เราใช้ ‘กลยุทธ์เอาตัวรอด’ ไปแบบไม่รู้ตัวเพื่อรับมือภาวะวิตกกังวล
สมองลิงกระตุ้นให้เราลงมือทำอะไรสักอย่าง …
และเมื่อใดก็ตามที่เราทำอะไรบางอย่าง …
ลิงจะให้รางวัลด้วยการยกนิ้วออกจากปุ่มวิตกกังวล แล้วเราก็จะรู้สึกผ่อนคลาย
( – จากหนังสือหน้า 46 )
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
Jennifer Shannon (เจนนิเฟอร์ แชนนอน) นักบำบัดสำหรับคู่สมรสและครอบครัว เป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์บำบัดความคิดและพฤติกรรมแห่งซานตาโรซา ที่เมืองซานตาโรซา รัฐแคลิฟอร์เนียร์ และได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันวิชาการด้านการบำบัดความคิด (Academy of Cognitive Therapy)
🎯 มุมมองสรุป
: ลิงในสมองจากหนังสือ เป็นการเปรียบเทียบถึงสภาวะความวิตกกังวลของเราว่าเกิดจากปฏิกิริยาอัตโนมัติในการเอาชีวิตรอดเมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคาม ซึ่งอาการเหล่านั้นมักส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวและกระโดดไปมาเหมือนลิง : ฉะนั้นในเวลาที่เราถูกเจ้าลิงปล้นสมองจึงทำให้เรามักตัดสินใจไปตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ซึ่งนั่นถือเป็นการป้อนอาหารให้ลิงจนทำให้มันแข็งแรงและมีอำนาจมากขึ้น : ผู้เขียนใช้แนวทางการรักษาแบบบำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT (Cognitive Behavior Therapy) เป็นพื้นฐานในการเขียนหนังสือ ซึ่งใส่ใจว่าอะไรทำให้ปัญหายังคงเป็นปัญหา มากกว่าจะตามสืบค้นต้นตอกระบวนการคิดที่สร้างมันขึ้น หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือจิตวิทยาอีกเล่มที่อ่านง่าย ย่อยง่าย เพราะไม่มีศัพท์เทคนิคหรือข้อมูลเชิงวิชาการมากนัก : เนื้อหาภายในเล่มแบ่งเป็น 11 บท ได้แก่ บทที่ 1 รับรู้ภัยคุกคาม บทที่ 2 ข้อสันนิษฐานสามข้อ บทที่ 3 ให้อาหารลิง บทที่ 4 ไม่ยอมเสี่ยง บทที่ 5 โลกมันกลมนะ บทที่ 6 ความรู้สึกที่จำเป็นต้องรู้สึก บทที่ 7 เสียงกระซิบกระซาบของลิง บทที่ 8 จุดประสงค์และแผนการ บทที่ 9 วางเดิมพันให้น้อยลง บทที่ 10 ฝึกชมเชยตัวเอง บทที่ 11 ชีวิตที่เปิดกว้าง : การนำเสนอในเล่มจะพาผู้อ่านค่อย ๆ ล้วงไปทำความรู้จักลิงตัวปัญหาของตนแล้วเรียนรู้ที่จะรับมือและหยุดวงจรการตอบสนองไปตามสัญชาตญาณเพื่อให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัยด้วยวิธีปรับมุมมองทางความคิดให้เปิดกว้างกว่าเก่า และกล้าเผชิญหน้ากับความวิตกกังวลมากกว่าเก่า : โดยส่วนตัวเรามองว่าคล้ายกับการฝึกมี Growth Mindset ที่มองเห็นปัญหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะเติบโตในภายภาคหน้า ในหนังสือมีแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เราค้นพบแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งเมื่อเราทดลองทำก็พบคำตอบที่น่าสนใจ และคุณเองก็อาจค้นพบวิธีตัดจบความกังวลของตัวเองได้เช่นกัน
ไม่ใช่ทุกครั้งที่ความวิตกกังวลจะเป็นผู้ร้ายในสายตาของเรา ความวิตกกังวลบางอย่างนำไปสู่การค้นพบและแนวทางป้องกันก่อนที่จะกลายเป็นวัวหายแล้วล้อมคอกได้ หากแต่บางครั้งเจ้าความวิตกกังวลนี้กลับทำตัวเป็นภัยคุกคามเสียเองเมื่อมันทำให้คุณหลงอยู่ในวังวนความคิดที่ไม่มีทางออก และทำได้เพียงหลบเลี่ยงมันด้วยการเก็บงำผ่านกิจกรรมการเอาตัวรอดที่ทำให้คุณรู้สึกว่าตนเองจะปลอดภัย อาจเป็นงานอดิเรกที่ชอบหรือการพยายามหากิจกรรมผ่อนคลาย และนั่นเท่ากับคุณกำลังหล่อเลี้ยงปัญหาเอาไว้จนมันมีแต่จะกลายเป็นความกังวลที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ
คนขี้กังวลมักมีนิสัยแบบนี้
