Sisu (ซิสุ) เป็นหัวใจของชาวฟินน์ อันแสดงถึงความกล้าหาญ มานะ และไม่ย่อท้อ
ไม่ว่าจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีการเอาชนะกองทัพสหภาพโซเวียตท่ามกลางอุณหภูมิ -40 องศา ด้วยกำลังพลและเครื่องไม้เครื่องมือที่มีน้อยกว่า หรือท่ามกลางสภาพอากาศของประเทศที่อยู่เกือบเหนือสุดของโลกแต่กลับถูกยกให้เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดอันดับแรกถึง 4 ปีซ้อน โดยผลสำรวจจาก World Happiness Report 2021
เพียงแค่ 2 สิ่งมหัศจรรย์นี้ก็ทำให้เราอยากที่จะทำความรู้จักหัวใจของพวกเขาแล้ว
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
Katja Pantzar (กัตเทีย พันต์ซาร์) นักเขียน บรรณาธิการ และนักข่าวโทรทัศน์เชื้อสายฟินแลนด์ที่เติบโตในแคนาดา เธอเคยอาศัยอยู่ทั้งในแคนาดาและอังกฤษ แต่ด้วยเหตุผลทางความรู้สึกต่อการถูกเลือกปฏิบัติทางเพศในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ เธอจึงตัดสินใจย้ายมาสู่ภูมิลำเนารากเหง้าของตนเองเพราะชื่นชอบแนวคิดความเท่าเทียมของประเทศฝั่งนอร์ดิก และได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือเล่าเรื่องจากมุมมองการใช้ชีวิตของผู้เขียน ซึ่งแม้จะมีเชื้อสายฟินแลนด์แต่ไม่ได้เติบโตที่นั่น การเรียนรู้ของเธอจึงนับเป็นการเปิดรับประสบการณ์ใหม่อย่างแท้จริง ให้ความรู้สึกถึงการร่วมออกเดินทางและค้นหาความหมายไปด้วยกัน : เนื้อหาส่วนใหญ่อธิบายถึงการใช้ชีวิตของชาวฟินน์สไตล์นอร์ดิก เนื่องจากประเทศฟินแลนด์เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศนอร์ดิก (ยุโรปเหนือ) หรือปัจจุบันใช้คำว่า "สแกนดิเนเวีย" โดยมีแก่นดำเนินเรื่องราวด้วยการศึกษาความหมายหัวใจของชาวฟินน์ที่เรียกว่า ซิสุ (Sisu) : เราจะเห็นจุดร่วมอย่างหนึ่งของหลาย ๆ กิจกรรมที่เธอหยิบยกมาพูดว่ามีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำในทะเลสาบช่วงฤดูหนาวหรือการเดินป่า และลักษณะของการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ รวมถึงค่านิยมของการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง : อนุมานได้ว่าหัวใจของสิ่งที่เรียกว่า ซิสุ ในชาวฟินน์นั้น เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติ มีความผสานกลมกลืนวิถีชีวิตที่ไม่ละทิ้งพื้นฐานเดิมของการก่อกำเนิด คล้ายกับว่าต่างฝ่ายต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน : แน่นอนว่าหลายพฤติกรรมเราไม่อาจนำมาใช้ได้หากไม่ปรับประยุกต์ (ยิ่งถ้าคุณพักอาศัยอยู่ใจกลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมด้วยแล้ว) แต่แง่คิดหรือสภาวะทางจิตใจแบบซิสุจะช่วยให้เรากลับมาคิดถึงวิธีสร้างความสุขจากการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย (แบบที่ไม่ต้องง่าย) ไปพร้อม ๆ กับการพึ่งพิงตนเอง : เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อได้รับรู้วิถีชีวิตที่อยู่ท่ามกลางระบบการปกครองที่เต็มไปด้วยแรงสนับสนุนแล้วย้อนกลับมาดูถิ่นที่เราอาศัยอยู่แล้ว อาจชวนให้รู้สึกได้ถึงบางสิ่งบางอย่างอันเป็นตัวแปรภายนอกและยากที่จะควบคุมว่าเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ไม่น้อย เราพบว่าหลักการพึ่งพิงตนเองที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีพที่เพียงพอเหมาะสมก่อนเป็นลำดับแรก

ปี 2016 ประเทศฟินแลนด์ถูกจัดอยู่ในประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกด้วยดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าทางสังคม (Social Progress Index) โดยใช้เกณฑ์ความสามารถของสังคมในการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานของประชากรในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างเต็มประสิทธิภาพ
นั่นเป็นข้อมูลที่ยืนยันชี้ชัดว่าผู้คน ณ ดินแดนที่ตั้งอยู่เกือบจะเหนือสุดของโลก อุณหภูมิติดลบ และภูมิอากาศที่ต่างออกไปสุดขั้วเช่นบางวันของกลางฤดูร้อนที่มีพระอาทิตย์ตกหลังสี่ทุ่ม พวกเขาล้วนมีอะไรบางอย่างที่น่าทึ่งสำหรับการใช้ชีวิตในถิ่นที่อยู่อาศัยที่ดูราวกับสามารถกลืนกินความปกติสุขของมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย
อะไรคือ Sisu ที่แท้จริง?
