Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข (เดล คาร์เนกี)

รีวิวหนังสือ : วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข (เดล คาร์เนกี)

How to stop worrying start living รีวิว หนังสือ Dale Carnegie

ความทุกข์ เป็นความธรรมดาของมนุษย์

หากแต่วิธีมองความทุกข์ต่างหากที่จะช่วยให้ผู้เผชิญหน้ากับความสามัญนี้ผ่านพ้นมันไป

โดยทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้น้อยที่สุด

✒️ ประวัติผู้เขียน เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie)

เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie)
(ค.ศ. 1888 – 1955)
นักเขียน ครู และนักพูดชาวอเมริกัน
ผู้พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาตนเอง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ทักษะการขาย ทักษะองค์กร และการพูดในที่สาธารณะ
วัยเด็กของเขาเติบโตขึ้นอย่างแร้นแค้นในรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา
แม้จะลำบากและท้อถอยจนคิดฆ่าตัวตาย เขาก็ผ่านพ้นทุกช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้
กระทั่งเริ่มต้นศึกษาวิชามากมายระหว่างการประกอบอาชีพเป็นคนเดินตลาด
และทะยานสู่การเป็นมือหนึ่งจากการขายสินค้าในถิ่นทุรกันดาร
ก่อนตัดสินใจลาออก และมาประกอบวิชาชีพครูสอนการพูดในท้ายที่สุด
ด้วยเชื่อมั่นในความสามารถนี้ของตน
หลักสูตรนี้ได้กลายเป็นที่ต้องการอย่างแพร่หลายเนื่องด้วยเป็นการสอนที่สามารถปฏิบัติได้จริง
ผิดกับวิชาเรียนอื่นในสมัยนั้นที่ล้วนเต็มไปด้วยหลักวิชาการทางตำรา

✒️ อาลัยแด่ผู้แปล อาษา ขอจิตต์เมตต์

อาษา ขอจิตต์เมตต์
(ค.ศ.1908 – 1976)
เกิดที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
สนใจภาษาอังกฤษมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม
ด้วยนิสัยรักการอ่าน แต่วรรณกรรมในสมัยนั้นยังมีไม่มากนัก
อาษาจึงต้องพยายามศึกษาด้วยตนเองเพิ่มเติมเพื่ออ่านวรรณกรรมชั้นเยี่ยมของต่างประเทศ
และจากความพยายามพร้อมด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านภาษา
อาษาจบวิชาการบัญชีสากลโดยเรียนทางไปรษณีย์ จากซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
ทำงานประจำเป็นเวลานานถึง 13 ปีจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
จึงลาออกและยึดอาชีพแต่งและแปลหนังสือเลี้ยงครอบครัว
ผลงานการแปลหนังสือชุดนี้ทำให้อาษาได้รับการขนานนามในฐานะนักแปลผู้สร้างมิติใหม่ให้แก่วงการหนังสือ
ถือเป็นต้นตำรับหนังสือประเภทจิตวิทยาพัฒนาตนเองของประเทศไทย
และทำให้ เดล คาร์เนกี เจ้าของผลงานเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อขอบคุณ

(ข้อมูลประวัติจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย)

🎯 มุมมองสรุป

: วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข (How to stop worrying and start living) เป็นเล่มที่ 2 จาก Boxset ของเดล คาร์เนกี ฉบับสำนักพิมพ์แสงดาว ที่แปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์ ต้นแบบนักแปลหนังสือแนวพัฒนาตนเองคนแรกของประเทศไทย

: ในชุด 3 เล่มนี้เราคิดว่าคงไม่จำเป็นต้องอ่านไล่เรียงกันตามลำดับ สามารถเลือกอ่านตามความสนใจเล่มใดก่อนก็ได้ หรือจะเลือกอ่านเฉพาะเล่มที่สนใจก็ได้ แต่ก็ต้องบอกว่าทั้ง 2 เล่มที่ผ่านมาให้ประสบการณ์และมุมมองที่กระตุ้นการระลึกถึงทางออกได้ดีทีเดียว

