มีเพียงกฎข้อเดียวในการเป็นบริษัทตัวคนเดียวคือ
การระมัดระวังโอกาสที่เข้ามาซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยการเติบโต และจงตั้งคำถามถึงโอกาสนั้นก่อนจะตอบตกลง
นี่เป็นเพียงกฎข้อเดียว ที่เหลือขึ้นอยู่กับคุณ
( – Paul Jarvis, จากหนังสือหน้า 308 )
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
พอล จาร์วิส (Paul Jarvis)
เริ่มต้นจากการเป็นนักออกแบบเว็บไซต์และที่ปรึกษาด้านอินเทอร์เน็ต
เขาเคยร่วมงานกับนักกีฬามืออาชีพ รวมถึงบริษัทใหญ่ๆ เช่น Yahoo
Microsoft Mercedes-benz และ Warner Music
เขาสร้างซอฟต์แวร์ ทำพอดแคสท์ และสอนหลักสูตรออนไลน์
ความคิดและงานเขียนของเขาได้รับการพูดถึงผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมาก
ปัจจุบันเขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่แบบ Offline และลบบัญชีการใช้งานเครือข่ายออนไลน์แล้วทั้งสิ้น
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือที่เขียนขึ้นบนแนวคิดที่ตั้งคำถามถึงการประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจว่าอาจไม่ได้หมายถึงการเติบโตและขยายใหญ่ขึ้นเพียงอย่างเดียว หากแต่มีมิติมุมมองอื่นให้สำรวจและหันมาทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของตนเอง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้เสนอแง่มุมของความสำเร็จจากการทำธุรกิจด้วยการเน้นทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่โตขึ้น
: เนื้อหาภายในเล่มส่วนใหญ่เป็นการอภิปรายความสำคัญและวิธีการบริหารธุรกิจส่วนบุคคล หรือหนังสือเรียกว่า ‘บริษัทตัวคนเดียว’ ว่าการเริ่มต้นควรเริ่มจากสิ่งใด ทัศนคติแบบใดที่ช่วยให้ไปต่อ ตลอดจนสิ่งจำเป็นแวดล้อมที่ต้องเรียนรู้ด้วยตนเองหรือจัดการส่งไม้ต่อให้กับผู้เชี่ยวชาญมากกว่า
: ผู้เขียนแบ่งรูปแบบการเล่าออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ โดยแต่ละพาร์ทก็มีบทเรียนแยกย่อย รวมทั้งสิ้น 13 บท ได้แก่
ตอนที่ 1 เริ่มต้น
(1) บริษัทตัวคนเดียวคืออะไร
(2) เป้าหมาย คือการรักษาความเล็ก
(3) การบริหารจะต้องมีอะไรบ้าง
(4) การทำให้บริษัทที่ไม่เติบโตเติบโต
ตอนที่ 2 สร้าง
(5) หากรอบความคิดที่เหมาะสม
(6) บุคลิกที่สำคัญ
(7) ลูกค้าคนเดียวคนนั้น
(8) ระบบที่ขยายได้
(9) สอนทุกอย่างที่คุณรู้
ตอนที่ 3 รักษา
(10) ใช้ประโยชน์จากความเชื่อใจและการขยายให้เหมาะสม
(11) การเปิดตัวและปรับเปลี่ยนทีละนิด
(12) คุณค่าที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์
(13) การสร้างบริษัทตัวคนเดียว (ของผม)
: แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทตัวคนเดียว แต่โดยสรุปจากการอ่านแล้ว การทำธุรกิจนี้ยังจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับผู้คน โดยเน้นในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ และมีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากธุรกิจในลักษณะองค์กรขนาดเล็กมากกว่าการรับจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นของเรา บางส่วนของเนื้อหายังคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้รับจ้างอิสระโดยอาจเลือกหยิบบางแนวคิดไปประยุกต์ใช้ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการทำงาน

ถ้าความคิดริเริ่มของการเป็น ‘นายตัวเอง’ กำลังกลายมาเป็นตัวเลือกหนึ่งของการวางแผนอนาคตสำหรับคุณ เราอยากชวนอ่านหนังสือที่จะช่วยนำเสนออีกรูปแบบธุรกิจที่ผู้เขียนเรียกว่า ‘บริษัทตัวคนเดียว’ – โมเดลธุรกิจขนาดเล็กที่ความสำเร็จไม่ได้เท่ากับการเติบโตไปเป็นองค์กรใหญ่เพียงเท่านั้น
โดยทั่วไปแล้วคนอาจเข้าใจว่าการเริ่มต้นทำธุรกิจหมายถึงการเป็นสตาร์ตอัปซึ่งมีเป้าหมายด้านการเติบโตโดยมีเงินลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทว่าการเริ่มต้นทำธุรกิจในแบบ ‘บริษัทตัวคนเดียว’ ตามนิยามของหนังสือเล่มนี้จะเป็นการตั้งคำถามถึงการเติบโตทางธุรกิจว่าเป็นสิ่งจำเป็นจริงหรือ? เมื่อการเพิ่มขนาดอาจหมายถึงความซับซ้อนที่มากขึ้นทั้งในแง่ของกลยุทธ์และวิธีการรักษาสถานะเอาไว้ ในขณะที่บริษัทตัวคนเดียวอาจเป็นวิธีบริหารธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะมันเข้ากันกับจุดประสงค์ของการใช้ชีวิตของคุณมากกว่า (แน่นอนว่าทุกคนมีจุดประสงค์ต่างกันไป และหากการเติบโตในแง่ขนาดยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณต้องการ คุณก็สามารถข้ามเล่มนี้ได้เลย)
เริ่ม บริษัทตัวคนเดียว อย่างไร ไม่ให้หลงทิศ
เมื่อจะเริ่มทำธุรกิจที่เป็นรูปแบบบริษัทตัวคนเดียว คุณอาจต้องลองสำรวจตัวเองดูก่อนว่าคุณมีชุดทักษะอะไร และมีความชำนาญในเรื่องใดบ้าง หรือถ้ายังไม่มีคุณอาจต้องพัฒนาชุดทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดก่อนเป็นลำดับแรก และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในปัจจุบันคือการเข้าใจจุดประสงค์อันแท้จริงในการทำงานของตัวคุณเอง เพราะธุรกิจคือการตอบสนองในเชิงผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมันมาจากความต้องการที่ตรงกันระหว่างคุณและลูกค้าของคุณ

ไม่ต้องสร้างธุรกิจจากความหลงใหลก็ได้
มุมมองหนึ่งจากหนังสือที่เราชอบคือการหยุดใช้ความหลงใหลในการสร้างรายได้ แต่ให้เข้าใจว่าความหลงใหลมาจากการสะสมทักษะและความชำนาญในงานที่คุณลงมือทำ เพราะเมื่อเรารู้สึกดีที่ได้ทำจนสำเร็จ หรือดีกว่านั้นคือทำสำเร็จแล้วส่งผลให้บางสิ่งบางอย่างดีขึ้น เมื่อนั้นความหลงใหลจะตามมา ในแง่นี้มันช่วยให้เราเลิกโทษตัวเองเมื่อไม่รู้ว่าชอบสิ่งใดอย่างแท้จริง และช่วยให้เรารู้สึกว่ามันไม่จำเป็นต้องรอค้นให้เจอความหลงใหลในตัวเองถึงค่อยเริ่มต้น แต่ให้ทดลองทำเพื่อสร้างมันขึ้นมา
เป็นตัวของตัวเองคือกลยุทธ์สร้างความแตกต่างอย่างดีที่สุด
ในจำนวนธุรกิจมากมายบนโลกนี้ อาจมีเหลืออยู่ไม่กี่วิธีที่จะช่วยปั้นสิ่งที่เราทำให้ต่างไปจากคนอื่น แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างความแตกต่างได้นั่นคือการทำธุรกิจด้วยแนวคิดที่คุณเชื่อมั่นและยืนหยัด ซึ่งมันคือความเป็นคุณที่ไม่เหมือนใคร และเมื่อคุณไม่ได้สนใจแนวคิดของการเติบโตในเชิงปริมาณ ก็จงเปิดเผยบุคลิกอันโดดเด่นของคุณให้มากที่สุดแม้ว่ามันจะสุดขั้วมากแค่ไหน เพราะลูกค้าที่เข้ามาหาคุณย่อมมาเพราะคุณค่าร่วมกันบางอย่างที่สัมผัสได้ และความสุดขั้วจะช่วยบีบให้เกิดการตัดสินใจได้เร็วขึ้น คือถ้า “ไม่” ก็ “ใช่” เลย

