Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : อย่าบอกให้สู้อีกได้ไหม เพราะฉันอาจไม่มีวันหายดี (จางหมิ่นจู้)

รีวิวหนังสือ : อย่าบอกให้สู้อีกได้ไหม เพราะฉันอาจไม่มีวันหายดี (จางหมิ่นจู้)

หนังสือ คู่มือ ทำความเข้าใจ โรคซึมเศร้า

“ห้ามไปทำร้ายเขา มิฉะนั้นเธอจะกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมบูลลี่คนอื่นไปด้วย

แต่เธอไม่จำเป็นต้องให้อภัยเขา เธอมีสิทธิ์ที่จะเกลียดเขา!”

– จากหนังสืออย่าบอกให้สู้อีกได้ไหม เพราะฉันอาจไม่มีวันหายดี / จางหมิ่นจู้

✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน จางหมิ่นจู้

จางหมิ่นจู้
ทาสแมวผู้รักการทำอาหาร
ต่อสู้กับโรคซึมเศร้าในช่วงวัยรุ่นมานาน 7 ปีจนหายเป็นปกติในสายตาของสังคม
เธอลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
ทั้งเพื่อคนทั่วไปและให้กำลังใจแก่ผู้อ่าน
ในระหว่างการศึกษาสาขาจิตวิทยาระดับมหาวิทยาลัย

🎯 มุมมองสรุป

: หนังสือเขียนโดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้า บอกเล่าประสบการณ์และความทุกข์ทรมานที่เธอเผชิญมันมาก่อนจะก้าวข้ามผ่านและค้นพบวิธีที่จะอยู่ร่วมกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในระยะยาวได้พร้อมกับแนะนำการรับมือและทำความเข้าใจอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดกับผู้ป่วยโรคนี้

: รูปแบบการเล่าเรื่องภายในเล่มมีการสอดแทรกข้อมูลวิชาการทางจิตวิทยาที่เจ้าตัวเลือกศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอย่างจริงจังเพื่อใช้ทำความเข้าใจตัวเอง คำแนะนำจำนวนมากล้วนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งกับตัวผู้ป่วยเองหรือบุคคลใกล้ชิด

: เนื้อหาแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 บทด้วยกัน ได้แก่
(1) เปิดประตูสู่โลกซึมเศร้า / บทเรียนจิตวิทยา – เผชิญหน้ากับความรู้สึกของตัวเอง
(2) โรคซึมเศร้ามาหาฉันหรือฉันเป็นคนไปหาโรคซึมเศร้าเอง / บทเรียนจิตวิทยา - ความโง่เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดอย่างนั้นหรือ
(3) วัฏจักรอันไม่มีที่สิ้นสุด / บทเรียนจิตวิทยา - จะลดความเครียดให้ตัวเองได้อย่างไร
(4) ในที่สุดก็ตามหาตัวเองจนเจอ / บทเรียนจิตวิทยา - หลักการรักษามิตรภาพ 7 ประการ

: โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีความละเอียดอ่อน และแต่ละคนก็อาจมีการแสดงออกหรือความทุกข์ในแบบของตัวเองที่ต่างกันออกไป หนังสือเล่มนี้สร้างพลังของการอยู่เคียงข้างให้กับผู้อ่านผ่านประสบการณ์ที่เกิดขึ้นของเธอได้อย่างกล้าหาญ ระหว่างที่เราดำเนินไปพร้อมกับทุกสิ่งที่เธออธิบาย มีหลายประโยค หลายถ้อยคำ ที่ตรึงเราไว้กับแท่นของการเยียวยา 

: ส่วนตัวเราไม่อาจบอกได้ว่านี่จะเป็นหนังสือที่ทำให้ทุกคนรับมือกับความเปราะบางได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ การพบผู้เชี่ยวชาญยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการฟื้นฟูและรักษา แต่ถ้าหากคุณกำลังมองหาหนังสือสักเล่มสำหรับทำความเข้าใจโรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเพื่อตนเองหรือคนที่คุณรัก หนังสือเล่มนี้จะมอบมุมมองที่เป็นประโยชน์และช่วยคุณได้เป็นอย่างดี
รีวิวหนังสือ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

