Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : Quiet Impact เงียบเป็นต่อ (Sylvia Loehken)

รีวิวหนังสือ : Quiet Impact เงียบเป็นต่อ (Sylvia Loehken)

รีวิวหนังสือ เงียบเป็นต่อ

การเป็นมนุษย์เก็บตัวสิ่งหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นจุดร่วมตรงกันนั้นคือ “ความเงียบ”

และท่ามกลางโลกที่หมุนไปพร้อมกับพลังเสียงอันมากมาย ความเงียบนั้นคล้ายจะเป็น “จุดบอด”

หากแต่หนังสือเล่มนี้ จะชวนคุณดึงศักยภาพบางอย่างที่มีแต่คนที่รู้จักเงียบเท่านั้นจะใช้มันได้

และคุณอาจได้ปรับความเข้าใจ ความเงียบก็ทรงพลังได้เช่นกัน

✒️ ประวัติผู้เขียน Sylvia Loehken

Sylvia Loehken
จบปริญญาเอกด้านภาษาศาสตร์และการสื่อสาร
เธอเคยเป็นคนเก็บตัวและกลัวการพูดในที่สาธารณะ
แต่ในปี 2012 เธอได้รับเลือกให้เป็น “นักพูดแห่งปี” ณ ประเทศเยอรมนี
ปัจจุบันเธอเป็นนักพูดและผู้ให้คำปรึกษา
ด้านการทำงานร่วมกันระหว่างคนชอบเข้าสังคมและคนเก็บตัว

🎯 มุมมองสรุป

: หนังสือมุ่งเน้นบอกเล่าวิธีการสื่อสารที่ทรงพลังโดยใช้จุดแข็งของมนุษย์อินโทรเวิร์ตทั้ง 10 ข้อซึ่งได้แก่ ความรอบคอบ มีสาระ การมีสมาธิ การรับฟัง การสงบนิ่ง การคิดวิเคราะห์ การพึ่งพาตัวเอง การมุมานะ การเขียน และความเข้าอกเข้าใจ พร้อมทั้งชวนชี้ให้เห็นถึงด้านที่เป็นอุปสรรค 10 อย่างด้วยเช่นกัน (ความกลัว การใส่ใจรายละเอียดมากเกินไป การกระตุ้นที่มากเกินไป ความเฉื่อยชา การหนี การใช้สมอง การหลอกตัวเอง การยึดติด การเลี่ยงที่จะสื่อสาร และการเลี่ยงความขัดแย้ง)

: เนื้อหาภายในเล่มแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือการทำความเข้าใจจุดแข็งและอุปสรรค (ดังที่กล่าวไปแล้ว) ส่วนที่สองคือการใช้ชีวิตให้มีความสุขทั้งที่บ้านและที่ทำงาน และส่วนสุดท้ายคือการทำให้คนอื่นรับรู้ถึงการมีอยู่ของคุณ โดยแต่ละเนื้อหาจะหยิบยกจุดแข็งและอุปสรรคจากส่วนแรกมาชี้ชวนไขข้อข้องใจและเปลี่ยนมันให้กลายเป็นกลยุทธ์

: มีการสรุปใจความสำคัญของเนื้อหาไว้ท้ายบท และส่วนที่ชอบอีกอย่างคือมีการตั้งคำถามและชวนทำแบบทดสอบเพื่อค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ทำให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมกับหนังสือในการเรียนรู้วิธีการสื่อสารตามคำบอกเล่านั้นอย่างแท้จริง

: เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบเก็บตัว (Introvert) เพื่อเรียนรู้การนำจุดแข็งไปใช้เป็นกลยุทธ์การทำงานและชีวิตส่วนตัว แต่ถ้าคุณเป็นมนุษย์ที่ชอบเข้าสังคม หนังสือเล่มนี้ก็จะช่วยให้คุณสังเกตเห็นมุมมองของบุคลิกภาพแบบคนเก็บตัว และอาจนำไปปรับใช้กับการทำงานร่วมกับคนประเภทดังกล่าว (อาจเป็นการดึงจุดแข็งของเขามาใช้ในการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน หรือเป็นการเรียนรู้ข้อแตกต่างและวิธีรับมือกับจุดอ่อนของคนเก็บตัว)

