การเปลี่ยนกรอบคิดไม่ใช่การหยิบคำแนะนำสองสามอย่างมาใช้
แต่เป็นเรื่องของการมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีใหม่ ๆ …
( – จากหนังสือหน้า 355 )
- ✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน Carol S. Dweck
- 🎯 มุมมองสรุป
- การพัฒนากรอบความคิด
- คนสำเร็จเพราะพยายาม คนล้มเหลวคือพวกเขายังพยายามไม่มากพอ?
- เราจำเป็นต้องมีกรอบความคิดแบบพัฒนาแล้วจริง ๆ หรือ?
- บางครั้งก็รู้สึกว่าเรามีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ แต่พอเจอปัญหาทีไรก็กลับไปเป็นแบบเดิมทุกที
- เรียนรู้ที่จะอยู่ในความสัมพันธ์ที่พากันเติบโต
- เหตุผลที่คนติดอยู่ในกรอบความคิดแบบตายตัว
- ขอบเขตการเรียนรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาจากหนังสือ
- 🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน Carol S. Dweck
Carol S. Dweck นักวิจัยชั้นนำระดับโลกในด้านบุคลิกภาพ จิตวิทยาสังคม และจิตวิทยาด้านพัฒนาการ ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของ American Academy of Arts and Sciences ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และออกเดินสายบรรยายทั่วโลก เธออาศัยอยู่กับครอบครัวที่เมืองพาโล อัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือบอกเล่าเรื่องราวของการประสบความสำเร็จอันเนื่องมาจากกรอบความคิดของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ กรอบความคิดแบบตายตัวและกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ : กรอบความคิดแบบตายตัวมีพื้นฐานทางความคิดที่ว่าสติปัญญาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้มีความปรารถนาเบื้องลึกที่จะดูฉลาดโดยไม่ต้องพยายาม เพราะมองว่าความพยายามเป็นเรื่องไร้ประโยชน์หรือเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ไม่เก่งจริง และนำไปสู่การปิดกั้นความคิดที่จะหยุดพัฒนาตนเองจนทำให้ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างเต็มศักยภาพ : ส่วนกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ จะมองว่าสติปัญญาของมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกต้องการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากกว่า มองเห็นโอกาสในความท้าทายมากกว่า และมีความมุ่งมั่นมากกว่าเมื่อเผชิญกับอุปสรรคเพราะเข้าใจว่าความพยายามเป็นวิธีการมุ่งสู่ความเชี่ยวชาญ จึงทำให้กรอบความคิดนี้นำพาให้ก้าวเข้าสู่ประตูแห่งความสำเร็จในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ : เนื้อหาแบ่งออกเป็น 8 บท ได้แก่ บทที่ 1 กรอบคิด บทที่ 2 ภายในกรอบคิด บทที่ 3 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสามารถและความสำเร็จ บทที่ 4 กีฬา : กรอบคิดของผู้ชนะ บทที่ 5 ธุรกิจ : กรอบคิดกับความเป็นผู้นำ บทที่ 6 ความสัมพันธ์ : กรอบคิดด้านความรัก (หรือไม่รัก) บทที่ 7 พ่อแม่ ครู และโค้ช : กรอบคิดมาจากไหน บทที่ 8 เปลี่ยนกรอบคิด : เหมาะสำหรับผู้ที่มุ่งพัฒนาตนเองในเรื่องของกรอบความคิดเพื่อการเข้าถึงโอกาสในการประสบความสำเร็จที่มากขึ้นในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางด้านหน้าที่การงานหรือความสัมพันธ์ รวมถึงผู้ที่ต้องการแนวทางเพื่อช่วยในการพัฒนากรอบความคิดให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีบทบาทพ่อแม่หรือครูผู้สอน