จะรู้ได้อย่างไรว่าควรไปต่อหรือล้มเลิก เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คิด
สกอตต์ เบลสกี ผู้ก่อตั้งร่วมบริษัทบีแฮนซ์ที่ให้บริการสร้างพอร์ตโฟลิโอออนไลน์แก่ศิลปิน ได้ให้มุมมองเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อใดก็ตามที่เราอยู่ในจุดที่ไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไรต่อไปหากสิ่งที่ทำไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด ให้ลองย้อนกลับไปดูความตั้งใจแรกเริ่มของตนอีกครั้ง และตอบคำถามตัวเองว่าหากมีโอกาสเริ่มต้นใหม่ด้วยความเข้าใจที่คุณมีเพิ่มขึ้นแล้วตอนนี้ คุณจะยังคงทำมันอยู่หรือเปล่า ถ้าคำตอบคือ “ใช่” คุณยังเชื่อว่าความคิดแรกเริ่มนั้นเป็นของจริงและสามารถทำกำไรได้ คุณก็ควรไปต่อ แต่หากคำตอบคือ “ไม่” คุณแค่เสียดายสิ่งที่ลงทุนเวลาและพลังงานไปกับมัน ก็จงล้มเลิก
ข้อคิดน่าสนใจสำหรับสายฟรีแลนซ์จากหนังสือ
แม้เรื่องราวภายในเล่มจะกล่าวถึงรูปแบบบริษัทตัวคนเดียว แต่เราพบว่ายังมีมุมมองที่สามารถปรับประยุกต์ใช้กับผู้รับจ้างอิสระหรือฟรีแลนซ์ได้ หนึ่งในนั้นคือคำแนะนำว่าด้วยเรื่องการเก็บเกี่ยวต้นทุนทางสังคมเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวไว้ เปรียบเสมือนกับบัญชีธนาคาร เราไม่สามารถถอนได้มากกว่าที่เราเคยฝาก หากเราเอาแต่ขอให้เขาช่วยซื้อผลิตภัณฑ์ของเราโดยไม่ได้ตอบแทนพวกเขาเลย บัญชีของเราก็อาจจะค่อยๆ ร่อยหรอลง ซึ่งการสานสัมพันธ์นี้อาจใช้เป็นวิธีให้คำแนะนำสนับสนุนเกินกว่าความคาดหวัง หรือรูปแบบอื่นใดก็แล้วแต่ตามที่กรอบการทำงานของคุณสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ ยิ่งไปกว่านั้น การนำจุดแข็งของการเป็นนายตัวเองที่ไม่มีลำดับชั้นทางองค์กรมาใช้ด้วยการเปิดรับฟังเสียงของลูกค้าอย่างแท้จริงก็ย่อมช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีได้ด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากความสามารถอันโดดเด่นที่คุณมีแล้ว การใช้เครือข่ายบอกต่อนับเป็นอีกช่องทางที่ทำให้คุณก้าวต่อไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องสร้างองค์กรให้ยิ่งใหญ่เพื่อแข่งขันในเวทีของธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเติบโตแบบก้าวกระโดด
และไม่ว่าอย่างไร ประเด็นสำคัญที่สุดที่เราได้จากหนังสือคือ เราต้องเข้าใจจุดประสงค์และความต้องการของเราก่อนเป็นลำดับแรก เมื่อนั้นเราจึงจะตอบได้ว่าธุรกิจที่เราอยากสร้าง ชีวิตที่เราอยากมี จะต้องขับเคลื่อนด้วยโมเดลไหนจึงจะเหมาะสม
เพราะความสำเร็จมันไม่ได้มีรูปแบบตายตัวอยู่แล้ว

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“บริษัทตัวคนเดียว (Company of One)”
ผู้เขียน : Paul Jarvis
(โชติกา โชติสรยุทธ์ แปล)
จำนวนหน้า : 320 หน้า / ราคาปก : 295 บาท
สำนักพิมพ์ : ซีเอ็ด
หมวด : ธุรกิจ