Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : The Power of Input ศิลปะของการเลือก-รับ-รู้ (ชิออน คาบาซาวะ)

รีวิวหนังสือ : The Power of Input ศิลปะของการเลือก-รับ-รู้ (ชิออน คาบาซาวะ)

รีวิวหนังสือ Input ศิลปะการเลือก รับ รู้

กฎพื้นฐานของการทำ Output มุ่งเน้นปริมาณที่ลงมือทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่กฎพื้นฐานของการทำ Input จะมุ่งเน้นคุณภาพของสิ่งที่เราเอาเข้า

และกระบวนวิธี “ทำน้อยให้ได้มาก” เพื่อพัฒนาตัวเรา ก็ได้ถูกรวบรวมไว้แล้วภายในเล่มนี้

✒️ ประวัติผู้เขียน ชิออน คาบาซาวะ (Shion Kabasawa)

ชิออน คาบาซาวะ (Shion Kabasawa)
จิตแพทย์ที่เผยแพร่ข้อมูลมากที่สุดในญี่ปุ่น และนักอ่านหนังสือตัวยง
จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ซัปโปโร
แล้วศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เมืองชิคาโก
เมื่อเขากลับมาญี่ปุ่น ก็ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยจิตวิทยาคาบาซาวะขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานหนังสือมาแล้วร่วม 30 เล่ม
และยังสร้าง Output ไว้อย่างมากมาย
โดยที่เขาใช้เวลาไปกับการทำ Input ไม่นานนัก นั่นคือ
อ่านหนังสือ (เฉพาะในเวลาว่าง) 20-30 เล่มต่อเดือน
ใช้สมาร์ตโฟนไม่เกิน 30 นาทีต่อวัน
รวบรวมข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต 15-20 นาทีต่อวัน

🎯 มุมมองสรุป

: จากผู้เขียนคนเดียวกันกับ The Power of Output ศิลปะของการปล่อยของ ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามสำหรับผู้ที่กำลังมองหาหนังสือฮาวทูเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองในการเรียนรู้และประยุกต์ใช้ในชีวิต

: โดยหลังจากที่ได้มีการเรียบเรียงข้อมูลวิธีทำ Output แล้ว ปีถัดมา ชิออน คาบาซาวะ ก็ได้เขียนหนังสือขึ้นอีกเล่มหนึ่งเพื่อใช้แนะนำให้ผู้คนหันมามองสิ่งที่ต้องเรียนรู้ควบคู่กันไปอย่างไม่ละทิ้ง นั่นคือการเลือก-รับ-รู้ (Input) เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าอัตราส่วนที่ดีที่สุดของการทำ Input:Output จะอยู่ที่ 3:7 ซึ่งเราสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าน้อยกันเกินกว่าครึ่ง แต่ด้วย "ระดับคุณภาพ" ของ Input ที่ดีจึงทำให้เขาสามารถสร้างผลงานได้อย่างต่อเนื่อง

: เนื้อหาภายในเล่มยังคงมีวิธีนำเสนอรูปแบบเดียวกันกับเล่ม The Power of Output นั่นคือการแยกบทเรียนย่อยออกเป็นทั้งหมด 80 บทเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ การนำไปปรับใช้ และการกลับมาสืบค้นข้อมูลภายหลัง

: หนังสือประกอบไปด้วย 7 บทเรียนใหญ่ซึ่งอิงเข้ากับพื้นฐานการทำ Input อันได้แก่
1.กฎพื้นฐานของ Input (Rules)
2.วิธีอ่านหนังสือให้จำได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ (Read)
3.วิธีการฟังเพื่อการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง (Listen)
4.วิธีดูสิ่งต่างๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาตนเอง (Watch)
5.เทคนิคการใช้อินเทอร์เน็ตให้น้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพสูงสุด (Internet)
6.วิธีเรียนที่ดีที่สุดที่ช่วยดึงศักยภาพในทุกด้านออกมา (Learn)
7.วิธีเพิ่มขีดความสามารถในการทำ Input ขั้นสูง (Advanced)

: จุดเด่นของหนังสืออันเป็นข้อได้เปรียบมาตั้งแต่เล่มก่อนหน้า คือวิธีการอธิบายและเรียบเรียงข้อมูลของผู้เขียนที่ทำให้เราเข้าใจง่ายและยังใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน แม้ว่าภาพรวมเนื้อหาจะมีการเปรียบเทียบอ้างอิงกับข้อมูลของประเทศต้นฉบับ (ญี่ปุ่น) ทั้งวัฒนธรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิต แต่สำหรับเรายังมีอีกหลายส่วนที่สามารถปรับใช้ได้

