เราขอเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า “คู่มือชีวิต พิชิตความยุ่งเหยิง”
คุณรู้ว่าอะไรอยู่ในความคิด และพยายามเรียบเรียงจัดระบบด้วยวิธีจินตนาการภายในหัว หรือจดโน้ตย่อยแปะไว้ตามที่ต่าง ๆ
บางครั้งสำเร็จดังใจ แต่บางครั้งข้อมูลก็ลบเลือน หล่นหาย
แต่ทุกอย่างจะมีวิธีแก้ไข เมื่อคุณได้เรียนรู้ระบบนี้
การจดบันทึกแบบบูโจ เริ่มต้นจากที่ผู้เขียนต้องการจัดการปัญหาของตนเองที่ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ควรจดจ่อในเวลาที่ควรทำ (หรือจะเรียกว่าหลุดโฟกัสก็ว่าได้) โรคสมาธิสั้นทำให้เขามักละมือจากงานที่ทำไว้ไปสู่เรื่องใหม่ที่เข้ามาสู่ความสนใจของเขา ผลที่ได้คือกองงานที่ทำเสร็จครึ่ง ๆ กลาง ๆ นั้นพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ
จะว่าไปนี่ก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของเขาเพียงคนเดียว ด้วยลักษณะการใช้ชีวิตของคนเราในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่มักต้องแข่งขันกันภายใต้กรอบเวลา เราอาจต้องรีบตอบสนองอะไรก็ตามที่เข้ามาและคิดว่านั่นคือการรับมืออย่างเหมาะสม บ่อยครั้งเราหยิบโยนความคิดระหว่างวันกระจัดกระจายไปทั่ว
เราแทบไม่เคยถอยออกมายืนดูภาพกว้างในแต่ละการกระทำ เพราะพื้นที่สำหรับการพิจารณามันคือการผลาญเวลาในความรู้สึก
แต่ด้วยวิถีบันทึกแบบบูโจ คุณอาจจะไม่ต้องรอให้ถึงวันที่หัวหมุนเพราะเรื่องการจัดสรรกิจกรรมลงในตารางเวลา คุณสามารถนั่งและพลิกเพียงสมุดในมือเพื่อเลือกดูว่าจะเอางานหรือนัดหมายสำคัญนั้นไปใส่ในช่วงไหนของชีวิต
The Bullet Journal ใช้วิธีการนำสัญลักษณ์เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพเข้ามาผูกโยงไว้กับการแบ่งหมวดเรื่องราวที่เกิดขึ้น เราชอบที่ว่ามันสามารถระบุได้ตั้งแต่เริ่มคิดเลยว่านี่คืออะไรสำหรับเรา เป็นงานที่ต้องสะสางหรือข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่แค่บันทึกไว้ก็พอ
นอกจากนี้ ระบบบูโจยังมีความยืดหยุ่นในแบบที่เราจะสามารถใช้มันได้กับทุกช่วงชีวิต และยังเหมาะกับคนทุกสายงาน ตั้งแต่นักศึกษา พนักงานบริษัท ฟรีแลนซ์ หมอ ตำรวจ ทนาย ไปจนกระทั่งพ่อบ้านแม่บ้านที่มีงานหยุมหยิมตลอดทั้งวัน มันสามารถใช้บันทึกได้ตั้งแต่เรื่องของภาระหน้าที่การงาน การวางแผนซื้อของเข้าบ้าน ไปจนถึงทริปเที่ยวพักร้อนของครอบครัว
เราชอบที่หนังสือไม่เพียงแต่สอนวิธีการจดบันทึกเท่านั้น หากแต่บอกเล่าและรวบรวมแนวคิดพื้นฐานที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เมื่อต้องเริ่มลงมือเขียนบันทึกแบบบูโจจริง ๆ เพราะเราเองก็เป็นหนึ่งคนที่เข้าใจในระบบบันทึก แต่ยังขาด Mindset ที่จะนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตกลับเข้าสู่ระบบการประมวลผลอีกครั้ง แล้วเรียบเรียงบันทึกมันเก็บไว้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
และนอกเหนือไปจากความอัศจรรย์ของการรวบรวม ทบทวน และถ่ายทอดแล้ว บูโจยังสามารถกลายเป็นผลงานศิลปะชิ้นโบว์แดงสำหรับเหล่าผู้มีความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องการอะไรมากกว่าแค่สมุดบันทึกที่เต็มไปด้วยลายมือทั่วไปอีกด้วย (หากไม่เชื่อคุณลองค้นหาตัวอย่างด้วยคำว่า Bullet Journal Ideas หรือเปิด Instagram แล้วสำรวจ Hashtag #Bujoideas #Bujoinspiration ดูได้ น่าทึ่งมาก!)
เราแอบคิดไปว่าการที่มีปกหลายสีของหนังสือเรื่องนี้ก็สื่อถึงการเปิดกว้างในทางสร้างสรรค์ Bullet Journal อย่างเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
คุณควบคุมได้ ! คุณเลือกชีวิตที่คุณต้องการได้ ! มันเริ่มต้นแล้วตั้งแต่เลือกสีปกหนังสือ !
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเริ่มต้นทำมันอาจยังไม่สมบูรณ์แบบ เราชอบที่หนังสือไม่เคยชี้ชัดตายตัวว่าวิถีบันทึกแบบบูโจใดที่ถูกต้อง เพราะบูโจสามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้เข้ากับชีวิตของแต่ละคน บูโจไม่ใช่เครื่องปั้นมีรูปทรง ทว่าเป็นภาชนะยืดหยุ่นซึ่งทำหน้าที่เพียงห่อหุ้มเรื่องราวต่าง ๆ เอาไว้
สำหรับเรา หนังสือเล่มนี้ คือ ‘ บันทึกอดีต จัดระเบียบปัจจุบัน และออกแบบอนาคต ’ ของจริง
ถ้าเพียงแค่เราเลือกผลาญเวลาสักเล็กน้อยไปกับการนั่งจดบันทึกแบบบูโจวันละ 2 ครั้ง เราเชื่อเหลือเกินว่าการผลาญเวลาครั้งนั้น มันจะคืนช่วงเวลาให้คุณได้อีกมากมาย
บางสิ่งก็จำต้องถูกผลาญทำลาย – เพื่อให้ได้สิ่งที่มีความหมายมากกว่าเดิม
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“The Bullet Journal Method วิถีบันทึกแบบบูโจ”
ผู้เขียน : Ryder Carroll
(นรา สุภัคโรจน์ แปล)
จำนวนหน้า : 392 หน้า / ราคาปก : 395 บาท
สำนักพิมพ์ : Bookscape
หมวด : พัฒนาตนเอง