Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : What Happened to You? แค่เข้าใจก็ไม่เจ็บแล้ว (Bruce D. Perry, M.D.,Ph.D. & Oprah Winfrey)

รีวิวหนังสือ : What Happened to You? แค่เข้าใจก็ไม่เจ็บแล้ว (Bruce D. Perry, M.D.,Ph.D. & Oprah Winfrey)

รีวิวหนังสือ วิธีเยียวยา บาดแผลทางใจ

ความเจ็บปวดเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะได้รู้ถึงความจริงแท้

แต่เราไม่จำเป็นต้องเก็บความเจ็บปวดนั้นไว้ เพื่อเก็บรักษาความจริงแท้นั้น

( มาร์ค เนโป – จากหนังสือหน้า 373 )

✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน

🎯 มุมมองสรุป

แรกเริ่มเดิมทีหากมนุษย์มีสภาวะทางความคิดที่ต่างไปจากปกติ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเกินกว่าที่คนทั่วไปเป็น การเข้าสู่กระบวนการเยียวยาทางด้านจิตใจอาจมุ่งไปยังวิธีจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังเป็นปัญหา ในขณะที่ภายในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความจริงบางอย่างที่ลึกลงไปยิ่งกว่า ความจริงที่ซับซ้อนและอธิบายด้วยขั้นตอนการทำงานของสมองซึ่งมีส่วนทำให้เราเก็บประสบการณ์บางชั่วขณะไว้ในความทรงจำอย่างเหนียวแน่น และแม้ว่ามีเพียงแค่สัญญาณเชื่อมโยงเล็ก ๆ กระตุ้นก็อาจทำให้เราหลุดจากการควบคุมได้ คล้ายสลักจุดชนวนล่องหนที่ไม่มีใครสักคนมองเห็น อันเป็นที่มาของคำว่า ‘บาดแผลทางใจ’

เป็นความเจ็บปวดที่อยู่ลึกเกินกว่าที่เราจะปฐมพยาบาลได้ และบางครั้งเจ้าตัวเองก็แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีรอยแผลอยู่ตรงนั้น…

แค่เข้าใจก็ไม่เจ็บแล้ว รีวิว

กระบวนการทางสมองและที่มาของบาดแผลทางใจ

ผู้เขียนได้เปรียบเทียบกระบวนการทำงานของสมองเข้ากับแผนภูมิภาพสามเหลี่ยมกลับหัวและแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยไล่เรียงระดับความเรียบง่ายจากด้านล่างสุด ไปจนถึงระดับที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงส่วนบนสุด ได้แก่ ส่วนของก้านสมอง ไดเอนเซฟาลอน ลิมบิก และคอร์เท็กซ์ โดยในส่วนของก้านสมองล่างสุดจะเป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับจิตไร้สำนึกซึ่งกักเก็บความรู้สึกต่าง ๆ ที่คอยตอบสนองตามสัญชาตญาณและการเอาตัวรอด ในขณะที่ส่วนบนสุดที่เรียกว่าคอร์เท็กซ์ จะแสดงถึงความเป็นมนุษย์ อย่างเช่นการรู้คิดในเรื่องของสภาวะเวลา การพูด ภาษา ตลอดจนความคิดเชิงนามธรรมต่าง ๆ

สมองโดยหลัก ๆ แล้วมันมีหน้าที่ควบคุมให้การทำงานต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ในทุกสถานการณ์ ฉะนั้นในสถานการณ์ที่เรารู้สึกปลอดภัยและไม่ถูกคุกคาม มันย่อมทำงานไปตามปกติ หรือหากดีกว่านั้นมันอาจเอื้อให้เกิดพัฒนาการไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ กลับกัน หากต้องตกอยู่ในสภาวะแห่งความเครียด โครงข่ายประสาทก็จะเริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยไล่ตั้งแต่ส่วนก้านสมองเป็นต้นไป ความเครียดที่มีลักษณะทำนายไม่ได้ รุนแรงสุดโต่ง และยืดเยื้อยาวนาน เป็นผลทำให้ระบบร่างกายของเราตื่นตัวและโต้ตอบมากเกินอยู่เป็นประจำ จนเกิดเป็นผลกระทบต่อการเกิดปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ ไปจนถึงร่างกายต่อเป็นทอด ๆ

