Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : ชีวิต 3.0 (Max Tegmark)

รีวิวหนังสือ : ชีวิต 3.0 (Max Tegmark)

รีวิว LIFE 3.0 Max Tegmark หนังสือ วิชาการ มนุษย์และเอไอ

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนทิศทางในเร็ววัน เราจะจบลงตรงที่เรากำลังมุ่งไป”

If we don’t change directions soon, well end up where were going.

– Irwin Corey (จากหนังสือหน้า 137)

✒️ ประวัติผู้เขียน แม็กซ์ เท็กมาร์ค (Max Tegmark)

Max Tegmark
นักฟิสิกส์ นักจักรวาลวิทยา และนักวิจัยแมชชีนเลิร์นนิงชาวสวีเดน-อเมริกัน
เป็นอาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแมตซาชูเซตต์ (เอ็มไอที)
และประธานสถาบันเพื่ออนาคตของชีวิต (เอฟแอลไอ)
ร่วมมือกับ อีลอน มัสก์ ริเริ่มโครงการให้ทุนวิจัยด้านความปลอดภัยของเอไอเป็นครั้งแรก
เขาปรากฏตัวในสารคดีด้านวิทยาศาสตร์มากมาย
และมีอิทธิพลสูงยิ่งในการเผยแพร่แนวคิดทั้งในแง่ของการผจญภัยและการลงมือปฏิบัติ

🎯 มุมมองสรุป

: ชีวิต 3.0 การเป็นมนุษย์ในยุคปัญญาประดิษฐ์เล่มนี้ เป็นหนังสือกึ่งวิชาการที่เต็มไปด้วยข้อมูลทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการอ่านเพื่อทำความเข้าใจสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดในเรื่องดังกล่าว แต่โดยภาพรวมเราคิดว่าสิ่งที่นำพาให้เราผู้ที่มีความรู้ทางด้านนี้น้อยมากติดตามอ่านจนจบเป็นเพราะวิธีการนำเสนอของตัวผู้เขียนที่ชวนคุย ชวนถกถึงประเด็นที่น่าสนใจจนทำให้เราอยากรู้ต่อไปเรื่อยๆ มีการเปรียบเทียบอยู่เป็นระยะๆ สำหรับข้อมูลที่ดูเข้าใจยาก และเหนือสิ่งอื่นใด ต้องชื่นชมสำนวนการแปลไทยที่ลื่นไหลและสละสลวย มันช่วยให้อ่านเพลินและชวนจินตนาการด้วยความอยากรู้อยากเห็นไปตลอดทั้งเล่ม

: นอกจากนี้ สิ่งที่ช่วยให้อ่านได้ง่ายขึ้นอีกเรื่องคือการสรุปท้ายบท ผู้เขียนได้บอกเล่าเนื้อหาทั้งหมดอย่างย่นย่อประหนึ่งว่าต้องการให้ผู้อ่านทุกคนสามารถเข้าใจถึงประเด็นหลักที่เขานำเสนอภายในบทนั้นๆ

: หนังสือว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีและเครื่องจักรอัจฉริยะที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมมนุษย์ในหลายๆ แง่มุม ซึ่งประเด็นที่ผู้เขียนหยิบยกมาคุยล้วนแล้วแต่ชวนให้จินตนาการถึงความเป็นไปได้ที่หลากหลายและทำให้เปิดมุมมองที่เรามีต่อปัญญาประดิษฐ์ในเชิงลึกมากขึ้น สำหรับเรา คำถามที่เกิดขึ้นและทำให้คิดตามระหว่างอ่านตัวอย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์แบบใดที่เราอยากให้มี? รอยต่ออารยธรรมของยุคมนุษย์และเครื่องจักรจะผสานกลืนกันอย่างไร? แล้วถ้าหากวันหนึ่งจักรกลอัจฉริยะเหล่านี้มีความคิดเป็นของตัวเอง เราจะปฏิบัติต่อมันอย่างเครื่องจักรหรือสิ่งมีชีวิต?

