Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : NIKSEN ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย (แอนเนท ลาฟไรห์เซน)

รีวิวหนังสือ : NIKSEN ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย (แอนเนท ลาฟไรห์เซน)

รีวิวหนังสือ NIKSEN ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย

อาจมีบางช่วงชีวิตของเราที่ให้ความสำคัญและมอบคุณค่าให้แก่ความ PRODUCTIVE

กระทั่งนานวันไป – มันได้หยั่งรากลึกลงไปจนติดเป็นนิสัย

บ่อยครั้งเราไม่อนุญาตให้ตัวเองได้พัก และปิดทับโพรงแห่งความเหนื่อยล้าด้วยความเข้าใจผิดที่ว่า

‘ไม่ทำอะไร = คนขี้เกียจ’

✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️

แอนเนท ลาฟไรห์เซน
อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Women’s Health ประเทศเนเธอแลนด์และนักข่าวอิสระ
เชี่ยวชาญงานเขียนเกี่ยวกับสุขภาพ จิตวิทยา และธรรมชาติ
ผู้ที่ใช้ชีวิตประจำวันไปกับการแสวงหาความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งใหม่ ๆ
พลังงานชีวิต ท่ามกลางบรรยากาศที่ลดทอนความกังวล
และตัดตนออกจากการใช้งานโทรศัพท์หรือ WIFI บ่อยครั้ง
ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ทั้งเมืองอัมสเตอร์ดัมและบาร์เซโลนา
🎯 SUMMARY VIEW 🎯

: หนังสือชวนทำความรู้จักปรัชญา NIKSEN ซึ่งคำนี้เป็นภาษาดัตช์ มีนิยามความหมายสั้น ๆ ว่า “ไม่ทำอะไรเลย” เคยถูกใช้ในความหมายเชิงลบมาโดยตลอด กระทั่งปัจจุบันเกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ที่รวดเร็วและถาโถม คำนี้ได้ถูกตีความใหม่ให้เป็นแนวปฏิบัติในทางบวกมากขึ้น

: ดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดี (Better Life Index) จัดให้เนเธอแลนด์เป็นประเทศที่สมดุลด้านการทำงานและการใช้ชีวิตที่ดีที่สุดในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมปรัชญา NIKSEN จึงน่านำมาเรียนรู้

: หนังสือเล่มเล็ก ขนาดกะทัดรัด และมีเนื้อหาที่อ่านจบได้ในเวลาอันสั้น มีภาพประกอบและสีสันสวยงามตลอดทั้งเล่ม สร้างความรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้หยิบมาอ่าน เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคุณลักษณะของสิ่งที่เนื้อหานำเสนอ

: เหมาะสำหรับผู้ที่อยากเรียนรู้วิธีการหยุดพักจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่รายล้อมรอบด้าน หรือผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองสะสมความเครียดจากการทำงาน ไม่สามารถทนการอยู่เฉย ๆ ได้ และอยากได้แนวความคิดที่จะช่วยละตัวตนให้ออกจากสภาวะดังกล่าวบ้าง

: ตลอดทั้งเล่มมีแบบฝึกหัดให้ทดลองทำได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยการตีความมาก เป็นหนังสือที่ชี้แนะแนวทางให้ทำตามอย่างที่คุณไม่ต้องคิดอะไรเยอะ
รีวิวหนังสือ NIKSEN ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย

NIKSEN มีความหมายว่า “ไม่ทำอะไรเลย” ในภาษาดัตช์ ซึ่งเป็นภาษาทางการของประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยพื้นฐานที่ชาวดัตช์มีการเรียนรู้วิธีการทำงานอย่างขยันขันแข็งตั้งแต่เด็ก ทำให้คำนี้มีความหมายในทางลบมาโดยตลอด จนกระทั่งยุคสมัยปัจจุบันที่ความรวดเร็วกลายเป็นกระแสหลักในการดำเนินชีวิต การหยุดพักหรือไม่ทำอะไรเลย จึงถูกนำมาตีความใหม่อีกครั้ง เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติเชิงบวกที่จะช่วยลดความเครียดของชาวดัตช์ลง