: ถ้ายังไม่เคยอ่านหนังสือชุดนี้เลยทั้ง 2 เล่ม ควรหยิบเล่มไหนก่อนดี? - ความจริงก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองนะคะว่าอยากเรียนรู้เรื่องไหนมากกว่ากัน แต่ความเห็นส่วนตัวหากให้แนะนำว่าควรเริ่มจากเล่มไหน เราให้น้ำหนักว่า "ควรอ่าน Output ก่อน" ด้วยเหตุผล 3 ประเด็น 
• เล่ม Output ถูกเขียนออกมาก่อน เราเลยคิดว่าผู้เขียนมองเห็นความสำคัญสิ่งนี้ก่อน มันจึงน่าเรียนรู้เป็นลำดับแรก
• อัตราส่วนที่ดีที่สุดของการทำ Input:Output คือ 3:7 จะเห็นว่าส่วนของ Output ผู้เขียนให้น้ำหนักมากกว่า การเรียนรู้วิธีทำ Output เสมือนการเรียนรู้ที่จะกำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับวิธีและรูปแบบการถ่ายทอดของตนเอง ซึ่งอาจช่วยเพิ่มการโฟกัสวิธีศึกษา Input ได้แม่นยำมากขึ้น (เช่น อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายเราก็อ่านคร่าวๆ หรืออาจช่วยให้เราจับกลยุทธ์การทำ Input ให้เหมาะสมกับวิธีที่เราจะทำ Output ของตนเองได้มากขึ้น)

: อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดถูกผิดหรือดีกว่าค่ะ ^^ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้อ่าน เพียงแค่คุณสนใจที่จะมองหาหนังสือสักเล่มเพื่อพัฒนาตนเองและมุ่งมั่นที่จะศึกษา ก็บรรลุความสำเร็จในแง่ของการพยายามและลงมือทำซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหนังสือพัฒนาตนเองแล้ว
รีวิวหนังสือ ศิลปะของการเลือก รับ รู้ ชิออน คาบาซาวะ

ปัจจุบันชีวิตประจำวันของเราล้วนเต็มไปด้วยข้อมูลจำนวนมากที่เราสามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระ และบางครั้งก็ดูคล้ายว่าเราจะถูกกลืนกินด้วยข้อมูลมหาศาลแทนที่จะเป็นฝ่ายบริโภค ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เสียเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดไปโดยใช่เหตุ เราก็น่าจะมาเรียนรู้วิธีการทำ Input อย่างมีคุณภาพผ่านหนังสือที่ถูกเขียนโดยจิตแพทย์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้สร้าง Output มากที่สุดในญี่ปุ่นกัน

จากการอ้างอิงของ ชิออน คาบาซาวะ ในเมื่ออัตราส่วนที่ดีที่สุดของ Input:Output คือ 3:7 แล้วเราควรจะทำ Input อย่างไรให้ ‘น้อย’ แต่ ‘มาก’ กันนะ?

เข้าใจ DISK Model เพื่อทำ Input จากอินเทอร์เน็ตให้ ‘น้อย’ แต่ ‘มาก’

การทำ Input ในความหมายของการพัฒนาตนเองคืออะไร? – แน่นอนว่ามันอาจหมายความรวมถึงการรับรู้ข้อมูลเข้ามาทุกชนิด แต่สำหรับ ชิออน คาบาซาวะ หากการรับเอาสารเหล่านั้นแล้วไม่มีการเก็บบันทึกเอาไว้ เขาก็ไม่นับว่าเป็น Input ที่แท้จริง Input ที่ดีจึงควรได้รับการประมวลผลและจัดเก็บให้ใช้งานได้ยามจำเป็น ด้วยเหตุนี้ คุณภาพของมันจึงมีความสำคัญมากกว่าปริมาณอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การฟัง หรือการดู แม้จะเป็นการทำ Input ความรู้ที่มีประโยชน์มากแค่ไหนแต่หากเราทำเพียงผ่านๆ แล้วหลงลืมมันไป เราคงไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างที่ควรจะเป็น

หนังสือได้นำเสนอเทคนิคต่างๆ ของการทำ Input ผ่านการอ่าน การฟัง การสังเกต การเรียนรู้ และยังมีบทเรียนเฉพาะของเทคนิคในการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้เป็นการทำ Input อย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะบนโลกอินเทอร์เน็ตที่มีส่วนอย่างมากในชีวิตมนุษย์เราทุกวันนี้ ชิออน คาบาซาวะ ได้ย่นย่อโลกอันกว้างใหญ่ของเจ้าอินเทอร์เน็ตด้วยการอธิบายถึง “DIKW model” ซึ่งอักษรแต่ละตัวมาจากคำว่า Data – Information – Knowledge – Wisdom