: เนื้อหาภายในเล่มแบ่งออกเป็นทั้งหมด 10 ตอน ได้แก่
(1)รากฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทุกข์ที่ท่านควรรู้
(2)ศิลปะแห่งการวิเคราะห์ทุกข์
(3)วิธีทำลายนิสัยชอบมีทุกข์เสียก่อนที่มันจะทำลายท่าน
(4)วิธีฝึกแนวจิตเจ็ดประการเพื่อได้มาซึ่งสันติและความสุข
(5)กฎทองคำสำหรับชนะทุกข์
(6)วิธีที่จะไม่ทุกข์ต่อคำตำหนิติเตียน
(7)หลักหกประการเพื่อป้องกันความอ่อนเพลียและทุกข์ ทั้งจะส่งเสริมกำลังงานและจิตใจของท่านให้กระปรี้กระเปร่า
(8)วิธีหางานชนิดที่จะนำความสุขและความสำเร็จมาให้ท่าน
(9)วิธีบรรเทาทุกข์ทางการเงินของท่าน
(10)"วิธีข้าพเจ้าชนะทุกข์"

: เนื้อหาแต่ละบทตอนยังคงเป็นลักษณะหยิบยกประสบการณ์จริงจากบุคคลอื่นมาเล่าและตีความถอดบทเรียนโดยจัดให้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน นอกเหนือไปจากการค้นคว้าข้อมูล (ที่มีอยู่เพียงน้อยนิดในสมัยนั้น) เพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้แล้ว เขายังได้ทดลองร่วมกันกับนักศึกษาในชั้นเรียนและเปิดให้มีการประกวดชิงรางวัลในหัวข้อวิธีที่ข้าพเจ้าชนะทุกข์ ทำให้วัตถุดิบเนื้อหามาจากกลุ่มคนในวงกว้างขึ้น ขอบเขตการตีความและรวบรวมจึงหลากหลายขึ้น

: และตามชื่อหนังสือ เหมาะสำหรับผู้ที่มองหาวิธีชนะทุกข์และสร้างสุขด้วยตนเอง โดยเนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งปรับทัศนคติให้เป็นไปในทิศทางเชิงบวกเพื่อการดำรงชีวิตที่ต่างไปจากเดิม (บางช่วงตอนเราแอบรู้สึกคล้ายการคิดแบบสร้างแรงดึงดูดด้วยจิตภายใน) 

: หลักการที่เชื่อมโยงกับเรื่องของศาสนาถูกพบกระจายอยู่เป็นแห่ง ๆ แม้ผู้เขียนจะนับถือคริสต์แต่มีการอ้างถึงคำสอนอื่น ๆ ร่วมด้วย และด้วยเหตุที่วิธีเขียนและการนำเสนอมุ่งเน้นถึงคำสอนมากกว่าความเชื่อ นั่นทำให้เราพบว่ามันสามารถอ้างอิงเข้ากับสิ่งที่เราเคยได้เรียนรู้อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ความทุกข์เพื่อมองตามหลักความเป็นจริง รวมไปถึงการสวดมนต์ภาวนา

: จุดเด่นที่เรายังสัมผัสได้จากหนังสือชุดนี้คือเรื่องเล่าต่าง ๆ ที่นำเสนอสามารถสร้างแรงบันดาลใจและกระตุกความคิดได้ดีอย่างประหลาด บางเรื่องราวยังคงร่วมสมัยแม้จะผ่านพ้นมานานนับครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม

บทความนี้เราจะขอกล่าวถึงรูปแบบการจัดการความทุกข์ด้วยทัศนคติเชิงบวกตามความตั้งใจของผู้เขียนที่ถ่ายทอดผ่านหนังสือชุดนี้ ทว่าความทุกข์บางประเภท เป็นความทุกข์ที่ก่อกำเนิดด้วยบริบทแวดล้อมของสังคมต่ำกว่ามาตรฐานที่มนุษย์พึงจะได้รับ เกิดมุมมองความคิดแปลกประหลาดที่นอกจากไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนทางสังคมแล้ว ยังส่งผลกระทบทางลบในลักษณะปลูกฝังค่านิยมผิด ๆ อย่างสืบเนื่อง