ข้อมูลภายในเล่มเป็นประโยชน์มากในการชี้แนะแนวทางเพื่อปลูกฝังกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ตั้งแต่วัยเยาว์ : เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นลักษณะเรื่องเล่าของผู้ที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวทั้งจากกรอบความคิดแบบพัฒนาได้และแบบตายตัวเพื่อให้เห็นข้อแตกต่าง และยังสร้างความเข้าใจให้เราเห็นเป็นภาพที่ชัดเจน โดยท้ายบทจะมีคำชี้แนะไว้สำหรับการช่วยพัฒนากรอบความคิดตามพื้นฐานของแต่ละบทอีกด้วย : เล่มนี้เราชอบตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของหนังสือในส่วนของการถาม-ตอบเกี่ยวกับเรื่องกรอบความคิด ต้องบอกว่าบางคำถามก็ดูเหมือนจะถามแทนใจเราได้เป็นอย่างดี ทำให้รู้ได้เลยว่าผู้เขียนมีความรอบคอบและตั้งใจอย่างมากที่จะนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ หลังจากที่ได้อ่านเราก็เกิดแรงบันดาลใจและได้มุมมองทางความคิดใหม่ ๆ เข้ามาเลยทันที เป็นอีกเล่มที่ไม่ควรพลาดสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเองค่ะ
การพัฒนากรอบความคิด
เราอาจเคยได้ยินคนพูดถึงเรื่องของกรอบความคิดมาแล้วทั้ง 2 แบบไม่ว่าจะเป็นกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) หรือกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ (Growth Mindset) แต่สิ่งที่ทำให้เรามองข้ามหรือจับมันไปอยู่ท้ายตารางของการพัฒนาตนเองส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการศึกษาเรื่องราวดังกล่าวมีขอบเขตที่ค่อนข้างกว้าง จำเป็นจะต้องเรียนรู้และพยายามฝึกฝนอย่างต่อเนื่องโดยไม่อาจพิสูจน์ผลได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการพัฒนาตนเองที่เป็นเรื่องแคบ ๆ ทว่าด้วยความกว้างของมันนี้เองที่จะทำให้ผลลัพธ์สามารถสร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ได้ในชีวิต ไม่ว่าคุณจะต้องการประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม การฝึกพัฒนาตนให้มีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ก็ยังนับเป็นหนทางสู่การมีชีวิตที่สมบูรณ์และเต็มศักยภาพมากขึ้นกว่าเดิมในทุกมิติอย่างแน่นอน
คนสำเร็จเพราะพยายาม คนล้มเหลวคือพวกเขายังพยายามไม่มากพอ?
ประเด็นนี้เป็นคำถามหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาในหนังสือช่วงต้น ๆ และเราค่อนข้างชื่นชอบรวมถึงเห็นด้วยกับคำตอบที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ ซึ่งเธอได้กล่าวถึงเรื่องความพยายามว่าเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่องค์ประกอบของความสำเร็จนั้นไม่ได้มีแค่ความพยายามเท่านั้น ในแง่ของผู้ที่มีทรัพยากรหรือต้นทุนทางชีวิตที่มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางการเงิน การศึกษา หรือคอนเน็กชั่น พวกเขาย่อมพยายามได้นานกว่าภายใต้ความกังวลที่น้อยกว่า เธอได้ทิ้งท้ายไว้ว่าฉะนั้นก่อนที่จะตัดสินใครจงจำไว้ว่าความพยายามไม่ใช่ทุกสิ่ง และใช่ว่าทุกความพยายามจะนำไปสู่ผลลัพธ์แบบเดียวกัน คุณอาจบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จต่าง ๆ และนำมาเป็นบทเรียนได้ แต่ไม่ใช่การใช้เปรียบเทียบ
เราจำเป็นต้องมีกรอบความคิดแบบพัฒนาแล้วจริง ๆ หรือ?
