่าง Atomic Habits)

อีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้การฝึกฝนของเราไม่ล้มเหลวเสียก่อน นั่นคือการมีทัศนคติต่อความล้มเหลวหรือความผิดพลาดให้เป็นไปในเชิงบวก โดยฝึกเรียนรู้ที่จะมองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นความท้าทายหรือประสบการณ์พร้อมกับเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามผ่านและฟันฝ่าเพื่อไม่ให้มันวนกลับเข้ามาตอกย้ำได้อีก

3.) จุดมุ่งหมาย

นี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นแรงผลักดันให้กับความหลงใหลของคุณกระทั่งรู้สึกต้องการมองเห็นการเติบโตต่อไปในวันข้างหน้า เราชื่นชอบที่พาร์ทนี้ไม่สร้างความกดดันให้กับผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างความทรหดให้กับตัวเอง หนังสือชวนชี้ให้เห็นว่าจุดมุ่งหมายหรือสิ่งที่เราเรียกร้องนั้นอาจได้มาจากการเฝ้ามองอย่างตั้งใจ ไม่ใช่แค่การออกตามหา หากคุณมีงานหนึ่งอยู่แล้วตรงหน้า จงมองหาว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร หรือหากคำตอบคือไม่ แล้วคุณพอจะปรับมันสักเล็กน้อยได้ไหมให้มันมีความหมายมากขึ้นกว่าที่เป็น

สาเหตุที่เราต้องมองหาจุดมุ่งหมายซึ่งสัมพันธ์กับแง่มุมที่กว้างกว่าตัวเรา นั่นเพราะผู้เป็นตัวอย่างด้านความทรหดล้วนให้ความเห็นที่ตรงกันว่าพวกเขามีแรงผลักดันมากกว่าเมื่อสิ่งสำคัญนั้นให้คุณค่าทั้งกับตัวเองและผู้อื่น

4.) ความหวัง

ในแง่มุมของการสร้างความทรหดนั้น ความหวังคือความมุ่งมั่นในการ “ทำ” พรุ่งนี้ให้ดีกว่าเดิม ในส่วนนี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ Mindset ของคนเรา โดยจากผลการทดลองต่าง ๆ ที่ผู้เขียนอ้างถึง ทำให้สามารถสรุปได้ว่าผู้ที่มีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ (Growth Mindset) จะส่งผลให้เกิดการใช้ความพยายามในการก้าวข้ามผ่านความล้มเหลวได้มากกว่าในท้ายที่สุด

รีวิวหนังสือ GRIT ความทรหดที่ฝึกฝนได้

การสร้างความทรหดให้กับผู้อื่น

หากอยากให้ตัวเราเองนั้นเป็นสภาพแวดล้อมของความทรหดให้กับบุคคลรอบข้างหรือใครสักคน สำหรับเด็ก ๆ เราอาจจะต้องเป็นตัวอย่างให้ในขณะที่พวกเขากำลังเจริญเติบโตตามวัย หรือเราอาจต้องใช้กลวิธีดึงพวกเขาให้เข้าสู่สนามแห่งการฝึกความทรหด อย่างเช่นกิจกรรมนอกกรอบหลักสูตรวิชาการ หรือการเล่นสนุกสนานอย่างสร้างสรรค์ ส่วนสำหรับผู้คนอื่น ๆ รอบข้าง การมีบรรทัดฐานและค่านิยมรูปแบบเดียวกันย่อมถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัฒนธรรมที่เรามีนั้นคือทัศนคติของการไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ

หนังสือมีการตั้งคำถามให้ทบทวนตัวเองเป็นระยะ ๆ และในส่วนของการเลี้ยงดูลูกให้มีความทรหดนั้น ผู้เขียนได้ใช้การสัมภาษณ์แบบเปรียบเทียบให้เห็นถึงผลลัพธ์จากการเลี้ยงดูแบบคนละขั้วทั้งการเลี้ยงดูด้วยวิธีส่งเสริมและเคี่ยวเข็ญ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่จำเป็นเลยว่าคุณจะต้องเลือกด้านใดด้านหนึ่งในเมื่อมันสามารถทำไปพร้อม ๆ กันได้ สิ่งสำคัญคือวิธีการสื่อสารที่จะทำให้เด็ก ๆ ตระหนักรู้ว่ามันนำไปสู่ผลลัพธ์ใดต่างหาก

