การคิดบวกไม่ใช่พิษร้าย แต่มันกลายเป็นพิษได้ …
( – Whitney Goodman )
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
Whitney Goodman (วิทนีย์ กู๊ดแมน) นักจิตบำบัด เจ้าของบัญชีอินสตาแกรม @sitwithwhit และผู้ก่อตั้งศูนย์ The Collaborative Counseling Center คลินิกบำบัดเอกชนในไมแอมี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ผลงานของเธอได้รับการนำเสนอทางสื่อสิ่งพิมพ์และรายการโทรทัศน์มากมาย ทั้ง New York Times, Teen Vogue, New York Magazine, InStyle และ Goodmorning America
🎯 มุมมองสรุป
: ในโลกที่ผู้คนต่างมุ่งมั่นที่จะสร้างพลังบวกให้แก่กันและกันอย่างปราศจากเงื่อนไข หนังสือเล่มนี้ได้ชวนมองทะลุฉากความสวยงามเหล่านั้นให้เห็นความจริงอีกข้อหนึ่งที่เราอาจมองข้ามว่าอะไรก็ตามหากมากไปหรือน้อยไป มันย่อมทำให้ขาดความสมดุลได้ทั้งนั้น : แนวทางของหนังสือคือการเรียนรู้วิธีที่จะทำให้ตัวเองไม่กลายไปเป็นคนที่คิดบวกอย่างเป็นพิษหรือมีค่านิยมค้นหาความรู้สึกดี ๆ ในทุกประสบการณ์จนหลงลืมความเป็นจริง ซึ่งรูปแบบนี้มันอาจไม่ได้แค่ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างเท่านั้น มันยังกร่อนความเป็นตัวตนของเราเองให้กดข่มอารมณ์บางประเภทที่แท้จริงแล้วมันอาจมีประโยชน์มากกว่าที่คาด : และในสเกลที่กว้างขึ้นกว่านั้น การคิดบวกเป็นพิษยังปิดกั้นโอกาสของความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาหาหนทางแก้ไข มันจึงอาจลุกลามกลายไปเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในระดับชุมชนที่ใหญ่ขึ้นไปอีก : และด้วยความที่ผู้เขียนเป็นนักบำบัด ข้อมูลภายในหนังสือจึงมีการให้น้ำหนักวิธีที่จะช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ยัดเยียดมุมมองเชิงบวกจนทำให้เจตนาดีกลายเป็นการทำร้ายโดยไม่รู้ตัว รวมถึงวิธีรับมือกับผู้ที่คิดลบรอบตัวอีกด้วย : เนื้อหาแบ่งออกเป็น 9 บท ได้แก่ (1) ภาวะคิดบวกเป็นพิษคืออะไร (2) ทำไมการคิดบวกจึงใช้ไม่ได้ผลเสมอไป (3) สถานการณ์ที่การคิดบวกช่วยไม่ได้ (4) เลิกรู้สึกผิดต่อตัวเอง (5) วิธีทำความเข้าใจอารมณ์ (6) วิธีบ่นให้เกิดผล (7) วิธีช่วยเหลือคนอื่น (8) การเหยียดด้วยรอยยิ้ม (9) มีชีวิตที่เต็มเปี่ยม ในโลกที่ยากลำบาก : สำหรับเรา หนังสือเล่มนี้ช่วยกระตุ้นให้รับรู้อีกด้านหนึ่งของกระแสการคิดบวกที่ปรากฏอยู่รอบตัวจนเผลอทำให้เรารู้สึกผิดต่อตัวเองหากเกิดความรู้สึกเชิงลบขึ้น มันทำให้เรารู้ว่าหากบางครั้งเราจะรู้สึกหดหู่หรือมองโลกแง่ร้ายไปบ้างนั่นก็คือความธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งในแง่หนึ่งมันมีมุมมองที่เป็นประโยชน์ และมันยังมีทางออกที่ดีกว่าการโรแมนติไซส์ความเจ็บปวดเหล่านั้นเยอะ

มนุษย์เราเกิดมาพร้อมความรู้สึกและอารมณ์ที่หลากหลาย และในแง่หนึ่งอารมณ์เชิงลบเป็นปฏิกิริยาที่เชื่อมโยงกับการเอาชีวิตรอด แต่เมื่อยุคสมัยแห่งการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดเปลี่ยนรูปแบบไปและเราเริ่มมีเครื่องมือเครื่องไม้ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยมากขึ้น ความรู้สึกเชิงลบทั้งหลายกลับถูกลดทอนความสำคัญลงว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น และที่ยิ่งไปกว่านั้น คือความพยายามหาวิธีเข้าถึงความรู้สึกเชิงบวกก็ค่อยๆ ถูกยกให้เป็นแม่บทของการดำรงชีวิตที่มีความสุข ไม่เว้นแม้แต่ในความคิด
แต่การคิดบวกในทุกเรื่อง ทุกเวลา จะช่วยให้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนของมนุษย์มีความสุขได้อย่างแท้จริง – จริงหรือ?