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เขียนหันมาสนใจคำว่า ‘ซิสุ’ อย่างจริงจังเกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่งมีเพื่อนบ้านพูดว่าเธอมีซิสุอย่างมากขณะที่เห็นเธอกำลังเก็บจักรยานของตนเองหลังการปั่นฝ่าหิมะกลับบ้าน และอีกครั้งคือตอนที่เธอว่ายน้ำในหน้าหนาว เธอรู้สึกว่านั่นเป็นคำชมที่ชวนให้ประทับใจและมีความพิเศษในตัว เธอจึงเริ่มศึกษาหาความหมายของมันอย่างเจาะลึก
แท้จริงแล้ว ซิสุ แปลตรงตัวว่า ลำไส้ สำหรับภาษาฟินนิชแล้ว มันคือสิ่งที่อยู่ข้างใน จากมุมมองของนักวิจัยและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ‘เอมิเลีย ละห์ติ’ ได้ช่วยอธิบายสิ่งนี้ที่มากกว่าแง่มุมทางทัศนคติ ว่ามันคือความแข็งแกร่งและความสามารถในการดำเนินชีวิตผ่านทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เชื่อมโยงกับระดับสติปัญญาของมนุษย์โดยตรง หากแต่มาจากสภาวะของการอยู่ดีมีสุขของร่างกายที่ช่วยให้ผ่านสิ่งต่าง ๆ ไปได้อย่างกล้าหาญ
มันคือกล้ามเนื้อที่ต้องหมั่นฝึกฝนออกกำลังกาย – มันคือยาของหัวใจที่ฉีดเข้าไปให้ผู้คนมีแรงฮึดสู้
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงถ่ายทอดมุมมองเรื่องราวของซิสุจากวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวฟินน์สไตล์นอร์ดิกที่เต็มไปด้วยความเกี่ยวโยงผูกพันกับธรรมชาติผ่านสายตาของประชากรชาวฟินแลนด์เอง แทนที่จะเล่ามันออกมาในแง่ของหลักจิตวิทยาทางด้านจิตใจ พร้อมทั้งใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุนเรื่องราวที่เธอค้นเจอตลอดทาง
เราคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ถูกบ่มเพาะจากพฤติกรรม จากบรรพชนรุ่นสู่รุ่น จากปัจจัยแวดล้อมภายนอก จากสภาพสังคม ซึ่งทุกสิ่งที่มีการถ่ายทอดในเชิงปฏิบัติ-แสดงให้เห็น เราเชื่อว่ามันสามารถปลูกฝังแนวคิดและความเชื่อให้หยั่งรากลึกได้ถึงระดับจิตวิญญาณ
ผ่านร้อน – ผ่านหนาว
กิจกรรมหนึ่งที่เป็นที่นิยมนั่นคือการว่ายน้ำในหน้าหนาวที่อุณหภูมิติดลบ ผ่านรูน้ำแข็งที่ถูกเจาะหรืออาจผุกร่อนตามธรรมชาติ (ชาวฟินแลนด์เรียกว่า ‘อวันโตะ’ : Avanto) ซึ่งเชื่อว่าความหนาวเย็นจะช่วยบรรเทาความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งนับเป็นวิธีหนึ่งของการฝึกซิสุในการก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดความเข้มแข็งของร่างกาย (แน่นอนว่ามีการกล่าวถึงขีดจำกัดจริง ๆ อย่างเช่นโรคประจำตัวและสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยด้วย) โดยก่อนหรือหลังการว่ายน้ำ ชาวฟินน์นิยมการอบซาวน่า เพราะเชื่อว่าความร้อนจะช่วยล้างพิษและทำให้ผ่อนคลาย นับเป็นการสร้างความสุขสงบให้เกิดขึ้นจากสภาพทางกายก่อน