ความวิตกกังวลคือสภาวะที่กระตุ้นให้เราต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่เราคิดว่าเป็นภัยคุกคาม ผู้เขียนได้ตั้งข้อสันนิษฐานที่เป็นการตอบสนองสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดจากภัยคุกคามไว้ 3 ข้อ ได้แก่ การทนความไม่แน่นอนไม่ได้ (ฉันต้องแน่ใจเต็มร้อย ฉันถึงจะรอด) การนิยมความสมบูรณ์แบบ (ฉันต้องไม่ทำผิดพลาด ฉันถึงจะรอด) และการรับผิดชอบจนล้นเกิน (ฉันต้องรับผิดชอบความสุขและความปลอดภัยของทุกคน ฉันถึงจะรอด) ซึ่งคนที่ประสบปัญหาภาวะวิตกกังวลมากจนเกินไปมักมีส่วนประกอบไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง หรืออาจจะมากกว่าหนึ่งข้อด้วยซ้ำ
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เราตอบสนอง
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ความวิตกกังวลมักกระตุ้นให้เราลงมือทำอะไรสักอย่าง และสิ่งที่คุณลงมือทำนั่นเองถือเป็นการให้อาหารลิงและยืนยันอย่างแน่นอนว่ามันเป็นภัยคุกคามอย่างถูกต้อง เพราะตอนที่เราตัดสินใจทำเพียงเพื่อต้องการระงับความกังวลนั้นเป็นเพียงการตอบสนองไปตามสัญชาตญาณโดยขาดการรู้คิด วิธีที่คุณจะรู้ว่าเมื่อใดสิ่งที่คุณลงมือทำคือการใช้กลยุทธ์เอาตัวรอด ให้ลองสังเกตว่ามันมีลักษณะ 1 ใน 2 รูปแบบนี้หรือไม่ แบบแรก สิ่งที่คุณทำคลี่คลายสถานการณ์ความวิตกกังวลได้เพียงชั่วคราวและต้องทำซ้ำ ๆ หรือแบบที่สอง สิ่งที่คุณลงมือทำพาคุณออกห่างจากเป้าหมายหรือค่านิยมสำคัญในชีวิตของคุณไปทุกที
อย่ากลัวที่จะรู้สึกแย่
วิธีการเบื้องต้นที่จะนำพาเราไปสู่การตัดวงจรความวิตกกังวลที่มากเกินพอดีนั่นคือการยอมให้ตัวเองได้รู้สึกแย่บ้าง ด้วยการฝึกคิดถึงมุมมองใหม่ ๆ เพื่อหยุดระบบความคิดที่ตัดสินทุกสิ่งที่คุณไม่รู้จักและไม่เคยทดลองว่าเป็นภัยคุกคามของชีวิต คุณอาจเริ่มด้วยแนวคิดที่ว่าไม่จำเป็นต้องแน่ใจเต็มทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ผิดพลาดได้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือรับผิดชอบขอบเขตของตนเองก่อน ลองเผชิญหน้าและเรียนรู้ที่จะโอบรับความกังวลของคุณเองโดยไม่ต้องรีบหาวิธีกำจัด ลองมองว่าสิ่งเหล่านี้คือสารตั้งต้นที่จะช่วยพาคุณไปสู่ความเข้าใจในสเกลการเติบโตที่ใหญ่ขึ้นของชีวิต มากกว่าจะยอมยึดตัวเองเอาไว้กับพื้นที่ปลอดภัยและวนอยู่ในวงจรความวิตกกังวลซ้ำ ๆ
หนังสือที่ช่วยรับมือความวิตกกังวล
โดยสรุปแล้วสำหรับเรา หนังสือได้หยิบยื่นเครื่องมือการฝึกฝนตนเองสำหรับผู้ที่ตกอยู่ในภาวะวิตกกังวลจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แต่ละวิธีที่ถูกถ่ายทอดคล้ายกับการหยิบยื่นมุมมองความคิดของการฝึกเป็นคนมี Growth Mindset หรือทัศนคติแบบพัฒนาได้แต่ขยายความเฉพาะเจาะจงที่จะแก้ปัญหาเรื่องความวิตกกังวลตามชื่อหนังสือ มันจึงเป็นอีกเล่มที่เหมาะมากสำหรับคนที่ต้องการจะแก้ไขจุดบกพร่องในเรื่องนี้ เพราะนอกจากแบบทดสอบและแนวทางที่ช่วยให้เราค้นพบว่าความวิตกกังวลใดที่บั่นทอนชีวิตเราอยู่ วิธีคิดของเราแบบไหนที่ถือเป็นการหล่อเลี้ยงมันไว้ และเราใช้กลยุทธ์อะไรจนทำให้เราประสบความสำเร็จในการหล่อเลี้ยงความวิตกกังวลของตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันยังช่วยนำเสนอวิธีคิดและกลยุทธ์ทางเลือกอื่น ๆ ที่เราอาจไม่รู้ว่าควรเริ่มจากจุดไหนให้ลองปรับใช้ด้วยการบอกเล่าแบบง่าย ๆ ผ่านตัวอย่างกรณีศึกษาที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
แต่ถ้าหากคุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วยังคงวิตกกังวลว่าหนังสือเล่มเดียวมันคงช่วยแก้ไขอะไรไม่ได้ เราอยากให้คุณลองเริ่มพาตัวเองไปสู่ทางเลือกใหม่
คุณยังไม่ต้องแน่ใจทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้ว่ามันจะช่วยได้จริง
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“หยุดเลี้ยงลิงในสมองคุณ! (Don’t Feed the Monkey Mind)”
ผู้เขียน : Jennifer Shannon
(สุดคนึง บูรณรัชดา แปล)
จำนวนหน้า : 192 หน้า / ราคาปก : 265 บาท
สำนักพิมพ์ : Bookscape
หมวด : จิตวิทยา/พัฒนาตนเอง