ความสุข คือความทุกข์ที่พอดีสำหรับทน – พุทธทาสภิกขุ
ระหว่างเริ่มเปิดอ่านช่วงต้นของหนังสือ คำนี้ก็ลอยเข้ามาในหัว เพราะส่วนใหญ่ความคิดเชิงบวกมักถูกกระตุ้นให้ใช้มากขึ้นกว่าเก่าในสถานการณ์ที่เรากำลังตกอยู่ในความทุกข์หรือรู้สึกอึดอัดใจ ดูผิวเผินแล้วมันอาจทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องฝืนรับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ไม่ต้องต่อสู้หรือพยายามด้วยหนทางที่เรายังไม่มีในตอนนั้น แล้วเราก็จะได้กลับมามีความสุขอีกครั้งได้ทันที
แท้จริงแล้วมันไม่เคยผ่าน มันยังกองอยู่ที่นั่น ข้างในตัวเราสักแห่ง สิ่งที่ผ่านไปจริง ๆ คือภาพแห่งความจริงและสิ่งที่ควรได้รับการลงมือแก้ไขต่างหาก (ในตามความจริงการคิดบวกเช่นนี้อาจช่วยได้อย่างดีเมื่อคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไปแล้ว)

แนวคิดทางจิตวิญญาณที่เสกทุกอย่างได้ดังใจ
มีผู้คนจำนวนไม่น้อยนิยามตัวเองว่าเป็นกลุ่มอเทวนิยม บ้างเป็นคนที่ไม่นับถือลัทธิหรือศาสนาใด ๆ และหันไปหาแนวคิดทางจิตวิญญาณซึ่งปัจจุบันได้ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนนิยมและการคลั่งคิดบวก จอห์น เวลวูด ได้นิยามสภาวะหนึ่งของภาวะคิดบวกเป็นพิษในด้านจิตวิญญาณเหล่านี้ว่า “ทางเลี่ยงเชิงจิตวิญญาณ” โดยมีลักษณะเป็นการใช้แนวคิดและการปฏิบัติทางจิตวิญญาณเพื่อเลี่ยงธุระที่ยังไม่เสร็จสิ้นทางอารมณ์และชีวิตส่วนตัว เพื่อค้ำยันตัวตนที่สั่นคลอน หรือเพื่อดูแคลนความต้องการพื้นฐาน ความรู้สึก และภารกิจทางพัฒนาการ มันชวนฝันว่าด้วยวิธีการเดินตามแนวคิดเช่นนี้จะดึงดูดสิ่งดี ๆ เข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องรับรู้ถึงอุปสรรคหรือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นด้วยซ้ำ
กลับคืนสู่ตัวตนคือหนทางที่ทำให้ความทุกข์ของคุณเจือจาง
เราไม่จำเป็นต้องพยายามคิดบวกกับทุกอย่างเพื่อให้ผ่านพ้นความเจ็บปวดในชีวิต เพราะนั่นอาจหมายถึงการปฏิเสธตัวเองในเวลาที่คุณควรจะได้รับการถนอมจิตใจมากที่สุด การซื่อสัตย์ต่อตัวเองด้วยการรับรู้ทุกอารมณ์ความรู้สึกในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่พ่ายแพ้ เสียใจ ผิดหวัง และทุกข์ทรมานได้คือวิธีที่จะช่วยให้เราไม่หล่นลงไปในวังวนการคิดบวกเป็นพิษ แล้วเมื่อถึงวันที่พร้อม ตอนนั้นเราอาจจะมาทำความเข้าใจกับทางเดินชีวิตตัวเองอีกครั้งก็ยังได้
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้นำเสนอการใช้แนวคิด “การยอมรับอย่างลึกซึ้ง” แทนที่จะใช้การคิดบวกมาต่อสู้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ความเจ็บปวดเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป เช่น การสูญเสีย เลิกราหย่าร้าง ลองฝึกมองว่ามันเป็นส่วนที่เลี่ยงไม่ได้ของชีวิต เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย สนับสนุน หรือเอ่ยปากว่าเราชอบสถานการณ์เลวร้ายพวกนี้ที่มันทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง เพราะคงไม่มีใครชอบวิธีเรียนรู้จากความสูญเสีย แต่เราจะยอมรับมันแม้เราจะไม่ชอบก็ตาม

