Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : ชีวิตและเรื่องขีดเขียนของสตีเวน คิง On Writing: A Memoir of the Craft (Stephen King)

รีวิวหนังสือ : ชีวิตและเรื่องขีดเขียนของสตีเวน คิง On Writing: A Memoir of the Craft (Stephen King)

รีวิวหนังสือ ชีวิตและเรื่องขีดเขียน สตีเวน คิง On Writing

“..ถ้าคุณอยากเป็นนักเขียน มีสองอย่างที่คุณจะต้องทำมากกว่าคนอื่น

หนึ่ง อ่านให้มาก และสอง เขียนให้มาก

เท่าที่ผมรู้ ไม่มีหนทางอื่นใดอีกแล้วนอกจากนี้ และก็ไม่มีทางลัดด้วย..”

จากหนังสือ หน้า 157 ชีวิตและเรื่องขีดเขียนของสตีเวน คิง

✒️ ประวัติผู้เขียน สตีเวน คิง (Stephen King)

สตีเวน คิง (Stephen King)
นักเขียนผู้ได้รับขนานนามว่าเป็นราชาแห่งนิยายสยองขวัญ
ผลงานทั้งหมดของเขาขายได้มากกว่า 350 ล้านฉบับ
และมีหลายเรื่องถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์และซีรีย์ทางโทรทัศน์
เขาจบการศึกษาภาควิชาภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยเมนแห่งเมืองออรอโน
และทำงานอื่น ๆ อีกมากมายพร้อมกับการเขียนหนังสือไปด้วย
จนในที่สุด 'Carrie' นิยายเรื่องที่ 4 ที่เขาเขียนโดยได้รับการสนับสนุนจากภรรยา
ได้รับการเผยแพร่และพลิกชีวิตเขาจากหลังมือเป็นหน้ามือ

🎯 มุมมองสรุป

: จะว่าเป็นหนังสืออัตชีวประวัติที่เจ้าของเป็นคนเขียนเล่าด้วยตนเองก็ย่อมได้ ผู้เขียนเล่าย้อนไปตั้งแต่ความทรงจำในวัยเยาว์และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่หลอมรวมให้กลายมาเป็น สตีเวน คิง อย่างที่ทุกคนรู้จักเช่นทุกวันนี้ ซึ่งมองโดยภาพกว้างแล้วเขาก็คือเด็กชายคนหนึ่งที่ไม่ได้เกิดมาบนความพรั่งพร้อมมั่งมีที่จะปูทางให้เขาสามารถทำสิ่งที่รักได้โดยไม่ต้องเจออุปสรรค หากแต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือความมุ่งมั่น ซื่อตรงกับความต้องการของตัวเอง และมีหญิงสาวสองคนที่เขารักในชีวิตคอยสนับสนุนด้วยเชื่อในแบบเดียวกันกับเขา

: หนังสือแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 พาร์ท ได้แก่ ประวัติโดยสังเขป ที่จะเล่าที่มาที่ไปของการเริ่มต้นสนใจเกี่ยวกับงานเขียน ต่อมาคือการเล่าถึงการเขียนในความคิดของเขา ซึ่งเป็นพาร์ทสั้น ๆ ที่อธิบายว่ามุมมองต่อการเขียนสำหรับเขาแล้วคืออะไร พาร์ทที่ 3 คือกล่องเครื่องมือ เป็นการเริ่มบรรยายถึงสิ่งที่เขาคิดว่าจำเป็นต้องใช้และในแต่ละคนก็มีไม่เท่ากัน พาร์ทที่ 4 ว่าด้วยการเขียน เป็นส่วนที่เขาจะเล่าถึงความรู้ ความเชื่อ และประสบการณ์ที่มีมาของเขาในการสร้างนิยายที่ดีขึ้นมา และบทส่งท้ายปัจฉิมลิขิต เล่าถึงจุดเปลี่ยนชีวิตจากอุบัติเหตุไม่คาดคิดเพียงเสี้ยววินาที

: ในความคิดเห็นของเรา เล่มนี้คุ้มค่ามากสำหรับผู้ที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน แม้ข้อมูลบางส่วนเป็นคำแนะนำโดยใช้การอ้างอิงไวยากรณ์ในรูปแบบภาษาต่างประเทศ แต่ในเรื่องอื่น ๆ ของสตีเวนนั้นมีวิธีถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างตรงไปตรงมาและสนุกสนานจนสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้เป็นอย่างดี