รีวิวหนังสือ เดล คาร์เนกี้ ชนะทุกข์ สร้างสุข

จุดกำเนิดของหนังสือและตัวอย่างทฤษฎีวิเคราะห์ความทุกข์

เรื่องของการทำงานที่สัมพันธ์กันระหว่างร่างกายและจิตใจถูกพูดถึงกันมาตั้งแต่ยุคสมัยอดีต ความป่วยไข้ทางร่างกายบางชนิดยิ่งทรุดโทรมหนักลงเมื่อสภาพจิตใจท้อถอย รายงานจากจดหมายจำนวนไม่น้อยทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดาที่ส่งมาถึง เดล คาร์เนกี ในการประกวดชิงรางวัลของชั้นเรียนที่เขาสอน ภายใต้หัวข้อ “วิธีข้าพเจ้าชนะทุกข์” ต่างเล่าถึงการผ่านพ้นความทุกข์ระทมและการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยวิธีปรับปรุงพัฒนาความคิดและจิตใจ นั่นทำให้เนื้อหาส่วนใหญ่ภายในหนังสือเล่มนี้มุ่งเน้นการปรับวิธีคิดที่จะส่งผลต่อไปยังพฤติกรรมพร้อม ๆ กับการใช้สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจอย่างเช่น ศาสนา และไม่ลืมที่จะประคองสติปัญญาด้วยการดำรงตนอยู่กับปัจจุบันและมองโลกตามความเป็นจริง นี่คือแก่นของวิธีชนะทุกข์และสร้างสุขที่เราได้พบผ่านบทเรียนต่าง ๆ ภายในเล่ม

ในส่วนของทฤษฎีที่ใช้วิเคราะห์เรื่องของความทุกข์ เราชอบการใช้วิธีดูตามสถิติและอาศัยกฎเฉลี่ย ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการมองให้เห็นภาพตามความเป็นจริง เพราะบางครั้งความทุกข์ของมนุษย์เกิดจากความวิตกกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น การจินตนาการคิดต่อไปอย่างยืดยาวนอกจากจะไม่ให้ผลดีอะไรแล้วยังทำให้จิตใจเราตกอยู่ในความเครียด และอาจส่งผลต่อร่างกายในภายหลัง เดล คาร์เนกี แนะนำให้ลองดูภาพความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังพะวงอยู่ (ซึ่งหากมีตัวเลขทางสถิติก็ยิ่งทำให้เห็นภาพชัด) ดังเช่นชายหนุ่มคนหนึ่งที่กำลังทุกข์ใจกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับการขนส่งผลไม้ข้ามเขตแดนเป็นจำนวนสิบห้าคันรถตู้ แต่หลังจากที่เขาลองตรวจสอบตัวเลขทางสถิติแล้ว ที่ผ่านมาเขาเคยขนส่งมาแล้วนับ 25,000 ตู้ และมีความเสียหายเกิดขึ้นเพียง 5 ตู้เท่านั้น นั่นจึงทำให้เขารู้สึกสงบลงแทนที่จะมัวกังวลและเป็นทุกข์กับเรื่องที่อาจเกิดขึ้นเพียง 1 ใน 5,000 และหันไปใช้เวลากับสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์กว่า

กำจัดความทุกข์ด้วยการมองให้เห็นความทุกข์

ขั้นตอนแรกของการกำจัดความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น เราจำเป็นจะต้องอาศัยการตีความ คิดวิเคราะห์ โดยมองจากภาพความจริงเป็นหลัก วิธีที่ เดล คาร์เนกี แนะนำคือ ให้ลองเขียนหรือพิมพ์ออกมาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ว่าเรากำลังทุกข์เรื่องใด? และจะมีวิธีแก้ไขได้ยังไงบ้าง? (หากนั่งนึกเฉย ๆ ภาพอาจไม่ชัดเจนนัก) หลังจากนั้นจึงตกลงใจเลือกวิธีที่เราจะใช้ และท้ายที่สุดคือการลงมือปฏิบัติจริงตามทางที่เราเลือก ซึ่งวิธีเหล่านี้คล้ายหลักธรรมอริยสัจ 4 ในศาสนาพุทธ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ที่เราเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างแล้ว

