… ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองตอนอยู่ที่ทำงานกับตอนอยู่ที่บ้านแตกต่างกัน
ก็หมายความว่าคุณกำลังโกหกเมื่ออยู่ในที่หนึ่ง
… ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณมีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งตอนอยู่ที่ทำงานและมีอีกจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันตอนอยู่ที่บ้าน
นั่นหมายความว่าคุณอาจจดจ่ออยู่กับ ‘สิ่งที่ทำ’ มากเกินไป
( – จากหนังสือหน้า 215 )
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
Simon Sinek จบการศึกษาด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม เคยทำงานที่บริษัทโฆษณา Euro/RSCG และ Ogilvy&Mather ภายหลังลาออกมาก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาของตัวเอง ปัจจุบันนอกจากเป็นผู้ประกอบการแล้ว เขายังเป็นนักพูดและที่ปรึกษาด้านการเป็นผู้นำและสร้างแรงบันดาลใจ โดยร่วมงานกับบริษัทชั้นนำระดับโลก กองทัพ และหน่วยงานของรัฐมากมาย และการขึ้นพูดบนเวที TED Talk ของเขา ยังกลายเป็นหนึ่งในคลิปยอดนิยมของ TED อีกด้วย David Mead จบการศึกษาปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ เข้าร่วมทีมสตาร์ต วิท วาย ในปี 2009 และจัดการอบรมเกี่ยวกับความเป็นผู้นำและวัฒนธรรมองค์กร ให้กับองค์กรต่าง ๆ มากกว่า 200 แห่ง Peter Docker ที่ปรึกษาด้านการเป็นผู้นำและการจัดการ อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสในกองทัพอากาศของสหราชอาณาจักร เข้าร่วมทีมสตาร์ต วิท วาย ในปี 2011 เขามีความรู้และประสบการณ์ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น น้ำมัน เภสัชกรรม และธนาคาร
🎯 มุมมองสรุป
: ภาพรวมของหนังสือเล่มนี้เป็นการต่อยอดจากหนังสือ Start With Why ซึ่งว่าด้วยเรื่องการเริ่มต้นธุรกิจด้วย “เหตุผล” เพื่อสร้างสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ตามวิถีความเชื่อ โดยเล่มนี้จะถ่ายทอดออกมาเป็นคู่มือวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยให้ผู้คนค้นพบจุดมุ่งหมายหรือ Why ของตัวเอง ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและองค์กร : หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า Start With Why คือเล่มที่ว่าด้วยเรื่องทฤษฎี ในขณะที่ Find Your Why เล่มนี้คือวิธีปฏิบัติ : จุดเด่นของหนังสือคือการอธิบายกระบวนวิธีการค้นพบจุดมุ่งหมายได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการนำไปใช้จริง เป็นคู่มือที่ตะโกนวัตถุประสงค์ของตัวเองออกมาได้ชัดเจนมาก ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านเนื้อหาหรือรูปเล่มที่เปิดให้มีพื้นที่ว่างทุกหน้าเพื่อการขีดเขียน และยังเพิ่มเติมเคล็ดลับหรือคำถามที่พบบ่อยจากประสบการณ์ของทีมผู้เขียนอีกด้วย : เนื้อหาประกอบไปด้วย 7 บทและภาคผนวก 3 ส่วน ดังนี้ บทที่ 1 เริ่มต้นด้วย "ทำไม" : รากฐาน บทที่ 2 ค้นหาจุดมุ่งหมายของคุณ : ภาพรวม บทที่ 3 การค้นหาจุดมุ่งหมายสำหรับบุคคล บทที่ 4 การค้นหาจุดมุ่งหมายสำหรับกลุ่ม – ตอนที่ 1 แนวทางแบบเผ่า บทที่ 5 การค้นหาจุดมุ่งหมายสำหรับกลุ่ม – ตอนที่ 2 การพูดคุยกับเผ่า บทที่ 6 ระบุวิธีการของคุณ บทที่ 7 แสดงจุดยืน : ทำในสิ่งที่คุณบอกว่าเชื่อมั่น ภาคผนวก 1 คำถามที่พบบ่อย ภาคผนวก 2 เคล็ดลับสำหรับคู่หูในการค้นหาจุดมุ่งหมายระดับบุคคล ภาคผนวก 3 เคล็ดลับสำหรับผู้นำกระบวนการในการค้นหาจุดมุ่งหมายระดับเผ่า : หากไม่ได้อ่าน Start With Why มาก่อนจะเข้าใจเนื้อหาในเล่มนี้หรือไม่ – ในบทแรกของการวางรากฐานจะมีใจความสรุปไว้ให้คร่าว ๆ แต่เราคิดว่าการอ่านเล่ม Start With Why