: ต้องบอกว่าเล่มนี้เหมาะจริง ๆ สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียนนิยาย และผู้ที่อยากเรียนรู้ศึกษาถึงมุมมองและวิธีการเขียนของราชานิยายเขย่าขวัญที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกคนนี้ แม้เขาจะอ้างถึงว่านี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวใด ๆ เพียงแต่เป็นวิธีที่เขาใช้กับงานของเขาเท่านั้น แต่ก็เพราะด้วยเหตุนี้ มันจึงกลายเป็นหนังสือที่มีคุณค่าในแบบฉบับของตัวเอง
รีวิวหนังสือ ชีวิตและเรื่องขีดเขียน สตีเวน คิง On Writing

สำหรับคอนิยายแปลแนวระทึกขวัญอาจจะรู้จักสุดยอดนักเขียนคนนี้กันอยู่แล้ว ในส่วนของตัวเราที่ต้องบอกว่าขวัญอ่อนมาก (ถึงมากที่สุด) จะไม่ค่อยอ่านนิยายหมวดนี้สักเท่าไรนัก ส่วนตัวเหตุผลหนึ่งอย่างที่นักอ่านทุกคนน่าจะพอเดาได้ พวกเรามีวิธีจินตนาการได้ลึกล้ำมาก ๆ เมื่อจมจ่อมลงไปในเรื่องเล่า เพราะฉะนั้นแง่มุมของการรีวิวหนังสือเล่มนี้ จึงไม่ใช่จากแฟนสตีเวน คิงโดยตรง หากแต่เป็นคนที่ชื่นชอบการเขียน การเล่าเรื่อง และเขาก็เป็นระดับปรมาจารย์ที่ไม่ว่าใครก็อยากได้เคล็ดลับด้วยกันทั้งนั้น

เอาล่ะ ทีนี้ลองมาฟัง (ไม่สิ…ต้องอ่าน) จากผู้ที่ไม่ได้ติดตามผลงานของเขากัน (จะว่าไม่เคยติดตามผลงานเลยก็ไม่ถูกนัก เพราะเราก็เคยดูภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายของเขาอยู่บ้าง เป็นเรื่องที่ชอบมากด้วย) ว่าเมื่อมาอ่านชีวิตและเรื่องราวของชายผู้นี้แล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร และได้อะไรกลับมาบ้าง…?

วิกฤติคือโอกาส

สตีเวน คิง ได้เริ่มต้นเล่าเรื่องเมื่อครั้งที่ยังอยู่ในวัยเด็กเท่าที่เขาพอจะปะติดปะต่อความทรงจำได้ และเราคิดว่าสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาจากการมองย้อนภาพกลับไปในเวลาที่นานขนาดนั้นย่อมต้องเป็นความทรงจำพิเศษที่อาจมีส่วนบ่มเพาะให้กลายเป็นเขาจนถึงทุกวันนี้ เขายังคงจำภาพตัวเองในวัยเยาว์ถึงการเป็นนักจินตนาการตั้งแต่สามขวบ และเด็กชายขี้โรคที่จดจำทุกความเจ็บปวดและเอามาเล่าซ้ำได้อย่างน่าหวาดเสียว (ต้องบอกว่าพาร์ทที่เขาเล่าเกี่ยวกับการรักษาหูอักเสบของตัวเองแค่ย่อหน้าเดียวก็ทำเอาเราเกร็งแล้ว)

ทว่าท่ามกลางความโชคร้ายที่ต้องเผชิญปัญหาสุขภาพตั้งแต่เด็ก ก็ได้กลายมาเป็นบันไดขั้นแรกสู่เส้นทางของการเป็นนักอ่านนักเขียนของเขา เพราะเมื่อพลาดการเลื่อนชั้นเนื่องจากขาดเรียนเกินกำหนด ก็ทำให้เขาต้องหยุดอยู่บ้าน และระหว่างนั้นเขาก็ได้เริ่มต้นอ่านการ์ตูน จนลามไปเป็นนิยายผจญภัย และเลยไปจนถึงนิยายสยองขวัญ โดยเมื่อความคลั่งไคล้พุ่งขึ้นถึงขีดสุด เขาก็ได้ลองเขียนผลงานของตัวเองเป็นเล่มแรกจากการลอกเลียนหนังสือการ์ตูนและแต่งเติมเสริมเข้าไป ก่อนจะได้รับแรงบันดาลใจจากผู้เป็นแม่ที่ทำให้เขาเริ่มลองแต่งนิทานขึ้นมาเอง

