หากใครที่เป็นคอนิยายเขย่าขวัญสั่นประสาท คงไม่มีใครไม่รู้จักนักเขียนนิยายมือฉมังคนนี้ Stephen King ซึ่งผลงานของเขาจำนวนไม่น้อยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เช่น IT , The Shawshank redemption , The Green Mile เป็นต้น และจากการที่เราสนใจในทักษะการแต่งนิยายของเขาผ่านเพื่อน ๆ ชุมชนนักอ่านหลายคน เราได้เสาะหาหนังสืออัตชีวประวัติในฉบับแปลไทยที่ใช้ชื่อว่า “เวทมนตร์ฉบับพกพา : ชีวิตและเรื่องขีดเขียนของสตีเวน คิง” ซึ่งแปลมาจาก On Writing, A Memoir of the Craft มาอ่าน โดยเล่มที่เราอ่านเป็นผลงานการแปลจากคุณนรา สุภัคโรจน์ ภายใต้ลิขสิทธิ์สำนักพิมพ์แมร์รี่โกราวด์ แม้ภายในหนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้บอกถึงวิธีการเขียนนิยายที่จะใช้เป็นกฎเกณฑ์ถาวรได้ เพราะมันเป็นเพียงการถอดบทเรียนจากการสั่งสมประสบการณ์ผ่านงานเขียนของเขา ไปจนถึงวิธีคิดที่เขาอยากบอกต่อ แต่สิ่งสำคัญที่มันสื่อได้มากกว่าเทคนิคการเขียนนิยายก็คือแรงบันดาลใจให้ใครก็ตาม ที่เมื่ออ่านแล้วก็ชวนให้รู้สึกว่า “ฉันเองก็น่าจะแต่งนิยายได้…”
เพราะฉะนั้น เราจึงได้รวบรวมบทเรียนเทคนิคการเขียนนิยายบางส่วนที่ได้จาก สตีเวน คิง มาไว้ที่นี่ เผื่อเพื่อน ๆ ที่สนใจมองหาแรงบันดาลใจในงานเขียนจะสามารถนำไปต่อยอดกับการเขียนนิยายของตัวเองกันนะคะ : )
(1) คลังไอเดียไม่เคยมีอยู่จริง
สำหรับนักเขียนแล้ว หลายคนอาจเคยพบกับคำถามที่ว่า “ฉันควรจะหาไอเดียจากที่ไหนกันล่ะ?” …แน่นอน มันไม่มีที่แบบนั้น อย่างน้อยก็ไม่ใช่สำหรับ สตีเวน คิง เจ้าพ่อนักเขียนนิยายแนวระทึกขวัญคนนี้ เพราะสำหรับสตีเวนแล้ว เขาได้ให้ความเห็นว่าไอเดียดี ๆ นั้นมันมักจะโผล่ขึ้นมาในเวลาที่ไม่ตั้งใจ อาจจะเป็นตอนอาบน้ำ ดื่มเบียร์จิบไวน์ หรือก่อนจะผล็อยหลับไปบนเตียง บางครั้งก็เป็นเรื่องเก่า ผสมปนเปกับเรื่องราวใหม่ เขาจึงไม่คิดว่าการตามหาคลังไอเดียจะเป็นเรื่องที่ควรทำนัก สิ่งที่คุณต้องทำคือการมองเห็นเมื่อมันปรากฏตัวขึ้นมา ฉวยคว้า และเก็บเกี่ยวในขณะที่คุณทำสิ่งอื่นไปตามปกติ
(2) สร้างพื้นที่สำหรับงานศิลปะของคุณ
แน่นอนว่าการเขียนก็ถือเป็นศิลปะเช่นเดียวกัน คุณควรจัดพื้นที่ให้แก่มันเพื่อที่จะได้พร้อมสำหรับการลงมือสร้างสรรค์ เฉกเช่นเดียวกับสตีเวน ที่เขาจะมีโต๊ะทำงานตัวหนึ่งตั้งอยู่ที่มุมหนึ่งของห้อง เป็นมุมที่เขาจะได้ขลุกตัวอยู่กับสิ่งที่เขาหลงใหล ถึงแม้ภายในอาณาบริเวณเดียวกันจะถูกจัดสรรไว้ทำอย่างอื่นร่วมด้วยก็ตาม คล้ายกับว่าให้มันเป็นหมุดหมายที่คอยเตือนใจ ว่าอะไรที่คุณต้องลงมือทำเมื่อมาถึงโต๊ะตัวนี้
