Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : Building A Second Brain พลังแห่งสมองที่สอง (Tiago Forte)

รีวิวหนังสือ : Building A Second Brain พลังแห่งสมองที่สอง (Tiago Forte)

หนังสือ จัดระเบียบความคิด จัดระเบียบชีวิต Content Creator

… พวกเขาจะดำดิ่งลงในเนื้อหาชิ้นแรกที่เจอแล้วตะลุยอ่านอย่างไม่ลืมหูลืมตา

แต่แล้วก็ลืมรายละเอียดทั้งหมดในเวลาอันรวดเร็ว

… ปัญหานี้มีทางออก เริ่มจากต้องรู้ว่าในเนื้อหาแต่ละชิ้นนั้นคุณค่าไม่ได้กระจายอยู่ทุกที่เท่าเทียมกัน

จะต้องมีบางช่วงบางตอนที่น่าสนใจ ให้ประโยชน์ หรือทรงคุณค่าสำหรับคุณเป็นพิเศษเสมอ

( – จากหนังสือหน้า 83 – 84 )

✒️ ประวัติผู้เขียน

Tiago Forte
ผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของโลก
เขาเคยทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เช่น เจเนนเทค โตโยต้า
และธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างทวีปอเมริกา
ปัจจุบันเขาก่อตั้ง Forte Labs 
องค์กรที่แบ่งปันแนวคิดและการเข้าถึงศักยภาพทางความคิดสร้างสรรค์ภายในตัวมนุษย์
ด้วยวิธีการเชื่อมต่อเข้ากับโลกแห่งดิจิทัล

🎯 มุมมองสรุป

: สมองที่สองตามความหมายของหนังสือ คือระบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อช่วยเหลือมนุษย์โดยเปรียบเสมือนเป็นอวัยวะต่อขยายจากสมองตามธรรมชาติของเราด้วยการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ได้แก่ การใช้ระบบจดบันทึกแบบดิจิทัล ซึ่งอำนวยความสะดวกกว่าในการสืบค้นเพื่อนำมาใช้ภายหลัง

: หนังสือได้นำเสนอแนวทางการจัดระเบียบข้อมูลด้วยวิธีจดบันทึกแบบเน้นใช้งาน หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า PARA เพราะปัจจุบันเราเข้าถึงข้อมูลได้จำนวนมากและแทบตลอดเวลา แต่บางครั้งเมื่อถึงเวลาสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาสักชิ้นกลับนึกอะไรไม่ออก ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร หรือข้อมูลที่เคยบันทึกเก็บไว้ก็ยังไม่อาจตอบโจทย์ในยามที่ต้องใช้จริง ๆ

: เทคนิคภายในเล่มเป็นวิธีที่ง่ายและชัดเจน เราเชื่อว่าทุกคนก็สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ แต่ส่วนสำคัญที่จะทำให้รูปแบบการจดบันทึกดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลมากขึ้นคือแอปพลิเคชันการจดบันทึกและพื้นที่การจัดเก็บข้อมูล

: ระบบการบันทึกหรือจัดระเบียบชีวิตเช่นนี้ หลายคนอาจเคยทำความรู้จัก การเขียน ‘Bullet Journal’ มาก่อนและอาจสงสัยว่ามันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร – ในความคิดส่วนตัวเรารู้สึกว่ามีจุดเด่นกันคนละแบบ โดย Bullet Journal นั้นจะแบ่งกรอบตามระยะเวลา (คือประจำวัน เดือน หรือปี) ซึ่งใช้ความต่อเนื่องสม่ำเสมอ ในขณะที่การจัดระเบียบบันทึกด้วยวิธี PARA ที่เน้นใช้งานจะไม่ระบุถึงขอบข่ายเวลาที่ตายตัวนัก จะบันทึกด้วยความถี่เท่าไรหรือเรียกดูตอนไหนก็ขึ้นอยู่กับเรา

