เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความสุขในชีวิตเป็นสิ่งที่แทบทุกคนใฝ่ฝัน
แต่ด้วยรูปแบบความเป็นไปของมันที่บ่อยครั้งสร้างความป่วนปั่น สับสน จับต้นชนปลายหรือรับมือไม่ไหว
นาโงมิ – เป็นภาวะจิตของการเกิดความสมดุลภายใน
เมื่อได้ลองเรียนรู้และปรับใช้ อาจทำให้เรารับมือกับอะไรต่อมิอะไรได้ง่ายขึ้น
✒️ ประวัติผู้เขียน
เคน โมงิ (Ken Mogi) นักประสาทวิทยา นักจัดรายการ และนักเขียนชาวญี่ปุ่น จบปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ภารกิจของเขามุ่งเน้นศึกษาหนทางแก้ไขของสิ่งที่เรียกว่าปัญหาทางด้านสมองและจิตใจ เป็นนักวิจัยอาวุโสแห่ง SONY CSL และเป็นศาสตราจารย์รับเชิญในหลาย ๆ สถาบัน งานเขียนของเขาตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่นมากกว่า 50 เล่ม ซึ่งไม่เพียงครอบคลุมเรื่องวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวกับปรัชญา ศิลปะ ตลอดจนวิถีชีวิต หลายคนรู้จักเขาจากผลงานเล่มดัง – The Little Book of Ikigai
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือว่าด้วยเรื่องของ "นาโงมิ" อันเป็นแนวคิดสำคัญที่นับว่าเป็นต้นกำเนิดของหลักปรัชญาอื่น ๆ ของญี่ปุ่นซึ่งหลายคนอาจคุ้นหูคุ้นตาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อิชิโก อิชิเอะ - คินสึงิ - วะบิ ซะบิ หรืออิคิไก ซึ่งภายในเล่มจะเป็นการเล่าอธิบายเชื่อมโยงนาโงมินี้เข้ากับการดำเนินชีวิตของเราเพื่อให้ได้ลองนำไปปรับใช้ : นาโงมิ คือสภาวะจิตที่มีลักษณะผ่อนคลาย สบายใจ สงบ อันเกิดขึ้นจากการปรับสมดุลปฏิกิริยาตอบสนองของตนเองต่อสิ่งรอบข้าง ด้วยวิถีแห่งความเข้าใจและมองลงไปให้เห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ มากกว่าจะปิดกั้นสถานการณ์เชิงลบเพื่อที่จะค้นพบความสุข : หนังสือใช้วิธีการเล่าเรื่องอธิบายความหมายของนาโงมิที่สอดแทรกอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเริ่มต้นจากการทำให้เห็นภาพรวมความหมายของนาโงมิ แล้วจึงต่อด้วยนาโงมิในแต่ละบทบาทของวิถีชีวิต ซึ่งได้แก่ นาโงมิในอาหาร ตัวตน ความสัมพันธ์ สุขภาพ การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ชีวิต สังคม และธรรมชาติ : เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบแนวความคิดแบบญี่ปุ่น และผู้ที่ต้องการศึกษาหนทางหนึ่งในการสร้างความสงบภายในจิตใจด้วยการปรับสมดุลสภาวะทางอารมณ์และสภาวะจิตของตนเอง : เนื้อหาภายในเล่มจะค่อนข้างเน้นการเชื่อมโยงทางความคิดโดยอ้างอิงกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาและวัฒนธรรมต่าง ๆ ของญี่ปุ่นด้วยเพราะเป็นการนำเสนอนาโงมิในแง่มุมทางปรัชญาโดยอาศัยการยกตัวอย่าง ทำให้เนื้อหามีความเบา อ่านง่าย สบาย ๆ : หลังอ่านจบก็ชวนให้คิดทบทวนถึงการนำมาปรับให้เข้ากับบทบาทปัจจุบันของตนเองอยู่เหมือนกัน จะว่าไปแล้ว หากเรามีวิธีผสานสิ่งนี้เข้ามาในชีวิตได้ ก็คงนับเป็นการใช้นาโงมิที่ประสบผล