ประเด็นหลักที่ทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นคู่มือสำคัญ นั่นคือ ขั้นตอนของการจัดการกับความทุกข์ เดล คาร์เนกี ได้ถอดบทเรียนและแบ่งหมวดหมู่วิธีชนะทุกข์และสร้างสุขออกเป็น 4 – 5 ประการ หากถามว่ามันครอบคลุมทุกบริบทความทุกข์หรือยัง…เราคิดว่าคงไม่มีใครการันตีได้ เพราะความทุกข์ของมนุษย์มีร้อยแปดพันอย่าง แต่เราเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้อ่านจะรู้สึกราวกับถูกกระตุ้นเตือนความคิดด้วยกรอบวิธีที่ เดล คาร์เนกี ร่างไว้ให้ในเล่มนี้ และเป็นไปได้ว่าน่าจะขจัดทุกข์ได้เกินครึ่ง – เป็นความทุกข์ในส่วนที่เกิดจากความคิดของตัวเราเอง

หนังสือ จิตวิทยา พัฒนาตนเอง สร้างสุข ชนะทุกข์ เดล คาร์เนกี

“จงมีชีวิตอยู่ในห้องที่มีแต่วันนี้”

หนึ่งในตัวอย่างกรอบวิธีคิดที่ช่วยได้จริง ๆ สำหรับเรา (เดี๋ยวนี้เวลาเผลอนึกอะไรจนเริ่มร้อนใจ เราจะนึกถึงประโยคนี้เลย) มองอีกนัยหนึ่งมันคือการรู้สึกตัวอยู่เสมอ และให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้า เป็นสภาวะของความมีสติที่จะช่วยให้เราไม่มัวคิดวนกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและสิ่งที่ยังไม่เกิด เพราะหากว่ากันตามจริง วันนี้ของเราก็คืออนาคตของเมื่อวาน

อีกเรื่องหนึ่งที่เราชอบจากบทเรียนการฝึกทัศนคติให้ได้มาซึ่งความสุขคือตอนที่พูดถึงเรื่องการเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งนับว่าเป็นวิธีคิดที่ยังมีคนพูดถึงอย่างมากทุกวันนี้ และยิ่งในยุคสมัยที่เฟื่องฟูด้วยเทคโนโลยีให้เราเข้าถึงกันและกันมากขึ้น บนโลกที่เสียงของความสำเร็จดังมาจากทั่วทุกสารทิศและฉายแสงไปยังคุณลักษณะบางอย่าง ก็อาจทำให้เราอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบ เราขอยกประโยคจากหนังสือในหน้า 173 ที่เราชอบมาทั้งวรรคใหญ่ เพราะเรารู้สึกว่ามันกระตุ้นพลังใจได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ

“...ท่านและข้าพเจ้าต่างมีสมรรถภาพเช่นเดียวกัน นี้, เพราะฉะนั้นเราอย่าเสียเวลา, แม้แต่วินาทีเดียว, วิตกทุกข์ร้อนว่าเราไม่เหมือนคนอื่น. ตัวของท่านเป็นสิ่งใหม่ที่สุดของโลก. เพราะไม่เคยเลย, นับตั้งแต่สร้างโลก, จะมีใครสักคนหนึ่งที่เหมือนท่านไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง; และในอนาคต, จะเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม, จะไม่มีใครเหมือนท่านทุกสิ่งทุกอย่างเช่นเดียวกัน...”

อ่านแล้วยิ้มออกมาเหมือนกันไหมคะ? : )

สิ่งที่ชอบจากหนังสือ

โดยภาพรวมของหนังสือ เรารู้สึกได้พลังทั้งจากเรื่องเล่าประสบการณ์ของผู้อื่นและถ้อยคำบรรยายของ เดล คาร์เนกี ตลอดทางที่อ่าน วิธีชนะทุกข์และสร้างสุขเล่มนี้นอกจากจะมีสรุปออกมาเป็นกฎชวนจดจำคล้ายกับวิธีชนะมิตรและจูงใจคนแล้ว ยังมีส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาคือคำถามที่ชวนให้คนอ่านไตร่ตรองตัวเองไปด้วย ซึ่งส่วนตัวเราจะชอบหนังสือแนวนี้เพราะเหมือนเราได้ทำงานกับตัวเองระหว่างทาง คล้ายกับได้ปักธงลงบนการทบทวนตัวเองเป็นระยะ ๆ

