ในโลกนี้ การรู้จังหวะที่ควรร่วงหล่น
ทำให้ดอกไม้งามถึงที่สุด
มนุษย์เราก็เช่นกัน
( – จากหนังสือหน้า 46 )
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
Shunmyo Masuno (ชุนเมียว มาซึโนะ)
เจ้าอาวาสวัดเซนที่มีอายุกว่า 450 ปีแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น
ผู้เขียนหนังสือ The Art of Simple Living ซึ่งขายดีไปทั่วโลก
นอกจากนี้ท่านยังเป็นนักออกแบบสวนญี่ปุ่นมือรางวัล
อาจารย์ด้านการออกแบบสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนศิลปะชั้นนำของประเทศ
และยังเคยได้รับเชิญบรรยายในสถานศึกษาหลายแห่ง
เช่น บัณฑิตวิทยาลัยด้านการออกแบบฮาร์วาร์ด
มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และมหาวิทยาลัยบราวน์
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือเล่มนี้คือการถ่ายทอดบทเรียนแห่งวิถีเซนซึ่งเน้นไปในทางปฏิบัติ ผูกโยงเข้ากับโลกยุคปัจจุบันทั้งในด้านหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ และการดำเนินชีวิต โดยมีใจความสำคัญอยู่ที่การปล่อยวางอะไรก็ตามที่เรายึดถือเอาไว้เพื่อทำให้ใจเราเบาที่สุด เราจะเห็นว่าแต่ละบทเรียนภายในเล่มเป็นการเฝ้าสังเกตและอยู่กับชั่วขณะที่เรามี ปล่อยให้อดีตคืออดีต และอนาคตคืออนาคต
: เนื้อหาแต่ละบทเรียนมีความยาวไม่มาก สามารถอ่านแยกทีละบทได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก ซึ่งเป็นข้อดีอีกรูปแบบหนึ่งของวิธีเรียบเรียงเช่นนี้เพราะทำให้ง่ายต่อการหยิบมาอ่านทวนซ้ำภายหลัง และยังมีดัชนีภาษิตเซนที่ถูกกล่าวถึงเอาไว้ท้ายเล่มสำหรับใครที่ต้องการวนกลับไปหาวรรคทองที่สนใจได้อีกด้วย
: เนื้อหามีทั้งหมด 48 บทเรียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ภาคใหญ่ ได้แก่
ภาคหนึ่ง ลด ละ วาง – วิถีเซนในการป้องกันความวิตกและความกังวล
ภาคสอง จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้ที่นี่ ตอนนี้ – เมื่อทำเช่นนั้น คุณจะหยุดคิดถึงเรื่องที่ไม่จำเป็น
ภาคสาม ถอยห่างจากการแข่งขัน แล้วทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง – “ทุกคนคือตัวเขาเอง และฉันคือตัวฉัน”
ภาคสี่ เคล็ดลับน่าประหลาดใจที่ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ – วิธีการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีและตัดความสัมพันธ์ที่แย่
ภาคห้า เปลี่ยนวิธีที่คุณกังวลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ แล้วชีวิตของคุณจะดีขึ้น – ว่าด้วยเงินทอง ความแก่ชรา ความตาย และอื่นๆ
: เมื่อพูดถึง ‘เซน’ หลายคนอาจคิดถึงความเรียบง่ายที่ซับซ้อน ความรู้วิถีพุทธที่ยากจะทำความเข้าใจ หรือบางคนอาจไม่ได้นึกอะไรนอกจากว่ามันเป็นนิกายหนึ่งทางศาสนา แต่หากคุณอยากลองนำแนวคิดแบบเซนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตโดยข้ามการพูดเรื่องที่ว่า ‘เซนคืออะไร’ ไป หนังสือเล่มนี้อาจตอบโจทย์คุณได้เพราะใช้วิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงกับครรลองชีวิตของมนุษย์เรา