: ด้านชีวิตทำงาน หนังสือกล่าวถึงวิธีการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การใช้กลยุทธ์ของจุดแข็งมุ่งสู่การเป็นผู้บริหารหรือผู้นำ และมีคำแนะนำถึงวิธีสร้างความสัมพันธ์ การเจรจาต่อรอง การพูดในที่สาธารณะ และการพูดในที่ประชุม โดยทั้งหมดเป็นการดึงจุดแข็งแบบคนเก็บตัวมาใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น

: ด้านชีวิตส่วนตัว อันนี้น่ารักมาก : ) เล่าถึงการใช้ศักยภาพความเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตทั้งในแง่ของการหาคู่ การใช้ชีวิตโสด การครองคู่ ไปจนถึงการเลี้ยงลูกแบบ Introvert และ Extrovert ด้วย 
รีวิวหนังสือ เงียบเป็นต่อ แบบทดสอบ

ไม่มีใครดีกว่าใคร

ก่อนอื่นเหล่ามนุษย์เก็บตัวทั้งหลาย พวกเราล้วนเป็นหนี้คาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung) นักจิตวิเคราะห์ผู้ซึ่งแยกแยะและตีความบุคลิกภาพมนุษย์ออกเป็นแบบคนเก็บตัวและคนชอบเข้าสังคม  (ฮ่า ๆ …อันนี้เรานำมาจากหนังสือเลย แต่ต้องยอมรับว่าชอบมาก :D) เพราะในช่วงแรกที่มีการพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์โดยซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บุคลิกภาพแบบเก็บตัวนั้นมีมุมมองในแง่ลบอย่างยิ่งว่าเป็นลักษณะของพวกที่หมกมุ่นกับตัวเอง ในขณะที่บุคลิกภาพแบบชอบเข้าสังคมเป็นสิ่งที่ดีกว่า แต่จุงมองว่านี่เป็นเรื่องของการหล่อหลอมระบบการทำงาน 4 ด้านจากสมอง (ประสาทสัมผัส การคิด การรู้สึก และสัญชาตญาณ) และไม่ได้ประเมินผู้คนตามแต่ละระดับที่แตกต่างกัน ซ้ำยังเห็นว่าบุคลิกภาพทั้งสองประเภทนั้นมีความสำคัญและคุณค่าในแบบของตัวเอง

พวกเราทุกคนล้วนเป็นเส้นตรงเส้นหนึ่ง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราชอบตั้งแต่แรกเริ่มของหนังสือเลยนั้นคือการให้นิยามระหว่างคำว่าการชอบเก็บตัวและชอบเข้าสังคม สำหรับ Sylvia Loehken แล้ว เขาได้มอบมุมมองอีกรูปแบบหนึ่งระหว่างบุคลิกภาพ 2 ประเภทนี้ว่าไม่ใช่สิ่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามกัน หากแต่อยู่คนละฝั่งของเส้นตรงเส้นเดียวกัน โดยแต่ละบุคคลนั้นย่อมมีจุดที่ตัวเองสบายใจ บางคนค่อนไปทางฝั่งชอบเข้าสังคมอย่างมาก (Extrovert) หรือในขณะที่บางคนอาจอยู่จนเกือบสุดด้านของฝั่งบุคลิกภาพแบบเก็บตัว (Introvert) และก็อาจมีคนบางกลุ่มเช่นกันที่รักษาดุลยภาพภายในตัวเองไว้ได้เป็นอย่างดี เป็นลักษณะของผู้ที่มีความยืดหยุ่นเป็นพิเศษ โดยที่จุดสบายใจของพวกเขาจะอยู่บริเวณกลาง ๆ (Centrovert , Ambivert)

นั่นทำให้ตัวตนบุคลิกภาพไม่ใช่ Fixed Mindset ที่เราเป็นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ความเข้าใจที่ว่าเมื่อเป็นสิ่งหนึ่งแล้วเราจะไม่สามารถเป็นอีกสิ่งหนึ่งได้ หากแต่เราทุกคนล้วนสามารถเลื่อนไปมาบนตำแหน่งเส้นตรงเส้นนั้น โดยขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ด้าน นั่นคือ บุคลิกภาพที่หล่อหลอมมาโดยกำเนิด สถานการณ์ และกาลเวลา

