เราอาจเคยก่นด่าตัวเองถึงเรื่องการมองคนพลาด ไว้ใจคนผิด หรือกระทั่งตัดสินคนอื่นจากการกระทำ ท่าทาง สีหน้า ที่ปรากฏในรูปแบบฉบับตามความเข้าใจที่ถูกสะสมจากประสบการณ์ภายในชีวิตของตนเอง
ปัญหาคือกว่าที่เราจะได้คำเฉลย เราไม่มีทางรู้เลยว่าการแสดงออกต่อคนที่เราไม่รู้จักซึ่งยืนอยู่ต่อหน้าเราตอนนี้ จะนำพาอะไรมาสู่เราบ้าง
การเรียนรู้วิธีอ่านคน จึงอาจมีส่วนสำคัญด้วยเหตุนี้
หนังสือเริ่มต้นด้วยกรณีของ แซนดรา แบลนด์ หญิงสาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันซึ่งถูกตำรวจเรียกตรวจด้วยข้อหาความผิดทางจราจร ก่อนที่ทั้งคู่จะเริ่มมีปากเสียงกัน ต่อมาเธอถูกจับกุมและคุมขัง หลังจากนั้นอีกสามวันเธอก็ฆ่าตัวตาย
จากมุมมองสถานการณ์คงไม่มีใครคาดคิดว่าเรื่องจะนำไปสู่จุดจบเช่นนี้ได้ นั่นจึงเป็นที่มาของประเด็นแอบแฝงต่าง ๆ ในรูปแบบของการเผชิญหน้ากันระหว่างบุคคลสองคนซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
หนังสือชวนตั้งคำถามด้วยปริศนา 2 ข้อใหญ่เพื่อใช้เป็นธงในการเดินทางสู่การเรียนรู้ศิลปะแขนงวิชาการศึกษาคนแปลกหน้าก็คือ
- ทำไมเราถึงจับไม่ได้เมื่อโดนคนที่ไม่รู้จักโกหกต่อหน้าต่อตา
- แล้วทำไมบางทีการได้พบปะคนแปลกหน้าจึงทำให้เราเข้าใจบุคคลนั้นได้แย่กว่าการไม่เคยพบ
ก่อนที่ผู้เขียนจะค่อย ๆ เล่าเรื่องราวอีกหลายต่อหลายเรื่องที่ชวนครุ่นคิดตาม พร้อม ๆ กับการเปิดเผยทฤษฎีและแนวคิดที่ชวนให้ได้มาซึ่งคำตอบที่จะแก้ปริศนาเหล่านั้น
ไม่ว่าจะเป็น การแฝงตัวของสายลับซึ่งดำรงตำแหน่งอันเป็นที่ไว้วางใจอย่างยิ่งของสำนักงานข่าวกรองกลาโหม การตุ๋นแชร์ลูกโซ่รายใหญ่ระดับพันล้าน คดีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศที่มีความสลับซับซ้อนกว่าที่จะหาข้อสรุปได้ หรือกระทั่งการตัดสินคดีความผิดพลาดจากคดีฆาตกรรมหญิงสาวใจกลางเมืองอิตาลี
แต่ละเรื่องล้วนน่าสนใจ ในขณะเดียวกันก็ยากจะหาข้อสรุปที่ตายตัวให้ออกมาเป็นวิธีการอ่านคนให้ประจักษ์ได้อย่างถ่องแท้
เราชอบการเล่าเรื่องที่ชวนจุดติดประเด็นทางความคิด การบอกเล่าสาเหตุการกระทำต่าง ๆ ผ่านทฤษฎีที่มีตัวอย่างการทดลองมาแล้ว หลาย ๆ กรณีตัวอย่างรวมทั้งคดีความที่ผู้เขียนหยิบยกมามีทั้งน่าสะเทือนใจ ประหลาดใจ และบางครั้งก็น่าขันถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อจากการบรรลุวัตถุประสงค์
ต้องบอกว่าวิธีการเล่าเรื่องของ มัลคอล์ม แกลดเวลล์ คล้ายกับการอ่านบทสารคดีในความรู้สึกของเรา เพราะมันได้ทั้งความเพลิดเพลินจากชุดข้อเท็จจริงที่มาพร้อมกับจินตภาพ เมื่ออ่านแล้วเกิดอารมณ์ร่วมกับบทที่ร้อยเรียงเรื่องราวจากการเปิดประเด็นตอนต้นไปจนถึงผลสรุปสุดท้าย
และนอกเหนือไปจากการเรียนรู้ศิลปะแห่งการอ่านผู้อื่น เรารู้สึกถึงการกระตุ้นเตือนให้ย้อนกลับมาอ่านตัวเอง
ท้ายสุดแล้ว การอ่านคนไม่รู้จักนั้น เราคงต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจและยอมรับว่าเขาคือ “คนที่เราไม่รู้จัก” จริง ๆ
การสรุปว่าคนแปลกหน้าที่อยู่ต่อหน้าเราตอนนี้นั้นเข้าใจง่าย ก็อาจส่งผลให้พฤติกรรมที่แสดงออกไปสร้างผลกระทบในแง่ร้ายหากว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด
อ่านจบจึงค้นพบว่า มันคงจะจริงดังที่ มัลคอล์ม แกลดเวลล์ กล่าวไว้ในหมายเหตุของเขา
“ บางทีการสนทนาวิสาสะที่ดีสุด ๆ ระหว่างคนแปลกหน้าก็คือ ปล่อยให้บุคคลแปลกหน้ายังเป็นคนแปลกหน้าต่อไป ”
“ศิลปะแห่งการอ่านคน (Talking to Strangers)”
ผู้เขียน : มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี แปล)
จำนวนหน้า : 348 หน้า / ราคาปก : 345 บาท
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ฮาวทู
หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง
📌 สนใจหนังสือเล่มนี้