‘นาโงมิ’ จะเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อเรานึกถึงความเป็นญี่ปุ่น
เมื่อไรก็ตามที่เราคิดถึงแนวคิดแบบญี่ปุ่น สิ่งที่โผล่เข้ามาในหัวคือเรื่องความสงบสุข เอาจริงเอาจัง และความเป็นระเบียบวินัย ในมุมมองจากภาพปัจจุบันเราแทบมองไม่ออกเลยว่าเป็นประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยผ่านการพังทลายครั้งยิ่งใหญ่ เพราะสิ่งใดก็ตามที่ส่งผ่านจากญี่ปุ่นมักนำเสนอได้อย่างน่าชื่นชมและน่าทึ่งเป็นส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้คน นวัตกรรม หรือกระทั่งความคิด
หรืออาจเพราะการก้าวผ่านสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้พวกเขาเป็นเฉกเช่นทุกวันนี้
และแนวคิดหนึ่งที่นับเป็นหัวใจสำคัญสำหรับชาวญี่ปุ่น นั่นคือ “นาโงมิ” ในความหมายการนำเสนอของผู้เขียน อ.เคน โมงิ นาโงมิ คือสภาวะจิตสำนึกของมนุษย์ที่มีลักษณะผ่อนคลายสบายใจ ซึ่งอาจประกอบไปด้วยหลายสิ่งหลายอย่างในตอนเริ่มต้น กระทั่งมันกลายเป็นส่วนผสมที่กลมกลืนกันจนสร้างความสมดุล มันไม่ใช่วิธีการเอนเอียงโฟกัสต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากแต่คือการมองเห็นและเข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนให้ผลลัพธ์บางอย่างกับชีวิตเสมอ กระบวนการนี้จึงสามารถแทรกซึมอยู่ได้ในทุก ๆ สิ่ง ตั้งแต่เรื่องข้าวปลาอาหารไปจนถึงความสัมพันธ์และวิถีชีวิต
รายละเอียดปลีกย่อยของการมีอยู่ของนาโงมินั้นกระจายตัวมาก ผู้เขียนได้อธิบายเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรมของชาติญี่ปุ่นและบอกเล่าการก่อกำเนิดผ่านประวัติศาสตร์ได้อย่างผสมผสานจนแทบแยกจากกันไม่ได้ ราวกับว่าทุกการกระทำเหล่านั้นแฝงไว้ด้วยนาโงมิโดยธรรมชาติ จนเราไม่แน่ใจว่าแนวความคิดนาโงมิหรือวิถีที่เป็นไปสิ่งใดเกิดขึ้นก่อนกัน แต่นั่นคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะการผสานสมดุลทุกอย่างนี่เองที่เป็นคำตอบ
เข้าใจ ‘นาโงมิ’ แบบง่าย ๆ ผ่านเรื่องทั่วไปในญี่ปุ่น
ตัวอย่างเช่นในเรื่องของอาหาร เราจะรู้โดยทั่วกันว่าอาหารของญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องรายละเอียดและศิลปะความประณีต ราวกับการกินคือพิธีกรรมอย่างหนึ่งมากกว่าจะเป็นเพียงกิจวัตร เช่น การจัดกล่องอาหารเบนโตะ (กล่องข้าวที่มีหลายช่อง) การทำไคเซกิ (การผสานเครื่องปรุงและวัตถุดิบบนจานให้เจริญสายตาและเจริญลิ้น) หรือโอมากาเซะ (การเลือกของเชฟ) ซึ่งนับเป็นการปรุงอาหารโดยอาศัยการจัดสมดุลของวัตถุดิบโดยชูรสชาติของมันให้อร่อยในแบบของตัวเองโดยหลีกเลี่ยงการกลบด้วยเครื่องปรุงที่มากเกินไป เรียกได้ว่าเป็นการยกย่องข้อดีของสิ่ง ๆ นั้นแทนที่จะควบคุมให้มันเป็นแบบอื่น หรือกระทั่งการนำเอาวัฒนธรรมของต่างชาติมาประยุกต์เพื่อให้เข้ากับวิถีการกินของพวกเขาเอง นั่นคือการกินยากิเกี๊ยวซ่า (เกี๊ยวซ่าทอด) คู่กับข้าว ซึ่งต้นตำรับเดิมอย่างของจีนจะเป็นเกี๊ยวซ่าแบบต้มที่จะเน้นกินเดี่ยว ๆ เท่านั้น