ความแตกต่างระหว่าง Introvert และ Extrovert

ทีนี้จุดสังเกตสำคัญที่แยกมนุษย์ 2 แบบนี้ออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือแหล่งพลังงานสำหรับพวกเขา โดยคนชอบเข้าสังคมมักจะได้รับพลังงานจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ในขณะที่คนเก็บตัวจะชอบใช้วิธีการอยู่กับตัวเองเงียบ ๆ หรืออยู่ในสถานที่ที่ปราศจากสิ่งเร้า หนังสือใช้วิธีการเปรียบเทียบได้อย่างเห็นภาพไว้ว่า มนุษย์ชอบเข้าสังคมจะเปรียบเสมือนกังหันลมที่อาศัยแรงลมจาก “ภายนอก” เป็นแหล่งพลังงาน ส่วนมนุษย์เก็บตัวจะคล้ายกับแบตเตอรี่ที่ใช้ “เวลา” ที่นานกว่าในการชาร์จเงียบ ๆ เพียงลำพัง

สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าตนเองมีบุคลิกภาพแบบไหน
เรามีแบบทดสอบ Myers-Brigg (MBTI) ซึ่งพัฒนามาจากทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ล กุสตาฟ จุง
โดยมีการแบ่งคนออกเป็น 16 บุคลิกภาพด้วยการจัดกลุ่มจากตัวอักษร 4 ตัว
สามารถลองทำเล่น ๆ กันได้เลยค่ะ ^^ 
>> CLICK <<

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนเก็บตัวหรือคนชอบเข้าสังคมนั้นล้วนมีลักษณะจำเพาะทั้งในเชิงสรีรวิทยาและบุคลิกภาพ โดยมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่ามีความแตกต่างทั้งด้านการทำงานของสมองและสารสื่อประสาทที่ส่งผลต่อการแสดงออกและการรับรู้ในคนทั้ง 2 แบบ แต่ไม่ว่าอย่างไรโลกล้วนต้องการคุณสมบัติจากคนทั้ง 2 ลักษณะเพื่อเติมเต็มให้แก่กันและกัน

ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องพยายามฝืนธรรมชาติของตัวเองเพื่อเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรา ทว่าการค้นหาศักยภาพอันเป็นจุดแข็งภายในตัวเราต่างหากที่คุ้มค่าต่อการลงทุนพยายาม ผู้เขียนมองว่าความสำเร็จนั้นจะง่ายขึ้นมากหากเรามุ่งพัฒนาและจดจ่ออยู่กับการใช้จุดแข็งมากกว่าการลงแรงเพื่อแก้ไขจุดอ่อน ซึ่งนับว่าเหมาะกับบุคลิกภาพของคนเก็บตัวที่จะสูญเสียพลังงานจากการดิ้นรนต่อสู้กับโลกภายนอกน้อยลง

จงมุ่งพัฒนาจุดแข็ง และเข้าใจจุดอ่อนของตนเอง

บ่อยครั้งที่จุดแข็งของคนเก็บตัวมักถูกมองข้ามด้วยเพราะมันไม่ได้กระจายพลังงานให้เห็นเด่นชัด  แต่ไม่ว่าอย่างไรนี่คือคลังสมบัติอันล้ำค่าที่เราควรต้องตระหนักไว้ และหยิบมันออกมาใช้ทำกลยุทธ์ให้แก่ตัวเองในภายภาคหน้า ในทำนองเดียวกัน จุดแข็งแต่ละอย่างล้วนมีความอ่อนแอของขั้วตรงข้ามที่แฝงเร้น ความพยายามของหนังสือจึงผนวกรวมความสำคัญของทั้ง 2 สิ่งเข้าไว้ด้วยกันไปตลอดทาง เพื่อให้คุณเรียนรู้ที่จะหยิบยกคุณค่าของจุดแข็งแต่ไม่เพิกเฉยที่จะรับรู้ถึงอุปสรรคที่เป็นจุดกดดันของตัวเอง การเรียนรู้ทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์และโทษที่อาจกลายเป็นช่องโจมตีจึงทำให้คน ๆ นั้นแกร่งพอที่จะเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์

จุดแข็งและอุปสรรคที่หนังสือหยิบยกมาแสดงนั้นมีด้วยกัน 10 ข้อ ซึ่งเราจะขอหยิบมาเล่าในรีวิวนี้ด้วย ต้องบอกก่อนว่านี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่หนังสือได้สื่อสารออกมา เพราะสิ่งสำคัญภายในเล่มล้วนมีอีกมากที่เป็นประโยชน์และนำไปใช้อ้างอิงได้เป็นอย่างดี