ผู้เขียนได้ตอบคำถามให้กับผู้ที่รู้จักทักษะและพรสวรรค์ของตนเองเป็นอย่างดีและยินดีที่จะยึดโยงอยู่กับความสำเร็จที่พวกเขามั่นใจมากกว่าจะท้าทายสิ่งใหม่ ๆ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยชี้ให้เห็นถึงผลเสียของกรอบความคิดดังกล่าวเอาไว้ 2 ประการ นั่นคือคุณอาจเสียโอกาสดี ๆ เพราะประเมินความสามารถของตัวเองต่ำเกินไป และคุณอาจบั่นทอนโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอันแท้จริงของตนเองเพราะคิดว่าแค่พรสวรรค์อย่างเดียวก็ทำให้ไปถึงจุดนั้นได้แล้ว เพราะเรื่องกรอบความคิดนี้ไม่ใช่ข้อบังคับที่บีบให้คุณต้องเป็นหากคุณไม่ต้องการ เพียงแต่มันบอกคุณว่าคุณสามารถพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้ และสิ่งใดก็ตามที่พัฒนาได้ มันย่อมแสดงถึงความสามารถที่จะเข้าถึงศักยภาพที่บางครั้งเราไม่มีทางรู้ว่ามันมีอยู่จริง
บางครั้งก็รู้สึกว่าเรามีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ แต่พอเจอปัญหาทีไรก็กลับไปเป็นแบบเดิมทุกที
ไม่ใช่เรื่องผิดหากวันหนึ่งคุณจะรู้สึกกล้าพุ่งเข้าลองทำหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แล้ววันหนึ่งคุณกลับรู้สึกสยบยอมให้กับอุปสรรคหรือคำวิจารณ์จากโลกใบเดียวกันอย่างไร้ทางสู้ นั่นไม่ได้หมายถึงคุณกลับเข้าสู่สภาวะกรอบความคิดแบบตายตัวที่พยายามปรับปรุงพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว เพราะในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่การผ่าตัดที่จะถอดสิ่งใดออกไปและรับสิ่งใดเข้ามาแทนที่ การเรียนรู้กรอบความคิดแบบพัฒนาได้จะเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้กับความเชื่อใหม่ ๆ เข้ามาเคียงข้างกับความเชื่อเดิมที่คุณมีอยู่เท่านั้น กรอบความคิดก็คล้ายกันกับมัดกล้ามเนื้อหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่คุณฝึกฝนจนกระทั่งมันแข็งแกร่งขึ้น วิธีคิดและวิธีทำของคุณก็ย่อมค่อย ๆ ถูกปรับเปลี่ยนไปตามความเชื่อใหม่ที่มีสมรรถนะมากกว่า
เรียนรู้ที่จะอยู่ในความสัมพันธ์ที่พากันเติบโต
ไม่ใช่แค่เรื่องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเท่านั้น กรอบความคิดแบบพัฒนาได้สามารถนำพาคุณพบเจอกับรูปแบบความสัมพันธ์ที่ต่างออกไปและเต็มไปด้วยการเรียนรู้ เราทุกคนล้วนเคยได้ยินคำพูดคลิเช่ที่ว่า ‘คนที่ใช่ไม่ต้องพยายาม’ แต่หากคุณลองพิจารณามันจากบทเรียนเรื่องกรอบความคิด คุณจะพบว่าสิ่งนี้มาจากกรอบความคิดแบบตายตัว คล้ายกันกับมุมมองที่มีต่อพรสวรรค์ หากต้องพยายามแสดงว่าไม่ได้เกิดมาคู่กัน หรือกระทั่งมองเห็นว่าปัญหาในความสัมพันธ์คือสิ่งที่มาจากความบกพร่องเฉพาะตัวของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ในการใช้ชีวิตคู่ – ที่ต่างคนต่างเติบโตมาจากสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่ต่างกัน เราจะไม่ต้องปรับไม่ต้องพยายามกันในความสัมพันธ์เลยจริงหรือ?