ขณะที่เพลิดเพลินกับเรื่องราวชีวิตของเขาที่เขียนเล่าได้อย่างออกรสนั้น เราก็รู้สึกได้อย่างหนึ่งว่าเหตุผลสำคัญของการกลายมาเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนนี้คือความมุ่งมั่นที่จะทำมันต่อไปอย่างหลงใหลและไม่ยอมหยุด แม้ในตอนที่เขาเริ่มส่งเรื่องสั้นไปตามนิตยสารต่าง ๆ แล้วได้รับจดหมายปฏิเสธจนเต็มหมุดที่ตรึงไว้กับผนัง เขาก็ยังคงเขียนมันต่อไป

ใครบอกว่าเราต้องตามหาไอเดีย

สตีเวนให้แง่คิดว่าคลังไอเดียไม่เคยมีอยู่จริง เพราะไอเดียงานเขียนดี ๆ มักจะโผล่ออกมาตอนคุณไม่ได้ตั้งใจที่จะคิด และหน้าที่ของคุณคือมองเห็นตอนมันปรากฏตัวขึ้น แล้วใช้กล่องเครื่องมือที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ของตัวคุณเองนั่นแหละมาก่อมันให้เป็นรูปเป็นร่าง กล่องเครื่องมือที่ว่านี้ก็คือคลังคำศัพท์และไวยากรณ์ ซึ่งอยู่ในชั้นแรก ต่อมาก็คือรูปแบบและสไตล์ อันได้แก่วิธีการจัดรูปแบบของนิยายให้อ่านง่ายและการขึ้นย่อหน้า เมื่อคำสร้างประโยค ประโยคสร้างย่อหน้าแล้ว คุณก็มีหน้าที่ใส่เวทมนตร์ลงไปเพื่อให้แต่ละย่อหน้าของคุณมีลมหายใจ

รีวิวหนังสือ เขียนนิยายให้ขายดี สตีเวน คิง On Writing

รูปแบบการเขียนที่เรียนด้วยกันได้

แม้ในหนังสือที่สตีเวนเขียนเกี่ยวกับกล่องเครื่องมืออาจจะมีการบรรยายโดยอ้างอิงจากภาษาอังกฤษ แต่เราคิดว่าเรื่องนี้สามารถเทียบเคียงได้บ้าง เพราะตามปกติแล้วโครงสร้างทางภาษารวมถึงรูปแบบการนำเสนอที่จะสามารถสื่อสารให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและดำดิ่งลงไปในเนื้อหาย่อมมีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ไม่มากก็น้อย อย่างเช่น เนื้อหาที่โปร่ง ย่อหน้าที่เหมาะสม วรรคตอนที่ถูกต้อง ไปจนถึงการสะกดคำและการไม่ใช้คำพร่ำเพรื่อ โดยสตีเวนจะแนะนำกลุ่มคำที่ควรหลีกเลี่ยง นั่นก็คือพวก ‘คำวิเศษณ์’ ซึ่งน่าจะเทียบได้กับกลุ่มคำจำพวกที่อธิบายถึงลักษณะอากัปกิริยาทั้งหลาย “จงอย่าเล่าหากคุณสามารถแสดงให้เห็นได้” มันจะช่วยให้คนอ่านเกิดจินตภาพและอารมณ์ร่วมได้มากกว่าการตีกรอบบ่งบอกว่าคุณเขียนให้ตัวละครเหล่านั้นรู้สึกอย่างไรอยู่

‘พล็อต’ ไม่ใช่ทุกอย่าง

สำหรับสตีเวนแล้ว นิยายหนึ่งจะประกอบไปด้วย การบรรยาย การพรรณนา และบทสนทนา สังเกตว่าเขาไม่ใช้ ‘พล็อต’ ในการยึดถือเป็นแนวหลักที่จะเขียนนิยายสักเรื่องหนึ่ง (เขาไม่ได้บอกว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด เพียงแต่นี่คือวิธีการทำงานของเขา เอาจริงเขาก็ไม่ได้บอกว่าทุกอย่างที่เขียนในเล่มนี้คือสิ่งที่นักเขียนต้องทำนะ) สตีเวนให้เหตุผลว่าการมีพล็อตจะทำให้นิยายนั้นไม่เป็นธรรมชาติ เพราะหากอยากให้คนรู้สึกถึงตัวละครว่ามีชีวิตจริง เราก็ควรทำให้มันใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากที่สุด นั่นคือชีวิตจริงของมนุษย์เราไม่มีพล็อต เขาจึงมักให้ความสำคัญกับ 3 ส่วนข้างต้นแล้วปล่อยให้ตัวละครของเขาเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อ สตีเวนมักใช้เวลาในการเขียนร่างแรกโดยประมาณ 3 เดือน และแนะนำว่าควรเขียนในห้องปิด แล้วค่อยอ่านซ้ำอีกครั้งในห้องเปิด หลังจากทิ้งมันไว้สักระยะ หนีไปทำอย่างอื่น หรือนานพอที่คุณจะลืมเนื้อหาของมันไปแล้ว