(3) เขียนบรรยายรายละเอียดอย่างคร่าว ๆ ก็เพียงพอแล้ว
ความสนุกสนานของการอ่าน ส่วนหนึ่งคือการได้จินตนาการผ่านตัวอักษรที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากหนังสือ และสตีเวนแนะนำว่าการเขียนบรรยายถึงคุณลักษณะสิ่งของในฉากของคุณมันจะสนุกกว่ามากหากเขียนเพียงคร่าว ๆ เพื่อให้คนอ่านและคนเขียนสนุกกับการจินตนาการถึงภาพของสิ่งเดียวกัน ไม่ใช่การมองเห็นทุกอย่างเหมือนกัน อย่างเช่น กรงก็คือกรง โต๊ะก็คือโต๊ะ ในแง่ที่มันไม่ใช่ประเด็นสำคัญของเรื่อง ขอเพียงเข้าใจตรงกันว่า กรงก็คือสิ่งที่สามารถบรรจุอะไรสักอย่างและมองทะลุผ่านได้ ส่วนโต๊ะก็คือสิ่งที่สามารถใช้วางและยกสูงขึ้นจากพื้น ไม่จำเป็นต้องระบุขนาดกว้าง ยาว สูงเพื่อให้นึกภาพเหมือนกันขนาดนั้น
(4) จงเลือกใช้คำแรกที่ผุดขึ้นมาในหัว หากมันเหมาะสมและมีสีสัน
หากงานเขียนของคุณไม่ได้จำกัดถึงการใช้คำศัพท์หรือรูปแบบภาษาตามบริบทของเนื้อหาแล้วล่ะก็ คำใดที่ปรากฏขึ้นมาในหัวก็จงหยิบคำนั้นมาใช้ได้เลย (ถ้ามันเหมาะสมและสร้างสีสันให้กับงานเขียน) เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณลังเลและเลือกหาคำอื่นมาใช้ มีโอกาสที่คำใหม่ในหัวของคุณจะห่างไกลกับสิ่งที่คุณตั้งใจจะสื่อความออกมาจริง ๆ
(5) จงอย่า “เล่า” หากคุณสามารถ “แสดง” ให้เห็น
ในการเขียนบรรยายตัวละครที่สามารถสื่ออากัปกิริยาต่าง ๆ ได้และทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความหมายจากการแสดงออกนั้น ๆ …จงเลือกให้ตัวละครได้แสดงมันออกมา ไม่ว่าจะเป็นการยิ้มอย่างเขินอาย การพูดด้วยความโมโหอย่างรุนแรง คุณไม่จำเป็นต้องเขียนเล่าขยายความใด ๆ ก็ได้ หากตัวละครของคุณสามารถที่จะระบายรอยยิ้มพร้อม ๆ กับใบหน้าที่แดงก่ำและสายตาที่เฉมองไปทางอื่น หรือตะโกนเสียงดังลั่นห้องโถงด้วยแววตาแข็งกร้าวและมือที่กำแน่น
(6) สิ่งสำคัญของการเขียนเรื่องพื้นหลัง
ตัวละครแต่ละตัวล้วนมีเรื่องราวที่นำไปสู่ความเป็นไปบางอย่างเสมอ แต่การเขียนเล่าเรื่องพื้นหลังนั้น สตีเวนได้แนะนำเทคนิคสำคัญที่ต้องจำไว้ให้แม่น 2 อย่าง นั่นคือ “ทุกคนมีอดีต” และ “ส่วนใหญ่อดีตของคนเราไม่ได้น่าสนใจ” เพราะฉะนั้น จงเลือกเขียนแค่ตอนที่น่าสนใจและจำเป็นเท่านั้นก็พอ
(7) สูตรสำเร็จนิยายที่ดี คือต้องเริ่มจากเรื่องราวดำเนินไปสู่ธีม (Theme) เสมอ