ยิ่งไปกว่านั้น ซาวน่ายังเป็นมากกว่าสถานที่ที่เต็มไปด้วยความร้อน ทว่ามันคือห้องแห่งการสอนความเสมอภาคและความต่างทางอ้อมในอีกนัยหนึ่ง เมื่อทุกคนที่เข้าไปล้วนไม่สามารถพกพาเครื่องหมายบ่งบอกชั้น วรรณะ อาชีพ ใด ๆ ไปด้วยได้ (และตามธรรมเนียมของการปฏิบัติ พวกเขาไม่นิยมพูดถึงเรื่องส่วนตัวระหว่างอบซาวน่า อาจเป็นเพียงบทสนทนาทั่วไปที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง)
วิถีชีวิตที่ออกฤทธิ์ต่อสุขภาพ
ความเชื่อของการใช้ชีวิตอย่างอยู่ดีมีสุขถูกผูกเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวร่างกายและการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ประชากรชาวฟินแลนด์นิยมเดินทางด้วยจักรยานซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายทางอ้อม และมีวิธีรักษาสุขภาพด้วยการเลือกสรรอาหารมากกว่าพึ่งพาสูตรลดน้ำหนักหรือเข้าคอร์สฟิตเนส โดยใช้แนวคิดสัดส่วนอาหารในจานแบบ 1/2 , 1/4 , 1/4 (ผัก 1/2 , ข้าว พาสต้า หรือธัญพืช 1/4 , โปรตีน 1/4 ) ที่มีการสอนกันมาตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็ก อีกทั้งพวกเขายังนิยมทำหลายสิ่งหลายอย่างด้วยตัวเองมากกว่า ทว่าสำหรับคนที่ยึดโยงแนวทางนี้จนสุดโต่ง มันสามารถกลายเป็นข้อเสียของซิสุจากความคิดที่ว่าการขอความช่วยเหลือเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ

ความเป็นชุมชนที่ส่งผลให้เกิด Sisu
สิ่งที่เราชื่นชอบมากที่สุดจากคำบอกเล่าของผู้เขียน คือวิธีคิดที่ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักของภาครัฐ ที่ช่วยมุ่งเน้นให้ประชากรฟินแลนด์สามารถใช้ชีวิตตามวิถีแห่งซิสุนี้ได้อย่างต่อเนื่องมาจวบจนทุกวันนี้ พวกเขายังคงไว้ซึ่งวิถีดำเนินชีวิตและความผูกพันกับธรรมชาติเมื่อมันยังส่งผลดีต่อประชากรของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีสวนชุมชนอยู่ทั่วประเทศ ผู้คนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือกระทั่งเช่าพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกได้ในระยะที่ไม่ไกล บางคนสามารถเก็บเกี่ยววัตถุดิบเพื่อนำไปใช้เป็นมื้อเย็นระหว่างทางกลับบ้าน หรือการวางแผนผังเมืองเรื่องเส้นทางสัญจรให้เอื้อต่อการใช้ทางเดินและจักรยานมากกว่าการขับรถ ดังเช่นในเมืองโอลุ ที่ถ้าหากคุณขับรถไปยังสถานที่ต่าง ๆ มันจะใช้ระยะทางมากกว่าการปั่นจักรยานและยังพลาดชมพื้นที่สีเขียวสวย ๆ งาม ๆ อีกด้วย
มองเห็นความสำคัญตั้งแต่ก้าวแรก
และไม่แปลกใจกับอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากภาครัฐนั้นให้คุณค่าความสำคัญแก่เด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ยืนยันจากการจัดให้มี “กล่องทารก” (Baby Box) ซึ่งจะบรรจุสิ่งของจำเป็นสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่จะใช้ได้ช่วงระยะ 3 เดือนแรก อีกทั้งยังมีศูนย์เด็กเล็กกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้วยค่าใช้จ่ายที่คิดตามอัตรารายได้ของพ่อแม่ (และลดลงเมื่อเข้าชั้นอนุบาล ส่วนประถมและมัธยมศึกษานั้นเรียนฟรี และมหาวิทยาลัยก็แทบจะฟรีเช่นกัน) พร้อมทั้งอาหารครบมื้อและการเล่นอย่างสมวัย (ศูนย์เด็กเล็กจะไม่มีจอโทรศัพท์ IPAD หรือโทรทัศน์) เป็นการปล่อยให้เด็ก ๆ เรียนรู้วิธีเข้าสังคม เล่นกลางแจ้ง และการใช้ความคิดและร่างกายอย่างที่พัฒนาการของเด็กในวัยห้าขวบหรือต่ำกว่าควรได้รับ
