Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : กล้าที่จะถูกเกลียด (คิชิมิ อิชิโร, โคะกะ ฟุมิทะเกะ)

รีวิวหนังสือ : กล้าที่จะถูกเกลียด (คิชิมิ อิชิโร, โคะกะ ฟุมิทะเกะ)

รีวิวหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด 1

หากวันนี้คุณมีความทุกข์ภายในใจ

เป็นไปได้หรือไม่ว่ามันเป็นความทุกข์จากความสัมพันธ์กับผู้อื่น

หากถามตอบตัวเองจนลึกลงไปแล้วพบว่ามัน “ไม่จริง” ถ้าเช่นนั้นคุณอาจไม่จำเป็นต้องอ่านเล่มนี้

เพราะคุณคงไม่ต้องอาศัยความกล้าที่จะถูกเกลียดเพื่ออิสรภาพในตัวเองขนาดนั้น

✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️

• คิชิมิ อิชิโร •
นักจิตวิทยาที่ได้รับการรับรองจากสมาคมจิตวิทยาแอดเลอร์แห่งญี่ปุ่น
เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญายุโรปตะวันตกโดยเฉพาะหลักปรัชญาเพลโต
โดยได้ศึกษาแนวปรัชญามาตั้งแต่วัย 20 จนกระทั่งได้เริ่มต้นรู้จักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ในวัย 30
จากนั้นจึงเริ่มทำงานให้คำปรึกษาด้านจิตเวชแก่คนหนุ่มสาวตามโรงพยาบาล

• โคะกะ ฟุมิทะเกะ •
นักเขียนอิสระ
เขาได้รู้จักกับแนวคิดทางจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ผ่านผลงานของอาจารย์คิชิมิ อิชิโรที่ถ่ายทอดได้อย่างลึกซึ้ง
ใฝ่ฝันว่าสักวันจะตีพิมพ์หนังสือพิเศษสักเล่มร่วมกับอาจารย์ที่ว่าด้วยหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ 
และสิ่งนั้นก็เกิดขึ้นจริงหลังผ่านไปร่วม 10 ปี
🎯 SUMMARY VIEW 🎯

: หนังสือใช้วิธีเล่าเรื่องแบบบทสนทนาระหว่างนักปรัชญาและชายหนุ่มตลอดทั้งเล่ม ภาษาจึงเข้าใจง่าย เหมือนฟังคนคุยกันในรูปแบบตัวหนังสือ

: เนื้อหาบอกเล่าถึงปัญหาของชายหนุ่มที่เป็นคนไม่มีความสุข โดยมีนักปรัชญาแนะนำถึงมุมมองความคิดด้วยจิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์

: อัลเฟรด แอดเลอร์ คือ จิตแพทย์ชาวออสเตรียในต้นศตวรรษที่ 20 (ยุคเดียวกันกับซิกมันด์ ฟรอยด์ และ คาร์ล จี ยุง) เดิมเคยเป็นสมาชิกคนสำคัญของสมาคมจิตวิเคราะห์แห่งเวียนนาที่ฟรอยด์เป็นผู้ก่อตั้ง แต่เกิดความขัดแย้งกันในเรื่องทฤษฎีจึงแยกตัวออกมา โดยนำเสนอทฤษฎีตัวเองที่เรียกว่า “หลักจิตวิทยาปัจเจกบุคคล”

: ว่ากันว่าหลักจิตวิทยาปัจเจกบุคคลนั้นเรียบง่ายแต่ทำตามได้ยาก เพราะขัดกับความเชื่อพื้นฐานของมนุษย์เราหลายอย่าง

: จิตวิทยาแบบแอดเลอร์มีไว้เพื่อการ “นำไปใช้” ในขณะที่จิตวิทยาแบบฟรอยด์คือหลักจิตวิทยาที่อธิบายถึง “สิ่งที่เป็นอยู่”

: หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาคับข้องใจในชีวิต ทั้งความคิดหวาดระแวงผู้อื่น รู้สึกอิจฉา รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ ยึดติดกับอดีต รู้สึกว่าการมีความสุขเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ ภายในเล่มยังมีวิธีเรียนรู้การยุติปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์ การเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์กับตัวเอง เพื่อนฝูง บทบาทของลูกที่มีปัญหา และการมีส่วนในสังคมด้วย

: แต่อย่างที่บอกข้างต้นว่าจิตวิทยาแบบแอดเลอร์มีไว้เพื่อการนำไปใช้ แต่ก็ทำตามได้ไม่ง่ายนัก ว่ากันว่ากว่าจะเข้าใจหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ได้ถ่องแท้จนนำไปเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ อาจต้องใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมา เช่น หากคุณเริ่มต้นเรียนรู้ตอนวัย 20 ก็จำเป็นต้องใช้เวลาอีก 10 ปี หรือกระทั่งอายุ 30 จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตน

ภายใต้ความคับข้องหมองใจของชายหนุ่มที่รู้สึกว่าการมีความสุขช่างเป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับเขา ผู้ถูกเลี้ยงดูมาจากพ่อแม่ที่เข้มงวดและถูกเปรียบเทียบกับผู้เป็นพี่ชายมาตลอดเวลาว่าตัวเองนั้นไม่ได้เรื่อง เขาเชื่อว่าหากในวัยเด็กเขาไม่มีเรื่องแผลใจเหล่านั้น ชีวิตในวันนี้ของเขาย่อมจะต้องดีกว่านี้ เขาจึงได้เดินทางไปเปิดบทสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักปรัชญาคนหนึ่ง ผู้ซึ่งกล่าวว่าแท้จริงแล้วโลกนี้นั้นเรียบง่ายไม่ได้มีอะไรซับซ้อน และทุกคนสามารถมีความสุขได้อย่างแน่นอน

‘โลกไม่ได้วุ่นวาย ตัวคุณต่างหากที่วุ่นวาย’ นักปรัชญาบอกชายหนุ่มไว้แบบนั้น …

นักปรัชญาเล่าถึงจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ความยุ่งเหยิงในชีวิตของชายหนุ่มชนิดที่เรียกได้ว่าแทบจะทุกเรื่องราว มันเริ่มตั้งแต่ที่เขาคิดว่าอดีตเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย ตามหลักจิตวิทยานี้มีแนวความคิดว่าชีวิตถูกกำหนดโดยความหมายที่ตัวเราเป็นผู้มอบให้แก่ประสบการณ์ และเพราะคำว่าแผลใจไม่มีอยู่จริง ก็ชวนให้เรานึกถึงสิ่งที่เคยได้พบว่าบางครั้งคนที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างโหดร้ายก็อาจมีหัวใจที่อ่อนโยนได้หากเขาให้ความหมายแก่ประสบการณ์ที่เขาได้รับมาในรูปแบบที่ต่างออกไป

ในทำนองเดียวกันกับบุคคลที่มีปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งคิดว่าถูกผูกโยงกับที่มาในอดีต ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาของบุคคลที่มีลักษณะยึดเป้าหมายเป็นสำคัญ เขาจึงสร้างอาคมศักดิ์สิทธิ์ของตัวเอง อาจเป็นความรู้สึกกลัว หวาดระแวง เพื่อให้เป้าหมายที่เป็นปัญหานั้นของเขายังคงอยู่ อาจเป็นเป้าหมายบางอย่างที่ช่วยให้เขาบรรลุความต้องการแฝงเร้นที่ซ่อนอยู่ภายใน ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