(1) ความรอบคอบ และ ความกลัว – คนเก็บตัวมักทำสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ระแวดระวัง ซึ่งข้อดีของมันคือท่าทางการแสดงออกของเขาจะมีลักษณะเคารพต่อผู้อื่นและดูมีชั้นเชิง แต่บางครั้งความรอบคอบที่สุดโต่งจะกลายเป็นความกลัวและขาดความมั่นใจที่จะสื่อสารกับผู้อื่น

(2) ความมีสาระ และ การใส่ใจรายละเอียดมากเกินไป – จุดแข็งของความมีสาระคือคนเก็บตัวจะสามารถสื่อสารได้อย่างล้ำลึกและลึกซึ้ง ในขณะที่เมื่อมีมากจนเกินไปจะคล้ายกับว่าพวกเขาติดอยู่ในข้อมูลส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ มากกว่าจะมองเห็นความสำคัญของภาพรวม

(3) การมีสมาธิ และ การกระตุ้นที่มากเกินไป – คนเก็บตัวหลายคนสามารถจดจ่อกับสิ่งหนึ่งได้เป็นระยะเวลานาน นับว่าเป็นจุดแข็งที่ดีและโดดเด่น ทว่าคนเก็บตัวเหล่านี้ก็มักมีอุปสรรคจากการกระตุ้นที่บางครั้งดูน้อยนิดสำหรับคนชอบเข้าสังคมด้วย เช่น สถานการณ์ที่มีสิ่งที่ต้องประมวลผลมากเกินไป สภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง หรือกระทั่งตอนที่มีใครบางคนเร่งเร้าเอาคำตอบผ่านคำพูดหรือภาษากาย

(4) การรับฟัง และ ความเฉื่อยชา – การรับฟังของคนเก็บตัวจะเป็นการฟังที่กลั่นกรองอย่างตั้งใจมากกว่าการฟังเพื่อรอเวลาจะได้พูด ฉะนั้นระหว่างการคิดของพวกเขาและท่าทีที่ตอบสนองช้าก็อาจดูคล้ายความเฉื่อยชาของบุคคลนั้น

(5) ความสงบนิ่ง และ การหนี – ความสงบนิ่งภายในจิตใจนับว่าเป็นจุดแข็งของคนเก็บตัว โดยจุดแข็งส่วนนี้จะมีความเชื่อมโยงกับจุดแข็งที่เป็นเรื่องของการมีสมาธิ ทำให้คนเก็บตัวได้ใช้พลังงานน้อยลงและแยกแยะสิ่งรบกวนจิตใจระหว่างเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก แต่ในบางครั้งการหนีก็ถือเป็นการถนอมพลังงานที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดด้วยเช่นกัน คนเก็บตัวอาจพบว่าพวกเขามักเลื่อนการเตรียมตัวในสถานการณ์สิ้นเปลืองพลังงานบางอย่างออกไปเรื่อย ๆ หรือที่เรียกว่าการผัดวันประกันพรุ่ง

(6) การคิดวิเคราะห์ และ การใช้สมองมากเกินไป – จุดแข็งข้อนี้มักเป็นของคนเก็บตัวที่มีสมองซีกซ้ายเป็นใหญ่ พวกเขาถนัดคิดวิเคราะห์ด้วยตรรกะมากกว่าการประมวลผลตามสัญชาตญาณและอารมณ์อย่างคนเก็บตัวที่มีสมองซีกขวาเป็นตัวตั้ง ฉะนั้นอุปสรรคที่เกิดขึ้นมาจากการใช้สมองที่มากเกินไป พวกเขาอาจดูคล้ายหุ่นยนต์ที่ละเลยความสำคัญของความรู้สึก

(7) การพึ่งพาตัวเอง และ การปฏิเสธตัวเอง – คนเก็บตัวส่วนใหญ่นั้นอยู่ด้วยตัวเองได้ และทำได้ดีด้วย (มันคือการชาร์จพลังให้กับตัวเองเลยด้วยซ้ำ) แต่อุปสรรคพิเศษที่ปรากฏขึ้นมานั้นเป็นเรื่องของมุมมองที่พวกเขามีต่อตัวเอง เป็นความคิดแง่ลบโดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางคนชอบเข้าสังคม พวกเขามักรู้สึกแปลกแยก

