Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : กล้าที่จะถูกเกลียด 2 (คิชิมิ อิชิโร, โคะกะ ฟุมิทะเกะ)

รีวิวหนังสือ : กล้าที่จะถูกเกลียด 2 (คิชิมิ อิชิโร, โคะกะ ฟุมิทะเกะ)

กล้าที่จะถูกเกลียด2 รีวิว

หลายคนเกิดคำถามในชีวิตว่าทำอย่างไรถึงจะมีความสุขได้

บางคนค้นพบคำตอบ – ชั่วครู่ , ชั่วคราว แล้วกลับสู่วงโคจรแห่งการพยายามที่จะมีความสุขอีกครั้ง

ในความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนักที่จะตัดสินว่าความสุขของใครคนไหนคือเรื่องจริงหรือเรื่องเพ้อฝัน

แต่หากว่าคุณลังเลที่จะเรียกมันได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

เราขอเชิญชวนให้มาลองทำความรู้จักกับแนวคิดจิตวิทยาเชิงปรัชญาแบบแอดเลอร์จากหนังสือชุดนี้

✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️

• คิชิมิ อิชิโร •
นักจิตวิทยาที่ได้รับการรับรองจากสมาคมจิตวิทยาแอดเลอร์แห่งญี่ปุ่น
เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญายุโรปตะวันตก โดยเฉพาะหลักปรัชญาเพลโต
โดยได้ศึกษาแนวปรัชญามาตั้งแต่วัย 20 จนกระทั่งได้เริ่มต้นรู้จักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ในวัย 30
จากนั้นจึงเริ่มทำงานให้คำปรึกษาด้านจิตเวชแก่คนหนุ่มสาวตามโรงพยาบาล

• โคะกะ ฟุมิทะเกะ •
นักเขียนอิสระ
เขาได้รู้จักกับแนวคิดทางจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ผ่านผลงานของอาจารย์คิชิมิ อิชิโรที่ถ่ายทอดได้อย่างลึกซึ้ง
ใฝ่ฝันว่าสักวันจะตีพิมพ์หนังสือพิเศษสักเล่มร่วมกับอาจารย์ที่ว่าด้วยหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์
และสิ่งนั้นก็เกิดขึ้นจริงหลังผ่านไปร่วม 10 ปี
🎯 SUMMARY VIEW 🎯

: หนังสือกล้าที่จะถูกเกลียด 2 นี้ ยังคงเป็นบทสนทนาระหว่างชายหนุ่มและนักปรัชญาบนพื้นฐานการทำความเข้าใจด้วยหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ แต่มีความลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

: เหตุเกิดเมื่อชายหนุ่มนำแนวทางตามหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ไปใช้ประกอบอาชีพครูแล้วไม่ประสบผลสำเร็จทั้งยังส่งผลกระทบแง่ลบกับชีวิตของเขา เขาจึงต้องการมาพูดคุยถกเถียงถึงความเป็นมายาคติที่ไม่สามารถใช้ได้บนโลกแห่งความจริง เพื่อตัดสินใจว่าเขาจะทิ้งแนวคิดนี้ไปหรือเข้าใจมันให้แตกฉาน

: เนื้อหาภายในเล่มส่วนใหญ่จึงเน้นถึงประเด็นปัญหาในเรื่องการทำหน้าที่ครูหรือผู้สอน โดยใช้การขยายความจาก "ภารกิจของชีวิต" ตามหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ ซึ่งได้แก่ ความสัมพันธ์ด้านการงาน การเข้าสังคม และความรัก มาอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและแนวทางการรับมือ ทำให้เราได้เรียนรู้ทั้ง 3 ส่วนนั้นในแบบที่เจาะลึกมากยิ่งขึ้น

: การเคารพและความรัก เป็น 2 สิ่งที่เราไม่สามารถบังคับเอาจากใครได้ การสอนเพื่อให้เกิดการตื่นรู้จากภายในจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะของการเป็นมนุษย์

: ฉะนั้นนอกเหนือจากผู้ที่กำลังมองหาความสุขในการดำเนินชีวิตตามหลักคิดแบบแอดเลอร์แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเหมาะกับครูผู้สอนหรือคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องการแนวทางที่จะนำไปใช้กับเด็กหรือนักเรียนเพื่อสอนให้เขาเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองได้บนความเข้าใจของพื้นฐานความเป็นมนุษย์ (จากหนังสือเป็นประเด็นปัญหาของห้องเรียนชั้นมัธยมต้น)