: เป็นหนังสือที่ทำให้เรารู้สึกช้าลงทันทีที่เริ่มอ่าน มอบมุมมองในรายละเอียดที่บ่อยครั้งเรามองข้ามและมัวโฟกัสกับสิ่งที่เรียกว่า ‘เป้าหมาย’ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงผลลัพธ์หรือภาพความสำเร็จที่ตั้งใจไว้ ด้วยแนวคิดของเซนจะทำให้เราหันกลับมาใส่ใจ ‘ระหว่างทาง’ มากขึ้น
ควรจะเกริ่นก่อนว่าการดำเนินชีวิตอย่างมี Productivity นั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากการเหยียบคันเร่งอยู่ตลอดเวลาทำให้ความรู้สึกเหนื่อยล้าเริ่มเกาะกุมหัวใจจนกลายเป็นการตั้งคำถามต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อนั้นเราอาจต้องยอมผ่อนเท้าที่กดไว้สุดแรงแล้วหายใจเอามวลอากาศของความผ่อนคลายให้แก่ร่างกายบ้าง ไม่ว่าจะเพื่อเติมพลัง หรือเพื่อทบทวนว่ายังคงอยู่ในเส้นทางที่ต้องการหรือไม่ และถ้าหากคุณต้องการแนวทางปฏิบัติที่เรียบง่าย เราอยากชวนให้ลองนำเซนไปปรับใช้ในบางจังหวะของชีวิต
วางไว้ที่นั่น แล้วอยู่กับปัจจุบันที่นี่
ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เรากำลังยึดถือไว้ จะในทางกายภาพหรือมโนภาพก็ล้วนแล้วแต่ชวนให้นึกถึงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น คำสอนหนึ่งที่จะช่วยให้เราวางทุกอย่างที่แบกไว้บนบ่าคือการอยู่กับปัจจุบัน ภาษิตเซนเรียกมันว่าการ ‘อาศัยในลมหายใจ’ เพราะทุกสิ่งก็ล้วนเป็นไปของมันเช่นนั้นเอง อดีตก็กลับมาไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง เราจึงสำคัญที่สุดในช่วงเวลาของขณะนี้เท่านั้น และเมื่อได้ทดลองทำ มันก็ทำให้เรารู้สึกถึงความเบาโหวงขึ้นมาในพริบตาเดียว
อีกบทจากหนังสือที่ชวนให้ระลึกถึงการใช้เวลากับปัจจุบัน คือ “การทำเรื่องวันนี้ให้อยู่ในวันนี้” ไม่ว่ารอบตัวจะมีกิจวัตรหรือภาระหน้าที่ที่ต้องสะสางมากแค่ไหน ก็ให้มุ่งโฟกัสกับสิ่งสำคัญที่กำลังอยู่ในมือเพื่อลดความกังวลถึงงานชิ้นอื่น ไม่ว่าจะเป็นงานที่ผ่านไปแล้วหรือยังไม่ได้เริ่ม นอกจากนี้ การลงมือทำเรื่องยากๆ ที่ทำให้เราต้องผัดวันประกันพรุ่งมันบ่อยครั้ง ก็สามารถใช้การอยู่กับชั่วขณะเดียวของเรานี้ได้เช่นกัน โดยอาจนำวิธีของพระอาจารย์ชุนเมียวไปปรับใช้ นั่นคือ ‘อย่าตัดสินสิ่งที่คุณต้องทำด้วยความยากหรือง่าย ขอให้ทำมันให้สำเร็จไปตามลำดับขั้นตอน’ ซึ่งเป็นประโยคที่เราชอบมาก
บรรทัดฐานคือประสบการณ์จากการลงมือทำ
เมื่อเราทุกคนมีความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันย่อมส่งผลให้บรรทัดฐานในสังคมนั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย หากเราหลงยึดกับบรรทัดฐานของใครที่ไม่ใช่ของตัวเองย่อมหนีไม่พ้นความทุกข์ที่เกิดจากการเปรียบเทียบ ในแง่หนึ่งมันจึงชวนให้เราคิดว่าแล้วเหตุใดเราจึงยึดถือบรรทัดฐานของคนอื่นและไม่ยอมใช้ของตัวเอง เป็นไปได้ไหมว่าเราไม่เข้าใจตัวเองมากพอจะระบุได้ว่าอะไรคือบรรทัดฐานของเราเองกันแน่
