ทุกคนล้วนแต่น่าจะเคยมีประสบการณ์อยู่กับตัวเองด้วยกันมาแล้วทั้งสิ้น
ทว่าการอยู่กับตัวเองในวิถีของฮนจกนั้น ไม่ใช่รูปแบบประสบการณ์ชั่วครั้งคราวที่ผ่านเข้ามาในระยะเวลาสั้น ๆ
แต่เป็นการพูดถึงทัศนคติในการใช้ชีวิตโดยยึดความสันโดษว่าเป็นความสุขของการดำรงตนอย่างจริงแท้
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️ ฟรานซี่ ฮีสลีย์ จบปริญญาตรีด้านสังคมวิทยา ปริญญาโทด้านการให้คำปรึกษา ได้รับใบอนุญาตด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ ปัจจุบันเป็นนักจิตบำบัดส่วนตัว ช่วยเหลือผู้ป่วยกว่าพันคนจากทั่วโลกตลอดระยะเวลา 25 ปี และอาศัยอยู่ที่เมืองแซนตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก คริสตัล ทาอิ นักข่าวด้านสังคมและกระแสโลกชาวฮ่องกง - แคนาดา เธอเติบโตที่แคนาดา ก่อนย้ายกลับมายังฮ่องกงซึ่งเป็นบ้านเกิดของพ่อแม่ และทำงานที่โต๊ะข่าวเอเชียหนังสือพิมพ์อังกฤษ The South China Morning Post ในเครืออาลีบาบากรุ๊ป เธอผ่านการทำข่าวการประท้วงครั้งสำคัญทั้งที่ฮ่องกงและเกาหลีใต้
🎯 SUMMARY VIEW 🎯 : หนังสือเล่าเท้าความย้อนกลับไปในอดีตโดยสรุปอย่างกระชับให้เห็นภาพ ตั้งแต่ยุคสมัยประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์โชซ็อน และไล่เรียงลำดับเหตุการณ์อันเป็นที่มาของลำดับชั้นทางสังคมที่สร้างความกดดันเนื่องจากมันถูกจดจำเป็นค่านิยมจากรุ่นสู่รุ่นจนหยั่งรากลึก ก่อกำเนิดสิทธิสตรีนิยม กระทั่งกลายเป็นกระแสสังคมที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงสิทธิการเลือกดำรงอยู่ของตนอย่างปัจเจก : หลังจากเข้าใจที่มาที่ไป ผู้เขียนจึงนำพาให้ทำความรู้จักความแตกต่างระหว่าง "เดียวดาย" กับ "คนเดียว" ว่าโดยบริบทแม้จะคล้ายกันในแง่ของสภาวะทางการรับรู้ของการอยู่ลำพัง แต่มุมมองทางความรู้สึกของสองสิ่งนี้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว : มีกิจกรรมและคำถามที่ชี้ชวนให้ทำความเข้าใจตัวเองเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งเล่ม เพื่อให้รู้จักตนเองในแง่มุมลึก ๆ พร้อมทั้งมีคำแนะนำที่ช่วยในการเตรียมความพร้อมสำหรับการอยู่อย่างสันโดษ : เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปรับทัศนคติในการใช้ชีวิตให้ความสุขเริ่มต้นที่ตัวเอง ฝึกทำความเข้าใจและเรียนรู้ในความสันโดษแบบไว ๆ หรือสำหรับผู้ที่สงสัยว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตลำพังอย่างไรให้ไม่เป็นทุกข์ : หนังสือเล่มบาง พกพาง่าย สีสันสดใสน่าอ่านตลอดทั้งเล่ม เหมาะแก่การหยิบอ่านเพลิดเพลินยามว่างเพราะเนื้อหาไม่เน้นหนักทางทฤษฎีจนเกินไป : วิถีแบบฮนจกนี้น่าจะถูกรับรู้และเข้าใจกันเป็นวงกว้างแล้วในปัจจุบันอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้การใช้ชีวิตของมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ปรัชญาหนึ่งของชาวเกาหลีใต้ที่กำลังแพร่หลายในสังคมยุคใหม่ เรียกการใช้ชีวิตคนเดียวว่า ฮนจก ซึ่งมาจากคำว่า ฮนจา (เพียงคนเดียว) และ จก (เผ่า) เมื่อผสมกันและแปลออกมาจึงได้ความหมายว่า ‘เผ่าหนึ่งคน’
แต่คำว่า – เผ่า – มันไม่ควรมีแค่เพียงคนเดียวหรือเปล่านะ?
หนังสือชวนทำความรู้จักย้อนกลับไปตั้งแต่วัฒนธรรมเกาหลียุคเก่ามาจนถึงยุคปัจจุบัน การก่อตัวของความกดดันที่มีอยู่ภายในสังคม ที่ค่อย ๆ ลุกลามจนเกิดการเติบโตขึ้นมาของสิทธิสตรีนิยมในเกาหลีใต้ ค่าขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ผลักดันให้ผู้คนเริ่มหันหน้าเข้าหาวิถีฮนจก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลยเมื่อเราได้อ่านชุดข้อมูลเหล่านั้น
เผ่าหนึ่งคน จึงกลายเป็นวิถีการใช้ชีวิตเพียงลำพัง – ของคนหมู่มาก และด้วยตัวเลขทางสถิติที่ผ่านมา แนวโน้มของชนเผ่านี้ก็ดูจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก
ผู้เขียนได้ให้มุมมองเชิงบวกต่อการอยู่กับตัวเองมาก ๆ มีคำตอบให้สำหรับคำถามที่อาจจะเกิดขึ้นในใจชาวฮนจกทั้งหลายยามต้องดำเนินชีวิตเพียงลำพัง มีการเล่าถึงแง่มุมงดงามของความสันโดษและมีคำถามที่เชิญชวนให้ทำความเข้าใจตนเองได้เป็นอย่างดี ชี้ชวนให้เห็นถึงประโยชน์จากการใช้เวลากับตัวเองได้ชัดเจน
อย่างไรก็ตามในความคิดเห็นส่วนตัว บางขณะเรารู้สึกถึงวิธีการอธิบายเหตุผลสนับสนุนและเล่าเรื่องบางส่วนที่ดูจะบีบมุมมองให้เข้าข้างการใช้ชีวิตลำพังเกินไปสักนิด เพราะใจลึก ๆ เราเชื่อว่าการทำความเข้าใจกับความสุขของการใช้ชีวิตลำพังนั้นไม่ได้ต้องการเหตุผลสนับสนุนที่ล่วงล้ำความสวยงามจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนขนาดนั้น
แต่โดยภาพรวมผู้เขียนถ่ายทอดความสุขจากการอยู่กับตัวเองออกมาได้ดี และวิธีการที่เชิญชวนให้มองเห็นคุณค่าของปรัชญาการใช้ชีวิตแบบฮนจกนั้นไม่มีขาดตกบกพร่อง
เราชอบพาร์ทที่พูดถึงความเหงาตอนหนึ่งซึ่งกล่าวว่า “คุณไม่จำเป็นต้องเหงาเพราะอยู่คนเดียว ความเหงาคือการขาดสัมพันธภาพ ไม่ใช่การขาดผู้คน” มันให้ความรู้สึกถึงพลังใจอย่างประหลาดจนนึกอยากจะผูกมิตรกับตัวเองขึ้นมาทันที
เพราะเพื่อนที่ดีที่สุดของเราก็คือตัวเราเอง
และเราก็สามารถให้การชื่นชมยอมรับตัวเองเพื่อสร้างความสุขได้เท่าที่เราต้องการ
แต่บ่อยครั้งที่เราไม่พอใจหรือละเลยการแสดงออกนั้น อาจเป็นไปได้ว่าเสียงที่ดังในหัวไม่ได้มาจากคนที่เรายอมรับ มันจึงสูญเปล่า และไม่มีค่า
ฉะนั้น การเริ่มต้นความสันโดษที่ดี จึงน่าจะต้องยอมรับตัวเองก่อนเป็นลำดับแรก เมื่อเราเป็นเพื่อนกับตัวเองได้ เราก็จะเป็นอิสระจากผู้คนและความกดดันทั้งหลาย และสามารถอยู่กับตัวเองได้ด้วยความสุขอย่างแท้จริง
เราเชื่อว่าอาจมีใครสักคนที่ค้นพบความสุขของการมีชีวิตได้ด้วยวิถีเช่นนี้
“HONJOK ความสุขจากการอยู่กับตัวเอง”
ผู้เขียน : ฟรานซี่ ฮีสลีย์ และคริสตัล ทาอิ (เขมลักขณ์ ดีประวัติ แปล)
จำนวนหน้า : 156 หน้า / ราคาปก : 235 บาท
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ฮาวทู
หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง
📌 สนใจหนังสือเล่มนี้