การลงมือทำคือหน้าที่ของเรา

เราชอบที่หนังสือไม่ได้โอ้อวดความเป็นนามธรรมนี้จนสูงลิ่ว ทว่าบอกเล่าอย่างซื่อตรงผ่านผลการวิจัย ประสบการณ์ชีวิต และความคิดตกผลึกของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้เขียนทำเพียงแนะนำและบอกเล่าว่าคุณจะทำอะไรได้ ในขณะที่ก็ยอมรับว่าเพียงแค่การบอกว่า ‘คุณทำได้’ ไม่อาจช่วยให้คุณเกิดการพัฒนาได้จริงเท่ากับการที่คุณบอกตัวเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับหนังสือ GRIT นี้ เราจำเป็นต้องใช้สมาธิค่อนข้างสูงในการอ่านและทำความเข้าใจ เนื่องจากมีผลการทดลองและผลการวิจัยจำนวนมากที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงแต่ละประเด็นแนวคิด อาจด้วยเพราะสิ่งที่มีลักษณะเป็นนามธรรม จับต้องได้ยาก และประเมินคุณค่าตายตัวไม่ได้นั้นสามารถใช้การตีความได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ แต่ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการเริ่มต้นเรียนรู้และฝึกฝนบางสิ่งที่นอกเหนือไปจากความสามารถติดตัวโดยกำเนิดแล้ว

ลองเริ่มฝึก GRIT จากการอ่านเล่มนี้ดู


🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

“GRIT : The Power of Passion and Perseverance สิ่งที่ต้องมี…เมื่อคุณไม่มีแต้มต่อในชีวิต”

ผู้เขียน : Angela Duckworth
(จารุจรรย์ คงมีสุข แปล)

จำนวนหน้า : 368 หน้า / ราคาปก : 340 บาท

สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น

หมวด : พัฒนาตนเอง

รีวิวหนังสือ หมวดธุรกิจ
เมื่อความสำเร็จไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนที่เก่ง ฉลาด หรือผ่านประสบการณ์มากมายเพียงเท่านั้น หากแต่กลยุทธ์เบื้องหลังที่สำคัญ อาจเป็นวิธีการที่พวกเขาฝึกฝนและยืนระยะหลังการตัดสินใจลงมือทำแล้วต่างหาก ร่วมค้นหาวิธีฝึกฝนที่ไม่ใช่แค่การฝึกฝน แล้วก้าวสู่จุดสตาร์ทอย่างคนที่จะประสบความสำเร็จในแบบของตัวเองไปด้วยกัน
ก.ค. 16, 2023
How will you measure your life? รีวิว
การกำหนดวิสัยทัศน์และมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายในชีวิตไม่มีทางเป็นเรื่องแย่ แต่การปล่อยให้ตนเองวัดความสำเร็จจากผลลัพธ์ที่จับต้องได้เท่านั้นอาจเป็นเรื่องผิดพลาด หนังสือที่จะชวนคุณทบทวนมาตรวัดในชีวิตใหม่ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับคุณอย่างแท้จริง
ธ.ค. 21, 2023
รีวิวหนังสือ การบริหารธุรกิจ ถอดประกอบรูปแบบความสำเร็จ
ในโลกที่ผู้คนตามรอยผู้ที่เคยประสบความสำเร็จโดยคาดหวังถึงชัยชนะรูปแบบเดียวกันนั้น จะมีวิธีใดที่ทำให้เราประสบความสำเร็จได้ในแบบที่แตกต่าง ชวนศึกษาการทำวิศวกรรมย้อนกลับที่จะช่วยลับคมศักยภาพของคุณให้ก้าวสู่จุดสูงสุดในแบบของตัวคุณเอง
ธ.ค. 31, 2023
หนังสือพัฒนาตนเอง รีวิว บทเรียนชีวิต หนังสือจิตวิทยา
หากปัญหาความสัมพันธ์ ความคิดความเชื่อ หรือการดำเนินชีวิตของคุณกำลังสะดุดติดขัด นั่นอาจเป็นสัญญาณให้คุณหยิบ 'แผนที่ชีวิต' ขึ้นมาปรับปรุงแก้ไข ร่วมปัดฝุ่นเส้นทางเดินชีวิตที่คุณเลือก ผ่านแนวคิดและบทเรียนของจิตแพทย์ที่ฝากไว้ ให้ทบทวนและตั้งคำถามใหม่กับตัวเองอีกครั้ง
พ.ย. 24, 2023