: ถ้าไม่อ่านเล่ม 1 ข้ามมาอ่านเล่ม 2 เลยได้ไหม? ... อาจทำให้ผู้อ่านพลาดประเด็นหลักสำคัญ ๆ ของจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ แม้ว่าภายในเล่ม 2 นี้จะมีบทสนทนาทบทวนแนวคิดจากเล่ม 1 อยู่บ้างก็ตาม เพราะ คิชิมิ อิชิโร ได้กล่าวถึงในบทส่งท้ายว่า กล้าที่จะถูกเกลียดเล่มแรกนั้นเปรียบเสมือนแผนที่ ในขณะที่เล่มสองนี้คือเข็มทิศ

: และเรายังคงยืนยันคำเดิม การถามตอบทุกประเด็นด้วยหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์นั้นเป็นคำตอบที่ปฏิเสธได้ยากเพราะมันมีความจริงแท้สมบูรณ์ แต่ด้วยความสมบูรณ์จนดูเหมือนอุดมคตินี่เองที่ทำให้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตจริงก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก

: แอดเลอร์ต้องการให้จิตวิทยานี้เป็นของทุกคนไม่ใช่แค่แนวคิดที่บรรจุอยู่ในตำรา แต่มุ่งเน้นการคงอยู่ในรูปสามัญสำนึกซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย

: อ่านรีวิวหนังสือ "กล้าที่จะถูกเกลียด" เล่ม 1 >> คลิก <<
รีวิวหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด เล่ม2 ความรู้เรื่องมนุษย์

เมื่อความเชื่อมั่นในแนวความคิดจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ของชายหนุ่มสั่นคลอนจากความล้มเหลวที่เขาเพียรพยายามในอาชีพครู เขาจึงกลับมาถกถึงประเด็นความเป็นมายาคติอีกครั้งกับนักปรัชญาคนเก่า ในสถานที่เก่า พร้อมด้วยห้วงอารมณ์ของความผิดหวังที่สุดท้ายแล้วตัวเองก็ยังไม่สามารถมีความสุขที่แท้จริงได้ตามที่ตั้งใจไว้ ซ้ำร้าย มันทำให้เขารู้สึกว่าจิตวิทยาแบบแอดเลอร์คล้ายดั่งศาสนาที่มอมเมาคนให้เชื่องมงายและกลายเป็นผู้แปลกแยกที่ควรได้รับการบำบัดเพราะมันขาดการยอมรับในคนหมู่มาก

นักปรัชญาอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างปรัชญาและศาสนาไว้อย่างน่าประทับใจมาก ๆ ว่าทั้งสองสิ่งนี้ต่างกันที่ “เรื่องเล่า” ศาสนาอาจใช้ศาสดาเป็นตัวเอก ในขณะที่ปรัชญาไม่มี การเชื่อมั่นในสัจธรรมคือศาสนา หากแต่ปรัชญาคือการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด  คล้ายกับความหมายในภาษากรีกที่แปลว่า “ผู้รักในความรู้” (Philosophia)

หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์มีความคล้ายคลึงกับหลักปรัชญามากกว่าวิทยาศาสตร์ เพราะมีการอธิบายถึงความเป็นนามธรรมแบบที่ไม่ได้อ้างถึงผลการทดลองใด ๆ นอกจาก “ความเชื่อในศักยภาพของความเป็นมนุษย์“ บนความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกัน หรืออาจกล่าวได้ว่าจิตวิทยาแบบแอดเลอร์นั้นเป็น “หลักจิตวิทยาแบบประชาธิปไตย” และจากการที่ชายหนุ่มนำแนวความคิดเรื่อง ‘ห้ามว่าและห้ามชม‘ ไปใช้ภายในชั้นเรียนแล้วผลปรากฏว่าสภาพชั้นเรียนนั้นกลายเป็นพื้นที่ไร้ระเบียบ เขาถูกมองว่าเป็นครูที่ไร้ประสิทธิภาพ และต่อให้เปลี่ยนท่าทีมาดุด่าว่ากล่าวในภายหลังเพื่อควบคุมทุกอย่างก็ไม่มีเด็กคนไหนยอมเชื่อฟังอีกต่อไปแล้ว