มาก่อนจะช่วยสร้างความเข้าใจและตอกย้ำความเชื่อมั่นถึงความสำคัญของการเริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายได้ดียิ่งขึ้น เพราะหากคุณไม่เห็นด้วยในกระบวนการหรือเมื่ออ่านเล่ม Start With Why แล้วคุณรู้สึกว่าไม่น่าสนใจ เราคิดว่าวิธีปฏิบัติภายในเล่มนี้อาจไม่ช่วยให้คุณสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้เท่าที่ควร : เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการวิธีค้นพบจุดมุ่งหมายในชีวิตของตัวเองเพื่อทำงานหรือประกอบธุรกิจตามวิถีที่เป็นตัวเองอย่างแท้จริง หรือผู้ที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจช่วยให้ผู้คนค้นพบจุดมุ่งหมายของพวกเขาเอง และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีหน้าที่พัฒนาบุคลากรภายในองค์กร เพราะคุณจะได้คู่มือการทำ Workshop ละเอียดชนิดกางศึกษาแล้วทำตามได้ทันที : สิ่งสำคัญตามคำแนะนำจากหนังสือคือการนำไปใช้จริงโดยการให้เวลากับกิจกรรมดังกล่าว และควรจะต้องมีคู่หูหรือผู้นำกระบวนการเพื่อให้มั่นใจว่าการค้นพบจุดมุ่งหมายเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งฉาบฉวย ทำให้ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือเติบโตขึ้นทั้งทางด้านอาชีพการงานและการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญกระทั่งนำไปสู่ชีวิตที่อิ่มเอมใจในท้ายที่สุด
หลายคนอาจจะมีสิ่งที่รักที่ชอบอยู่ภายในใจ แต่กลับค้นพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่อาจช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ในโลกแห่งความจริง มีคำกล่าวจำนวนมากปรากฏออกมาอย่างดาษดื่นทั้งที่เราเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็น หากไม่ได้ทำในสิ่งที่รัก ก็จงรักในสิ่งที่ทำ หรือ จงทำในสิ่งที่รักก่อน แล้วชื่อเสียงเงินทองจะตามมาเอง ซึ่งคงต้องบอกว่าไม่มีสิ่งใดถูกผิด ดีกว่าหรือแย่กว่า สุดท้ายเราอาจสงสัยว่าการใช้ชีวิตของเราแท้จริงแล้วมันถูกทำให้เข้ารูปเข้ารอยโดยความเชื่อเหล่านั้น หรือเพราะเราเชื่อในสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้วกันแน่
นั่นอาจเป็นคำถามที่เกิดกับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ‘จุดมุ่งหมาย’ ที่แน่ชัดของตัวเอง – เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

2 วิธีในการสร้างธุรกิจหรือประกอบอาชีพ
เดวิด มี้ด และ ปีเตอร์ ด็อกเกอร์ ผู้ซึ่งเชื่อในแนวคิดของไซมอน ซิเนก และนำวิสัยทัศน์จากบทเรียน Start With Why มาทำให้เป็นรูปเป็นร่างด้วยการนำเสนอกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้อ่านหยิบยกไปใช้ได้จริงผ่านหนังสือเล่มนี้ พวกเขาชี้ให้เห็นว่าการสร้างธุรกิจหรือการเลือกประกอบอาชีพของคนเราหากไม่ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ และคอยมองหาโอกาสที่คาดว่าจะพบเข้าโดยบังเอิญ ก็คือการใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายแต่แรกและรู้ว่าจุดมุ่งหมายของตนเองคืออะไร จากนั้นก็มุ่งตรงไปยังสิ่งที่เหมาะสม ซึ่งการค้นพบจุดมุ่งหมายจะเปรียบเสมือนเรามีเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้ได้ในวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย คุณจะเข้าใจในสิ่งที่คุณเลือกว่ามันสะท้อนสิ่งใด หรือหากคุณยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นหางานใหม่ คุณจะไม่มองหาเพียงแค่ว่าคุณสามารถทำอะไรได้ แต่จะมองหาว่าคุณจะทำสิ่งนั้นไปทำไม มันตอบโจทย์อะไรให้กับชีวิต
คู่หูและผู้ชี้ทางสว่าง