‘ แค่การไม่ทำอะไรเลย … ฉันก็เคยนะ …’

หากคุณกำลังสงสัยว่าการไม่ทำอะไรเลยของคุณนั้นถือว่าเป็นการเรียนรู้ปรัชญา NIKSEN ตามแบบฉบับของชาวดัตช์แล้วหรือไม่ ลองตอบคำถามสิ่งที่คุณทำลงไป (เอ้ย! ไม่ได้ทำลงไป) ดังต่อไปนี้ว่ามีอยู่กี่ข้อ

  • การไม่ทำอะไรของคุณนั้น ไม่ได้ออกแรง ไม่ได้ใช้สมอง
  • เมื่อคุณเสร็จสิ้นภารกิจของการไม่ทำอะไรนั้นแล้ว คุณผ่อนคลายและรู้สึกสงบมากขึ้น (ส่วนใหญ่น่าจะตายกันข้อนี้ เพราะบางทีคน Productive มาก ๆ อาจจะชอบคิดว่า ...ทำไมช่างขี้เกียจขนาดนี้นะ วันนี้ทั้งวันแทบไม่ได้อะไรเลย!!)
  • คุณไม่รู้สึกถูกผูกมัดว่าแท้จริงแล้วช่วงเวลาดังกล่าวสามารถทำประโยชน์อะไรได้มากกว่านี้
  • คุณไม่สนว่าใครจะมองว่าขี้เกียจ
  • หากตอบใช่ทุกข้อ …คุณน่าจะเข้าถึงปรัชญา NIKSEN ได้บางส่วนแล้วล่ะ ไม่ต้องอ่านก็ได้ 😀 (หยอก ๆ ค่ะ) แต่ถ้าหากยังอยากรู้ว่าในเล่มนี้มีอะไร ก็หยิบมันกลับมาไว้ในอ้อมออกอ้อมใจต่ออีกสักนิด

    ภายในหนังสือจะชวนเราปรับทัศนคติของการปล่อยให้ตัวเองไม่ต้องทำอะไรเลยเสียใหม่ ว่าบางครั้งสิ่งที่เราคิดว่ายุ่งเกินไป ไร้สาระเกินไป หรือคนอื่นกำลังต้องการเรามาก ๆ อยู่นั้น อาจเป็นข้อผูกมัดที่ทำให้เราไม่กล้าแม้แต่จะหันกลับมาเอื้ออารีต่อตัวเองด้วยการปล่อยให้มีพื้นที่สำหรับการได้หยุดพักทั้งความคิด ความรู้สึก และกิจกรรมในมือบ้าง

    ลองนึกภาพว่าหากเราเห็นคนที่เรารักสักคนทำงานอย่างหนัก (หนักแบบที่เรากำลังทำ) หรือครุ่นคิดใช้สมองโดยไม่หยุดพัก (แบบที่เรากำลังเป็น) เราก็อาจจะรู้สึกว่าอยากให้เขาได้ ‘พักผ่อน’ สักหน่อย

    แล้วทำไมกับตัวเอง เราถึงได้ใจร้ายกันบ่อยนัก ว่าอย่างนั้นไหมคะ ?

    ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย รีวิวหนังสือ

    สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณจัดสรรตารางกิจวัตรประจำวันใหม่ โดยเพิ่มการทำ NIKSEN เข้าไปในช่วงเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะแอบซ่อนไว้ได้ นั่นคือการไล่เรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต ทบทวนถึงสิ่งเหล่านั้นอย่างถี่ถ้วนดูอีกครั้ง (แรก ๆ อาจต้องใช้การแอบซ่อน แต่เราหวังว่าเมื่อคุณได้ลองทำและเข้าถึงมัน คุณจะแบ่งเวลาให้กับการทำ NIKSEN แบบเต็ม ๆ วันดู)

    อันดับแรก จงทดลองให้คะแนนสิ่งที่คุณทำในแต่ละวันโดยใช้ความสุขเป็นเกณฑ์ชี้วัด อะไรที่คะแนนน้อยเกินไปนัก คุณอาจลองล้มเลิกหรือคิดค้นที่จะหยุดกิจกรรมดังกล่าว แล้วใส่ NIKSEN ลงไป หรือจัดกลุ่มมันให้อยู่ด้วยกันไว้ เพื่อที่คุณจะได้มีเวลาสำหรับความผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องได้นานขึ้น

    ไม่ใช่แค่เรื่องของตารางเวลา ในแง่ของสถานที่ การสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมก็ช่วยให้การทำ NIKSEN สามารถประสบผลสัมฤทธิ์ได้ง่ายดายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บ้านที่คุณอาจจะจัดมุมสงบ ๆ สักหนึ่งมุมสำหรับช่วงเวลาแห่งความผ่อนคลาย หรือพื้นที่ทำงานที่คุณอาจใช้เส้นแบ่งที่ชัดเจนของช่วงเวลาเพื่อช่วยแยกคุณออกจากโซนการทำงานได้ชั่วคราวในแต่ละวัน

    หนังสือได้พยายามทำลายข้ออ้างทั้งหมดเท่าที่มนุษย์ Multitasking หรือ Productive คนหนึ่งจะหยิบยกมาใช้เพื่อไม่ปล่อยให้ตัวเองได้หยุดพัก เพราะในความเป็นจริงปรัชญา NIKSEN นั้นสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา และในทุก ๆ วัน

    ไม่เพียงแค่สำหรับตัวเองเท่านั้น หนังสือได้ชวนนำปรัชญานี้ไปใช้ในฐานะของคนเป็นพ่อเป็นแม่อีกด้วย

    เราจะเห็นได้ว่าหนังสือเน้นไปที่การใช้เวลากับตัวเองและครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ เพราะนี่เป็นสิ่งที่ชาวดัตช์ให้ความสำคัญ โดยอ้างอิงจากการศึกษาของวีทีกี โกเนน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ซึ่งใช้ข้อมูลจาก European Value Study (1981 – 2017) ถึงสิ่งที่ชาวยุโรปให้ความสำคัญที่สุด เขาพบว่าทุกประเทศล้วนให้ความสำคัญกับครอบครัว แต่เมื่อมาถึงเรื่องงานที่หลายประเทศจัดลำดับไว้รองลงมานั้น ประเทศเนเธอร์แลนด์กลับใส่มันไว้ท้ายตารางต่อจากเพื่อนและเวลาว่าง

    ท้ายสุดแล้ว ปรัชญาของการไม่ทำอะไรเลยนี้ อาจดูเป็นศิลปะที่ทำได้ไม่ยาก แต่หากคุณเป็นมนุษย์ที่มักทำงานอยู่เสมอ หรือคอยถมช่องว่างที่ยังเห็นเล็ดรอดในตารางเวลาให้เต็มไปด้วยกิจกรรมทรงคุณค่าจนแน่นขนัด จะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการทำ NIKSEN

    ขออนุญาตบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวก่อนที่จะรู้จักกับปรัชญานี้ เราเคยเข้าร่วมกิจกรรม New Me in One Month ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยความสุขประเทศไทยร่วมกับ สสส. ดำเนินรายการโดยนักเขียนคนโปรดของเราคือ คุณเอ๋ นิ้วกลม สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ร่วมกับวิทยากรที่น่าประทับใจอีกหลายท่าน โดยเป็นกิจกรรมที่ให้เราเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 30 วันพร้อมทั้งบันทึก Journal ไว้

