เดิมทีเราเคยคิดว่าการเรียนรู้หรือเพิ่ม Input อย่างต่อเนื่องถือเป็นการพัฒนาตนเองอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว
ทั้งที่ในความเป็นจริง ความรู้จำนวนไม่น้อยหล่นหายระหว่างการใช้ชีวิตโดยเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
แต่ด้วยวิถีทางจากหนังสือเล่มนี้ ทำให้ตระหนักรู้ถึงวิธีการ ‘ปล่อยของ’ ที่สั่งสมไว้
เพราะบางครั้ง การปล่อยบางสิ่งไป – ก็ทำให้ได้อะไรบางอย่างกลับมา
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️ ชิออน คาบาซาวะ (Shion Kabasawa) จิตแพทย์ที่เผยแพร่ข้อมูลมากที่สุดในญี่ปุ่น และนักอ่านหนังสือตัวยง จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ซัปโปโร แล้วศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เมืองชิคาโก เมื่อเขากลับมาญี่ปุ่น ก็ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยจิตวิทยาคาบาซาวะขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานหนังสือมาแล้วร่วม 28 เล่ม และนี่คือตัวอย่างกิจกรรม Output อันน่าทึ่งของเขา เขียน E-Magazine ทุกวันเป็นเวลา 13 ปี โพสต์ Facebook ทุกวันเป็นเวลา 8 ปี อัพโหลด Youtube ทุกวันเป็นเวลา 5 ปี เขียนหนังสือ 3 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน เป็นเวลา 11 ปี มีผลงานหนังสือ 2 – 3 เล่มต่อปี ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี เปิดสัมมนาใหม่ ๆ เดือนละ 2 ครั้งขึ้นไป ติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปี
🎯 SUMMARY VIEW 🎯 : The Power of Output กล่าวถึงวิธีการนำสิ่งที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้มาถ่ายทอดด้วยรูปแบบวิธีการต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเราไปสู่จุดที่สูงกว่าแค่ศึกษาแล้วเก็บงำไว้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง : หนังสือแบ่งวิธีการทำ Output เป็น 3 พาร์ทใหญ่ นั่นคือ การพูด (TALK) การเขียน (WRITE) และการลงมือทำ (DO) : บทเรียนถูกย่อยออกมารวมทั้งสิ้น 80 บทด้วยกัน โดยเนื้อหาแต่ละบทมีความกระชับ อ่านเข้าใจง่าย และมีการใช้ภาพประกอบพร้อมบทสรุปประเด็นหลักของบทไว้ในตอนท้าย ทำให้เป็นหนังสือที่อ่านง่ายมากในความคิดเรา : การแตกหัวข้อออกมาจำนวนมากเช่นนี้ช่วยในเรื่องของการกลับมารื้อทวนข้อมูลซ้ำเป็นอย่างยิ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราสามารถทบทวนความรู้ที่มีได้โดยอ่านเพียงแค่สารบัญ : เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพของการเรียนรู้ให้เต็มศักยภาพ หรือผู้ที่กำลังหาแนวทางการสร้าง Output เพื่อทำให้ความรู้ที่ได้สามารถยึดโยงกับการใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงอย่างที่ต้องการ เพราะ Input ที่ไม่ได้มีการเกลาหรือทำ Output ออกมามีโอกาสถูกลืมเลือนได้ง่ายกว่า รวมถึงผู้ที่อยากได้เทคนิคการเขียนหนังสือจากผู้เขียนที่มีผลงานตีพิมพ์มาแล้ว 28 เล่มในชีวิตของเขา : พาร์ทสุดท้ายมีเทคนิคการฝึกทักษะการทำ Output ทางด้านการเขียนลงบนแพลตฟอร์มโซเชียล ซึ่งนับว่ามีความทันยุค ทันสมัย และน่าจะตรงใจผู้ที่ต้องการเริ่มต้นปล่อยของด้วยวิธีที่ง่ายและใกล้ตัว
“ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” เป็นคำที่ผุดขึ้นมาบางช่วงตอนขณะที่เรากำลังศึกษาวิธีการปล่อยของจากจิตแพทย์และนักเขียนผู้ใช้เวลาเที่ยวเล่นไม่แพ้ใคร แต่ก็ยังมีวินัยของการสร้าง Output ของตัวเอง เราเป็นอีกคนที่มักจะมองหาทางเพิ่ม Input ให้กับสมองโดยไม่ค่อยสนใจถึงการนำมันออกมาใช้ ความรู้บางส่วนจึงมักเลือนหายไป หรือบางครั้งก็แค่รับรู้และอยู่ในหัวว่าเคยผ่านตามาแล้ว รายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมากที่อาจนำไปปรับใช้ได้จริงกับชีวิตปัจจุบันของเราถูกละทิ้งความสำคัญ บ่อยครั้งที่จดจำได้แค่หัวข้อของเรื่องราวที่ได้ศึกษา และนั่นเป็นเหตุผลที่เราเห็นหนังสือเล่มนี้แล้วถึงกับกระตุ้นต่อมความอยากรู้ของเราขึ้นมาทันทีทันใด
ชิออน คาบาซาวะ ได้ให้กฎในการสร้าง Output ว่า “ข้อมูลที่นำมาใช้ 3 ครั้งใน 2 สัปดาห์ จะกลายเป็นความทรงจำระยะยาว และอัตราส่วนที่ดีที่สุดระหว่าง Input : Output ควรเป็น 3:7” ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้สำหรับเพศและวัยใดก็ตาม นอกจากนี้ยังต้องรู้จักการทำ Feedback เพื่อประเมินการเรียนรู้ของเราว่ามีสิ่งใดขาดตกบกพร่องหรือไม่ และเมื่อเราหมั่นฝึกฝนวงจรการเรียนรู้ – ปล่อยของ – ประเมินผล อย่างต่อเนื่อง นั่นจึงถือเป็นวิธีพัฒนาการเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพเช่นที่มันควรจะเป็น
การตอกย้ำของเขาดูจะเป็นเรื่องท้าทายเมื่อแท้จริงแล้วข้อมูลบางส่วนเป็นสิ่งที่เราน่าจะรับรู้กันได้อยู่แล้ว เพียงแต่อาจไม่ได้ใส่ใจตระหนักยึดมั่นไว้เป็นแก่นแกนของการเรียนรู้ การได้ทำความรู้จักผ่านหนังสือโดยนักเขียนผู้มีผลงานประจักษ์ยืนยันถึงการหมั่นสร้าง Output ของตัวเองจึงช่วยให้เราประทับข้อมูลต่าง ๆ นั้นไว้ให้ฝังลงไปในสมอง
ศิลปะของการปล่อยของได้แบ่งวิธีสร้าง Output ไว้เป็น 3 ส่วน นั่นคือ การพูด (TALK) การเขียน (WRITE) และการลงมือทำ (DO) พร้อมทั้งอธิบายแต่ละส่วนว่าเราจะทำการสร้างสิ่งเหล่านั้นผ่านกลวิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมาได้อย่างไรบ้าง ต้องบอกว่าสำหรับเราแล้วไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด แต่ทุกบทมีรายละเอียดที่ช่วยให้เราเข้าถึงวิธีการเหล่านั้นได้อย่างลึกซึ้งและรู้สึกอยากนำไปทดลองใช้อย่างยิ่ง
ราวกับว่าผู้เขียนเก็บทุกสัมผัสที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้าง Output ได้ แล้วกลั่นกรองพร้อมจับประเด็นให้กระชับ โดยใช้ภาพวาดประกอบและกรอบสรุปสั้น ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ตรงกับจุดประสงค์ของผู้เขียนที่ต้องการสื่อผ่านบทเรียนนั้น ๆ ทำให้แม้สารบัญจะแยกยิบย่อยก็ไม่ได้สร้างความสับสนงุนงงเวลาอ่าน จะว่าไปถือเป็นข้อดีของหนังสือเล่มนี้ด้วยซ้ำ เพราะคล้ายกับว่าเรามีคู่มือที่พร้อมใช้งานได้จริงโดยพลิกหาข้อมูลผ่านทางสารบัญ รวดเร็ว เข้าใจง่าย และตอบโจทย์คนชอบเรียนรู้โดยเน้นเนื้อหาหลักสำคัญที่หนังสือต้องการสื่อสาร
วิธีปล่อยของของผู้เขียนเป็นสิ่งที่เราสามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือการทำงานตามปกติได้เลย ไม่จำเป็นว่าจะต้องสร้างตารางกิจวัตรใหม่เพื่อใส่ช่วงเวลาของการทำ Output เพียงอย่างเดียว (แต่หากทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ) ผู้เขียนย่อยการเรียนรู้ให้สามารถเกิดการทำได้จริงแม้แค่เพียงในระยะเวลาสั้น ๆ เริ่มแรกที่เราอ่านบทนำเกี่ยวกับตัวอย่างการสร้าง Output ของเขาก็ถึงกับเผลออุทานว่า บ้าไปแล้ว ! แต่เมื่อมาเรียนรู้สิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมาจึงได้เข้าใจ สิ่งที่เขาทำนั้นดูไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย
โดยภายในเล่มก็ได้มีการเปิดเผยเทคนิควิธีการรวบรวมไอเดียที่ทำให้เขามีหนังสือเป็นของตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปี เช่น เทคนิคการประมวลไอเดียด้วยการ์ด 100 แผ่น และเทคนิคการเขียนบทความให้เร็วด้วยแพทเทิร์นที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้กับการเขียนบทความในทุกหมวดหมู่ อีกทั้งเขายังแนะนำให้ผู้ที่ต้องการเป็นนักเขียน หรือนักอยากเขียนให้หมั่นสะสมข้อมูลพร้อมแหล่งอ้างอิง รวมถึงหมั่นฝึกเขียนแผนงานอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ (เราประยุกต์เอาว่าแผนงานสามารถใช้กับการเขียนโครงการอะไรก็ตามที่เราบังเอิญนึกขึ้นได้ และมีรายละเอียดภาพรวมพร้อมไอเดียทั้งหมดบรรจุไว้) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่เขาใช้และนำมาบอกต่ออย่างไม่หวงแหน แม้จะดูไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ต้องบอกว่าถ้าไม่มีวินัยมากพอ การทำอย่างต่อเนื่องเฉกเช่นชิออน คาบาซาวะก็ดูจะไม่ง่ายเลย
ต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้สมบูรณ์อย่างยิ่งเมื่อมันมีรายละเอียดในส่วนของการลงมือทำ ซึ่งเป็นบทเรียนที่นอกเหนือไปจากวิธีการแบบ Outward เพราะเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมของตัวเองเพื่อที่จะปล่อยของให้ดีที่สุด อาจเพราะผู้เขียนเป็นจิตแพทย์ และจุดมุ่งหมายของเขาคือการสอนให้คนเรียนรู้วิธีการสร้าง Output ซึ่งสามารถกลายมาเป็นหนทางในการปลดปล่อยตัวเองจากปัญหาที่หมักหมมอยู่ในหัวได้ ฉะนั้นเราจึงมั่นใจได้ว่าวิธีการต่าง ๆ ในเล่มล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานโดยผู้เขียนที่มีความรู้ทางด้านจิตวิทยาเป็นอย่างดี นับเป็นการเรียนรู้แนวทางที่น่าจดจำและนำไปใช้ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงใดของชีวิต
ส่วนสุดท้ายผู้เขียนได้เพิ่มทักษะของการทำ Output ผ่านการเขียนและเผยแพร่ทางออนไลน์ซึ่งเป็นวิธีที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในยุคสมัยแห่ง Social Network Service (SNS) ในความคิดของชิออนนั้นมองว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และปัจจุบันคนเรามักใช้สมาร์ทโฟนในการทำ Input มากกว่า Output แทบจะตลอดทั้งวันขณะลืมตาตื่น ดังนั้นหากเราสามารถหยิบหลัก 3:7 มาใช้ได้ การฝึกปรือวิธีสร้าง Output ของเราก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม
หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็น Output ชิ้นโบว์แดงสำหรับชิออน คาบาซาวะอย่างแท้จริง เนื่องจากการสอนคนอื่นต่อนั้นถือเป็นวิธีการปล่อยของที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเป็นไปได้ว่าผู้ที่จะส่งต่อประสบการณ์ใด ๆ ก็ตามได้คือผู้ที่เวียนวนกับความเข้าใจนั้นภายในตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนแตกฉาน และว่ากันตามจริงแล้ว เราทุกคนอาจมีวิธีเรียนรู้ได้เหมือนกัน แต่การปล่อยของของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่าง คล้ายการอ่านหนังสือแต่ละเล่มแล้วนำมาบอกเล่าเชิญชวนนั้นก็ย่อมมีมุมมองในการนำเสนอที่ต่างกันออกไป
ยิ่งเราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้อื่นเข้าใจได้มากเท่าไร เราก็อาจยิ่งจดยิ่งจำได้มากขึ้นเท่านั้น
และนั่นคือ ‘ศิลปะของการปล่อยของ’ …
“ศิลปะของการปล่อยของ The Power of Output”
ผู้เขียน : ชิออน คาบาซาวะ (อาคิรา รัตนาภิรัต แปล)
จำนวนหน้า : 344 หน้า / ราคาปก : 420 บาท
สำนักพิมพ์ : แซนด์คล็อคบุ๊คส์
หมวด : พัฒนาตนเอง
📌 สนใจหนังสือเล่มนี้