Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : The Power of Habit พลังแห่งความเคยชิน (Charles Duhigg)

รีวิวหนังสือ : The Power of Habit พลังแห่งความเคยชิน (Charles Duhigg)

หนังสือ สร้างนิสัย รีวิว

‘นิสัยหลัก’ มีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดที่ว่า

คนเราจะประสบความสำเร็จได้ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง

แค่มองหาสิ่งสำคัญ ๆ ไม่กี่อย่างให้เจอ แล้วใช้มันเป็นตัวจุดชนวนก็พอ …

( – จากหนังสือหน้า 137 )

✒️ ประวัติผู้เขียน Charles Duhigg

Charles Duhigg
คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ The New York Times
สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล
และปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ผลงานของเขาได้รับรางวัลจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
และสมาคมผู้สื่อข่าว
รวมทั้งรางวัลพูลิตเชอร์พร้อมกับเพื่อนร่วมทีมในปี 2009
ปัจจุบันเขามีผลงานเขียนที่ The New Yorker Magazine
นิตยสารรายสัปดาห์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา

🎯 มุมมองสรุป

: กิจวัตรที่เราทำไปอย่างเคยชินนับตั้งแต่ลืมตาตื่นนอน ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ แปรงฟัน การเลือกว่าจะหยิบเครื่องแต่งกายชิ้นใดมาสวมก่อน กิจกรรมที่เราทำก่อนออกจากบ้านหรือทันทีที่กลับถึงบ้านแล้ว ไม่เว้นแม้แต่การขับขี่ยวดยานพาหนะ สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกจัดเก็บอยู่ในศูนย์กลางการจดจำของสมองเก่าแก่ส่วนเบซัล แกงเกลีย ที่จะหยิบพฤติกรรมหรือนิสัยของเรามาใช้ทันทีโดยไม่ต้องคิดเมื่อเจอสิ่งกระตุ้น 

: สาเหตุที่ทำให้นิสัยเกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะสมองเราจะพยายามมองหาเครื่องทุ่นแรงตลอดเวลาเพื่อให้มันได้ผ่อนคลาย มันจึงพยายามเปลี่ยนทุกกิจวัตรประจำวันให้กลายเป็นนิสัย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเมื่อเราปล่อยให้สมองที่มีประสิทธิภาพใช้พื้นที่ไปกับการทำสิ่งเดิม ๆ น้อยลง มนุษย์จึงมีพลังที่จะทุ่มเทไปกับการคิดเรื่องอื่น ๆ

: เมื่อได้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วสมองไม่ได้มีส่วนในการ ‘ตัดสินใจ’ ของนิสัยมากนัก เราจึงตระหนักได้ว่าถ้าไม่พยายามต่อสู้กับนิสัยหรือมองหากิจวัตรใหม่มาแทนที่ สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นเองได้โดยอาจไม่ได้มาจากความตั้งใจของเราด้วยซ้ำ

: เนื้อหาภายในเล่มจึงเล่าถึงกระบวนวิธีที่ทำให้พฤติกรรมถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นนิสัยผ่านกรณีศึกษาต่าง ๆ จำนวนมาก โดยผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยกระตุ้น สิ่งใดคือกิจวัตร และสิ่งใดเป็นรางวัลตอบแทนซึ่งทำให้วงจรนิสัยถูกสร้างขึ้นในแต่ละสถานการณ์ โดยนอกจากจะนำไปปรับใช้กับตนเองแล้ว ยังมีตัวอย่างการใช้นิสัยเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนองค์กรและสังคมอีกด้วย

: หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ประกอบไปด้วย
ส่วนที่ 1 นิสัยของบุคคล – วงจรแห่งนิสัย / สมองผู้โหยหา / กฎเหล็กแห่งการเปลี่ยนนิสัย
ส่วนที่ 2 นิสัยขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ – นิสัยหลักกับวีรกรรมของพอล โอนีลล์ / สตาร์บัคส์กับนิสัยแห่งความสำเร็จ / พลังแห่งเหตุวิกฤติ / ทาร์เก็ตรู้ได้อย่างไรว่าคุณต้องการอะไรในเมื่อคุณเองยังไม่รู้เลย
ส่วนที่ 3 นิสัยของสังคม – โบสถ์แซดเดิลแบ็กกับการคว่ำบาตรรถประจำทางในเมืองมอนต์กอเมอรี / หลักประสาทวิทยากับอิสระในการเลือก

: ส่วนตัวเราชอบทุกกรณีศึกษาภายในเล่มนี้มาก ผู้เขียนเลือกหยิบยกเรื่องราวมาได้อย่างน่าสนใจ มีวิธีเล่าที่น่าติดตาม และคงต้องยกความดีงามให้กับทีมผู้แปลที่ช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาภาคภาษาไทยได้อย่างมีอรรถรส บางช่วงตอนอ่านเพลินจนรู้สึกเหมือนอ่านนิยายมากกว่าหนังสือจิตวิทยา ฉะนั้นหากใครยังไม่เคยลองอ่านหนังสือหมวดนี้แล้วอยากเริ่มต้นจากเล่มไหนสักเล่ม เราว่าเล่มนี้เป็นตัวเลือกที่ดี
พลังแห่งความเคยชิน รีวิว

หนังสือ The Power of Habit และ Atomic Habits ต่างกันอย่างไร?

เมื่อพูดถึงหนังสือที่เสนอบทเรียนการสร้างนิสัย หลายคนมักจะเห็นทั้ง 2 เล่มนี้ตีคู่กันมาในคำแนะนำจากบรรดานักอ่านเสมอ ความแตกต่างระหว่างหนังสือ The Power of Habit และ Atomic Habits นั้น คือรายละเอียดของเนื้อหาการนำเสนอของผู้เขียน ที่แม้จะมีวัตถุประสงค์หลักในการกล่าวถึงการปลูกฝังหรือละทิ้งนิสัยเช่นเดียวกัน แต่หนังสือเล่มนี้จะมุ่งเน้นอธิบายถึงกระบวนการทำงานหรือหลักการที่นิสัยเกิดขึ้นมากกว่า เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้และทำความเข้าใจผ่านบุคคลและกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น รวมถึงการเล่าในมุมมองที่กว้างขึ้นเพื่อการปรับใช้ทั้งในระดับองค์กรและสังคม ในขณะที่ Atomic Habits จะเน้นไปที่การปรับใช้ในวิถีดำเนินชีวิตประจำวันโดยมีข้อมูลบางส่วนที่มาจากประสบการณ์จริงของตัวผู้เขียนเอง

ฝึกจับผิดเพื่อปิดกั้นสิ่งกระตุ้น

พฤติกรรมที่เราลงมือทำอย่างอัตโนมัติ หากลองสังเกตดูเราจะพบว่ารูปแบบการทำงานของมันมักมาจากการพึ่งพาปฏิสัมพันธ์บางอย่าง เราสามารถตรวจสอบเองได้ว่าอะไรทำให้เกิดนิสัยนี้ด้วยการลองบันทึกข้อมูล 5 รายการไว้ ได้แก่ สถานที่ เวลา อารมณ์ความรู้สึก บุคคลอื่น และการกระทำก่อนหน้า ทันทีที่กิจกรรมดังกล่าวปรากฏขึ้น ซึ่งอาจทำให้คุณค้นพบเหตุผลของความต้องการเบื้องลึกซึ่งเป็นตัวจุดชนวนพฤติกรรมหรือนิสัยนี้ของตัวคุณเอง

คุณอาจคิดว่าโอเค เมื่อรู้แล้วว่ารูปแบบหรือสัญลักษณ์ใดที่ทำให้คุณแสดงพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่ต้องคิด คุณก็แค่ตัดทอนมันออกก็จบ อย่าเข้าใกล้สิ่งกระตุ้นก็สามารถปิดวงจรพฤติกรรมไม่พึงประสงค์แล้ว จะได้เลิกนิสัยนั้นได้อย่างแน่นอน เราขอบอกว่ามันยังมีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่สร้างวงจรนิสัยขึ้นมา และเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง

รีวิวหนังสือ The Power of habit พลังแห่งความเคยชิน

วงจรแห่งนิสัยและแก่นสำคัญของการสร้างนิสัยใหม่ให้ตัวเอง

ในการทดลองของโวลแฟรม ชูลซ์ และทีมนักวิทยาศาสตร์ของเขากับเจ้าลิงฮูลิโอ ที่ให้มันดึงคันโยกเมื่อมีรูปภาพปรากฏที่หน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วจะได้ลิ้มรสน้ำผลไม้โปรดของมัน พวกเขาพบว่าฮูลิโอเรียนรู้ที่จะดึงคันโยกเมื่อเห็นรูปทรงในจอและคาดหวังว่าจะได้รางวัล แต่เมื่อปรับการทดลองใหม่ให้น้ำผลไม้หยดบ้างไม่หยดบ้าง หรือหยดลงมาแต่ถูกเจือจางความหวาน สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปรารถนาและความผิดหวังของมันจะตื่นตัวขึ้น เมื่อได้รับน้ำหวานมันก็จะมีความสุข แต่เมื่อไม่ได้ ความสุขนั้นก็เปลี่ยนไปเป็นความโหยหา ซึ่งอาจนำไปสู่ความโกรธหรืออาการเซื่องซึมได้

ไม่เพียงเท่านั้น ทีมนักวิจัยในห้องทดลองอื่น ๆ ก็ค้นพบผลลัพธ์แบบเดียวกัน และเมื่อพวกเขาพยายามเบี่ยงเบนความสนใจอย่างเช่นเปิดประตูทิ้งไว้ หรือวางอาหารไว้ให้ที่มุมห้อง จะมีแต่ลิงตัวที่ยังไม่ดึงคันโยกจนเคยชินเท่านั้นที่จะยอมลุกจากเก้าอี้ นี่เป็นสิ่งที่อธิบายว่าวงจรนิสัยเกิดขึ้นด้วยปัจจัย 4 อย่างสำคัญ อันได้แก่ สิ่งกระตุ้น กิจวัตรที่ทำเป็นประจำ รางวัล และความโหยหา เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นให้เราสร้างนิสัยที่ต้องการจึงหนีไม่พ้นการหาวิธีสร้างความโหยหาของตัวเองให้เจอ

เราเปลี่ยนนิสัยได้ หากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริง

กลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยของตนเองได้ นั่นคือ การใช้ “การตอบสนองแบบทดแทน (Competing Response)” ซึ่งยังมีสิ่งกระตุ้นและรางวัลคงเดิม แต่การจะนำมันมาใช้ได้เราต้องเข้าใจก่อนว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้นและอะไรคือรางวัลที่เราจะได้รับ รวมไปถึงการพยายามทำความเข้าใจความโหยหาที่ผลักดันให้เราเกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์นั้น ๆ อย่างเช่นกรณีศึกษาของแมนดี้ที่เธอชอบกัดเล็บจนนิ้วเป็นแผล เมื่อนักบำบัดสอบถามและให้เธอทำการทดสอบไปเรื่อย ๆ จึงเข้าใจว่าเธอจะเริ่มกัดเล็บเมื่อรู้สึกเบื่อและรางวัลของนิสัยนั้นก็คือความเพลิดเพลิน เขาจึงแนะนำให้เธอล้วงกระเป๋า ซุกมือ หรือกิจกรรมอื่นใดก็ได้ที่ไม่ต้องเอานิ้วเข้าปากทันทีที่รู้สึกถึงสิ่งกระตุ้น และหันไปทำอะไรก็ได้ที่ตอบสนองร่างกายด้วยวิธีอื่น เช่น นวดแขน เคาะนิ้ว เธอใช้เวลาฝึกและบันทึกพฤติกรรมเมื่อรู้สึกถึงสิ่งกระตุ้นและทำเครื่องหมายเมื่อยับยั้งนิสัยชอบกัดเล็บได้ เธอให้รางวัลตัวเองด้วยการแต่งเล็บใหม่เมื่ออาการกัดเล็บลดน้อยลงในหนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือนต่อมานิสัยนี้ก็ถูกแทนที่ด้วยพฤติกรรมอื่น

The power of habit รีวิว หนังสือ

พลังใจ – จะฉุดรั้งหรือปลูกฝังเป็นนิสัย เราเลือกได้

บางครั้งการลงแรงของเราก็ต้องอาศัยสิ่งสำคัญอย่างเช่นพลังใจที่มีให้กับตัวเอง และพลังใจที่เหนื่อยล้าก็มีผลอย่างยิ่งกับความสามารถในการควบคุมตัวเองยามเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ เราอาจพบว่าบ่อยครั้งที่คนเก่ง ๆ ทำงานพลาดเพราะความเหนื่อยล้าที่สะสมมาตลอดวัน หรือการที่เราหมดเรี่ยวแรงหลังกลับจากที่ทำงานโดยไม่มีอารมณ์จะทำตามแผนออกกำลังกายที่วางไว้

ในกลยุทธ์หนึ่งที่สตาร์บัคส์ใช้อบรมพนักงานสำหรับการรับมือกับลูกค้าเมื่อเกิดวิกฤติ เรียกว่า กลยุทธ์ลาเต้  (LATTE) ประกอบไปด้วย การรับฟังความต้องการของลูกค้า  (Listen) การทำความเข้าใจคำร้องเรียนของพวกเขา (Acknowledge) จัดการแก้ไขปัญหา (Take action) การขอบคุณ (Thank) และอธิบายสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น (Explain) สตาร์บัคส์สอนให้พนักงานออกแบบการรับมือด้วยตนเอง และสอนให้รับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดในหลาย ๆ แบบ กระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติจริง พวกเขาก็มีพลังใจต่อสู้กับความท้าทายที่ต้องเผชิญหน้าโดยอัตโนมัติ

นั่นคือความลับของการเปลี่ยนพลังใจให้กลายเป็นนิสัยแทนที่จะปล่อยให้มันฉุดรั้งเราไว้ – ‘การฝึกวางแผนรับมือล่วงหน้าและทำตามแผนที่วางไว้เมื่อมันเกิดขึ้น’

รีวิวหนังสือ พลังแห่งความเคยชิน

การยืนระยะวงจรแห่งนิสัยใหม่

แม้องค์ประกอบที่ทำให้วงจรแห่งนิสัยใหม่เกิดขึ้นจะครบถ้วนและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้แล้วในชีวิต แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่นับเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อให้นิสัยนั้นของเราคงอยู่ไปอย่างถาวรนั่นคือ ‘ความเชื่อ’ เพราะต่อให้เราเลิกนิสัยเก่าหรือฝึกนิสัยใหม่ได้อย่างที่ตั้งใจเอาไว้ แต่หากปราศจากความเชื่อที่มีต่อแง่มุมที่เปลี่ยนแปลงไป โอกาสที่คุณจะพาตัวเองกลับไปสู่กิจวัตรเดิมเมื่อพลังใจลดลงย่อมเป็นไปได้อย่างง่ายดายเพราะคุณรู้ว่าพฤติกรรมเดิมนั้นก็ให้รางวัลตอบแทนได้เช่นกัน

พลังจากหนังสือ

สารที่ถูกส่งให้ผู้อ่านผ่านเรื่องราวของผู้คนและกรณีศึกษาล้วนน่าสนใจและถูกเรียบเรียงถ่ายทอดได้อย่างทรงพลังมาก เราชื่นชอบวิธีการเล่าของผู้เขียนที่สร้างความรู้สึกกระทบใจในบางช่วงตอนจนเผลอคิดว่าอ่านนิยายมากกว่าหนังสือจิตวิทยาเสียอีก เราจึงรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มที่สนุกและอ่านเพลิน หากใครเป็นสายวรรณกรรมที่ยังไม่เคยอ่านหนังสือหมวดจิตวิทยาพัฒนาตนเองมาก่อนและกำลังมองหาหนังสือหมวดนี้สักเล่มเพื่อเริ่มต้น เล่มนี้เหมาะจะเป็นตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้าม

และไม่ว่าจะต้องการสร้างนิสัยที่ดีหรือเลิกนิสัยแย่ ๆ เราทุกคนล้วนเปลี่ยนแปลงมันได้โดยอาศัยความพยายามพร้อมกับการสังเกตตัวเองให้ชัด รวมถึงการเรียนรู้วงจรการเกิดขึ้นของนิสัย หรือพฤติกรรมที่ถูกเวียนนำมาใช้เป็นเครื่องมือตอกย้ำซ้ำ ๆ ให้เราบรรลุความโหยหาบางอย่าง ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องจัดการ จึงอาจเป็นการตัดสินใจว่าความโหยหาใดที่ควรถูกสร้าง เพื่อให้ความเคยชินถูกที่ถูกทาง

ไม่ใช่การเคยชินในเรื่องที่ไม่ควรต้องชิน

The Power of habit รีวิว

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

“พลังแห่งความเคยชิน (The Power of Habit)”

ผู้เขียน : Charles Duhigg
(พรเลิศ อิฐฐ์ และ วิโรจน์ ภัทรทีปกร แปล)

จำนวนหน้า : 360 หน้า / ราคาปก : 295 บาท

สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น

หมวด : จิตวิทยา

how to win friends and influence people review thai version bookreview
ต้นแบบหนังสือจิตวิทยาแปลไทยเล่มแรกที่เนื้อหายังคงปรับใช้ได้ในยุคปัจจุบันแม้ผ่านพ้นนานครึ่งศตวรรษ ร่วมศึกษาแนวปฏิบัติที่จะช่วยให้คุณสร้างมิตรทั้งในเชิงธุรกิจและชีวิตส่วนตัว
ก.ค. 24, 2022
วางใจให้ไร้กังวล don't worry รีวิว
เมื่อโลกหมุนไวและกาลเวลาก็ไม่เคยรอใครข้างหลัง เพื่อลดความวิตกและกลัดกลุ้มกับโลกภายนอก–ความกังวลจากความคิดยึดติดอยู่ภายใน อาจลองนำบทเรียนวิถีแห่งเซนไปปรับใช้ เพื่อเรียนรู้วิธีวางให้ง่าย และผ่อนคลายให้เป็น
มิ.ย. 27, 2024
กล้าที่จะถูกเกลียด2 รีวิว
เจาะลึกถึงรายละเอียดด้านความสัมพันธ์อันเป็นภารกิจของชีวิตตามหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ -- ความสัมพันธ์ด้านการงาน การเข้าสังคม และความรัก
ก.ย. 5, 2021
รีวิวหนังสือ กวีนิพนธ์ สำนักพิมพ์ผจญภัย
รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2565 กวีนิพนธ์แห่งยุคสมัยที่เปิดเปลือยและสะท้อนเสียงอันขื่นขมผ่านตัวอักษร สัมผัสถึงสัมผัสในบรรทัด–ระหว่างวรรคตอน เพื่อฉายภาพชัดซัดย้อนขึ้นมาในทรงจำ
มิ.ย. 10, 2023