(8) การมุมานะ และ การยึดติด – การยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นเป็นจุดแข็งที่ดีในแง่ที่ว่าความสำเร็จนั้นไม่ว่าจะเร็วจะช้าเขาก็ยังไม่เลิกพยายาม หากแต่ถ้ามันเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องอาศัยความยืดหยุ่นอย่างเช่นการเจรจาต่อรอง การยึดติดกับความคิดของตัวเองโดยไม่มองความต้องการฝ่ายตรงข้ามดูจะไม่ส่งผลดีนัก

(9) การเขียน และ การเลี่ยงการสื่อสาร – การสื่อสารด้วยวิธีเรียบเรียงออกมาเป็นตัวอักษรนั้นเป็นความถนัดส่วนตัวของพวกเขาตราบใดที่ไม่ได้ใช้มันเพื่อหลีกเลี่ยงการแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่ง ๆ หน้า

(10) ความเข้าอกเข้าใจ และ การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง – โดยสัญชาตญาณ คนเก็บตัวที่ใช้สมองซีกขวาเป็นใหญ่มักมีความสามารถในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นที่มากกว่า ทำให้ลักษณะการพูดคุยเป็นไปด้วยความประนีประนอมและปรองดอง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปเป็นความขัดแย้ง คนเก็บตัวมีโอกาสที่จะยอมล่าถอยแล้วกลับไปนอนกระสับกระส่ายด้วยความคิดเวียนวนกับความขัดแย้งที่ไม่อยากรับมือแต่ก็สร้างความเดือดร้อนมาให้

แต่ละจุดแข็งและอุปสรรคที่หนังสือกล่าวมาเรียกว่าเป็นการตีแผ่ด้านที่บางครั้งแม้แต่ตัวเราเองก็ยังมองข้ามให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม จะเห็นได้ว่าเมื่อเราทำความเข้าใจแล้ว การสร้างกลยุทธ์ที่สอดคล้องกันโดยนำจุดแข็งมาใช้ดูจะกลายเป็นเรื่องที่สามารถนำไปใช้ได้จริงขึ้นมาทันที

รีวิวหนังสือ เงียบเป็นต่อ การหาคู่ ของคนเก็บตัว

โสด-มีคู่-เลี้ยงดูลูก แบบมนุษย์ Introvert

ในพาร์ทของชีวิตส่วนตัว เราค่อนข้างชื่นชอบเป็นพิเศษกับวิธีการนำจุดแข็งมาเชื่อมโยงกับการมองหาคู่! เพราะเราไม่เคยเจอหนังสือเล่มไหนที่กล่าวถึงมาก่อน (จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเก็บตัวและมีความสุขกับการใช้ชีวิตลำพังจะลุกขึ้นมาหาใครสักคนเคียงข้าง) รวมถึงการวิเคราะห์มุมมองความสัมพันธ์ระหว่างคนเก็บตัวด้วยกันกับคนเก็บตัวที่คบหากับคนชอบเข้าสังคมว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร (เราขอสงวนไว้เพราะอยากให้ไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง :D)

หนังสือกล่าวถึงทั้งการใช้ชีวิตคู่ ชีวิตโสด และการรับมือกับชีวิตครอบครัวสำหรับคนเก็บตัว โดยบอกถึงวิธีสังเกตลูกว่าเป็นแบบไหนพร้อมทั้งแนะนำวิธีเลี้ยงลูกไว้ภายในเล่ม ถึงแม้ว่าข้อมูลในส่วนนี้จะเป็นพาร์ทเล็ก ๆ เท่านั้น แต่เราว่ามีประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้เรารับรู้มุมมองโดยกว้างซึ่งอาจนำไปสู่การหาหนทางขยายขอบเขตการเรียนรู้อีกได้ในอนาคต