โลกของคนซึมเศร้า

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งที่อาจมีพื้นที่อ่อนไหวกระจายเป็นอาณาบริเวณกว้าง และแม้การเดินทางอันยาวไกลจะพาพวกเขาให้เข้าใกล้ขอบเขตแห่งความสว่างไสวเพียงเอื้อม ทว่ามันก็อาจทำให้พวกเขาเหนื่อยและล้าเกินกว่าจะฉวยคว้าได้ ในห้วงความรู้สึกเช่นนี้อาจเป็นฤดูหนาวราวอนันตกาล หรืออาจเป็นความอ้างว้างที่ร้าวรานมอดไหม้ ความคิดต่าง ๆ แม้จะถูกควบคุมโดยสารเคมีแต่พฤติกรรมที่แสดงออกนั้นบางครั้งก็ยากที่จะทำให้พวกเขาเชื่อว่ามันไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอของตัวเอง และสิ่งนี้ก็ดูคล้ายจะโบยตีพวกเขาซ้ำไปซ้ำมา วนซ้ำกับเรื่องยาก ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว

นี่คือสิ่งที่แม้แต่ความเข้มแข็งก็ไม่อาจพิชิตชัย หากพวกเขาไม่ได้รับการปฏิบัติหรือรักษาฟื้นฟูสภาพจิตใจอย่างถูกวิธี หรือต่อให้พวกเขาจะหายดี แต่เศษเสี้ยวความรู้สึกที่เคยแตกสลายอาจถูกเหยียบและสร้างความเจ็บปวดขึ้นมาใหม่วันหนึ่งวันใดข้างหน้า และเพราะการก้าวเข้าสู่สภาวะซึมเศร้ามีต้นเหตุมาได้จากหลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นแรงกดดัน ได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง ความเครียด หรืออุปนิสัยส่วนบุคคล การเข้ารับการวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญจึงนับเป็นทางออกที่ดีที่สุดก่อนที่ผู้ป่วยจะพังทลายอย่างไม่อาจหวนกลับคืนได้อีก

ภาพฉายชัดของชีวิตที่พร่าเลือน

จางหมิ่นจู้ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมประสบการณ์และความรู้สึกที่ประดังประเดในช่วงเวลาของการอาศัยอยู่ในพื้นที่โลกแห่งนั้นมาอย่างหมดจรด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมที่สร้างความกดดันอย่างมหาศาล ความรู้สึกของตัวเธอเองที่มีต่อสถานการณ์และความคิดของคนรอบข้าง สภาพร่างกายและจิตใจที่แสดงออกอย่างผิดไปจากคนส่วนมาก อาการหดหู่ซึมเซา ไม่สนใจสิ่งที่เคยสนใจ อ่อนเพลียง่าย เชื่องช้า สิ่งเหล่านี้ยิ่งดูเป็นความแปลกประหลาดและสร้างความกังวลมากขึ้นในตอนที่เธอยังไม่เข้าใจว่าตัวเองควรเข้ารับการรักษา และมันยิ่งเป็นบาดแผลลึกเมื่อต้นเหตุหนึ่งที่ผลักเธอเข้าสู่โลกของโรคซึมเศร้านี้มาจากการถูกบูลลี่ทางสังคม ซึ่งนับเป็นความเจ็บปวดอันแสนทรมานลึกล้ำจากการรู้สึกขาดความเชื่อมโยงกับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเกิดขึ้นในวันวัยแห่งการค้นหาตัวเอง