แน่นอนว่าทุกคนอาจมีธีมที่ตัวเองสนใจและอยากสื่อสาร แต่การเขียนนิยายควรเริ่มต้นจากสร้างเรื่องราวพื้นฐานลงบนหน้ากระดาษก่อน แล้วจึงคิดต่อว่ามันจะหมายถึงอะไร แล้วขยายความเขียนร่างต่อไปโดยอาศัยข้อสรุปนั้น ไม่ใช่ว่าประเด็นที่ต้องการจะสื่อไม่สำคัญ หากแต่มันอาจไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนนิยายได้มากอย่างที่คิด สตีเวนได้ให้ข้อคิดเอาไว้ ว่าสถานการณ์ที่แข็งแรงเดียวก็สามารถสร้างพล็อตเรื่องขึ้นมาได้ จงลองคิดต่อยอดจากประโยคนี้ดู — “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า…”
(8) อย่าทำตัวเป็นหางกระดิกหมา แทนที่จะเป็นหมากระดิกหาง
จงเลือกเขียนในสิ่งที่คุณรู้ เพราะจะทำให้เรื่องราวสมจริงและง่ายกว่ามากสำหรับคุณ แต่หากเป็นเรื่องที่คุณจะต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม ก็จงอย่าเพลิดเพลินกับการใส่รายละเอียดข้อมูลมากเกินแทนที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องราวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกว่า เพราะในมือที่คุณกำลังเขียนอยู่นี้คือนิยาย ไม่ใช่รายงานวิชาการ สตีเวนแนะนำให้จดจำไว้เสมอ
(9) สร้างกล่องเครื่องมือเป็นของตัวเอง
ในการเขียนนิยาย สิ่งสำคัญที่ทุกคนจำเป็นจะต้องมีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงเลยนั่นก็คือ คลังคำศัพท์ รวมถึงรูปประโยคไวยากรณ์และประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตที่เราอาจจะหยิบยกขึ้นมาสอดแทรกลงไปบ้าง ดังนั้นเราจึงควรเก็บเกี่ยวและรวบรวมมันไว้เพื่อให้พร้อมใช้งานเสมอ ดังประโยคทองที่เขากล่าวไว้ในหนังสือว่า
“…ถ้าคุณอยากเป็นนักเขียน มีสองอย่างที่คุณจะต้องทำมากกว่าคนอื่น
จากหนังสือ : เวทมนตร์ฉบับพกพา ชีวิตและเรื่องขีดเขียนของสตีเวน คิง
หนึ่งอ่านให้มาก และสองเขียนให้มาก
เท่าที่ผมรู้ ไม่มีหนทางอื่นใดอีกแล้วนอกจากนี้ และก็ไม่มีทางลัดด้วย…”
อย่างไรก็ตาม สตีเวน คิง ได้บอกไว้ในหนังสือเล่มนี้ของเขาว่าสูตรและเทคนิคที่เขาเขียนออกมานั้นไม่ใช่กฎตายตัว หากแต่เป็นเพียงวิธีที่เขาใช้ ซึ่งในความคิดเรา งานเขียนต่าง ๆ ไม่ว่าจะประเภทใดก็ตาม มันมักจะสอดแทรกลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ของนักเขียนเสมอ และเราคงไม่อาจค้นหามันเจอได้โดยปราศจากการลงมือทดลองทำซ้ำ ๆ พร้อมกับการปรับปรุงพัฒนาไปด้วย
เพราะไม่แน่ว่าบางไอเดียที่บ่งบอกตัวตนของเรา มันอาจปรากฏขึ้นมาระหว่างบรรทัดของงานเขียนชิ้นใดชิ้นหนึ่งก็ได้