หนังสือมุ่งมั่นที่จะนำเสนอตัวเองให้เป็นคู่มือปฏิบัติเพื่อช่วยค้นหาจุดมุ่งหมายทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร เราพบว่าการบรรลุวัตถุประสงค์ของหนังสือจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของใครอีกคนที่จะช่วยเกลาประสบการณ์และหารือกับความคิดความเข้าใจระหว่างการเปิดเผยเรื่องราวแต่ละส่วนในชีวิต ทั้งนี้ นอกจากภายในเล่มจะอธิบายถึงขั้นตอนการช่วยให้คุณค้นพบจุดมุ่งหมายโดยไล่เรียงออกมาอย่างเป็นลำดับแล้ว หนังสือยังได้นำเสนอแนวทางการเป็นคู่หูเอาไว้ด้วย (คุณแค่ต้องหาใครสักคนมารับหน้าที่นี้ หรือคุณเองที่อาจเป็นผู้ศึกษาวิธีการเป็นคู่หูที่ดีในการช่วยเหลือผู้อื่น) รวมถึงคำแนะนำต่อผู้นำกระบวนการในกรณีการจัดเป็น Workshop ระดับองค์กร ซึ่งจุดเด่นสำคัญของผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวคือการเป็นผู้ฟังเชิงรุกและไม่ยอมปล่อยผ่านแม้เพียงเศษเสี้ยวของประสบการณ์ เพราะมันอาจหมายถึงความหมายแฝงเร้นบางอย่างที่สำคัญได้

ผู้ฟังเชิงรุก – ผู้สัมภาษณ์เชิงลึก
เทคนิค 2 ส่วนภายในเล่มที่เราชื่นชอบและรู้สึกว่านำไปใช้ได้นอกเหนือกระบวนการค้นหาจุดมุ่งหมายตามเจตนารมณ์ของหนังสือ คือการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังเชิงรุกและผู้ถามที่เจาะลึก ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เล่าเข้าถึงประสบการณ์ของตนเองในรูปแบบที่ต่างไปจากบทสนทนาทั่วไป และมันอาจสร้างความเข้าใจหรือทำให้ค้นพบความหมายที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่เพียงการนั่งฟังแล้วปล่อยให้เรื่องราวเหล่านั้นผ่านไป หากแต่เป็นการฟังอย่างตั้งใจและให้ความสนใจเป็นพิเศษกับอวัจนภาษาของผู้เล่า พร้อมสังเกตเห็นความรู้สึกที่อาจปรากฏขึ้นมาชั่วครู่ และถามด้วยคำถามปลายเปิด (คำถามแบบที่ไม่สามารถตอบได้แค่ใช่หรือไม่) หรือถามด้วยคำถามที่เลี่ยงการขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า ‘ทำไม’ เพราะมันจะไปกระตุ้นสมองส่วนลิมบิกที่ไม่ได้รับผิดชอบเรื่องภาษา ทำให้ยากต่อการถ่ายทอดข้อมูลที่อยู่ในหัวออกมาได้ แม้ปลายทางเราจะต้องการให้พวกเขาค้นพบจุดมุ่งหมาย แต่การถามด้วยการใช้คำว่า ‘อะไร’ แทนจะทำให้ผู้เล่าอธิบายได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากกว่า และมันช่วยให้พวกเขาค้นหาสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในประสบการณ์ของตัวเองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งค้นเจอเหตุผลที่แท้จริงในสิ่งที่เขาทำ
ชัยชนะคือการค้นพบจุดมุ่งหมายที่แตกต่างจากผู้อื่น (ธุรกิจอื่น) จริงหรือ?
แม้ว่าโลกของการทำงานและการทำธุรกิจจะเต็มไปด้วยการแข่งขัน จนไม่อาจเลิกคิดถึงการสร้างความแตกต่างเพื่อให้คุณเป็นที่หนึ่งบนเส้นทางแห่งความสำเร็จได้ และเช่นเดียวกันกับแนวคิดของผู้นำอื่นอีกหลายคน หรือหนังสืออื่นอีกหลายเล่ม การเดินบนหนทางที่แข่งขันกับตัวเองเพื่อกลายเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้นยังคงเป็นคำแนะนำจากหนังสือเล่มนี้ เพราะฉะนั้นการค้นพบจุดมุ่งหมายของคุณนั้นไม่สำคัญเลยว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดูคล้ายกันกับของคนอื่นหรือไม่ ขอเพียงคุณแน่ใจว่ามันคือสิ่งที่จุดประกายมาจากส่วนลึกของตัวคุณเอง เพราะท้ายสุดแล้วเอกลักษณ์ที่จะสร้างความแตกต่างขึ้นมาจริง ๆ นั้น เกิดขึ้นจากการผสมผสานจุดมุ่งหมายเข้ากับวิธีการที่คุณเลือกใช้
และไม่แน่ว่าอาจมีเพียงการค้นเจอจุดมุ่งหมาย ที่จะทำให้คุณไม่ต้องกลายไปเป็นสิ่งที่คุณไม่ได้เลือก

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
คู่มือค้นหา “ทำไม” ที่แท้จริงของคุณ (Find Your Why)
ผู้เขียน : Simon Sinek, David Mead และ Peter Docker
(พรเลิศ อิฐฐ์ แปล)
จำนวนหน้า : 239 หน้า / ราคาปก : 335 บาท
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น (WeLearn)
หมวด : ธุรกิจ