และเป้าหมายส่วนใหญ่มีส่วนเชื่อมโยงกับเรื่องราวของความสัมพันธ์กับใครสักคนเสมอ

จิตวิทยาแอดเลอร์เชื่อว่า ทุกสิ่งมาจากการเลือกด้วยตัวของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง อยากมีความสุข กระทั่งความรู้สึกทุกข์ และที่คนเราคิดว่าเปลี่ยนไม่ได้นั่นเป็นเพราะเราไม่มีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงต่างหาก! หลักจิตวิทยาของแอดเลอร์เป็นหลักที่ว่าด้วยเรื่องของความกล้า และนั่นก็อาจเป็นที่มาของชื่อหนังสือที่ว่า จง “กล้าที่จะถูกเกลียด”

แล้วเหตุใดต้องถูกเกลียด ? มนุษย์ควรเชื่อมความสัมพันธ์อันดีเพื่อมีความสุขไม่ใช่หรือ ?

รีวิวหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด

เพราะความทุกข์ใจของมนุษย์ล้วนมาจากความสัมพันธ์ หากคุณอยากกำจัดความทุกข์ให้หมดไป คุณก็ควรจะใช้ชีวิตคนเดียวในจักรวาล (สุดโต่งเนอะ แต่คือก็เถียงไม่ได้ มันก็ดูจะเป็นแบบนั้นนั่นแหละ) แต่ไม่แน่ว่าเมื่อถึงเวลานั้นจริง คุณจะยังรู้จักสิ่งที่เรียกว่าความสุขอยู่หรือเปล่า

หลายต่อหลายเหตุผลที่นักปรัชญาตอบโต้กับชายหนุ่ม ตัวเราเองที่อ่านก็รู้สึกได้ว่าอยู่ในลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้ บ้างก็ถูกอกถูกใจกับคำโต้แย้งของชายหนุ่ม (ใช่ ๆ ๆ หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์นี่ประหลาดมาก!!) แต่บางครั้งก็จนใจที่จะแย้งคำตอบของนักปรัชญาคนนี้ได้ บางคำตอบนั้นแสนเรียบง่าย แต่เป็นความเรียบง่ายที่คล้ายดั่งมีดกรีดปมความเชื่อของเราอย่างเชือดเฉือน

หลักจิตวิทยาของแอดเลอร์นั้นระบุว่า มนุษย์เรามีเป้าหมายด้านพฤติกรรมและจิตใจที่ชัดเจนมาก นั่นคือเราต้องการพึ่งพาตัวเองได้ และอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ดี โดยที่มีเป้าหมายทางด้านจิตใจที่จะคอยส่งเสริม 2 สิ่งนั้นให้บรรลุเป้าหมาย นั่นคือการรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถและการรู้สึกว่าทุกคนเป็นมิตรของเรา และการที่จะทำเป้าหมายเหล่านั้นให้สำเร็จ เราจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า “ภารกิจของชีวิต” นั่นคือความสัมพันธ์ 3 ด้านที่เกิดขึ้นระหว่างการเติบโตของมนุษย์ ได้แก่ ด้านการงาน ด้านการเข้าสังคม และด้านความรัก

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ คุณอาจรู้สึกถึงความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น หลักจิตวิทยาของแอดเลอร์เป็นหลักจิตวิทยาของความกล้า และถ้าหากอยากเป็นคนมีความสุข คุณต้องกล้าที่จะถูกเกลียด แต่ก็ยังบอกว่าเป้าหมายของมนุษย์คือการบรรลุเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย!

ความกล้าที่จะถูกเกลียดในทางหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ ไม่ได้ให้คุณตั้งใจทำเรื่องเลวร้ายหรือตั้งหน้าตั้งตาทำอะไร ๆ จนคนอื่นเกลียด แต่หมายถึงการมีอิสรภาพจากคำวิพากษ์วิจารณ์ ความคิดและการตัดสินของคนอื่น รวมถึงการเลิกปรารถนาจะต้องให้เป็นที่ยอมรับ โดยเชื่อว่าอำนาจในการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์อยู่ในมือเรา ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใด จะด้านการงาน สังคม หรือความรัก ให้เริ่มต้นจากตัวเราเป็นอันดับแรก และปล่อยให้ที่เหลือเป็น “ธุระ” ของผู้อื่น