แดเนียล ไวล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ได้กล่าวไว้ว่า ‘การเลือกคนรักก็คือการเลือกปัญหาจำนวนหนึ่งเข้ามาในชีวิต ไม่มีผู้สมัครคนไหนไร้ปัญหา เคล็ดลับก็คือ จงยอมรับข้อจำกัดของกันและกันแล้วสร้างความสัมพันธ์ขึ้นจากจุดนี้’ แน่นอนว่ามันคงจะดีกว่าหากคุณใช้ชีวิตคู่ไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้ไปด้วยกันได้ คำถามสำคัญคืออีกฝ่ายนั้นพร้อมที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกับคุณด้วยหรือเปล่า และกรอบความคิดแบบพัฒนาได้นี่เองที่จะเป็นตัวเสริมพลังจากมุมมองใหม่ ๆ ที่กว้างขึ้น เพื่อให้คุณไม่ต้องตกอยู่ในวังวนแห่งความทรมานอันเนื่องมาจากการพยายามกับคนผิดคน
เหตุผลที่คนติดอยู่ในกรอบความคิดแบบตายตัว
ผู้เขียนได้นำเสนอเหตุผลที่ทำให้ผู้คนมักยึดติดกับกรอบความคิดแบบตายตัวเอาไว้ว่าเป็นเพราะมันตอบสนองความต้องการของเราในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต มันบอกว่าพวกเราเป็นใครหรืออยากเป็นใคร และบอกว่าพวกเราจะเป็นแบบนั้นได้อย่างไร เราอาจเคยเป็นเด็กที่ฉลาดและมีพรสวรรค์ ด้วยการสร้างผลงานที่ดีออกมาและทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเองตลอดจนได้รับความรักและการยอมรับจากผู้อื่น การล้มเลิกสิ่งที่เรายึดมั่นมานานจึงนับเป็นความท้าทายและต้องใช้เรี่ยวแรงมหาศาลที่จะก้าวออกจากพื้นที่ที่เราภูมิใจมาชั่วชีวิต แต่เราจะไม่มีวันรู้เลยว่าเราสามารถเป็นอะไรได้อีกหากไม่เริ่มจากความพยายามในก้าวแรก
ขอบเขตการเรียนรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาจากหนังสือ
ไม่เพียงแต่การพัฒนาตนเองเท่านั้นที่คุณจะได้รับผ่านบทเรียนกรณีศึกษาจำนวนมากภายในเล่ม หนังสือได้นำเสนอวิธีการสร้างกรอบความคิดให้กับผู้อื่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการส่งสารความสำเร็จและความล้มเหลวให้แก่เด็ก ๆ ที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตมาอย่างมีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ในฐานะพ่อแม่ หรือการฝึกสอนนักกีฬาให้ดึงศักยภาพของตนเองออกมาในฐานะโค้ช และบางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนกระจกที่ต่างสะท้อนภาพของกันและกันเสียมากกว่า เราจะส่งต่อมุมมองที่เอื้อต่อการพัฒนาได้อย่างไรหากเราไม่เคยมีมันมาก่อน
ฉะนั้น เรื่องราวของกรอบความคิดอันมีอิทธิพลที่ส่งผลบงการชีวิตเราตั้งแต่ระดับการตัดสินใจ นอกจากจะต้องอาศัยความมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการฝึกฝนอย่างไม่ลดละ ความยากที่สุดของการลงมือทำไม่ว่าเรื่องใดนั้นล้วนอยู่ในก้าวแรก และเราเชื่อว่า ณ ตอนที่คุณสนใจหนังสือเล่มนี้ จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดกำลังเกิดขึ้นแล้ว
ลองเพิ่มความอยากรู้ให้กับตัวคุณเองอีกสักนิด ว่าชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด หากได้ลองพยายามทำสิ่งใหม่
ด้วยความเชื่อในการพัฒนาได้ของ ‘กรอบความคิด’
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา”
ผู้เขียน : Carol S. Dweck
(พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล)
จำนวนหน้า : 360 หน้า / ราคาปก : 275 บาท
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น
หมวด : จิตวิทยา/พัฒนาตนเอง