ก้านสมองและไดเอนเซฟาลอนเป็นด่านแรก ๆ ของโครงข่ายประสาทในการรับรู้ผัสสะต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก เมื่อมันหลุดจากการควบคุมหรือเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ในเชิงเปรียบเทียบแล้วระดับชั้นของสมองส่วนถัด ๆ ไปจะยิ่งค่อย ๆ ตีบแคบลง จนทำให้ส่วนที่ควรจะถูกเข้าถึงมากที่สุดอย่างคอร์เท็กซ์ (บนสุด) กลับมีการรับรู้เพียงน้อยนิดจนไม่สามารถประมวลผลการรู้คิดหรือวิจารณญาณได้ การตอบโต้จึงถูกจำกัดโดยระบบประมวลผลของสมองเฉพาะระดับล่าง ๆ ที่เป็นปฏิกิริยารับมือต่อความเครียด อาจเป็นการแยกตัวหรือตื่นตัว ซึ่งรูปแบบก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นเคยพบกับประสบการณ์ตึงเครียดแบบไหนมาในชีวิต

What happened to you รีวิวหนังสือ

อย่าคิดว่าเด็กทารกไม่รู้เรื่องรู้ราว

แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่รู้ชัดเรื่องภาษา แต่พวกเขาสัมผัสได้ถึงอวัจนภาษาที่แสดงออกมาทางน้ำเสียง สีหน้าแววตา หรือแม้แต่อารมณ์ที่มาจากความมุ่งร้ายหรือโกรธเกรี้ยว และในช่วงปฐมวัยนี้เองเป็นช่วงที่สมองจะเปิดรับการเรียนรู้มากที่สุด ประสบการณ์จากช่วงวัยนี้จึงสามารถส่งผลกระทบได้ลึกและยาวนานอย่างมาก สมองส่วนคอร์เท็กซ์ของพวกเขาอาจยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ แต่โครงข่ายประสาทส่วนล่าง ๆ สามารถประมวลผลและสร้างความเชื่อมโยงหรือความทรงจำเก็บไว้จนอาจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมในอีกหลายปีให้หลังได้

ทำไมบางครั้งเราก็สติหลุดหรือระเบิดอารมณ์รุนแรงเกินกว่าเหตุ

หากคุณพอจะเข้าใจกระบวนการทำงานของสมองแล้ว อาจพอนึกภาพออกว่าปฏิกิริยาการโต้ตอบที่รุนแรงนี้เป็นส่วนมาจากการที่สมองส่งสัญญาณเตือนว่าเกิดภัยคุกคาม เราจึงเกิดปฏิกิริยาสู้หรือหนีซึ่งเป็นสัญชาตญาณเอาตัวรอด บางครั้งมันก็รุนแรงจนเกินจะคาดเดาเพราะมันได้จุดติดสลักชนวนระเบิดบางอย่างซึ่งเป็นบาดแผลทางใจในสมองขึ้นมา และการตอบสนองความเครียดของมนุษย์เราก็เกิดขึ้นในสมองส่วนล่าง ๆ การรับรู้เหล่านั้นยังเดินทางไปไม่ถึงสมองส่วนคอร์เท็กซ์เลยด้วยซ้ำ การระเบิดอารมณ์ของเราบางครั้งจึงไม่ใช่เรื่องความบ้าคลั่ง แต่มันอาจมีบางอย่างที่ไปเปิดปากแผลของเราเข้าโดยที่เราไม่รู้ตัว

แค่เข้าใจก็ไม่เจ็บแล้ว รีวิว หนังสือบาดแผลทางใจ

การเยียวยาที่ดีที่สุด ก็เริ่มจากกระบวนการทางสมองในส่วนล่างสุดเช่นกัน

เมื่อการรับรู้ทางประสาทสัมผัสส่งอิทธิพลต่อระบบกระตุ้นเตือนของสมอง มันก็ย่อมกลายเป็นจุดที่เราจะใช้เยียวยาบาดแผลทางใจได้ด้วย ผู้เขียนในฐานะคนทำงานใกล้ชิดกับเรื่องราวของสุขภาพจิตได้ชี้ให้เห็นว่าหากมองให้ลึกลงไปในกระบวนการบำบัด การประสบความสำเร็จในขั้นตอนฟื้นฟูจิตใจไม่อาจเกิดขึ้นได้หากความสัมพันธ์ระหว่างนักบำบัดและคนไข้ไม่มีสายใยเชิงบวกต่อกัน (เรื่องนี้ เอ็ม. สก็อตต์ เป็ค จิตแพทย์ผู้เขียนหนังสือ บทเรียนชีวิตที่จิตแพทย์อยากบอก; The Road Less Traveled ก็กล่าวไว้แบบเดียวกัน) ฉะนั้นการมีความสัมพันธ์ที่ดีจึงเป็นหนทางสู่การบอกเล่าประสบการณ์ใหม่ให้กับระบบประสาทและปิดระบบเตือนภัยคุกคามให้กับสมอง ในแง่มุมนี้เราจึงสามารถใช้วิธีเดียวกันเพื่อสนับสนุนให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาโดยไม่เกิดบาดแผลทางใจ ซึ่งก็คือการสานความสัมพันธ์และสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับพวกเขาตั้งแต่วัยแรกเกิด