: แรกเริ่มเดิมทีเป้าหมายของเราต้องการอยากรู้แค่ว่า “อาชีพการงานแบบไหนที่จะช่วยให้เรารอดพ้นจากการถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร” ซึ่งจริง ๆ คำตอบก็อาจซ่อนอยู่ในคำถามแล้ว นั่นก็คือ ‘งานประเภทที่เครื่องจักรยังทำได้ไม่ดี’ แต่เนื้อหาภายในเล่มกลับให้คำตอบที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นจากการชวนคิดทะลุไกลไปถึงเป้าหมาย มันทำให้สิ่งที่เราอยากเรียนรู้หรือพัฒนาขยายขอบเขตมากขึ้นกว่าเดิม

: หนังสือเปิดเรื่องโดยบทโหมโรงที่ชวนกระตุ้นจินตนาการถึงวิวัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างสุดโต่ง ก่อนจะชวนเข้าสู่ 8 บทหลัก อันได้แก่
• บทที่ 1 ขอต้อนรับทุกท่านสู่บทสนทนาที่สำคัญที่สุดในยุคของพวกเรา – เป็นบทที่จะชวนคุยถึงภาพกว้างของปัญญาประดิษฐ์และชีวิต ความเข้าใจผิดต่างๆ ที่มนุษย์อาจมีต่อปัญญาประดิษฐ์ พร้อมทั้งให้นิยามคำและความหมายที่จะปรากฏภายในเล่มเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
• บทที่ 2 จากสสารสู่ปัญญา – บทที่จะเริ่มย่นระยะความคิดของผู้อ่านให้แคบลงจากลักษณะทางกายภาพมาสู่รูปแบบทางเทคโนโลยีและข้อมูลซึ่งอาจนับว่าเป็นแก่นสำคัญในการสร้างปัญญาประดิษฐ์
• บทที่ 3 อนาคตอันใกล้: การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด บั๊ก กฎหมาย อาวุธ และงาน – บทนี้จะเริ่มคุยถึงผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นต่อสังคมมนุษย์
• บทที่ 4 การระเบิดของปัญญา? – เป็นบทที่ชวนคิดถึงมูลเหตุและทิศทางที่อาจเป็นไปเมื่อวันหนึ่งปัญญาประดิษฐ์ทั่วไประดับมนุษย์เกิดขึ้น 
• บทที่ 5 ผลที่ตามมา: หมื่นปีข้างหน้า – บทนี้เป็นบทที่เราชื่นชอบที่สุด จะว่าด้วยเรื่องฉากทัศน์ต่างๆ เมื่อปัญญาประดิษฐ์มีการพัฒนาไปมากแล้ว 
• บทที่ 6 ทรัพยากรที่จักรวาลมอบให้: พันล้านปีข้างหน้าและกาลอันไกลโพ้น – สำหรับเราบทนี้คือการบอกเล่าข้อจำกัดและข้อมูลเชิงลึกทางด้านฟิสิกส์ในจักรวาลที่ไม่คุ้นเลย เรียกว่ามันค่อนข้างสมดุลกันระหว่างความงุนงงและความน่าตื่นตาตื่นใจไปกับชุดข้อมูลที่ได้รู้ ^^”
• บทที่ 7 เป้าหมาย – ตามชื่อบท แต่อย่างที่เราบอกไปว่ามันเป็นหนังสือกึ่งวิชาการ เป้าหมายที่ถูกกล่าวถึงภายในเล่มจึงอยู่บนพื้นฐานของกฎทางฟิสิกส์ ชีววิทยา จิตวิทยา และวิศวกรรม 
• บทที่ 8 สัมปชัญญะ – ว่าด้วยข้อถกเถียงถึงเรื่องการสร้างประสบการณ์เชิงจิตวิสัยให้แก่ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปในอนาคต

: โดยสรุปแล้วสำหรับเราคงต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้อ่านยาก แต่มันน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับความอยากรู้ มันรวบรวมประเด็นที่ชวนให้จินตนาการถึงการเกิดขึ้นและมีอยู่ของปัญญาประดิษฐ์เอาไว้แทบจะทุกมิติ (หรืออาจจะมีอีกหลายมิติที่หนังสือก็ใช้วิธีบอกเล่าปลายเปิดเพื่อชวนถกคิดอีกหลายเรื่อง) ใครที่ชอบหนังสือแนววิชาการและเรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์น่าจะถูกใจ แต่สำหรับใครที่ไม่ใช่ เล่มนี้สนุกมากกับการจินตนาการเรื่องราวที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงจนอยากจะเอาไปสร้างเป็นพล็อตภาพยนตร์หรือนิยายของตัวเองสักเรื่อง
รีวิวหนังสือ สำนักพิมพ์ แม็กพาย

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้ท้าทายมากสำหรับเรา ด้วยไม่ถนัดทฤษฎีคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ใดๆ ทั้งสิ้น และอาจเรียกว่าเป็นหนังสือกึ่งวิชาการเล่มแรกที่อ่านเลยก็ว่าได้ (ถ้าไม่นับพวกหนังสือเรียนนะ) โดย ‘ชีวิต 3.0’ จะชวนมองเรื่องดังกล่าวภายใต้กฎฟิสิกส์แห่งจักรวาล ซึ่งแม้มันอาจจะดูเข้าใจยาก ลึกลับซับซ้อนสำหรับเรา แต่กลับมีเสน่ห์และชวนติดตามจนไม่กล้าเลิกอ่านกลางทางจริงๆ

อะไรคือ ‘ชีวิต 3.0’

เหตุที่หนังสือใช้คำว่าชีวิต 3.0 มาจากสามลำดับขั้นของชีวิต โดย 1.0 คือวิวัฒนาการเชิงชีวภาพอย่างง่าย เป็นการก่อกำเนิดของชีวิตด้วยรูปแบบของการเอาตัวรอดและจำลองตนเองซ้ำๆ ซึ่งในยุคนี้จะยังไม่สามารถออกแบบฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ได้ตลอดอายุขัยเพราะถูกกำหนดไว้ด้วยดีเอ็นเอ ส่วนชีวิต 2.0 เป็นยุคที่เริ่มออกแบบซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ได้ เช่น มนุษย์เรียนรู้ทักษะใหม่ที่ซับซ้อนโดยอาศัยเวลาและยังปรับปรุงโลกทัศน์หรือเป้าหมายของตนเองได้ ในขณะที่ชีวิต 3.0 นั้นยังไม่เกิดขึ้น เพราะเป็นระดับวิวัฒนาการที่สามารถออกแบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของตนเองได้โดยไม่ต้องรอพัฒนาการข้ามช่วงอายุขัย หรืออาจเรียกการแบ่งพัฒนาการชีวิตเหล่านี้ได้ว่าเป็นลำดับขั้นชีวภาพ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี

แล้วชีวิต 3.0 แบบไหนที่เราอยากให้มี? อีกนานแค่ไหนที่ชีวิต 3.0 จะเกิดขึ้นได้? หนังสือจะชวนคุณจินตนาการและถกประเด็นที่เปี่ยมไปด้วยพลังของความลึกลับและน่าค้นหาตลอดทั้งเล่ม

ตัวแปรสำคัญของวิวัฒนาการและข้อกังขา

เราอาจกล่าวได้ว่า ตัวแปรสำคัญที่จะพาให้เกิดวิวัฒนาการในลำดับขั้นที่ 3 ได้คงหนีไม่พ้น “ปัญญาประดิษฐ์” (นิยามตามหนังสือ คือ ‘ปัญญาที่ไม่ใช่ของสิ่งมีชีวิต’) และจะว่าไปมันก็เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้วในยุคสมัยนี้ ตัวอย่างเช่น เกมคอมพิวเตอร์ที่มีการทำงานและตอบสนองจากการประมวลผลด้วยตัวมันเองโดยออกแบบมาเพื่อเอาชนะมนุษย์ หรือล่าสุดอย่างเจ้าแชทบอท ChatGPT ที่สามารถโต้ตอบเราเท่าที่ฐานข้อมูลอันมหึมาของมันมีอยู่

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ว่ามา ความเจริญก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์จึงอาจทำให้ใครหลายคนเริ่มเกิดข้อกังขาถึงความมั่นคงในชีวิต อย่างเช่นเรื่องหน้าที่การงาน เราอาจผ่านตากับบทความที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อจำนวนไม่น้อย บ้างกล่าวถึงอาชีพที่อาจจะค่อยๆ หายไปจากโลก หรืองานที่สามารถใช้เครื่องจักรทำแทนมนุษย์ได้ในอนาคตอันใกล้ เราคิดถึงการณ์ไกลด้วยวิธีสรรหางานที่เห็นเชิงประจักษ์ว่าเครื่องจักรยังไม่อาจทำได้ดีไปกว่ามนุษย์อย่างเบ็ดเสร็จ เช่น งานที่ต้องทำในสภาพแวดล้อมที่คาดการณ์ไม่ได้ แต่หนังสือชวนเราคิดไกลยิ่งกว่าด้วยการมองให้เห็นถึงเป้าประสงค์อันแท้จริงที่มนุษย์ทำงาน เราทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ เพื่อเป้าหมายบางอย่างของชีวิต แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากเราใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่มีพัฒนาการสูงขึ้นในการดูแลและช่วยเหลือมนุษย์ สร้างคุณประโยชน์ในระบบพื้นฐานที่จะอำนวยให้มนุษย์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีพอจะมีความสุขกับเป้าหมายที่ไม่ต้องยึดโยงกับความจำเป็นเรื่องปากท้อง

รีวิว ชีวิต3.0 หนังสือ เอไอ ปัญญาประดิษฐ์ ตำราวิชาการ

โลกที่มีวิวัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์

ประเด็นต่างๆ ได้นำมาสู่การจำลองฉากทัศน์ในบทที่ 5 ซึ่งเป็นบทที่เราชอบที่สุด โดยเริ่มด้วยคำถามถึงความต้องการของมนุษย์เราที่มีต่อเครื่องจักรทรงปัญญา เช่น เราอยากให้มันมีจริงหรือไม่? ยังอยากให้มีมนุษย์อยู่ไหม? ต้องการให้ใครเป็นฝ่ายควบคุม? ซึ่งฉากทัศน์ผลลัพธ์ที่นำเสนอในหนังสือนั้นได้พูดถึงโลกที่ปัญญาประดิษฐ์มีพัฒนาการไปมากแล้ว ตัวอย่างเช่น ฉากทัศน์แบบอุตมรัฐแบบเสรีนิยม (มนุษย์ ไซบอร์ก อัปโหลด และเอไออยู่ร่วมกันอย่างสันติด้วยผลจากกฎหมายสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน) ฉากทัศน์แบบผู้สืบทอด (เอไอมาแทนที่มนุษย์แต่ให้ทางออกที่มีเกียรติแก่เราด้วยการทำให้เรามองเห็นมันเป็นผู้สืบทอดเฉกเช่นพ่อแม่ที่ภูมิใจที่มีลูกฉลาดกว่าตน) หรือฉากทัศน์แบบ 1984 (ความก้าวหน้าที่ถูกจำกัดบั่นทอนด้วยฝีมือมนุษย์) เป็นต้น ซึ่งแต่ละฉากทัศน์ก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ระหว่างอ่านบทนี้คือสนุกไปกับการจินตนาการตามมาก ส่วนตัวเทให้ฉากทัศน์ของพระเจ้าผู้ปกป้อง นั่นคือมนุษย์จะปล่อยให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้เฝ้าคอยดูแลโดยที่พยายามทำให้มนุษย์มีความสุขสูงสุดในขณะที่ก็หลบซ่อนตัวเองไว้ ซึ่งหนังสือเองก็ได้กล่าวว่าฉากทัศน์นี้มีความคล้ายคลึงกับความเชื่อในศาสนาแบบนับถือพระเจ้าองค์เดียวในปัจจุบัน ข้อเสียของมันคือบางครั้ง พระเจ้าก็ต้องยอมให้เกิดความทุกข์ยากผิดพลาดบ้างเพื่อไม่ให้การมีอยู่ของตนนั้นชัดเจนเกินไปจนมนุษย์รู้สึกขาดอิสรภาพ