พลังที่ส่งผ่านงานของสตีเวน คิง

พอจะนึกภาพออกเลยว่าทำไมการอ่านหนังสือที่เกือบจะคล้ายอัตชีวประวัติของเขาเล่มนี้มันถึงทำเราวางได้ยากมาก รายละเอียดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยถูกสะสมมาเรื่อย ๆ ตลอดการเดินทางไปพร้อมกับเรื่องเล่าในชีวิตของเขา สอดแทรกทั้งมุมมองอารมณ์ขันและข้อคิดที่จะให้เราเอากลับไปประยุกต์ใช้ได้ โดยรวมมันจึงเป็นหนังสือที่ทำให้เชื่อสุดใจว่าการเขียนคือชีวิตของคน ๆ นี้อย่างแท้จริง

มันไม่มีสูตรสำเร็จในนี้หรอก และมันก็ไม่ใช่หนังสือ Self-help ที่จะโยนขั้นตอนการเขียนนิยายขายดีให้คุณแบบทื่อ ๆ … นี่ชีวิตคน … ชีวิตที่มีล้ม มีลุก บาดเจ็บ เหนื่อยอ่อน ตีบตัน และการพลัดหลงอยู่บ้าง ซึ่งมันเป็นความธรรมดา และการร่ายเรียงเรื่องธรรมดาจากนักเขียนที่หลายคนยกให้เป็นผู้ประสบความสำเร็จแล้วนี่เองที่มันส่งพลังและแรงบันดาลใจให้คุณอยากลองลงมือทำในแบบธรรมดาของตัวคุณเองบ้าง On Writing สร้างพลังงานแบบนั้น

“ไม่ว่าคุณจะมาถึงโต๊ะเขียนหนังสือด้วยเหตุผลกลใด ขออย่างเดียว …จงอย่ามานั่งลงตรงหน้ากระดาษว่าง ๆ โดยไม่คิดที่จะจริงจังกับมัน!”

รีวิวหนังสือ ชีวิตและเรื่องขีดเขียน สตีเวน คิง On Writing

“ชีวิตและเรื่องขีดเขียนของสตีเวน คิง On Writing: A Memoir of the Craft”

ผู้เขียน : สตีเวน คิง (นรา สุภัคโรจน์ แปล)

จำนวนหน้า : 320 หน้า / ราคาปก : 310 บาท

หมวด : วรรณกรรม

✒️ บทความที่เกี่ยวข้อง

9 เทคนิคการเขียนนิยายที่ได้จากสตีเวน คิง
รีวิวหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด 1
หลักจิตวิทยาระดับปัจเจกบุคคลที่ชวนเรียนรู้ตัวตนก่อนจะก้าวไปทำความรู้จักกับผู้อื่น ว่ากันว่าเมื่อได้รู้จักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์หนึ่งครั้ง จะติดอยู่ในหัวไปทั้งชีวิต
ส.ค. 12, 2021
รีวิวหนังสือ NIKSEN ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย
เมื่อการปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลยสำหรับคุณกลายเป็นเรื่องไร้สาระ ในขณะที่แต่ละวันก็ยังทนแบกรับความเหนื่อยหนักที่มากเกินไปเพราะคิดว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง ขอชวนลองเรียนรู้การสร้าง Empathy ให้ตัวเองด้วยปรัชญา Niksen ของชาวดัตช์กันค่ะ
ต.ค. 16, 2021
เราจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร how to live a good life รีวิว
จะเป็นอย่างไรหากเราจินตนาการถึงภาพชีวิตที่ดีที่เราจะมีได้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม – หนังสือที่ชวนคุณออกเดินทางเพื่อค้นพบชีวิตที่ดี จากผู้คนที่หลากหลาย ผ่านปรัชญาลึกซึ้ง ณ สถานที่ใดที่หนึ่งของโลก
ต.ค. 21, 2023
รีวิว โมเมนต์พลิกชีวิต The Power of moments
หนังสือที่จะทำให้คุณเรียนรู้สูตรสำเร็จของการสร้างช่วงเวลาสำคัญให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย เพื่อกลายเป็นโมเมนต์ยิ่งใหญ่ท่ามกลางประสบการณ์มากมายในชีวิต
มิ.ย. 17, 2024