ทุกสิ่งทุกอย่างบนรากฐานของการกำเนิดชีวิตใหม่ ล้วนแล้วแต่อำนวยช่วยเหลือผู้เป็นพ่อและแม่ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายและเวลาในการเลี้ยงดูได้เป็นอย่างดี พวกเขาสามารถวางใจในการเติบโตของลูก ๆ ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการส่งเสริมสิทธิเสมอภาคในสตรีให้สามารถกลับไปทำงานเพื่อความก้าวหน้าของตนเองได้โดยไม่ต้องพะวงอยู่กับการเลี้ยงลูกตลอดเวลา
เรารู้จัก ‘เมือง’ จากการรู้จัก ‘ผู้คน’
ซิสุสำหรับคนฟินน์ นับเป็นการดึงมาตรวัดของปัจจัยภายนอกให้กลายเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ และส่งแรงสะเทือนต่อกันไปเป็นทอด ๆ นับเป็นการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งทางภูมิประเทศและภูมิอากาศเพื่อดำรงร่วมอย่างมีความสุขโดยไม่ยึดติดกับความสะดวกสบายมากเกินไปนัก เมื่อสิ่งเหล่านั้นอาจตัดความงดงามที่ไม่ควรปล่อยให้สูญหาย หรือทำลายความเชื่อบางอย่างในชีวิต ผู้เขียนเป็นตัวอย่างยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถฝึกฝนได้ เธอกล้าที่จะลองสิ่งใหม่ กล้าเสี่ยง และกล้าตัดสินใจ เมื่อได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ในที่ที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุน หรือได้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายที่มีวัฒนธรรมเช่นนั้น
และเมื่อได้ทำความรู้จักวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากอีกซีกหนึ่งของโลกนี้ เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการที่ประชากรแต่ละคน ในแต่ละประเทศ มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุขได้ ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนระดับโครงสร้างที่ครอบทุกบทบาทของสังคมเอาไว้ ปัญหาบางปัญหาจึงไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจก แต่มันเกิดจากบางสิ่งที่ฝังรากลึกลงไปมากกว่านั้น ซิสุที่กล่าวมาจึงไม่ได้เป็นปรัชญาสวยหรูประจำชาติของฟินแลนด์เพียงอย่างเดียว แต่มันคือ ‘วิถีชีวิต’
เพราะปรัชญาทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นมาจากผู้คน – ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมชุมชนในหน่วยระดับประเทศ

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
🛒 ฉบับปี 2023
“Finding Sisu เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว”
ผู้เขียน : Katja Pantzar (กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ แปล)
จำนวนหน้า : 352 หน้า / ราคาปก (ปกอ่อน) : 395-450 บาท
สำนักพิมพ์ : Openbooks
หมวด : พัฒนาตนเอง