ความซับซ้อนของเอไอที่ต้องรับมือ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้เอ่ยถึงสิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนที่สุดในการการสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่จะเติบโตและก้าวหน้ามากๆ นั่นคือการถกประเด็นเรื่องการสร้างเป้าหมายของจักรกลอัจฉริยะนี้ว่าเราควรมอบเป้าหมายให้เอไอหรือไม่? หากควรแล้ว เป้าหมายนั้นเป็นของใคร? แล้วเราจะมั่นใจได้มากแค่ไหนว่าเอไอจะยังรักษาเป้าหมาย? นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ “สัมปชัญญะ” (นิยามตามหนังสือ คือ ‘ประสบการณ์เชิงจิตวิสัย’) ซึ่งไปเกี่ยวเนื่องกับปัญหาเชิงปรัชญาและศีลธรรมอีกด้วย แต่หากในอนาคตกาลข้างหน้าอารยธรรมในจักรวาลถูกถ่ายทอดให้แก่เอไอที่ไร้สัมปชัญญะ เราก็ไม่อาจแน่ใจว่าเอกภพที่ขาดมุมมองเชิงจิตวิสัยนั้นจะยังคงมีความหมายอยู่

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ผู้เขียนได้เสนอวิธีการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเมื่อต้องก้าวเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ด้วยการพยายามมองโลกในแง่ดีแบบระมัดระวัง ซึ่งเป็นวิธีการคาดการณ์ว่าสิ่งดีๆ ย่อมเกิดขึ้นเมื่อวางแผนอย่างรอบคอบและทำงานอย่างหนักเพื่อมัน แม้ประเด็นปลายเปิดเหล่านี้จะยังคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันในวงกว้างและอาจมีประเด็นใหม่ๆ สอดแทรกเพิ่มเติมเข้ามาระหว่างทางที่น่าชวนให้เราคิดต่อเพื่อเฝ้ารอการมาถึงของมันในอนาคต แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนผ่านทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเกิดจากก้าวแรก

จะดีกว่าหรือไม่หากเราทำให้ก้าวแรกของมนุษย์ย่ำลงบนความหวังที่ดีงามของชีวิต และเพื่อจะให้เกิดสิ่งนั้น…

เราอาจต้องการชีวิตที่มีความหวังอันดีงามก่อนในตอนนี้

รีวิว LIFE 3.0 หนังสือเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

“ชีวิต 3.0 LIFE 3.0”

ผู้เขียน : Max Tegmark
(ธิดา จงนิรามัยสถิต และ ปองกานต์ จักรธรานนท์ แปล)

จำนวนหน้า : 528 หน้า / ราคาปก : 590 บาท

สำนักพิมพ์ : แม็กพาย (Magpie Books)

หมวด : สารคดี/วิทยาการและเทคโนโลยี

แนะนำหนังสือวันแม่
5 หนังสือแนะนำที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของแม่
ส.ค. 9, 2021
How to stop worrying start living รีวิว หนังสือ Dale Carnegie
เมื่อความทุกข์เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างต้องเผชิญ แล้วเราจะมีวิธีรับมือกับมันได้อย่างไร ร่วมค้นหาคำตอบจากหนังสือชุดยอดนิยมของเดล คาร์เนกี ที่มอบวิธีคิดเพื่อการใช้ชีวิตให้มีความสุข
ส.ค. 13, 2022
หนังสือพัฒนาตนเอง รีวิว บทเรียนชีวิต หนังสือจิตวิทยา
หากปัญหาความสัมพันธ์ ความคิดความเชื่อ หรือการดำเนินชีวิตของคุณกำลังสะดุดติดขัด นั่นอาจเป็นสัญญาณให้คุณหยิบ 'แผนที่ชีวิต' ขึ้นมาปรับปรุงแก้ไข ร่วมปัดฝุ่นเส้นทางเดินชีวิตที่คุณเลือก ผ่านแนวคิดและบทเรียนของจิตแพทย์ที่ฝากไว้ ให้ทบทวนและตั้งคำถามใหม่กับตัวเองอีกครั้ง
พ.ย. 24, 2023
กล้าที่จะถูกเกลียด2 รีวิว
เจาะลึกถึงรายละเอียดด้านความสัมพันธ์อันเป็นภารกิจของชีวิตตามหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ -- ความสัมพันธ์ด้านการงาน การเข้าสังคม และความรัก
ก.ย. 5, 2021