คนที่เล่าความจริง จะต้องรื้อฟื้นความทรงจำมาเล่าราวกับฉายภาพยนตร์ในหัว
ส่วนคนที่ปั้นแต่งเรื่องราวขึ้นมาจะถูกบีบให้ต้องแต่งเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นเป็นฉาก ๆ
มันจึงมีลักษณะเหมือนรูปภาพหรือภาพถ่ายที่เอามาเรียงร้อยต่อกันตามลำดับเพื่อสร้างภาพที่เหมือนเคลื่อนไหวได้จริง ๆ
( – จากหนังสือหน้า 119 )
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
David J. Lieberman ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล งานเขียนของเขาได้รับการแปลกว่า 28 ภาษา และถูกอ้างอิงในบทความวิจัยสำคัญหลายร้อยบทความ นอกจากนี้ เขายังรับหน้าที่ฝึกอบรมบุคลากรของกองทัพสหรัฐ เอฟบีไอ ซีไอเอ และเอ็นเอสเอ รวมถึงจัดเวิร์กชอปให้กับองค์กร รัฐบาล และบริษัทกว่า 124 ประเทศทั่วโลก
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องการอ่านคนเล่มนี้ใช้วิธีการวิเคราะห์ผ่านหลักจิตวิทยาทั้งด้านพฤติกรรม อารมณ์ และรูปแบบบทสนทนา เพื่อตีความในสารที่ไม่ได้ถูกส่งออกมาอย่างตรง ๆ โดยคาดหวังว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรต้องรู้หากต้องการเข้าถึงจุดประสงค์อันแท้จริงหรือความหมายที่หลบซ่อนภายใต้การสื่อสารนั้น ๆ : จากเดิมที่เราเคยเห็นหนังสือวิธีการอ่านคนจากบุคลิกและภาษากาย แต่เนื่องด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตยุคใหม่ เรามีวิธีสื่อสารอีกหลายรูปแบบที่ไม่มีโอกาสจับสังเกตท่วงท่าอวัจนภาษาได้ หนังสือเล่มนี้จึงนำเสนอแนวทางการเรียนรู้และวิธีสังเกตพฤติกรรมผู้คนในรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเจอหน้า : เนื้อหาประกอบไปด้วย 20 บทย่อยซึ่งแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เผยจิตใต้สำนึก – เป็นส่วนที่นำเสนอวิธีสังเกตความคิดและความรู้สึกของคู่สนทนาจากวิธีการใช้คำในประโยค ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจอารมณ์ที่แท้จริงของพวกเขา ส่วนที่ 2 เครื่องจับเท็จมนุษย์ – ส่วนนี้จะค่อนข้างมุ่งไปยังคู่สนทนาที่มีเจตนาซ่อนเร้นแอบแฝงซึ่งอาจเป็นอันตรายกับคุณได้ ไม่ว่าจะในแง่ของการถูกเอาเปรียบทางด้านการกระทำหรืออารมณ์ความรู้สึกก็ตาม ส่วนที่ 3 วิเคราะห์ลักษณะทางจิตวิทยา – ทำความเข้าใจความเชื่อและค่านิยมพื้นฐานที่ทำให้ผู้คนแสดงออกซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ และส่งผลกระทบมายังคุณ หรือในอีกแง่หนึ่งมันช่วยให้เข้าใจตนเองว่าเหตุใดเราจึงมีความรู้สึกหรือเกิดอารมณ์ที่ไม่น่าพึงปรารถนาขึ้นมาได้ ส่วนที่ 4 สร้างระบบวิเคราะห์ลักษณะทางจิตวิทยา – เนื้อหาส่วนนี้จะช่วยให้เราเรียนรู้ลักษณะความปกติและไม่ปกติทางอารมณ์ของผู้คนผ่านรูปแบบการสนทนาและการแสดงออกทางพฤติกรรมด้วย เช่น ผู้ที่มีอาการทางประสาท ผู้ที่อาจเข้าข่ายโรคจิตเภท ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบโซซิโอพาท (Sociopath) และไซโคพาท (Psychopath) : แม้ว่าหนังสือจะนำเสนอวิธีการอ่านใจคนด้วยรูปแบบการทำความเข้าใจเชิงจิตวิทยาจำนวนมากภายในเล่ม แต่วิธีการเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่ข้อสรุปเพื่อยึดเป็นแนวทางในทุกกรณีได้ ดังที่ผู้เขียนได้แนะนำไว้ว่าเราคงไม่อาจใช้ประโยคใดเพียงประโยคเดียวตัดสินทุกอย่าง สำหรับเรามันคือการได้เรียนรู้แง่มุมและความเป็นไปได้ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากมุมมองที่เราเคยมีมาก่อนหน้า
พลังในการล่วงรู้และเข้าใจสิ่งที่ยังไม่ได้ถูกสื่อสารออกมาอาจนับเป็นข้อได้เปรียบไม่ว่าเราจะอยู่ในรูปแบบการเจรจาต่อรองเพื่อกุมอำนาจ การพูดคุยทางธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการสนทนาในความสัมพันธ์ก็ตาม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องการอ่านคนจำนวนมากไม่ว่าจากทวีปตะวันออกหรือตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอกลยุทธ์ในเชิงรูปแบบเดียวกันกับการเผยแพร่ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศมหาอำนาจ หนึ่งในกลุ่มหนังสือที่ว่ารวมถึง Mindreader เล่มนี้ด้วย ซึ่งเนื้อหาภายในเล่มนั้นส่วนใหญ่จะให้ข้อมูลวิธีการอ่านคนในเชิงจิตวิทยาที่อาศัยการแสดงออกเชิงพฤติกรรมและคำพูดเป็นกุญแจหลักให้เราไขเข้าสู่ความนึกคิดและจิตใต้สำนึกของพวกเขา เรียกว่าต่อให้ไม่เจอหน้า แค่เขาพูดหรือพิมพ์บางประโยคออกมาก็อาจทำให้เราพอได้เบาะแสเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างแล้ว
การเมินเฉยเท่ากับการไม่สนใจเลย…จริงหรือ?
ตัวอย่างจากในเล่มที่เราจะหยิบมากล่าวถึงเรื่องแรก ขอยกมาจากเคสของตัวผู้เขียนเองที่เล่าว่าเขาได้เชิญนายหน้างานศิลปะให้มาตรวจสอบภาพเขียนที่ถูกทิ้งเป็นมรดกหลังจากพี่สาวของย่าเขาเสียชีวิต ปรากฏว่านายหน้าคนนี้เข้ามาเดินไล่ดูไม่นานนักก่อนจะบอกว่าไม่มีอะไรพิเศษซึ่งภาพที่แพงสุดก็อาจจะได้หลักร้อยดอลลาร์เท่านั้น พร้อมกับยื่นข้อเสนอที่จะซื้อเหมาภาพทั้งหมดเอาไว้ แต่ผู้เขียนสังเกตได้ว่านายหน้าคนนี้ตรวจดูทุกภาพอย่างน้อยสองวินาที แต่มีภาพเล็ก ๆ ภาพหนึ่งที่เขาไม่สนใจเลยแม้แต่น้อย กระทั่งเขาตัดสินใจเรียกนักประเมินราคางานศิลปะมาแทน ภาพเล็ก ๆ นั่นแหละที่ประเมินได้สูงถึง 7 เท่าของราคาสุดท้ายที่นายหน้าคนนั้นยื่นข้อเสนอ
แท้จริงแล้ว กฎการลำดับข้อมูลมีส่วนสำคัญที่จะเป็นเบาะแสให้เราจับสังเกตได้ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่คู่สนทนาต้องการกันแน่ ในสถานการณ์ที่ไม่ได้ถูกจัดเตรียมหรือไม่อยู่ในการคาดเดาได้ เราอาจเข้าใจจากบริบทว่าสิ่งแรกที่คู่สนทนากล่าวถึงคือสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุด แต่ในขณะที่การเจรจาต่อรอง มืออาชีพอาจเลี่ยงจะกล่าวถึงสิ่งที่เขาต้องการเพื่อป้องกันการสูญเสียอำนาจ พวกเขาย่อมไม่อยากเปิดเผยในทันทีว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่เขาสนใจและต้องการบรรลุข้อตกลงที่อยู่ในหัว
สรรพนามที่ใช้และความหมายที่แอบแฝง
ในรูปแบบการสนทนาที่อาจไม่ได้เห็นหน้าหรือพบเจอกันตัวต่อตัว เราสามารถประเมินคร่าว ๆ ได้ถึงสภาวะอารมณ์ของผู้พูดจากแบบแผนการใช้สรรพนามในประโยค โดยสังเกตวิธีการพูดของเขาว่าแสดงถึงการดึงตัวเองออกห่างจากเรื่องราวหรือไม่ ผู้พูดที่เลือกใช้สรรพนามบุรุษที่สอง (คุณ) แทนการใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง (ฉัน, ผม) แทนการบอกเล่าข้อเท็จจริง หรือเลือกที่จะไม่ใช้คำแทนตัวใด ๆ เลยมักมีแนวโน้มที่กลไกการป้องกันตัวของพวกเขากำลังทำงานเพื่อดึงตนเองออกจากความเจ็บปวดทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ระหว่างประโยค “ฉันมีเรื่องยุ่งยากที่บ้าน” และ “เรื่องที่เจอที่บ้านมันน่าอึดอัด” คุณจะสังเกตได้ว่าประโยคหลังมีท่าทีการแยกตัวเองออกจากสิ่งที่เกิดมากกว่า แม้ทั้ง 2 ประโยคข้างต้นจะสื่อถึงเรื่องเดียวกัน ซึ่งหมายถึงพวกเขาเจ็บปวดและเก็บกดอารมณ์เอาไว้อย่างมาก นอกจากนี้ เราจะเห็นผู้ที่ทุกข์ทรมานส่วนมากมักหลีกเลี่ยงการใช้สรรพนามแทนตัวเองในหลาย ๆ สถานการณ์ด้วยเช่นกัน ในทำนองเดียวกัน เราอาจจับสังเกตผลกระทบที่สร้างความอ่อนไหวทางอารมณ์ของคู่สนทนาได้จากการเฝ้ามองวิธีเปลี่ยนสรรพนามของพวกเขา
อำนาจที่แท้จริงของการอ่านคน
จะเห็นได้ว่าเพียงแค่ 2 ตัวอย่างข้างต้นก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอีกหลายสถานการณ์ของชีวิต แต่ “อำนาจที่แท้จริงคือการนำความรู้ไปใช้อย่างมีความรับผิดชอบ” ผู้เขียนได้สรุปทิ้งท้ายไว้ซึ่งดูจะเป็นคำแนะนำที่ครอบคลุมบริบทของหนังสือได้เป็นอย่างดี เนื่องจากขอบเขตเนื้อหาที่นำเสนอภายในเล่มเหล่านี้สามารถถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือได้ทั้งในเชิงกลอุบายและกลยุทธ์
สิ่งที่เราได้รับนอกเหนือไปจากมุมมองการอ่านคนทางจิตวิทยาคือการมองเห็นภาพสะท้อนของตัวเองในบุคลิกภาพต่าง ๆ มันชวนตั้งคำถามและทำความรู้จักพฤติกรรมบางประเภทที่เราเองก็เพิ่งเห็นตัวเองจากการได้อ่านบางบทเรียนภายในเล่ม สำหรับเราแล้วสิ่งนี้เองที่อาจเรียกว่าเป็นความรับผิดชอบในทางหนึ่ง เราเรียนรู้เรื่องราวการอ่านคนเพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งที่อยู่ในการสื่อสารระหว่างคนสองคน ณ ชั่วขณะนั้นเป็นความสร้างสรรค์หรือการรบราต่อสู้ เรากำลังอยู่ในฝั่งไหน และอะไรที่จะกลายเป็นการตัดสินใจของเราหลังจากนั้น
เพราะคงไม่ได้มีแค่เราที่เป็นฝ่ายอ่าน เขาเองก็อาจกำลังอ่านเราด้วยเช่นกัน
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“จิตวิทยาอ่านใจคนขั้นสุด (Mindreader)”
ผู้เขียน : David J. Lieberman
(ดุษฎี สืบแสงอินทร์ แปล)
จำนวนหน้า : 276 หน้า / ราคาปก : 270 บาท
สำนักพิมพ์ : WeLearn
หมวด : จิตวิทยา