อย่าบอกให้สู้อีกได้ไหม เพราะฉันอาจไม่มีวันหายดี หนังสือคู่มือ โรคซึมเศร้า

การบูลลี่ที่ไม่ใช่การใช้กำลัง

จากหนังสือ พฤติกรรมที่เข้าข่ายการบูลลี่ต้องมี 3 ลักษณะ คือ มีจุดประสงค์ทำร้ายผู้อื่น เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และอำนาจของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำไม่เท่ากัน การบูลลี่ไม่ใช่แค่การกลั่นแกล้งโดยใช้กำลังทำร้ายร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่สร้างความเจ็บปวดทางจิตใจต่อผู้ถูกกระทำอย่างยิ่งนั่นคือ “การบูลลี่ทางสังคม” เช่น การกีดกันจากกลุ่ม ปล่อยข่าวลือ หรือการทำร้ายทางคำพูด สิ่งเหล่านี้สร้างความบอบช้ำและผลกระทบทางจิตใจในระยะยาวได้อย่างคาดไม่ถึง (โดยเฉพาะหากเกิดในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยแห่งการขวนขวายตัวตนดังเช่นตัวผู้เขียน) เมื่อพบเหตุการณ์หรือรับรู้สถานการณ์เหล่านี้แต่ยังไม่สามารถช่วยได้ซึ่ง ๆ หน้า การติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่คุณควรต้องทำ เพราะการนิ่งเฉยอาจกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้การบูลลี่รุนแรงมากขึ้น คล้ายกับว่านั่นคือการยืนยันยอมรับว่าผู้กระทำไม่ได้ลงมือทำในสิ่งที่ผิดแต่อย่างใด

ความเห็นอกเห็นใจที่ไม่ใช่ความเวทนา

อีกความรู้สึกที่ดูคล้ายกันนั่นคือความเห็นอกเห็นใจและความเวทนา บ่อยครั้งที่ใครหลายคนอาจเผลอหยิบยื่นความสงสารแทนการเห็นอกเห็นใจโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าในทางเจตนาแล้วอาจต้องการช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น แต่สองสิ่งนี้แตกต่างกันในแง่ของการยึดจุดศูนย์กลาง ความสงสารเวทนาเป็นการช่วยเหลือโดยมักถูกมองจากมุมของผู้ให้เท่านั้น ในขณะที่ความเห็นอกเห็นใจจะเป็นการเข้าใจถึงความทุกข์ยากภายในใจของผู้ที่เราอยากช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นคำพูดที่พยายามปลุกขวัญกำลังใจหรือการเคี่ยวเข็ญให้พวกเขามองโลกในแง่ดีจึงอาจยิ่งเหมือนการใช้นิ้วขยี้ลงบนแผลที่เกรอะกรังไปด้วยรอยเลือด ก็เพราะสิ่งเหล่านี้นี่ไงที่พวกเขายังจินตนาการถึงมันไม่ได้และทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้กลายเป็นตัวประหลาดในโลกปกติของคนทุกคน

แด่ความบิดเบี้ยวที่สมมาตร

สิ่งที่ปกติที่สุดของโลกใบนี้นั่นคือความไม่ปกติ จังหวะและวิธีการเล่าเรื่องของผู้เขียนคล้ายกับการจับมือพาเราก้าวเดินเรียนรู้ไปบนเส้นทางที่ยากลำบากของเธอเพื่อให้เรามีแรงกลับมาประคับประคองและมองเห็นความหวังของการใช้ชีวิตอยู่อย่างคนที่อาจไม่มีวันหายดีเลยก็ได้ ซึ่งหากหลังการเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจแล้วเรายังรู้สึกบกพร่องแหว่งวิ่น หรือกลัวความเจ็บปวดเหล่านี้จะหวนคืนและทำลายเราอีกครั้ง มันจะไม่สร้างปัญหาหรือจมเราจนไม่อาจหวนคืนสู่ผิวน้ำได้อีก ผู้เขียนได้ใช้ความรู้ทางวิชาการโดยเฉพาะแนวคิดจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องมาอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล พร้อมทั้งยังชี้แนะการนำไปปรับใช้ ทั้งการเรียนรู้ถึงวิธีลดความเครียดของตนเอง การยอมรับและรับรู้ความสามารถที่แท้จริงของตนเอง ไปจนถึงการรักษามิตรภาพ ซึ่งนับเป็นความสวยงามที่จะถูกค้นพบหลังจากได้รับการช่วยเหลือให้เรียนรู้ที่จะกลับมาโอบกอดตัวเองได้อีกหน