    เราเลือกกิจกรรม “ไม่ทำอะไรเลยเป็นเวลา 15 นาทีต่อวัน” (ซึ่งโดยบังเอิญมากที่เราก็มาเจอหนังสือเล่มนี้ต่อจากกิจกรรมนั้น) เพราะคิดว่าดูไม่น่าจะลำบากอะไรมาก แต่ปรากฏว่าวันแรกสิ่งที่พบ คือความรู้สึกกระวนกระวายและเอาแต่คิดว่าน่าจะเลือกกิจกรรมที่ดูมีประโยชน์กับชีวิตมากกว่านี้ (ฮ่า ๆ)

    จวบจนกระทั่งเวลาผ่านไป เราจึงค้นพบว่านี่กลายเป็นช่วง 15 นาทีทองของวันไปโดยปริยาย : )

    ฉะนั้นเราไม่อาจบอกได้ว่าคุณจะค้นพบคุณค่าของศิลปะแห่งการไม่ทำอะไรเลยหลังจากอ่านเล่มนี้จบหรือไม่ และไม่แน่ใจกระทั่งว่าเมื่อได้ทดลองทำแล้วจะเข้าถึงจิตวิญญาณของสิ่งนี้เลยหรือเปล่า

    แต่สิ่งที่เรารู้ …เพียงแค่คุณสนใจที่จะหยิบมันขึ้นมาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ นี่ก็อาจหมายถึงว่าคุณเริ่มอยากกลับมาใส่ใจที่จะปลอบประโลมตัวเองบ้าง

    และมันเพียงพอแล้วสำหรับการเริ่มต้น …

    แบบฝึกหัดทดลอง ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย

    🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

    “NIKSEN ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย”

    ผู้เขียน : แอนเนท ลาฟไรห์เซน
    (อณรรฆวีร์ เติมสินสุข แปล)

    จำนวนหน้า : 146 หน้า / ราคาปก : 245 บาท

    สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ฮาวทู

    หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง

    รีวิว เส้นชัยไร้เหตุผล หนังสือนิ้วกลม Roundfinger
    “ความฝันคือเรื่องที่ยังไม่เป็นจริง แต่ไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีวันเป็นจริง; นิ้วกลม" – มาร่วมออกวิ่งมุ่งสู่สิ่งที่จะพาจิตวิญญาณของคุณให้โลดแล่นตาม เพื่อค้นพบแง่งามจากการก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดของตัวเอง
    ต.ค. 10, 2022
    อ่านกันยันโลกหน้า งานหนังสือ 2567
    ลิสต์มาไว้ให้บางส่วนแล้วที่นี่ กับหนังสือออกใหม่ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 10 - 20 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้คอนเซ็ปต์งาน 'อ่านกันยันโลกหน้า' ... //กุ๊กกุ๊กกู๋วววว
    ต.ค. 11, 2024
    how to win friends and influence people review thai version bookreview
    ต้นแบบหนังสือจิตวิทยาแปลไทยเล่มแรกที่เนื้อหายังคงปรับใช้ได้ในยุคปัจจุบันแม้ผ่านพ้นนานครึ่งศตวรรษ ร่วมศึกษาแนวปฏิบัติที่จะช่วยให้คุณสร้างมิตรทั้งในเชิงธุรกิจและชีวิตส่วนตัว
    ก.ค. 24, 2022
    รีวิวหนังสือ หมวดธุรกิจ
    เมื่อความสำเร็จไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนที่เก่ง ฉลาด หรือผ่านประสบการณ์มากมายเพียงเท่านั้น หากแต่กลยุทธ์เบื้องหลังที่สำคัญ อาจเป็นวิธีการที่พวกเขาฝึกฝนและยืนระยะหลังการตัดสินใจลงมือทำแล้วต่างหาก ร่วมค้นหาวิธีฝึกฝนที่ไม่ใช่แค่การฝึกฝน แล้วก้าวสู่จุดสตาร์ทอย่างคนที่จะประสบความสำเร็จในแบบของตัวเองไปด้วยกัน
    ก.ค. 16, 2023