ดูเหมือนว่าคนเราจะให้คุณค่ากับความเหนื่อยล้าไว้ค่อนข้างน้อยเหลือเกิน
ความเหนื่อยล้าที่ถูกเพิกเฉยซ้ำแล้วซ้ำเล่า นานวันเข้ามันจึงกลายไปเป็นภาวะ ‘ความเหนื่อยล้าสะสม’
แต่จะดีแค่ไหน หากเราค้นพบวิธีฟื้นฟูร่างกายจนสามารถใช้มันได้เต็มประสิทธิภาพ และยังช่วยป้องกันความเหนื่อยล้า
ที่อาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟของคนจำนวนมากในยุคปัจจุบัน…ที่การทำงานครอบครองเสี้ยวเวลาการใช้ชีวิตของเราจนเกือบเต็มพื้นที่เช่นนี้
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️ Tomoo Yamada (โทะโมะโอะ ยะมะดะ) จบปริญญาตรีกายภาพด้านการกีฬา มหาวิทยาลัยบริดจ์วอเตอร์สเตต และปริญญาโทด้านเวชศาสตร์การกีฬาและการจัดการการกีฬาที่มหาวิทยาลัยแซนตาแคลรา มีประสบการณ์ทำงานที่ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมากกว่า 15 ปี เคยเป็นนักกายภาพด้านกีฬาที่ทำหน้าที่ดูแลนักกีฬาเบสบอล บาสเกตบอล กอล์ฟ ทีมว่ายน้ำ และอื่น ๆ อีกมากมาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์การกีฬา ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
🎯 SUMMARY VIEW 🎯 : หนังสือเล่าเรื่องการฟื้นฟูและป้องกันร่างกายจากความเหนื่อยล้าโดยนำวิธีการที่ทางศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดใช้กับนักกีฬาในความดูแลของที่นั่น ตั้งแต่เรื่องระบบการหายใจ การขยับร่างกายจากท่วงท่าที่เราใช้ อาหารการกิน การฟื้นฟูอาการบาดเจ็บ การนอนหลับ ไปจนถึงเรื่องทัศนคติ โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การหมั่นผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันไม่ให้เราเหนื่อยสะสมจนยากต่อการเยียวยาและกลายเป็นว่าต้องรักษาในฐานะโรคภัยไข้เจ็บ : เหตุที่ต้องศึกษาตามแนวทางจากสแตนฟอร์ดนั่นเพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่งด้านกีฬาที่สุดในโลก มีนักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกและนักกีฬามืออาชีพมากมาย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นนักกีฬานั้นจำเป็นต้องมาจากการฝึกฝนอย่างหนัก มันจึงน่าสนใจว่าพวกเขาสามารถฝึกโดยไม่หยุดหย่อนได้อย่างไร มีเทคนิควิธีการใดที่พวกเขาใช้ในการดำเนินกิจวัตรของตนให้สามารถกระทำต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลาหลายปี : หนังสือมีความน่าเชื่อถือเนื่องจากเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา อีกทั้งมีประสบการณ์การทำงานในวงการนี้มายาวนานนับสิบปี : ภาษาอ่านง่าย ไม่มีศัพท์เฉพาะทางที่มากจนยากต่อการทำความเข้าใจ มีภาพประกอบเพื่ออธิบายลักษณะจำเป็นต่าง ๆ ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และสามารถอ่านจบได้ในเวลาไม่นานนักโดยเราอาจเลือกศึกษาเฉพาะจุดที่เราให้ความสนใจก็ได้ : ท้ายเล่มให้มุมมองสรุปเกี่ยวกับหนังสือทำให้เรารู้ประเด็นสื่อสารจากผู้เขียนอย่างชัดเจน : เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มรู้สึกว่าสภาพร่างกายอ่อนล้าหรือไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการทำงานและต้องการมองหาเทคนิคหรือวิธีการฟื้นฟู ป้องกัน และเสริมสร้างให้แก่ร่างกายตนเองในระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่สภาพจิตใจที่ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น หรือผู้ที่ต้องการศึกษาข้อมูลพื้นฐานบางส่วนที่วงการเวชศาสตร์จากสแตนฟอร์ดใช้กับนักกีฬาเพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้กับตนเองบ้าง : แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยได้ก็ต่อเมื่อสภาพร่างกายของคุณยังสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ เพียงแต่เกิดความล้าและต้องการแนวทางเสริม หากสิ่งที่คุณเผชิญนั้นรบกวนชีวิตความเป็นอยู่ไปแล้ว หนทางที่ดีที่สุดคือการพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสมก่อนในเบื้องต้น