นักปรัชญาแนะนำให้เขาเริ่มต้นจากการหยิบยื่นความเคารพให้แก่เด็กก่อน พร้อมกับให้มีมุมมองต่อการสอนของตนว่าเป็นการช่วยเหลือโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กคนนั้น “พึ่งพาตัวเองได้” และมองห้องเรียนให้เป็นประเทศประชาธิปไตยเพื่อขับเคลื่อนกันไปบนความร่วมมือ

ซึ่งไม่ใช่เพียงแง่มุมของการสอนเท่านั้น การเคารพกันยังถือเป็นก้าวแรกในการสร้างความสัมพันธ์กับทุกคนบนโลกใบนี้ เป็นการเคารพกันในฐานะของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม

หลักจิตวิทยาแบบประชาธิปไตย หลักจิตวิทยาแอดเลอร์

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในเล่มแรก กล้าที่จะถูกเกลียด เคยระบุไว้ว่าความทุกข์ใจล้วนมาจากเรื่องของความสัมพันธ์ เล่มนี้ได้ชี้ชัดมากขึ้นไปอีกว่า “ความสุข” ก็เช่นเดียวกันที่ความสัมพันธ์มอบให้ (มันทำให้เรานึกถึงคำคลิเช่ที่เคยได้ยินบ่อย ๆ ว่า คนที่ทำเรายิ้มได้คือคน ๆ เดียวกันกับคนที่ทำให้เราร้องไห้มาแล้ว)

เพราะในการเผชิญหน้ากับภารกิจของชีวิตทั้งด้านการงาน ด้านการเข้าสังคม และด้านความรัก ปลายทางของความสำเร็จเหล่านั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นความสุขสำหรับมนุษย์เราอย่างแท้จริง

เริ่มต้นที่ด้านการงาน มนุษย์เราจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีจัดสรรแบ่งงานกันทำ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความอ่อนแอ ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่รอดเพียงลำพังได้ อีกทั้งด้วยลักษณะทางกายภาพและข้อจำกัดต่าง ๆ การดูแลปกป้องตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยด้วยการทำทุกอย่างไปพร้อม ๆ กันย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทำให้ภารกิจของด้านการงานเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ แอดเลอร์มองในรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดงานขึ้นมาว่ามันตั้งอยู่บนพื้นฐานในการเรียนรู้ที่จะหยิบยื่น “ความเชื่อถือ” ให้แก่ผู้อื่น แล้วกลับมาลงมือทำสิ่งที่ตนเองทำได้ดีต่อไปโดยยึดประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง เช่น นักทำลูกธนูที่เก่งกาจแต่ล่าสัตว์ไม่เป็นก็จะใช้วิธีทำลูกธนูเพื่อนำไปแลกกับเนื้อสัตว์มาใช้ดำรงชีพ แม้ว่านั่นจะคล้ายกับการทำเพื่อตนเอง แต่แอดเลอร์มองว่าเมื่อใดที่เราทำเพื่อความสุขของตัวเองไปเรื่อย ๆ มันจะกลายเป็นความสุขของใครสักคนโดยอัตโนมัติ

เราสามารถมองได้ว่างานทุกงานจำเป็นจะต้องมีใครสักคนทำเสมอ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีงานใดด้อยกว่างานใด คุณค่าของมนุษย์จึงไม่อาจตัดสินได้จากประเภทงานที่ทำ แต่ตัดสินจากท่าทีที่มีต่องานนั้น ว่าเขาทำงานด้วยลักษณะและทัศนคติแบบไหน ช่วยก่อให้เกิดความรู้สึกที่อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งด้วยหรือเปล่า

ด้านการเข้าสังคมและความรัก เราจะใช้ “ความเชื่อใจ” เป็นสะพาน ซึ่งแตกต่างจากการใช้ความเชื่อถือในภารกิจด้านการงาน เพราะการเชื่อถือเราจะเชื่อโดยมีเงื่อนไข (เชื่อในประสิทธิภาพของผลงานหรือความรู้ความสามารถที่เขามี ตัวอย่างเช่น เราเชื่อหมอ เชื่อวิศวกร เพราะเขามีความรู้ความสามารถในด้านนั้น ๆ) ในขณะที่ความเชื่อใจเป็นการเชื่อโดยปราศจากเงื่อนไข และมันใช้ได้ดีในแง่ของการเข้าสังคมและการมอบความรัก