Introvert ก็มีวิธีส่งเสียงในแบบของตัวเอง

ส่วนสุดท้ายของหนังสือ ต้องบอกว่าหากไม่ใช่คนเก็บตัวมาเขียนอาจไม่คำนึงถึงจุดนี้เลยก็ได้ ผู้เขียนเล่าถึงวิธีการที่จะทำให้ผู้อื่นรับรู้ถึงการมีตัวตนและรับฟังเรา โดยอาศัยจุดแข็งที่เรามีข้างต้นมาทำเป็นกลยุทธ์และกฎง่าย ๆ เพื่อให้จดจำได้และนำไปใช้ ส่วนตัวเรามองว่าเป็นการชี้แนะแนวทางจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับมนุษย์เก็บตัวที่กำลังก้าวสู่หน้าที่การงานที่จำเป็นต้องออกไปใช้ชีวิตท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีเคล็ดลับอีกมากมายที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบทบาทของตัวเราเอง เช่น ตัวอย่างประโยคเพื่อใช้ในการฟังเชิงรุก วิธีการเจรจาต่อรองโดยอาศัยจุดแข็งแบบคนเก็บตัว เทคนิคการเตรียมการพูดในที่สาธารณะ ไปจนถึงเคล็ดลับจัดการผู้คนที่แสดงออกอย่างไม่เป็นมิตรในที่ประชุม

สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้

โดยสรุปแล้ว หนังสือช่วยสร้างความมั่นใจจากจุดแข็งและแนะนำวิธีรับมือกับอุปสรรคก่อนที่มันจะกลายไปเป็นจุดอ่อนถาวรเพื่อนำไปใช้ในการสื่อสารทั้งในแง่ของการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ดี เพราะการเรียนรู้ถึงลักษณะเฉพาะของตัวตนเรานั้นคล้ายกับการหาวิธีผูกมิตรกับโลกภายนอก เมื่อเรารู้แล้วว่าตำแหน่งแห่งหนใดบนโลกนี้ที่เราจะพาตัวเองไปอยู่ได้โดยไม่สร้างความทรมานหรือทิ้งร่องรอยบาดแผลทางความรู้สึกเอาไว้ ความสบายใจและการรับรู้ถึงคุณค่าภายในตัวเองย่อมปรากฏให้เห็นได้อย่างเด่นชัด

และโปรดจงจำไว้ … ไม่ว่าคุณจะมีบุคลิกภาพแบบใด สิ่งที่ทุกคนล้วนมีไม่ต่างกันออกไป นั่นคือ “ความเป็นมนุษย์”

เพราะความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่ได้ส่งผลให้ใครเป็นมนุษย์น้อยลงเลย…

รีวิวหนังสือ เงียบเป็นต่อ การมีตัวตน

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

“เงียบเป็นต่อ (Quiet Impact)”

ผู้เขียน : Sylvia Loehken
(พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล)

จำนวนหน้า : 312 หน้า / ราคาปก : 280 บาท

สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น

หมวด : จิตวิทยา

รีวิวหนังสือ The Bullet Journal Method วิถีบันทึกแบบบูโจ
หนังสือที่จะช่วยให้คุณจัดระเบียบชีวิต และค้นพบวิธีการจัดการตารางเวลาได้อย่างเป็นระบบ พร้อมปลูกฝังทัศนคติการเขียนบูโจให้ได้ผลอย่างแท้จริง
ก.ค. 28, 2021
tuesday with morrie รีวิว ครูมอร์รี
ร่วมเรียนรู้วิชาสุดท้ายแห่งความหมายของชีวิตจากครูมอร์รี ผู้โอบรับความตายอย่างเปี่ยมด้วยเมตตา พร้อมสัมผัสความอบอุ่นจากสายสัมพันธ์ระหว่างการถ่ายทอดเรื่องราวโดยศิษย์รักของเขา มิตช์ อัลบอม
ก.ค. 5, 2022
รีวิวหนังสือ Big Magic พลังวิเศษของคนธรรมดา
หนังสือสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเนื้อหาอ่านสนุก เพลิดเพลิน กระตุ้นพลังความคิดให้อยากลงมือค้นหาสมบัติภายในตัวเอง
ก.ค. 12, 2021
รีวิวหนังสือ NIKSEN ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย
เมื่อการปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลยสำหรับคุณกลายเป็นเรื่องไร้สาระ ในขณะที่แต่ละวันก็ยังทนแบกรับความเหนื่อยหนักที่มากเกินไปเพราะคิดว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง ขอชวนลองเรียนรู้การสร้าง Empathy ให้ตัวเองด้วยปรัชญา Niksen ของชาวดัตช์กันค่ะ
ต.ค. 16, 2021