เราเคยเข้าใจว่า “ความเหนื่อยล้า” แค่นอนพักผ่อนหลับตาก็หาย …
แต่บ่อยครั้งที่การตื่นขึ้นมาในแต่ละวันยังคงทำให้รู้สึกอ่อนแรงจนอยากกลับไปนอนต่ออีกรอบ วันที่การนอนหลับพักผ่อนไม่เท่ากับการหายเหนื่อย ซึ่งนั่นอาจเป็นไปได้ว่าความเหนื่อยล้าของคุณถูกกักเก็บสะสมไว้ในร่างกายลึก ๆ จนทำให้ระบบประสาทส่งสารไปยังร่างกายได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ในวงการเวชศาสตร์กายจิตมีงานวิจัยที่สรุปภาวะหมดไฟ (Burnout) ได้อย่างคร่าว ๆ ว่าสาเหตุมาจากความเหนื่อยล้าของร่างกายและจิตใจ เป็นเหตุผลที่ความเหนื่อยล้าเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่จะป้องกันควบคู่ไปกับการดูแลสภาวะทางด้านอื่น ๆ ของชีวิต
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดไม่ได้เป็นเลิศทางด้านวิชาการเท่านั้น หากแต่ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่สมาคมกีฬาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติจัดให้อยู่ในอันดับ 1 จากผลคะแนนรวมถึง 23 ปีซ้อน มีนักกีฬาจากสแตนฟอร์ดที่คว้าเหรียญในการแข่งขันกีฬาระดับโอลิมปิกรวมถึงสร้างสถิติใหม่ได้อีกจำนวนมาก นั่นจึงทำให้ความน่าสนใจเกี่ยวกับการฝึกฝนทักษะ “ไม่ให้เหนื่อยล้า” และ “ฟื้นร่างกายจากความเหนื่อยล้า” ของสแตนฟอร์ดเหมาะแก่การศึกษาข้อมูลอย่างยิ่ง
สิ่งที่ผู้เขียน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์กีฬา ณ สแตนฟอร์ดให้ความสำคัญที่สุดนั่นคือการหายใจด้วยระบบ IAP (Intra Abdominal Pressure) หรือ การหายใจโดยมีแรงดันในช่องท้อง
อาจมีคนเคยได้ยินคำแนะนำเรื่องการหายใจว่าให้หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องยุบ แต่ในวงการเวชศาสตร์แนะนำว่าการหายใจที่ดีนั้นท้องควรจะยังป่องแม้ตอนหายใจออก (ใครนึกไม่ออกให้นึกถึงตอนที่เราเป่าเครื่องดนตรี เราจะผ่อนลมหายใจออกทางปากให้ยาวพอ ๆ กับตัวโน้ตที่ต้องการเล่น คล้าย ๆ กันค่ะ) เพื่อให้เกิดแรงดันจากทั้ง 2 ฝั่งทั้งผิวนอกและผิวในของบริเวณช่องท้อง เป็นการบริหารกล้ามเนื้อที่ส่งผลให้เกิดความมั่นคงแก่แกนกลางร่างกาย (ลำตัวและกระดูกสันหลัง) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สัมพันธ์กับความเหนื่อยล้าโดยตรง และโดยตามจริงอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าเราจะยังคงต้องหายใจตราบใดที่มีชีวิต ระบบหายใจที่ถูกต้องจึงควรค่าแก่การฝึกฝนอย่างไม่ต้องสงสัย
หลายเรื่องคลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นสิ่งที่เราพอรู้มาบ้างแล้ว แต่หนังสือจะช่วยชี้ความกระจ่างและตอกย้ำเหตุผลอันชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติของเราได้ อย่างเช่นการยืดเหยียดก่อนและหลังออกกำลังกายเพื่อลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น ในทางเวชศาสตร์แบบสแตนฟอร์ดได้แนะนำและให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงวิธีใช้กายภาพแบบเคลื่อนไหวเพื่อรีเซตนิสัยเดิม ๆ ของเราที่ทำให้ระบบประสาทและร่างกายทำงานไม่สัมพันธ์กัน อันนำไปสู่ความเหนื่อยล้าครั้งแล้วครั้งเล่า โดยก่อนและหลังออกกำลังกาย หนังสือได้สอนท่ารีเซตเพื่อปรับสมดุลให้แก่กล้ามเนื้อด้วยท่ากระโดดไปข้างหน้าและอยู่กับที่ กระโดดหนีจากจุดศูนย์กลาง วิ่งยกส้นเท้า ไปจนถึงท่ารีเซตกล้ามเนื้อต้นขาและท่ายืดไกล ซึ่งส่งผลดีในระยะยาวมากกว่าการยืดเหยียดทั่วไปที่อาจช่วยได้เพียงแค่คลายอาการเครียดเกร็งของกล้ามเนื้อเท่านั้น