ภารกิจของชีวิตด้านการงาน เราทำโดยยึดประโยชน์ส่วนตน แต่ภารกิจด้านการเข้าสังคม เราจะยึดความสุขของคนอื่น

ส่วนภารกิจด้านความรัก เป็นการยึดหลัก “ความสุขของเราสองคน” ที่ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้

เมื่อแรกเกิดมนุษย์จะมองโลกด้วยมุมมองของ “ตัวฉัน” และมีเป้าหมายสำคัญที่สุดคือการเอาชีวิตรอดโดยเลือกไลฟ์สไตล์ที่จะช่วยให้เป็นที่รัก เพื่อให้ได้รับความสนใจ ผู้ที่มีลักษณะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ได้รับความสนใจใส่ใจเสมอจึงเป็นผู้ที่มีลักษณะ ‘ไลฟ์สไตล์ของเด็ก’ ซึ่งการที่คนเราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้นั้น ก็ด้วยมาจากการรู้จัก ‘รักผู้อื่น’

เมื่อได้รู้จักความรักที่แท้จริง ประธานของชีวิตจะเปลี่ยนไปเป็น “เราสองคน” หรือ “พวกเรา” และหากให้เรียงลำดับความสำคัญแล้ว สิ่งที่จะทำให้มนุษย์มีความสุขมากที่สุดคือความสุขรูปแบบนี้ – เหนือไปจาก “ตัวเอง” และ “ผู้อื่น” – ยิ่งไปกว่านั้น การรักใครสักคนยังต้องอาศัยความกล้าอย่างยิ่ง เพราะภารกิจด้านนี้มาพร้อมกับความรับผิดชอบและโอกาสของความเจ็บปวดอีกมากมาย นักปรัชญายังได้กล่าวย้ำอีกว่ามีแค่เพียงการรักคนอื่นเท่านั้นที่จะทำให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พึ่งพาตัวเองได้ และเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นการตอบโจทย์เป้าหมายทางด้านพฤติกรรมและจิตใจตามแนวความคิดแอดเลอร์

ความรักตามจิตวิทยาแบบแอดเลอร์มองต่อยอดไปในมุมที่กว้างไกลกว่าความรักในเชิงหนุ่มสาวมาก คล้ายกับให้เรื่องของรักโรแมนติกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะเรียนรู้ถึงการรัก โดยเขายังมุ่งเน้นการรักเชิงรุก มากกว่าการใช้เทคนิคทำตัวให้เป็นที่รักหรือการเฝ้ารอความรักอีกด้วย

ทุกสิ่งบนโลกใบนี้หากต้องการให้มีจุดเริ่มต้น มันจำเป็นจะต้องอาศัยใครสักคนเริ่มก่อนเสมอ ซึ่งคน ๆ นั้นควรจะเป็นตัวเรา

ความรักแบบแอดเลอร์ รีวิวหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด2

ในพาร์ทที่เป็นภารกิจด้านความรักสำหรับเราแล้ว หนังสือได้มีการอธิบายไว้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับภารกิจทั้งสองส่วนแรก ซ้ำนักปรัชญาในหนังสือยังตัดตอนว่าให้เป็นธุระของชายหนุ่มขณะที่เขากำลังเรียบเรียงความคิดภายในหัว คล้ายกับว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อนเกินกว่าจะใช้หลักการหรือปรัชญาใด ๆ มาบอกกล่าวกันได้

มันเป็น “ธุระ” ของตัวชายหนุ่มเท่านั้นที่จะต้องตัดสินใจที่จะ “รัก”

โดยส่วนตัวเราเอง หลังจากได้อ่านกล้าที่จะถูกเกลียดเล่ม 2 นี้รู้สึกได้ว่าทุกอย่างในหัวมันโล่งและแน่นขนัดไปพร้อม ๆ กัน คล้ายกับว่ามีบางสิ่งบางอย่างก่อกำเนิดขึ้น เป็นจุดเล็ก ๆ ที่ยังคงติดค้างทั้งในแง่ความเข้าใจและความรู้สึก ราวกับว่าเรามองเห็นบันไดทางเดินชีวิตที่จิตวิทยาแบบแอดเลอร์มอบให้ แต่ก้าวแรกที่เราจะตัดสินใจกลับยังอยู่ภายใต้ความลังเลที่คลุมเครือ