พระอาจารย์ชุนเมียวได้เสนอแนะแนวทางของการค้นพบบรรทัดฐานส่วนบุคคลว่ามันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และการได้ปฏิบัติจริง เมื่อเราลงมือทำเราจึงรู้ว่าสิ่งใดเหมาะ สิ่งใดที่ใช่ สิ่งใดที่ไม่ชอบ ร่างกายของเราจะตอบสนองไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ และมันจะช่วยนำไปสู่การพัฒนาบรรทัดฐานที่เหมาะสมกับเราได้
มูชิน แห่ง เซน
คำเรียก ‘มูชิน’ ในเซน คือสภาวะไร้จิตที่จะทำให้เราไม่อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เชิงบวกหรือเชิงลบ หลายครั้งที่เมื่อเกิดความรู้สึกเชิงลบแล้วเรามักพยายามหามุมมองเชิงบวกเข้ามาในหัวเพื่อถมทับมันไว้ หรือพยายามอดกลั้นจนกลายเป็นการเก็บกดความรู้สึกที่รอวันระเบิดในภายหลัง หลักปฏิบัติของมูชินคือการทำตัวเป็นไผ่ที่ลู่ไปตามแรงลม ไม่ต้องวางเฉยหรือต่อต้าน เพียงปล่อยให้ตัวเองได้รับรู้แล้วอยู่กับมันในชั่วขณะนั้น สังเกตเห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง แล้วสุดท้ายมันจะคลายลงจนกลายเป็นก้อนอารมณ์หนึ่งซึ่งเป็นลักษณะของมันเองแบบนั้น
เสน่ห์ของเหล็กเจาะรูเก่า
ความเปลี่ยนแปลงและกาลเวลาเป็นของคู่กัน ความสวยงามของยุคสมัยจึงเกิดขึ้นได้จากการปล่อยให้มันหมุนไปตามวิถี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกแห่งการทำงาน โลกที่เต็มไปด้วยเรื่องธุรกิจและการแข่งขัน หนุ่มสาวที่ยังมีไฟและพละกำลังจึงมีความสามารถในด้านการเรียนรู้ทักษะได้รวดเร็วกว่าอย่างเช่นเรื่องเทคโนโลยี คนอายุมากขึ้นจึงอาจเสียเปรียบในแง่มุมนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่มีเสน่ห์เสียทีเดียว
ในทางเซน มีคำหนึ่งเรียกว่า ‘คังโกซุย’ แปลว่า เหล็กเจาะรูเก่า ซึ่งหากจะใช้มันเจาะรูก็คงทำได้ไม่ดีอีกต่อไปแล้ว แต่ความทื่อของมันแสดงถึงการผ่านการใช้งานมาอย่างหนักหน่วง ในทางหนึ่งมันจึงอาจเป็นความเก่าที่เก๋าประสบการณ์ ดังที่พระอาจารย์ชุนเมียวกล่าวไว้ในหนังสือว่า ‘เหล็กเจาะรูเก่าย่อมเป็นต้นแบบของทักษะที่ขัดเกลาแล้ว …และมาพร้อมกับวุฒิภาวะ’
ตอนนี้คุณกังวลไหม?
เราอยากชวนปิดท้ายด้วยประโยคคำถามสั้นๆ เพราะเราคิดว่าการที่ใครสักคนกำลังหาวิธีหยุดความกังวลของตัวเองนั้น เป็นไปได้ว่าเขากำลังมีเรื่องที่ต้องคิดอยู่ในหัว (เราเทียบจากตัวเราเองนี่แหละ) มันจึงทำให้เกิดความรู้สึกงุ่นง่าน ไม่เป็นสุข และคล้ายกับว่ามีเรื่องต้องจัดการอยู่ตลอดเวลา แต่หลังจากคุณได้ยินคำถามประโยคนี้แล้ว…คุณมีคำตอบอะไรอยู่ในใจ ไม่ต้องตอบใครเราอยากให้คุณลองตอบตัวเอง ‘ตอนนี้’ ของคุณกังวลจริงๆ ไหม หรือความกังวลนั้นมันเกิดขึ้นเพราะคุณย้อนคิดไปถึงสิ่งที่ทำลงไป กับสิ่งที่ตั้งใจว่าจะทำให้ได้ในเวลาข้างหน้า
เพราะ “สิ่งสำคัญ …สำคัญเฉพาะวันนี้” – (ท่านโดเกียว เอตัง, จากหนังสือหน้า 118)
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“วางใจให้ไร้กังวล (Don’t Worry)”
ผู้เขียน : Shunmyo Masuno
(ทศพล ศรีพุ่ม แปล)
จำนวนหน้า : 224 หน้า / ราคาปก : 249 บาท
สำนักพิมพ์ : Be(ing)
หมวด : จิตวิทยา/พัฒนาตนเอง