นอกจากนี้ หนังสือยังมีคำแนะนำท่วงท่าและการขยับเคลื่อนไหวร่างกายสำหรับผู้ที่มักทำงานนั่งโต๊ะติดต่อกันเป็นเวลานานให้อีกด้วย โดยข้อมูลทุกส่วนเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของการทำงานของระบบประสาทและการหายใจที่ช่วยด้านความมั่นคงของแกนกลางร่างกาย เราอาจจำหลักการง่าย ๆ ของท่าพื้นฐานที่ช่วยให้ร่างกายสมดุลทั้งการนั่ง ยืน หรือเดิน โดยหมั่นสังเกตตนเองว่าเราควรจะอยู่ในท่าที่หูของเราจะต้องตรงกับบ่า และควรเปิดไหล่ด้วยวิธีขยับให้สะบักหลังซ้ายขวาหนีบเข้าหากัน (เราลองทำดูแล้วพบว่าเมื่ออยู่ในท่าดังกล่าว ลำตัวเราจะตรงพอดี และดูมีบุคลิกที่ดีขึ้นจริง ๆ) แน่นอนว่าสำหรับผู้ที่โน้มตัวทำงานหน้าคอมหรือก้มหน้าเล่นสมาร์ทโฟนอยู่เป็นประจำจะพบว่าเราต้องหดคอและยืดอกออกหากต้องการให้ตัวเองอยู่ในท่าพื้นฐานตามที่หนังสือบอกไว้ (อันนี้เทียบจากตัวเราเองเลยค่ะ)
ส่วนตัวแล้วเราชอบเนื้อหาภายในเกือบตลอดทั้งเล่ม เพราะเป็นข้อมูลที่ใช้การอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยอธิบายถึงเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น แม้ว่าข้อมูลต่าง ๆ อาจสามารถสืบค้นได้ทั่วไป แต่เมื่อนำมาใส่หลักการโดยเวชศาสตร์การกีฬาแล้วก็ต้องยอมรับว่าช่วยกระตุ้นให้เราริเริ่มฝึกร่างกายตามแบบฉบับสแตนฟอร์ดได้จริง ๆ และยังสามารถเลือกหยิบเพียงแค่บางส่วนมาปรับใช้กับวิถีชีวิตประจำวันของเราเพื่อฟื้นฟูอาการเหนื่อยล้า เช่น ท่วงท่าบริหารขณะนั่งโต๊ะทำงาน ท่ารีเซตก่อนและหลังออกกำลังกาย การจดจำว่ามื้อเช้านั้นสำคัญและต้องเลี่ยงอาหารหวาน ส่วนมื้อกลางวันให้เน้นวิตามินและโปรตีน กระทั่งการดูแลอาการบาดเจ็บเบื้องต้นที่ต้องเน้นประคบเย็นใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นประคบร้อน หรือการอาบน้ำร้อนสลับน้ำเย็นเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ส่วนใหญ่เป็นคำแนะนำที่อธิบายเป็นขั้นเป็นตอนให้เราทำความเข้าใจได้อย่างง่ายดาย
สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่หนังสือไม่ลืมที่จะกล่าวถึงคือ “การใช้ทัศนคติแบบเติบโต (Growth Mindset)” มาใช้เป็นวิธีคิดเพื่อกำจัดความเหนื่อยล้าทั้งหลายตั้งแต่ภายในหัวของเรา ดังคำกล่าวของ Carol Dweck ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ว่า “เพราะทัศนคติทำให้คนที่มีความสามารถแบบเดียวกันมีผลลัพธ์การทำงานแตกต่างกัน“ (ผลงานหนังสือของเธอคือ Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา) และผู้ที่มีทัศนคติแบบเติบโตเท่านั้นที่จะสามารถขจัดความเหนื่อยล้าได้ลึกถึงจิตวิญญาณอย่างแท้จริง
สุดท้ายเราปฏิเสธไม่ได้ว่าร่างกายและจิตใจของเราสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น เมื่อใดก็ตามที่คุณพยายามกำจัดความเหนื่อยล้าทางด้านร่างกายแต่จิตใจยังคงห่อเหี่ยวและทดท้อ หรือคุณเพียงแค่ฝึกปรือความคิดความอ่านจนเข้มแข็งแต่ไม่สนใจเรี่ยวแรงของร่างกายและสุขภาพ เมื่อนั้น ความเหนื่อยล้าอาจจะยังคงกัดกร่อนอยู่ภายในโดยที่คุณไม่ทันได้สังเกตเห็น
เป็นภัยเงียบ…ที่แฝงตัวเข้ามาฉุดเราให้ขยับเข้าใกล้เป้าหมายได้ช้าลงกว่าที่ควร
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“สุดยอดการฟื้นฟูร่างกายวิถีสแตนฟอร์ด”
ผู้เขียน : Tomoo Yamada
(จิตรลดา มีเสมา แปล)
จำนวนหน้า : 192 หน้า / ราคาปก : 245 บาท
สำนักพิมพ์ : นานมีบุ๊คส์
หมวด : สุขภาพ