อีกส่วนที่เราชอบคือการอธิบายเรื่องนาโงมิด้วยวิธีโซโดกุ ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เน้นให้เราใช้เวลาเพื่อสร้างความคุ้นเคยแม้จะยังไม่เข้าใจรายละเอียดทั้งหมดก็ตาม เรามักยึดโยงว่าทุกสิ่งที่เรียนรู้จะต้องเกิดความเข้าใจมาเป็นอันดับแรก แต่พอมาคิดในแง่ที่ว่า หากยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ขอแค่เราใช้เวลากับมันให้มากพอก็จะช่วยขยับการรับรู้ของเราได้ก็ช่วยคลายความกดดันลงได้มากพอสมควร : )
เมื่อเรามีปรัชญา ‘นาโงมิ’ ในหัวใจ
ในระดับสังคมและวิถีชีวิต การเปิดรับแนวคิดนาโงมิเข้ามาก็อาจมีส่วนทำให้เรารักษาระยะความเป็นตัวเองตลอดจนสายสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างได้ดีมากยิ่งขึ้น เช่นยามที่เกิดปัญหาหรือความขัดแย้ง การพิจารณาจุดยืนและปฏิบัติต่อกันอย่างยุติธรรมและสมดุลอุดมคติด้วยความเข้าใจว่ามันอาจถูกต้องในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็จะช่วยลดแรงปะทะทว่ายังคงไว้ซึ่งสิ่งที่เรายึดถืออยู่ได้ การมีนาโงมิคือการคำนึงถึงความร่วมมือและรักษามิตรภาพเอาไว้ไม่เว้นแม้แต่กับศัตรู
ยังมีแง่มุมอีกมากมายภายในเล่มที่ชี้ชวนให้เราเล็งเห็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจและความสำเร็จอันน่าทึ่งซึ่งผ่านการมีนาโงมิในแก่นความคิดของการดำเนินชีวิตแบบคนญี่ปุ่น ทั้งเรื่องการมองเห็นการพึ่งพากันระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ที่ช่วยสร้างระบบนิเวศแบบใหม่ หรือการรับรู้รูปแบบความสัมพันธ์ที่ต้องเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกาลเวลาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
เพราะฉะนั้นในความรู้สึกเรา นาโงมิ เป็นแนวคิดแก่นหลักของปรัชญาที่ตามมาทั้งหลายทั้งปวงก็ด้วยเหตุที่มันกว้าง กลมมน และดูหยิบใช้เข้ากันไปได้เสียหมดในทุก ๆ วิถี จะว่าง่ายมันก็อาจฟังดูง่าย ไม่ซับซ้อน แต่หากจะมองว่าเป็นสิ่งที่ยาก นั่นก็อาจเพราะเบื้องลึกของเรามีความรู้สึกยึดมั่นแข็งแกร่งบางอย่าง และโดยส่วนตัวเราก็ไม่ได้คิดว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจว่าเราพอใจและยอมรับผลของมันได้หรือไม่ เพราะส่วนเสี้ยวของความสุขอันเป็นปลายทางหนึ่งของนาโงมินั้นก็ประกอบขึ้นมาจากความรู้สึกพึงพอใจด้วยเช่นกัน และไม่แน่ว่าตัวเราในวันนี้กับอนาคตข้างหน้านั้น อาจเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่สามารถสร้างเราให้เป็นในแบบอื่นก็ได้
แต่ ณ ตอนนี้ หากมีช่วงเวลาหนึ่งเวลาใดของความคิดที่ปรากฏความสับสนอลหม่าน แน่นอนว่าเราคงนึกถึงการมีนาโงมิขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งสิ่งในหัว
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“นาโงมิ สุข สงบ สมดุล (The Way of Nagomi)”
ผู้เขียน : Ken Mogi
(เขมลักขณ์ ดีประวัติ แปล)
จำนวนหน้า : 162 หน้า / ราคาปก : 275 บาท
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ฮาวทู
หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง