พรสวรรค์คือสิ่งที่กำหนดมาตรฐานต่ำสุด แต่อุปนิสัยคือสิ่งที่กำหนดขีดจำกัดสูงสุด
แข่งกับตัวเอง … ความเสี่ยงจากการแข่งกับคนอื่นก็คือคุณอาจชนะได้โดยไม่ได้พัฒนาขึ้น
เมื่อคุณแข่งกับตัวเอง วิธีเดียวที่จะชนะได้ก็คือต้องเติบโตขึ้น
( – Adam Grant )
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
Adam Grant
นักจิตวิทยาองค์กร นักเขียนหนังสือขายดีอันดับ 1 ของ The New York Times
หนังสือของเขาได้รับการแปลถึง 45 ภาษา
ผลงานของเขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดแห่งปี
โดย Financial Times และ The Wall Street Journal
เขาเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับกูเกิล เอ็นบีเอ และมูลนิธิเกตส์
ได้รับเกียรติให้เป็นผู้นำรุ่นเยาว์ระดับโลกจาก World Economic Forum
และยังได้รับการยอมรับว่าเป็นนักคิดด้านการบริหารจัดการที่มีอิทธิพลมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกอีกด้วย
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือที่กล่าวถึงประเด็นของศักยภาพในตัวบุคคลว่าจะสามารถดึงมันออกมาเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ด้วยวิธีไหนบ้าง เพราะทุกคนรู้ว่าความสามารถย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ แต่ถ้าหากเป็นคนประเภทที่ยังไม่มั่นใจในความสามารถของตนเองล่ะ ถ้าแท้จริงแล้วมันมีศักยภาพที่ซ่อนเร้นภายใต้ความรู้สึกว่ายังเก่งไม่พอล่ะ เราจะจัดการมันอย่างไร?
: ความกว้างของหนังสือคือมันไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังแนะนำวิธีค้นหาศักยภาพแฝงในตัวผู้อื่น ตลอดจนวิธีจัดสรรระบบและโครงสร้างที่เอื้อต่อการแสดงออกซึ่งศักยภาพเหล่านั้น
: วิธีการเล่าเรื่องในหนังสือจะเน้นหยิบยกเรื่องราวตัวอย่างกรณีศึกษาผสมผสานไปกับข้อมูลสถิติและงานวิจัย ซึ่งสำหรับเรามันช่วยให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน เห็นภาพ โดยที่ผู้เขียนก็ไม่ลืมที่จะสรุปแก่นหลักใจความสำคัญของหนังสือทั้งหมดไว้ให้ในตอนท้าย
: เนื้อหาแบ่งออกเป็น 9 บท ใน 3 พาร์ทใหญ่ ได้แก่
พาร์ท 1 ทักษะแห่งอุปนิสัย: พัฒนาวิธีพัฒนาตัวเอง
(1) สิ่งมีชีวิตผู้ไม่สะดวกใจ – อ้าแขนรับความอึดอัดเกินทนจากการเรียนรู้
(2) มนุษย์ฟองน้ำ – บ่มเพาะความสามารถในการดูดซับและปรับตัว
(3) มนุษย์พันธุ์ไม่สมบูรณ์แบบ – หาจุดกลมกล่อมระหว่างรอยตำหนิและความสมบูรณ์แบบ
พาร์ท 2 โครงสร้างบันดาลใจ: สร้างนั่งร้านข้ามผ่านอุปสรรค
(4) แปรสภาพกิจวัตรอันน่าเบื่อหน่าย – ผสานความหลงใหลสู่การฝึกฝน
(5) เลิกติดแหง็ก – หาทางอ้อมเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า
(6) ท้าทายแรงโน้มถ่วง – ศิลปะแห่งการโบยบินด้วยห่วงติดรองเท้าของเราเอง
พาร์ท 3 ระบบสร้างโอกาส: เปิดประตูและหน้าต่างบานใหม่
(7) เด็กทุกคนล้วนขึ้นนำได้ – ออกแบบโรงเรียนที่ดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาได้มากที่สุด
(8) ขุดทองจากในเหมือง – ขุดค้นความฉลาดของกลุ่มในทีม
(9) เพชรที่ยังไม่เจียระไน – ค้นหาอัญมณีที่ยังไม่ได้เจียระไนจากการสัมภาษณ์งานและการรับสมัครเข้าเรียนต่อ
: เพราะฉะนั้นหนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้เหมาะเฉพาะแค่การพัฒนาตนเอง หากแต่ยังส่งเสริมวิธีการช่วยเหลือผู้อื่นพัฒนาตนเองทั้งในบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา ไปจนถึงผู้มีหน้าที่คัดสรร บริหารจัดการ หรือดูแลพนักงานในระดับองค์กรอีกด้วย

เราคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าศักยภาพของมนุษย์นั้นสามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะอย่างต่อเนื่องจนบรรลุเป้าหมาย แต่ในบางครั้งระยะทางระหว่างการไปถึงความสำเร็จอาจยืดยาวหรือยากลำบากเกินไป จนทำให้เราเกิดข้อกังขาในใจว่านี่คือสุดทางที่เราทำได้แล้วหรือเปล่า… หนังสือเล่มนี้จะช่วยสะกิดให้คุณเงยหน้าเดินต่อด้วยเส้นทางอีกเส้นหนึ่งที่อาจอยู่นอกเหนือแผนที่ที่เคยมี และอาจเป็นเส้นทางที่จะช่วยให้คุณไปได้ไกลกว่าเดิม
ปลดล็อกศักยภาพ ด้วยการปรับอุปนิสัย
‘อุปนิสัย’ เป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับค่านิยมของตนเองในการบรรลุเป้าหมาย หลายคนอาจสับสนคำนี้กับคำว่า ‘บุคลิกภาพ’ จึงเข้าใจว่าการปรับเปลี่ยนมันคือการทำลายตัวตนของตัวเองทิ้ง แท้จริงแล้วการปลดล็อกศักยภาพที่เรามีคือการอาศัยวิธีฝึกทักษะด้านอุปนิสัยให้เอื้อต่อการเปล่งประกาย เราสามารถเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบใดก็ได้ แต่ด้วยอุปนิสัยจะทำให้เรายินดีลงมือทำต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ผู้เขียนแนะนำอุปนิสัยหนึ่งของการมุ่งสู่การพัฒนาศักยภาพมากกว่าเก่าว่าให้ฝึกโอบรับความอึดอัดหรือไม่สะดวกใจจากการเรียนรู้ ฉะนั้นหากเราอยากค้นพบศักยภาพแฝงในตนเองก็จงเริ่มทั้งๆ ที่รู้สึกไม่สะดวกใจนั่นแหละ และมองว่าความอึดอัดนั้นคือสัญลักษณ์แห่งการเติบโตเพื่อสร้างแรงจูงใจออกจาก Comfort Zone ของตนเอง ซึ่งหากมองในแง่มุมทางจิตวิทยาอาจกล่าวได้ว่ามันคือการแผ้วถางทางเดินใหม่ ซึ่งพาเราไปสู่การเรียนรู้อื่นๆ ที่เราคงไม่มีทางรู้ว่าเราทำได้หากไม่ลองก้าวเดิน
หยุดมองหาคำวิจารณ์ แต่จงมองหาคำแนะนำ
ด้วยการตั้งคำถามว่า “ครั้งต่อไปฉันจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร?” ผู้เขียนได้เสนอแง่มุมว่าหากเราเปิดรับแต่การวิจารณ์ เราจะได้เพียงการประเมินที่ย้อนกลับไปยังสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หากเราเลือกที่จะขอคำแนะนำแล้ว มันจะเหมือนการมองไปข้างหน้าเพื่อให้ผู้คนเสนอแนะสิ่งที่คุณจะทำได้ ทั้งนี้สำหรับมือใหม่แล้ว การขอคำแนะนำอาจไม่ใช่ประโยชน์สูงสุด สิ่งที่ควรทำคือต้องหาจุดแข็งของตนเองให้พบแล้วฝึกฝนจนสร้างความมั่นใจให้กับตนเองได้ในระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นการมองหาคำแนะนำสำหรับมือใหม่อาจเป็นเพียงการมองหาคำรับรองในสิ่งที่ตนทำ ไม่ใช่ข้อมูลที่จะนำมาปรับใช้ในสิ่งที่ตนเลือก
เมื่อมาถึงทางตัน เราก็ต้องถอย
เป็นอีกบทเรียนที่เรารู้สึกว่าหากอธิบายเป็นภาพว่าเราวิ่งรถเข้าไปในซอยที่ไม่มีทางออก เราก็มีแต่จะต้องถอยหลัง แต่เมื่อในชีวิตจริงที่เราประสบสภาวะถึงทางตัน บ่อยครั้งที่เรากลับดึงดันจะไปต่อให้ได้ การติดกับดักอยู่ในเรื่องที่เราพยายามเต็มที่แล้วก็เช่นเดียวกัน การถอยหลังอาจเป็นหนทางเดียวที่เราจะได้เจอเส้นทางใหม่ เราชอบแง่คิดจากผู้เขียนเรื่องนี้ที่ว่าการเดินทางของเราอาจจะไม่ได้ต้องการแผนที่สมบูรณ์แบบ มันอาจใช้เพียงเข็มทิศเพื่อชี้ทิศทางอย่างคร่าวๆ เพื่อให้เราขยับต่อไปข้างหน้าแม้จะน้อยนิดเพียงใด และบางครั้งการที่เรารู้สึกว่าตัวเองกำลังวนเป็นวงกลมอย่างหาทิศทางไม่ได้ หากมองอีกมุมหนึ่งเราอาจพบว่าวงกลมนั้นกำลังวนเป็นเกลียวขึ้นสู่ยอดสูงของภูเขา ซึ่งมันคือการสั่งสมประสบการณ์จำเป็นในตอนนี้