“…ไม่ต้องสู้ก็ได้ แค่มีชีวิตแบบที่เธอเข้าใจก็เพียงพอแล้ว…” นี่น่าจะเป็นเสียงที่ถูกส่งออกมาอย่างชัดเจนที่สุด หนังสือเล่มนี้เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่นั่งลงเล่าว่าเธอผ่านทุกสิ่งเหล่านั้นมาได้อย่างไร และอาจเป็นคุณที่มองเห็นความสว่างไสวให้อยากหยัดยืนขึ้นให้ได้ ไม่ว่าจะเพื่อตัวเองหรือเพื่อช่วยเหลือคนที่คุณรัก ก็ขอแค่อย่าลืมว่าโรคซึมเศร้าอาจไม่ได้หมายถึงการพยายามทำตัวให้หายเป็นปกติเพื่อใช้ชีวิตต่อไป

เพราะมันยังมีสิ่งที่เรียกว่า “การอยู่ร่วมด้วยความเข้าใจ” ที่จะทำให้พื้นที่ความอ่อนไหวไม่มืดมิดตลอดเวลา

รีวิวหนังสือ โรคซึมเศร้า

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

“อย่าบอกให้สู้อีกได้ไหม เพราะฉันอาจไม่มีวันหายดี”

ผู้เขียน : จางหมิ่นจู้
(สุภาพิศ โชติธรรมวัฒนา แปล)

จำนวนหน้า : 288 หน้า / ราคาปก : 319 บาท

สำนักพิมพ์ : Be(ing)

หมวด : จิตวิทยา/พัฒนาตนเอง

นิทานก่อนนอน นิทานเพื่อพัฒนาการเด็ก หนังสือนิทานแนะนำสำหรับเด็ก
ผู้ใหญ่มีหนังสือพัฒนาตนเองให้เลือกมากมาย แล้วถ้าเราอยากช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ผ่านหนังสือบ้างจะหยิบเล่มไหนดี - ชวนทำความรู้จักหนังสือนิทานฝีมือคนไทย ที่น่ารักน่าสนใจและให้ข้อคิดดีๆ จากสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก
ก.ค. 7, 2024
รีวิวหนังสือ ผมเรียกเขาว่าเน็กไท I called him necktie วรรณกรรมแปล
วรรณกรรมที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่นรสขม ชวนสัมผัสถึงแง่มุมของชีวิตได้อย่างถึงซึ้งและละเมียดละไม
ม.ค. 4, 2022
รีวิว ตายที่ 0 Die wit zero
อย่าปล่อยให้เงินกลายเป็นของสะสมแล้วรับปันผลเป็นตัวเลขอันมั่นคง แทนที่จะเป็นความสุขอันมั่งคั่ง ชวนอ่านแนวคิดการบริหารเงินที่จะทำให้คุณใช้ประโยชน์จากมันได้สูงสุด ในช่วงเวลาที่คุณจะได้รับประโยชน์มากที่สุดในชีวิต
ก.ค. 14, 2024
รีวิวหนังสือ : ช่องคลอด ใครคิด…
อาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน โรคทางเพศบางชนิดในผู้หญิง ปัสสาวะเล็ด กระทั่งความผิดปกติของมดลูก ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากสภาวะอุณหภูมิที่ลดลงต่ำของช่องคลอด สูตินรีเวชชาวญี่ปุ่นจะชวนคุณมาทำความรู้จักอวัยวะสำคัญในสตรี และวิธีดูแลรักษาช่องคลอดให้กลับมามอบพลังหญิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก.พ. 8, 2023