ยอมรับตัวเองให้มากพอ – ก็ดูจะเป็นภาระใหญ่อยู่แล้วที่ต้องจัดการ

เพื่อการนั้น เราจึงต้องเริ่มต้นจากตัวเองด้วยการแยกแยะธุระของแต่ละคนออกจากกันให้ได้ แบ่งแยกให้ออกว่าสิ่งไหนคือธุระของเรา และสิ่งไหนไม่ใช่ จากนั้นจึงเรียนรู้ที่จะไม่ก้าวก่ายและยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม และขั้นตอนสุดท้ายคือการปลุกความกล้า

เราค่อนข้างชื่นชอบพาร์ทที่อธิบายถึงเรื่องความแตกต่างอย่างเท่าเทียมของหนังสือมาก ๆ
มีตอนหนึ่งที่พูดได้อย่างเห็นภาพมาก ทำนองว่าเปรียบเสมือนเราเดินอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน
คุณอาจเป็นคนที่เดินนำอยู่ข้างหน้า เราอาจเป็นคนที่กำลังเดินตามคุณมา
จะเห็นว่าพวกเราอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกันในด้านระยะ แต่ไม่ได้มีใครอยู่เหนือกว่าใคร
เราเดินไปบนถนนพื้นราบเส้นเดียวกัน นั่นคือ “ความแตกต่างอย่างเท่าเทียม”

ชีวิตคนเราจึงไม่ใช่เรื่องการแข่งขันกับใคร แต่เป็นการพยายามก้าวไปให้ไกลกว่าจุดที่ตัวเองอยู่ในปัจจุบัน จิตวิทยาแบบแอดเลอร์ค่อนข้างให้แง่มุมทางด้านวิธีคิดได้เป็นอย่างดี คล้าย ๆ กับปรับจูนการมองโลกให้เราใหม่ และเมื่อใดที่คุณรับรู้ได้ว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในการแข่งขัน คุณก็จะมองคนรอบข้างอย่างคู่แข่งหรือศัตรูน้อยลง เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น พาร์ทของหนังสือที่พูดถึงการเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจและสร้างสายสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกันนั้นมีความชัดเจนและลึกซึ้งมากจริง ๆ

กลับมาเรื่องขั้นตอนสุดท้ายในการปลุกความกล้า แอดเลอร์คิดว่าสิ่งที่จะทำให้คนเรามีความกล้าขึ้นได้นั่นคือการรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง และคุณค่าในตัวเองนั้นมาจากส่วนหนึ่งของความรู้สึกในจิตใจที่ว่าเรามีประโยชน์ต่อใครสักคน และลงมือช่วยเหลือด้วยความคิดที่ว่า “เพราะเราช่วยเหลือได้” ไม่ใช่การทำเพราะคนอื่นมองว่าสิ่งนั้น “ดี” เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักของการพยายามเป็นที่ยอมรับ และทำให้เส้นของ ‘ความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม’ กับ ‘พลังความกล้า’ ของคุณได้มาพบกัน และการที่เราจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้นั้น เราต้องรู้จักยอมรับตัวเอง เต็มใจรับสภาพของตัวเองให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงได้ — ไม่ได้ แล้วพัฒนาสิ่งที่ยังสามารถเปลี่ยนได้ให้ดีขึ้นอีก พร้อมกับนำสิ่งที่มีอยู่ (เปลี่ยนแปลงไม่ได้) มาใช้ให้เกิดประโยชน์

จงให้ความหมายแก่ตัวตนที่ไม่มีความหมายในความคิดเราเสียตั้งแต่วินาทีนี้

ว่าแต่… แล้วเราจะต้องรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไปเพื่ออะไร? หากสิ่งที่เราอยากได้คือความสุข…?

รีวิวหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด โคะกะ ฟุมิทะเกะ

“เพราะความสุขคือการรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือคนอื่น”

นั่นคือต้นตอของแรงปรารถนาในส่วนที่ลึกที่สุดของมนุษย์เรา…

หลักจิตวิทยาของแอดเลอร์นั้นมันอาจดูเรียบง่ายเสียจนเราคิดว่านี่ไม่ใช่หนทางที่จะนำพาเราไปสู่ความสุขที่กำลังไขว่คว้าด้วยซ้ำ เพราะความรู้สึกบางอย่างส่งเสียงร้องออกมาว่ามันอุดมคติเกินไป และอาจจะจริงดังที่นักปรัชญาเคยบอกไว้ ว่ากันว่ากว่าจะเข้าใจหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ได้ถ่องแท้จนนำไปเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ อาจต้องใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมา

หากถามว่าเมื่ออ่านจบแล้วทั้งเล่ม เราจะต้องเริ่มต้นจากตรงไหน จากการลุกขึ้นมาลบล้างแผลใจ หรือจากการทิ้งทุกอย่างที่สร้างสมเอาไว้ในจิตใจให้หมดสิ้นเลยหรือเปล่า

นักปรัชญากล่าว : คำตอบคือสิ่งที่คุณควรออกไปค้นหาด้วยตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นบอกให้ฟัง


“กล้าที่จะถูกเกลียด”

ผู้เขียน : คิชิมิ อิชิโร, โคะกะ ฟุมิทะเกะ (โยซุเกะ, นิพดา เขียวอุไร แปล)

จำนวนหน้า : 320 หน้า / ราคาปก : 240 บาท

สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น

หมวด : จิตวิทยา

📌 สนใจหนังสือเล่มนี้

🛒

🛒

SHOPEE ONLINE 🛒

LAZADA ONLINE 🛒

รีวิวหนังสือ คุณ ผม และผู้คนที่สวนกันบนรถไฟสายฮังคิว
วรรณกรรมบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่ผลุบโผล่เข้าไปในห้วงเวลาของใครบางคนที่เดินทางคาบเกี่ยวกันบนรถไฟสายฮังคิวแม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ –หนังสือที่จะทำให้คุณมีความสุขราวกับเป็นอีกหนึ่งตัวประกอบที่เฝ้ามองพวกเขาเหล่านั้นผลิบาน
ส.ค. 27, 2023
บริหารเวลา ให้สนุก มีความสุข
เมื่อชีวิตมาถึงจุดที่สุดจะยุ่งเหยิง และการบริหารเวลากลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวและเครียดกว่าที่คิดไว้ ลองดูแนวทาง 5 ขั้นตอนนี้สู่วิธีการบริหารเวลาอย่างมีความสุข เผื่อจะช่วยคุณผุดไอเดียและกลับมามีไฟได้อีกครั้งค่ะ
ส.ค. 12, 2023
รีวิวหนังสือ แปดขุนเขา วรรณกรรมแปลอิตาลี นักปีนเขา
เรื่องราวที่ไหลระเรื่อยเล่าถึงเด็กชายซึ่งอยู่ในครอบครัวที่มีความผูกพันกับภูเขา กระทั่งบ่มเพาะปลูกฝังความคิดและพฤติกรรม ผนวกรวมไว้กับมิตรภาพที่ชวนค้นพบแง่มุมการใช้ชีวิตในวิถีที่ต่างกันไป
ก.ค. 30, 2021
รีวิวหนังสือ คนเก่งจริง จะไม่พ่ายแพ้ต่ออารมณ์
จากมุมมองการตีความของอาจารย์จิตวิทยาชาวจีน ผ่านประสบการณ์ของผู้ที่เข้ามาขอรับคำปรึกษา เน้นเนื้อหาเรื่องราวทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและรวมถึงตนเองด้วย
พ.ย. 21, 2021