   DATA = ข้อมูลที่กระจัดกระจาย เมื่อผ่านการเรียบเรียงและสรุปจะกลายไปเป็น...
>> Information = ข้อมูลสารสนเทศ เมื่อผ่านการวิเคราะห์ แยกแยะ และจัดระบบให้ มันจึงกลายไปเป็น...
>> Knowledge = ความรู้ เมื่อความรู้เหล่านั้นถูกนำไปปฏิบัติจนเกิดเป็นประสบการณ์ มันจึงกลายไปเป็น...
>> Wisdom = ปัญญา หรือสิ่งที่ได้จากการเข้าใจความรู้อย่างถูกต้องและช่วยยกระดับทัศนคติหรือศีลธรรมให้สูงขึ้น

บนอินเทอร์เน็ตเราจะเห็นได้ว่าข่าวสารจำนวนมากเป็นข้อมูล (Data) และสารสนเทศ (Information) ที่มีวันหมดอายุ เพราะสองสิ่งนี้จะมีประโยชน์เมื่อมันยังสดใหม่ สังเกตได้จากการที่เรารู้สึกว่าต้องหมั่นอัพเดทตัวเองให้ทันสมัยด้วยการบริโภคมันให้เร่งด่วนมากที่สุด นั่นทำให้ผู้เขียนนำเสนอการทำ Input จากอินเทอร์เน็ตไว้ในบทเรียนนี้สำหรับผู้ที่ต้องการคำแนะนำฉบับรวบรัดเพื่อตัดวงจรการทิ้งเวลามหาศาลไปกับการท่องอินเทอร์เน็ตอย่างไม่รู้ตัว

สร้างคลัง Mandala Chart เพื่อทำ Input ของตัวเอง

บทเรียนที่เราชอบที่สุดจากหนังสือ คือวิธีเขียน Mandala Chart (Mandalart) ซึ่งเป็นชั้นวางแบ่งแยกประเภทหัวข้อได้ทั้งหมด 64 หัวข้อ ด้วยการเขียนตาราง 9 ช่อง (3×3) เรียงต่อกัน 9 ตารางแบบจัตุรัสเพื่อใช้สำหรับสร้างคลังข้อมูลเรื่องที่เราต้องการทำ Input และช่วยให้เราโฟกัสเรื่องที่สนใจได้ชัดเจนขึ้น เพราะความสำคัญหนึ่งของการทำ Input ที่มีคุณภาพ มันควรจะต้องผ่านการคัดกรองและเลือกสรรให้ตรงตามเป้าหมาย Mandalart นี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจเนื่องจากมันสามารถประยุกต์ใช้ได้กับแผนการณ์หลายรูปแบบและยังดูเป็นวิธีสร้างการเรียนรู้โดยจดจำในลักษณะแปลนภาพ (ไม่รู้ว่าเพื่อนๆ จะเป็นเหมือนกันมั้ย การทำข้อมูลที่ต้องจดจำในหัวให้อยู่ในแบบรูปภาพเรามักนึกออกได้ง่ายกว่า) วิธีการทำมันก็คือเราจะเลือกเขียนหัวเรื่องใหญ่ที่ต้องการทำ Mandalart ไว้ที่ช่องตรงกลาง แล้วกระจายหัวเรื่องออกเป็นอีก 8 เรื่องลงในตารางที่เหลือโดยรอบ หลังจากนั้นจึงกระจาย 8 หัวเรื่องเหล่านั้นลงในตารางรอบนอกตามกรอบทิศทางที่วางอยู่ แล้วจึงเขียนหัวข้อเฉพาะลงไปในแต่ละกรอบเพื่อจำกัดการรับข้อมูลให้อยู่แค่ในสิ่งที่เราคิดไว้แล้วว่าจำเป็นเท่านั้นจริงๆ (ดูภาพด้านล่างประกอบ)

The Power of Input Shion Kabasawa
ตัวอย่างตาราง Mandalart ข้อมูลที่ต้องการของชิออน คาบาซาวะ (ผู้เขียน)

แม้ว่าเราจะมีเรื่องมากมายที่ต้องทำ แต่หากสามารถเรียบเรียงข้อมูลอย่างเป็นระบบเสมือนการสร้างไฟล์งานไว้ในคอมพิวเตอร์ด้วย Mandalart นี้ การดึงข้อมูลออกมาใช้จากสมองของเราอาจทำได้ง่ายกว่าข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ภายในหัวอย่างไร้หมวดหมู่

วงจร OODA ฝึกสังเกตเพื่อทำ Input ที่มีคุณภาพ

อีกหนึ่งบทเรียนที่เราชอบมาจากพาร์ทของการฝึกทำ Input ด้วยการดู (Watch) ผู้เขียนได้กล่าวถึงการเป็นคนช่างสังเกตหรือไวต่อความเปลี่ยนแปลงซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างความสัมพันธ์แล้วยังง่ายที่จะประสบผลสำเร็จอันเนื่องมาจากรับรู้ได้อย่างรวดเร็วจึงขยับ ปรับ และพัฒนาได้ไวกว่าผู้ที่ยังไม่ทันสังเกตเห็น เราอาจคุ้นเคยกับรูปแบบวงจรการบริหารงานอย่าง PDCA (Plan – Do – Check – Act) มาบ้างแล้ว แต่สำหรับสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าหรือเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน การใช้ PDCA ย่อมเป็นไปโดยยาก ผู้เขียนได้กล่าวถึงวงจร OODA (Observe – Orient – Decide – Act) หรือ ดู – เข้าใจ – ตัดสินใจ – ลงมือทำ ซึ่งคิดค้นโดยนักบินรบกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา วงจร OODA นี้สามารถปรับใช้ได้อย่างยืดหยุ่นมากกว่าเพียงแต่ต้องอาศัยการสังเกตเป็นสำคัญ

ความคิดเห็นที่มีต่อหนังสือ

อย่างไรก็ตาม เราแต่ละคนล้วนมีวิธีการเรียนรู้และความชอบที่ต่างกันออกไป ไม่เว้นแม้แต่รูปแบบวิธีการทำ Input หนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งคงไม่อาจจำกัดได้ว่ามีแค่วิธีนี้เท่านั้นที่ถูกต้องเพียงแต่เสนอแนะทางเลือกให้แก่ผู้อ่านที่กำลังมองหา ส่วนตัวสำหรับเรา เล่มนี้สามารถสร้างการรับรู้วิธีทำ Input ดีๆ จำนวนไม่น้อย และยังมอบมุมมองการเรียนรู้บางอย่างที่อาจดูเป็นการทำ Input ที่มีคุณภาพแต่กลับต้องแลกด้วยเวลา ซึ่งเราก็ควรทบทวนกับตัวเองให้ดีว่านี่เป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่าหรือไม่เมื่อเวลาเป็นสิ่งที่เสียไปและไม่อาจเอากลับคืนมาได้อีก

เพราะศิลปะของการ ‘รับ’ – ‘รู้’ ที่งดงาม นอกจากตั้งคำถามถึงสิ่งที่ตนต้องการ อาจต้องอาศัยโลกทัศน์อันเปิดกว้าง เพื่อสร้างโอกาสสำหรับการ ‘เลือก’ เอาไว้ด้วย

The Power of Input รีวิว

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

“ศิลปะของการเลือก-รับ-รู้ The Power of Input”

ผู้เขียน : ชิออน คาบาซาวะ (อาคิรา รัตนาภิรัต แปล)

จำนวนหน้า : 368 หน้า / ราคาปก : 420 บาท

สำนักพิมพ์ : แซนด์คล็อคบุ๊คส์

หมวด : พัฒนาตนเอง

รีวิวหนังสือ นิ้วกลม 2022 ไม่เป็นบ้าไปกับโลก LIP L.I.P
อ้าแขนเปิดรับการปลอบประโลมที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งจากนักเขียนสายฮีลใจ ชวนให้คุณพักจากโลกเร็ว - โลกไว - โลกบ้า ... Why do we only ‘Rest In Peace’, why don’t we ‘Live In Peace’ too? ...
มิ.ย. 15, 2022
รีวิวหนังสือ การฟื้นฟูร่างกาย วิถีสแตนฟอร์ด หมวด สุขภาพ
หนังสือว่าด้วยเรื่องการฟื้นฟูและป้องกันร่างกายจากความเหนื่อยล้าสะสม เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้คำแนะนำตั้งแต่เรื่องระบบการหายใจ การขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน อาหาร ไปจนถึงทัศนคติ
ต.ค. 21, 2021
วางใจให้ไร้กังวล don't worry รีวิว
เมื่อโลกหมุนไวและกาลเวลาก็ไม่เคยรอใครข้างหลัง เพื่อลดความวิตกและกลัดกลุ้มกับโลกภายนอก–ความกังวลจากความคิดยึดติดอยู่ภายใน อาจลองนำบทเรียนวิถีแห่งเซนไปปรับใช้ เพื่อเรียนรู้วิธีวางให้ง่าย และผ่อนคลายให้เป็น
มิ.ย. 27, 2024
How will you measure your life? รีวิว
การกำหนดวิสัยทัศน์และมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายในชีวิตไม่มีทางเป็นเรื่องแย่ แต่การปล่อยให้ตนเองวัดความสำเร็จจากผลลัพธ์ที่จับต้องได้เท่านั้นอาจเป็นเรื่องผิดพลาด หนังสือที่จะชวนคุณทบทวนมาตรวัดในชีวิตใหม่ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับคุณอย่างแท้จริง
ธ.ค. 21, 2023