เราขอปิดท้ายด้วยการยกวิธีอธิบายแง่มุมเรื่องความเชื่อและศาสนาของ เดล คาร์เนกี ที่น่าสนใจมาก ๆ อีกเรื่องหนึ่ง เขาเคยนึกสงสัยเกี่ยวกับเรื่องราวและคำสอนในพระคัมภีร์ว่ามันมีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน หากแต่เมื่อเขาได้ครุ่นคิดถึงความลึกลับในสรรพสิ่งต่าง ๆ บนโลกแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นได้เพียงส่วนเสี้ยวเท่านั้น เขาจึงหันมามองในแง่มุมที่ว่า “มันมอบอะไรให้” หรือ “เขาได้อะไรจากมัน” เสมือนหนึ่งการใช้งานวัตถุและร่างกายของตัวเราเองที่ก็ยังมีบางอย่างยากต่อการค้นหาคำตอบให้กระจ่างชัด แต่เราก็ยังหาวิธีใช้ประโยชน์จากมันได้ ฉะนั้น หากไฟฟ้าให้แสงสว่างและความสะดวกสบายทางกาย ศาสนาก็คือสิ่งที่มอบความหวัง ความศรัทธา อันเป็นความสุขทางใจสำหรับเขา

“…เพราะมนุษย์เรามิได้สร้างขึ้นเพื่อเข้าใจชีวิต

แต่เพื่อหาความสุขจากชีวิตต่างหาก” – ยอร์จ ซานตายานา

“Man is not made to understand life, but to live it.” — George Santayana 
เดล คาร์เนกี รีวิวหนังสือ จิตวิทยา พัฒนาตนเอง

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข (How to Stop Worrying and Start Living)

ผู้เขียน : เดล คาร์เนกี
(อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปล)

จำนวนหน้า : 416 หน้า / ราคาปก (ฉบับพิมพ์ล่าสุด) : 380 บาท

สำนักพิมพ์ : แสงดาว (Saengdao)

หมวด : จิตวิทยา

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งใน Boxset เดล คาร์เนกี

สนใจ Boxset หนังสือ 🛒 CLICK 🛒

รีวิว หนังสือจิตวิทยา พัฒนาตนเอง เดล คาร์เนกี BOXSET

อ่านรีวิวหนังสือเล่มอื่น ๆ ใน Boxset เดียวกัน

👉 วิธีชนะมิตรและจูงใจคน 👈

👉 วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข • (คุณอยู่ที่หน้านี้) 👈

👉 การพูดในที่ชุมนุม 👈

รีวิวหนังสือ จิตวิทยาว่าด้วยเงิน หนังสือการเงิน การลงทุน การเล่นหุ้น
ความรู้ทางการเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอให้เราบริหารการลงทุนได้อย่างรอบด้าน มาร่วมเพิ่มมุมมองเชิงจิตวิทยาเพื่อขยายกรอบความคิดพื้นฐานและจินตนาการของคุณให้กว้างขึ้นกว่าเก่า เพื่อให้เราอยู่ในเกมการลงทุนได้ยาวนานพอที่จะก้าวไปถึงความมั่งคั่ง
ต.ค. 1, 2023
รีวิวหนังสือ นิ้วกลม 12 นิสัยเปลี่ยนชีวิตใน 1 ปี
เพราะการสร้างชีวิตในแบบที่ต้องการ สามารถเป็นไปได้ด้วยการปรับสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำจนคุ้นชิน ร่วมค้นพบความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเองได้ในระยะเวลา 1 ปีผ่านหนังสือเล่มนี้กันค่ะ
ม.ค. 16, 2022
รีวิวหนังสือ Connection introvert สร้างคอนเน็กชั่นแกร่ง ด้วยจุดแข็งมนุษย์อินโทรเวิร์ต
หนังสือที่เล่าถึงวิธีสร้างคอนเน็กชั่นแบบฉบับของคนเก็บตัวที่ช่วยรื้อทัศนคติเก่า ๆ ของการสร้างความสัมพันธ์ว่าเป็นเรื่องของคนคุยเก่งเท่านั้นที่ทำได้ดี
ก.ค. 27, 2021
บริหารเวลา ให้สนุก มีความสุข
เมื่อชีวิตมาถึงจุดที่สุดจะยุ่งเหยิง และการบริหารเวลากลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวและเครียดกว่าที่คิดไว้ ลองดูแนวทาง 5 ขั้นตอนนี้สู่วิธีการบริหารเวลาอย่างมีความสุข เผื่อจะช่วยคุณผุดไอเดียและกลับมามีไฟได้อีกครั้งค่ะ
ส.ค. 12, 2023