จงสร้างพื้นที่ปลอดภัยหากคุณอยากช่วยเหลือพวกเขา
และถ้าคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่เลือกหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านเพราะกำลังกังวลว่าตนเองจะกลายเป็นคนคิดบวกเป็นพิษจนสร้างผลกระทบต่อคนรอบข้างอยู่หรือไม่ ในหนังสือเล่มนี้ก็ได้นำเสนอวิธีสื่อสารกับผู้คนแวดล้อมที่อยู่ในสภาวะความคิดลบหรือตกอยู่ในความทุกข์โดยหลีกเลี่ยงความพยายามชักจูงเขาให้มองในแง่ดีและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับความเจ็บปวด ไม่ต้องมีใครแบกมันเอาไว้ จงเป็นผู้ฟังที่ดีและอยู่กับคน ๆ นั้นอย่างแท้จริง หรืออาจใช้วิธีถามความต้องการของเขา และอย่าลืมขอบเขตพื้นที่ปลอดภัยของตัวเราเอง ความช่วยเหลือที่เราหยิบยื่นให้ไปไม่ควรทำให้เรารู้สึกเดือดร้อน อึดอัด หรือเกิดขึ้นระหว่างที่เรายังไม่พร้อมที่จะช่วย
ยารักษาโรคที่กินมากเกินไป ก็จะกลายเป็นยาพิษ
แม้การคิดบวกจะมีงานวิจัยหรือการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มารองรับจำนวนมากว่ามีข้อดี แต่เราก็ไม่ควรใช้มันจนเกิดขนาด โดยสรุปแล้วการคิดบวกที่เป็นพิษ คือการโฟกัสไปที่ความสุขอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะบางสถานการณ์เมื่อเราไม่ยอมรู้สึกถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น วิธีการแก้ไขจะถูกจัดไปอยู่ในลำดับท้าย ๆ หรือแย่กว่านั้นคือมันไม่เคยได้รับการพูดถึงอีก รวมถึงการคิดบวกชนิดที่ขยายอิทธิพลด้วยการพร่ำบอกให้คนที่กำลังเจ็บปวดคิดบวกเข้าไว้แทนที่จะรับฟังพวกเขาอย่างตั้งใจและทำความเข้าใจในจุดที่เขาอยู่ เพราะความเห็นอกเห็นใจต่างหากที่จะช่วยให้ผู้ซึ่งกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายได้รับรู้ถึงการสนับสนุน แม้ว่าการคิดบวกที่เราเข้าใจมันจะมาจากเจตนาดี แต่หากผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมากลับสร้างความเจ็บปวด การช่วยเหลือครั้งนั้นก็อาจนำไปสู่ความล้มเหลวได้
แม้ว่าการคิดบวกโดยตัวมันเองแล้วจะไม่ใช่พิษร้าย แต่เราไม่สามารถใช้มันเป็นทางออกให้กับทุกปัญหาได้ ถ้ายังฝืนพยายามมองข้ามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“Toxic Positivity คิดบวกเป็นพิษ”
ผู้เขียน : Whitney Goodman
(วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปล)
จำนวนหน้า : 288 หน้า / ราคาปก : 375 บาท
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ฮาวทู
หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง