บ่อยครั้งที่ความเจ็บปวดไม่ได้เกิดมาจากการบาดเจ็บที่โครงสร้าง แต่มาจากสมองที่บอกเราว่าเนื้อเยื่อของเรากำลังตึงและอาจจะบาดเจ็บได้ ความเจ็บปวดแบบนี้เป็นการป้องกันมากกว่าจะเป็นเรื่องฉุกเฉิน
( – จากหนังสือหน้า 155 )
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
Nick Potter
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกล้ามเนื้อและกระดูกโดยเฉพาะการบาดเจ็บบริเวณกระดูกส่วนคอ
รวมถึงอาการปวดที่ศีรษะ คอ และใบหน้า
เคยเป็นที่ปรึกษาบริษัทเฮดจ์ฟันด์ชั้นนำในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและสุขภาวะของมนุษย์
เคยร่วมงานกับนักกรีฑา โปรกอล์ฟ นักเทนนิส และนักแข่งรถฟอร์มูล่าวันชั้นนำ
และเขายังเป็นผู้ที่คิดค้นเทคนิคการบำบัดรักษาซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือที่อธิบายกระบวนการเกิดความเจ็บปวดของร่างกายมนุษย์แบบวิทยาศาสตร์ทั้งในเชิงการทำงานของระบบภายในร่างกายอันเนื่องมาจากการได้รับบาดเจ็บโดยตรง และการถูกกระตุ้นโดยสภาพแวดล้อมภายนอกซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการเกิดความเจ็บปวดได้แม้ร่างกายไม่ปรากฏบาดแผล
: การเรียนรู้ถึงขั้นตอนการทำงานและการตอบสนองของกลไกอันชาญฉลาดภายในร่างกายของเราทำให้เกิดความเข้าใจและช่วยเราค้นหาร่องรอยอาการเจ็บปวดบางอย่างที่ยังไม่วิกฤติและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองได้เบื้องต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้คนประสบกับความเครียดง่ายขึ้นและบ่อยขึ้นกว่าเดิม
: เนื้อหาในหนังสือแบ่งออกเป็น 9 บท ได้แก่
(1) ความเจ็บปวดคืออะไร
(2) เมื่อความเจ็บปวดกลายเป็นนิสัย
(3) ขอต้อนรับสู่โลกแห่งความเครียด
(4) ความเครียดทำให้เราเจ็บได้อย่างไร
(5) โรคระบาดเงียบ
(6) บันไดของยาโคบ (หรือทำไมอาการปวดหลังถึงแทบจะไม่ค่อยเป็นอย่างที่เห็น)
(7) จิตวิญญาณในร่างกาย
(8) ลมหายใจแห่งชีวิต
(9) สู่อนาคตที่ไร้ความเจ็บปวด
: สำหรับเราจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือการอธิบายเชิงเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นภาพและเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างร่างกายและอารมณ์ที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด ดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในหนังสือว่า ‘ความเจ็บปวดคือผลผลิตจากล่างขึ้นบนและการควบคุมจากบนลงล่าง’ เมื่อเราพอเห็นภาพรูปแบบการทำงานของมัน เราจะพอจัดการในขอบเขตที่เราสามารถทำได้กับตัวเองในเบื้องต้นเพื่อการป้องกันก่อนที่จำเป็นจะต้องรักษา เป็นหนังสือที่เล่าสนุก น่าติดตาม และยังมีคำแนะนำที่ปฏิบัติได้จริงอีกด้วย
ความเจ็บปวดคือสัญญาณที่บ่งบอกถึงการมีชีวิต… คำกล่าวนี้ไม่ว่าในเชิงปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ล้วนเป็นความจริงทั้งสิ้น กระบวนการต่างๆ ในร่างกายของมนุษย์นั้นมีจุดประสงค์อันชัดเจนว่ามันต้องการให้เราอยู่รอดปลอดภัย เพราะฉะนั้นในทางหนึ่ง การสร้างความรู้สึกเจ็บปวดให้เกิดขึ้น นั่นก็เพื่อให้เราหยุดชะงักจากการลงมือทำบางสิ่งหรือชะลอการใช้ชีวิตในบางสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงเท่าทวีและมีโอกาสสูญเสีย
ความเจ็บปวดทั้งหลายจึงเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัยของร่างกาย มันไม่ได้ต้องการทำร้าย แต่เพื่อปกป้องไม่ให้เราได้รับอันตรายยิ่งกว่าเดิมต่างหาก
เราเจ็บปวดได้อย่างไร?
แม้ร่างกายของมนุษย์จะไม่มีเส้นประสาทสำหรับความเจ็บปวดโดยตรง แต่กระบวนการรับความรู้สึกนี้ทำงานตลอดเวลาภายในร่างกายเพื่อประเมินสถานการณ์และสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยแก่ชีวิต หากร่างกายของเราเกิดความเสี่ยงหรือได้รับอันตรายถึงระดับหนึ่ง เส้นประสาทรอบๆ บริเวณนั้นจะส่งสัญญาณไปที่ไขสันหลังเพื่อให้ประเมินอาการและกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเลี่ยงความเจ็บปวด (เช่นนิ้วคุณกระชากกลับทันทีที่เข้าใกล้เปลวไฟ) โดยสัญญาณบางส่วนก็จะถูกส่งไปยังสมองด้วย ถ้าสมองประเมินว่ายังอันตรายอยู่ มันก็จะตัดสินใจใช้ระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ หรือ PNI (Psycho-Neuroendocrine-Immunology) ในการตอบสนองแก่สถานการณ์ต่างๆ ด้วยการระดมสารเคมีกระตุ้นให้เกิดการอักเสบหรือผลิตเซลล์ที่จำเป็นในการต่อสู้กับเชื้อโรค และนั่นคือกรณีของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในทางกายภาพ
ความเจ็บปวดที่ไม่ได้มาจากบาดแผล
จากข้างต้นจะเห็นว่าความเจ็บปวดของเราเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมองตัดสินใจที่จะรับรู้ถึงมัน หรือแม้แต่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงแก่ชีวิตซึ่งอาจยังไม่ปรากฏร่องรอยบาดแผล ไม่เพียงแต่สมองที่มีการตอบสนองเท่านั้น แต่บรรดาฮอร์โมนและเซลล์ภูมิคุ้มกันทั่วร่างกายก็สื่อสารกลับไปยังสมองด้วย หนึ่งในตัวการสำคัญคือ ‘ฮอร์โมนคอร์ติซอล’ ที่ตอบสนองต่อความเครียด แม้ในความเป็นจริงมันจะมีข้อดีในแง่ของการเปิดโหมดการทำงานของร่างกายให้กระตือรือร้นและมีส่วนอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดมาตั้งแต่วิวัฒนาการของมนุษย์ในอดีต แต่ฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งเกินความจำเป็นอันเนื่องมาจากความกังวลต่อภัยคุกคามที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตตลอดเวลา (ซึ่งอาจมีน้อยครั้งที่มันจะทำให้เราถึงแก่ชีวิตจริงๆ) ความเครียดลักษณะนี้จะกลายมาเป็นความเครียดสะสม และฮอร์โมนดังกล่าวที่ไหลเวียนอยู่ก็อาจไปรบกวนระบบชีวภาพตามปกติจนส่งผลต่อภูมิคุ้มกันหรือเนื้อเยื่อ ซึ่งก็จะไปทำให้ความเจ็บปวดถูกสร้างขึ้นเพื่อเตือนภัยเรานั่นเอง
ความเจ็บปวดเรื้อรังมีพลังมากกว่าแค่สร้างความรำคาญ
งานวิจัยหนึ่งซึ่งถูกกล่าวถึงในหนังสือ The Power of Habit ของชาร์ลส์ ดูฮิกก์ ระบุว่า แม้จะให้ผู้ที่เลิกบุหรี่แล้วไปทดลองสแกนสมอง เราก็จะยังคงพบวิถีประสาทของเอกลักษณ์นิสัยเก่าอยู่เช่นเดิม ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสที่มันจะถูกกระตุ้นหรือรบกวนได้อีกเสมอ เฉกเช่นเดียวกับวิถีประสาทที่เป็นร่องรอยของของความเจ็บ การถูกกระตุ้นให้รู้สึกเจ็บซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ความเจ็บปวดเหล่านั้นจะเริ่มเชื่อมโยงเข้ากับความกลัวหรือบริบทสภาพแวดล้อม สร้างความปั่นป่วนให้แก่ระบบประสาทส่วนกลางจนทำให้เรารู้สึกไวต่อความเจ็บปวดมากกว่าปกติ เมื่อความถี่ถูกส่งเข้าหาสมองมากขึ้นก็จะทำให้สมองเกิดการตีความรูปแบบอันตรายที่ผิดไปจากความเป็นจริง กลายเป็นวัฏจักรความเจ็บปวดไม่จบไม่สิ้น ยิ่งไปกว่านั้น จากผลการวิจัยของศาสตราจารย์วาเนีย อัปเคเรียน เรื่องที่มาของความเจ็บปวดและผลกระทบต่อความคิด พบว่าการสัมผัสความเจ็บปวดเรื้อรังเป็นเวลานานกว่า 5 ปีจะทำให้สมองเนื้อสีเทาที่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อและการรับรู้ทางประสาทสัมผัสสูญเสียความหนาแน่น 5 – 11% โดยเฉพาะส่วนของฮิปโปแคมปัสซึ่งทำหน้าที่สร้างและเชื่อมโยงความทรงจำ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้ความสามารถในการตัดสินใจและการทำงานปกติในบุคคลลดลงด้วย
แล้วเราจะรู้เรื่องนี้ไปทำไมในเมื่อโลกนี้มีทั้งแพทย์และโรงพยาบาล
เพราะรากลึกของบรรดาความเจ็บทั้งหลายอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากบาดแผลทางกายภาพ และไม่ว่ามันจะเริ่มต้นด้วยจุดเจ็บเล็กน้อยเพียงใดแต่ก็อาจกลายไปเป็นความป่วยไข้หรือโรคภัยได้จริงๆ การรู้กลไกลทางร่างกายเบื้องต้นมีส่วนช่วยให้เรารู้วิธีหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและพฤติกรรมที่อาจกลายเป็นปัญหาในระยะยาว สมรรถนะทางร่างกายที่ลดลงเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เราพยายามประคับประคอง ป้องกัน หรือรักษาสมดุลเพื่อชะลอความเสื่อมถอยได้ ไม่เพียงแต่ความเจ็บปวดที่เกิดในทางกายภาพเท่านั้น หนังสือยังนำเสนอความสอดคล้องของสภาวะทางจิตใจที่ส่งผลโดยตรงมายังร่างกายอีกด้วย สำหรับเราหนังสือเล่มนี้จึงเป็นเล่มที่เรียกว่าบรรยายจักรวาลความเจ็บได้อย่างครอบคลุมและเห็นภาพ มีการเล่าเปรียบเปรยวิทยาศาสตร์ร่างกายไว้ได้อย่างน่าติดตาม และยังมีคำแนะนำที่ดูเป็นเรื่องใกล้ตัวง่ายๆ แต่ต้องยอมรับว่าเรามองข้ามไป เช่น เรื่องการหายใจและการเลือกสวมใส่รองเท้า
หลังจากอ่านจบคุณจะเข้าใจว่ากลไกร่างกายก็พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะดูแลเรา
เราเองก็น่าจะช่วยมันอีกแรง
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“จักรวาลของความเจ็บ (The Meaning of Pain)”
ผู้เขียน : Nick Potter
(ไอริสา ชั้นศิริ แปล)
จำนวนหน้า : 279 หน้า / ราคาปก : 279 บาท
สำนักพิมพ์ : แคคตัส
หมวด : สุขภาพ