Growth Mindset อย่างเดียวอาจไม่พอต่อการพัฒนาศักยภาพ
แครอล ดเว็ค ผู้บุกเบิกแนวคิดกรอบความคิดแบบเติบโตหรือ Growth Mindset (ผลงานหนังสือของเธอคือ Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา สำนักพิมพ์วีเลิร์น) ได้ชี้ให้เห็นว่าบางครั้งกรอบความคิดแบบเติบโตเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทำให้คนเราเกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่ มันต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภายนอกเพิ่มด้วย ผู้เขียนเรียกปัจจัยภายนอกนี้ว่าเป็น การสร้าง “นั่งร้าน” หรือการหาโครงสร้างเสริมชั่วคราวที่จะทำให้เราไปสู่จุดที่สูงขึ้น ไกลขึ้น ในขณะที่เรายังไม่สามารถไปถึงด้วยตัวเองได้ มันอาจเป็นความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้าง เพื่อนฝูง หรือสภาพแวดล้อม แต่สำหรับบางคนก็อาจจะต้องสร้างขึ้นเองด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อทำทุกวิถีทางที่จะพัฒนาต่อไป ตัวอย่างเช่น การปรับมุมมองหรือวิธีการทำงานอันน่าเหนื่อยหน่ายให้กลายเป็นความท้าทาย และสร้างบทเรียนในแบบที่ทำให้รู้สึกว่า ‘อยากทำ’ มากกว่า ‘ต้องทำ’
ระบบดี ก็เหมือนมีประตูบนกำแพง
พาร์ทสำคัญที่เราชอบจากหนังสือคือการกล่าวถึงปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลให้มนุษย์คนหนึ่งมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองได้สูงขึ้น เป็นมุมมองที่ขยายออกไปไกลกว่าความเป็นปัจเจกบุคคลอันเนื่องมาจากความแตกต่างที่เลือกไม่ได้ในชีวิต สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ใครสักคนได้เข้าถึงศักยภาพของตนพร้อมกับค้นพบที่ทางของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างระบบการศึกษาที่ออกแบบเพื่อรองรับทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงโดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เช่น การให้เวลาเด็กในชั้นเรียนอนุบาลได้สำรวจความสนใจของตนก่อนการมุ่งเน้นวิชาการในประเทศฟินแลนด์ หรือการออกแบบโครงสร้างองค์กรที่ทำให้พนักงานระดับล่างมีวิธีเข้าถึงผู้บริหารระดับบนซึ่งมีความสนใจตรงกับสิ่งที่พวกเขาอยากนำเสนอ การรับสมัครนักเรียนหรือพนักงานโดยใส่ใจมากกว่าแค่ประวัติการศึกษา ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้หากมีวิธีจัดการและระบบคัดเลือกที่ดี ผลที่ตามมาจะไม่ใช่แค่การเปิดโอกาสให้กับทุกคนได้แสดงศักยภาพ แต่ยังหมายถึงอนาคตที่แข็งแกร่งอันเนื่องมาจากการวางรากฐานที่แข็งแรงตั้งแต่เริ่มต้น
ฉะนั้นแล้วจึงอาจกล่าวได้ว่าพวกเราทุกคน ยังมีศักยภาพแฝงข้างในตัวตนที่รอการค้นพบอยู่อย่างแน่นอน

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“Hidden Potential เมื่อคนธรรมดาจะคว้าสิ่งที่ยิ่งใหญ่”
ผู้เขียน : Adam Grant
(นิติ ชนภัณฑารักษ์ แปล)
จำนวนหน้า : 318 หน้า / ราคาปก : 320 บาท
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น
หมวด : จิตวิทยา/พัฒนาตนเอง