เปลี่ยนคำถาม เพื่อแปลความเจ็บปวด

เนื้อหาภายในเล่มเต็มไปด้วยข้อมูลและเรื่องราวทั้งของผู้สัมภาษณ์มากฝีมือและจากผู้คนที่เธอเคยนั่งคุยถึงประสบการณ์ความเจ็บปวดในชีวิต เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับเรื่องราวบาดแผลทางใจมากที่สุดทั้งในแง่ของประสบการณ์จริงและทฤษฎีวิชาการ โดยส่วนตัวแล้วหลังจากได้อ่านมันช่วยให้เราเข้าใจวิธีการทำงานของสมอง ได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสมและเข้าถึงจิตใจคนได้มากขึ้น เปรียบเสมือนการอ่านคู่มือเฉลยของโจทย์พฤติกรรมอันไม่น่าพึงพอใจบางอย่างไม่ว่าจะของตนเองหรือคนใกล้ตัว เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นอิทธิพลจากความพยายามดิ้นรนในการเอาตัวรอดและการเอาชนะความเครียดหรือการถูกคุกคามที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเราหรือเขาก็อาจไม่มีทางรู้เลยว่าเหตุการณ์ ความรู้สึก รูป รส กลิ่น เสียง หรือสิ่งกระทบที่ผ่านผัสสะเข้ามานั้นมันไปกระตุ้นเตือนร่องรอยความเจ็บปวดจนสมองรู้สึกถึงการถูกคุกคามอีกครั้ง การเปลี่ยนคำถามโดยใส่มุมมองของอีกฝ่ายว่าเขาผ่านอะไรมา หรือกระทั่งการใส่มุมมองที่ใจดีต่อตัวเองเพิ่มขึ้นอีกนิดว่าเราผ่านอะไรมาจึงเป็นแนวคิดที่น่าเรียนรู้และทดลองใช้

เพราะแม้บาดแผลทางใจจะไม่มีวันหาย แต่เราจะไม่เผลอทำร้ายด้วยการบดขยี้แผลลงไปซ้ำ ๆ

แค่เข้าใจก็ไม่เจ็บแล้ว รีวิวหนังสือ

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

“แค่เข้าใจก็ไม่เจ็บแล้ว (What Happened to You?)”

ผู้เขียน : Bruce D. Perry, M.D.,Ph.D. และ Oprah Winfrey
(วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปล)

จำนวนหน้า : 382 หน้า / ราคาปก : 395 บาท

สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ฮาวทู

หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง

วางใจให้ไร้กังวล don't worry รีวิว
เมื่อโลกหมุนไวและกาลเวลาก็ไม่เคยรอใครข้างหลัง เพื่อลดความวิตกและกลัดกลุ้มกับโลกภายนอก–ความกังวลจากความคิดยึดติดอยู่ภายใน อาจลองนำบทเรียนวิถีแห่งเซนไปปรับใช้ เพื่อเรียนรู้วิธีวางให้ง่าย และผ่อนคลายให้เป็น
มิ.ย. 27, 2024
รีวิวหนังสือ Book of Boundaries คู่มือการกำหนด "ขอบเขต"
หากคุณกำลังรู้สึกว่าถูกล้ำเส้นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในความสัมพันธ์ครอบครัว คนรัก หรือกับเพื่อนๆ เราอยากชวนอ่านหนังสือที่จะจุดประกายไอเดียวิธีปฏิเสธแบบรอมชอม ที่จะช่วยให้คุณได้ถนอมทั้งความรู้สึกตัวเองและคนรอบข้าง
ส.ค. 28, 2024
คิดบวกเป็นพิษ รีวิวหนังสือ
ในโลกที่กระแสการคิดบวกถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางจนบางครั้งผู้ที่หลงในวังวนเหล่านั้นก็ได้เผลอมองข้ามภาพความจริงไปด้วย ชวนอ่านหนังสือที่จะกำจัดหมอกพิษของวิกฤติคิดบวกเพื่อกลับสู่แก่นแท้ในความธรรมดาของการเป็นมนุษย์ที่รู้สึกรู้สา และเข้าใจคุณค่าในชีวิต
ม.ค. 9, 2024
หนังสือ วิถีผู้ชนะฉบับคนเก่งแบบเป็ด สำนักพิมพ์บิงโก Pat Flynn
เมื่อเส้นทางความสำเร็จของมนุษย์อาจไม่ได้มีไว้สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเพียงเท่านั้น การเรียนรู้และฝึกฝนทักษะรอบด้านจนกลายเป็นคนเก่งแบบเป็ด (เก่งกว้าง) ก็เป็นวิธีเพิ่มหนทางสู่โอกาสมากมายในชีวิตได้เช่นกัน
พ.ย. 11, 2022