มีประโยคหนึ่งในหนังสือที่เราเชื่อและรับรู้ได้ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง คือถ้าได้รู้จักแนวคิดของแอดเลอร์ครั้งหนึ่ง คุณจะกลับไปยืนในจุดเดิมไม่ได้อีกต่อไป

เราคิดว่าอาจมีคนสองแบบที่จะเกิดขึ้นหลังจากอ่านหนังสือชุดนี้จบ แบบแรกคือคนที่วนกลับมาอ่านซ้ำในวันหนึ่งวันใดข้างหน้า หรือหวนนึกถึงจิตวิทยาแอดเลอร์นี้ขึ้นมาในสักวันท่ามกลางการเดินทางยาวนานของชีวิต

กับอีกแบบคือคนที่เข้าใจแจ่มชัด และฝังเมล็ดแห่งแนวคิดของแอดเลอร์นี้ไว้ลงในหัวใจ เฝ้ารอกาลเวลาเพื่อให้มันเจริญเติบโตอยู่ภายในเงียบ ๆ และเมื่อผลิดอกออกผล เขาอาจหยิบยื่นมันให้แก่บุคคลอื่นได้ลิ้มรส กระทั่งผลไม้ที่ชื่อว่าแนวคิดของแอดเลอร์นี้ถูกกินจนหมดสิ้น อีกฝ่ายจึงได้พบเมล็ดพันธุ์ที่แก่นแกน ขึ้นอยู่กับว่ามันจะได้รับการเพาะปลูก หยั่งราก ผลิตผล และส่งต่อไปอีกหรือไม่

ซึ่งนั่น … ไม่ใช่ “ธุระ” ของเขา


“กล้าที่จะถูกเกลียด 2”

ผู้เขียน : คิชิมิ อิชิโร, โคะกะ ฟุมิทะเกะ (อภิญญา เตชะบุญไพศาล แปล)

จำนวนหน้า : 304 หน้า / ราคาปก : 240 บาท

สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น

หมวด : จิตวิทยา

📌 สนใจหนังสือเล่มนี้

🛒 ร้านนายอินทร์

🛒 ร้าน SE-ED

🛒 SHOPEE ONLINE

🛒 LAZADA ONLINE

รีวิว science of storytelling ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่องให้ตรึงใจด้วยวิทยาศาสตร์สมอง
เรามีจินตนาการที่อยากเล่า มีแก่นเรื่องราวที่อยากส่งผ่าน แต่จะถ่ายทอดมันอย่างไรให้ผู้คนตราตรึงใจและเฝ้าติดตามไปจนจบ ชวนศึกษาวิธีเล่าเรื่องที่อาศัยทั้งศาสตร์สมองและศิลป์ของมนุษย์เพื่อก้าวสู่จุดที่ผู้คนจะหยุดฟังเรื่องเล่าของเราไม่ได้
เม.ย. 29, 2024
รีวิวหนังสือ NIKSEN ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย
เมื่อการปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลยสำหรับคุณกลายเป็นเรื่องไร้สาระ ในขณะที่แต่ละวันก็ยังทนแบกรับความเหนื่อยหนักที่มากเกินไปเพราะคิดว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง ขอชวนลองเรียนรู้การสร้าง Empathy ให้ตัวเองด้วยปรัชญา Niksen ของชาวดัตช์กันค่ะ
ต.ค. 16, 2021
รีวิวหนังสือ Mindset พัฒนาตนเอง
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณมีกรอบความคิดที่เอื้อต่อการมองเห็นโลกในแบบที่ตัวคุณเชื่อว่าจะรับมือได้ ไม่ว่ามันจะส่งบททดสอบแบบใดมาให้ก็ตาม ชวนอ่านหนังสือจิตวิทยายอดนิยม ที่ช่วยลับคมมุมมองด้วยวิธีใหม่ ให้ตัวคุณพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพกว่าที่เคย
ก.ค. 9, 2023
รีวิวหนังสือ นิ้วกลม 2022 ไม่เป็นบ้าไปกับโลก LIP L.I.P
อ้าแขนเปิดรับการปลอบประโลมที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งจากนักเขียนสายฮีลใจ ชวนให้คุณพักจากโลกเร็ว - โลกไว - โลกบ้า ... Why do we only ‘Rest In Peace’, why don’t we ‘Live In Peace’ too? ...
มิ.ย. 15, 2022