: เนื้อหาภายในเล่มแบ่งออกเป็น 3 ภาค ได้แก่
ภาค (1) พื้นฐาน – ทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นไปได้บ้าง : จุดเริ่มต้นของทุกเรื่องราว / สมองที่สองคืออะไร / สมองที่สองทำงานอย่างไร
ภาค (2) วิธีการ – สี่ขั้นตอนของ CODE : Capture เลือกเก็บข้อมูลที่โดนใจ / Organize จัดระเบียบแบบเน้นใช้งาน / Distill กลั่นกรองหาแก่นสำคัญ / Express นำเสนอผลงานของคุณ
ภาค (3) จุดเปลี่ยน – ลงมือทำให้สำเร็จ : ศิลปะของการทำงานสร้างสรรค์ / อุปนิสัยที่จำเป็นของนักจัดระเบียบข้อมูลดิจิทัล / เส้นทางแห่งการนำเสนอตัวตน

: เหมาะสำหรับผู้ที่มองหาการจัดระบบข้อมูลที่เหมาะสมต่อการเรียกใช้งาน ผู้ที่ทำงานหลายโครงการพร้อมกันและต้องการเครื่องมือการจัดระเบียบ หรือผู้ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องทุ่นแรงความจำให้สมอง นอกจากนี้ในความคิดเห็นของเรา หนังสือเล่มนี้เหมาะกับยุคสมัยแห่ง Content Creator มาก

: ส่วนตัวหลังอ่านความรู้สึกคล้ายตอนอ่าน Atomic Habits จบ ด้วยความที่วิธีการในหนังสืออธิบายไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนสามารถทำตามไปด้วยได้ เห็นขอบข่ายความสามารถระบบที่ชัดเจน จูงใจให้อยากลองทำตามจริง และนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคนขี้ลืมแบบเรา

: ประสบการณ์หลังจากนำไปใช้งานเบื้องต้น พบว่าเรื่องยากลำดับแรกคือการเลือกแอปพลิเคชันที่เหมาะกับการใช้งานตัวเอง (สรุปจบที่ Notion ค่ะ เพราะใส่หน้าบันทึกย่อย ๆ ได้เยอะ และตกแต่งได้บ้างพอประมาณ) บวกกับมีข้อกังวลเล็กน้อยเรื่องการสูญหายและพื้นที่จัดเก็บเมื่อต้องใช้บันทึกข้อมูลจำนวนมาก
พลังแห่งสมองที่สอง รีวิว

ไม่รู้ว่าเพราะสิ่งที่เราอยากทำและต้องจัดการมันเพิ่มขึ้น หรือเพราะโลกเต็มไปด้วยข้อมูลที่ป้อนเข้ามาอย่างต่อเนื่องและเข้าถึงได้อย่างง่ายดายกันแน่ บางครั้งเราจึงหลงลืมสิ่งที่เคยตั้งใจเอาไว้แล้วมานึกออกได้ภายหลัง หรือไม่ก็เป็นนักจัดเก็บข้อมูลที่น่าสนใจไว้สารพันแต่ข้อมูลเหล่านั้นก็ถูกเรียกขึ้นมาใช้จริงน้อยเหลือเกิน

หนังสือเล่มนี้อาจช่วยให้คุณกลั่นกรองและจัดระเบียบทั้งเรื่องที่อยากทำและต้องจัดการ ข้อมูลที่น่าสนใจและข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ ด้วยแนวคิดของการจดบันทึกแบบเน้นใช้งาน โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นพื้นที่ต่อขยายของสมองตามธรรมชาติของมนุษย์

สมองที่สอง – อวัยวะต่อขยายเพื่อให้สมองที่หนึ่งของคุณพร้อมใช้งานมากขึ้น

ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ แองเจโล มาราวิตา และ อัตสึชิ อิริกิ พบว่าเมื่อมนุษย์ใช้เครื่องมือเพิ่มระยะเอื้อมอยู่เป็นประจำ โครงข่ายระบบประสาทในสมองจะเพิ่มพื้นที่ส่วนขยายนี้เข้าไปในแผนที่ของร่างกายด้วย ซึ่งมอบมุมมองแนวทางการใช้งานเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ต่อขยายว่าสามารถทุ่นแรงพื้นที่สมองของมนุษย์ได้แทนที่จะเป็นพื้นที่แห่งการจัดเก็บข้อมูลที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้งานจริงในตอนนี้ ด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงนับเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ว่างให้สมองโดยธรรมชาติสำหรับกระบวนการคิดสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการในเวลานั้น

จดบันทึก – จัดระเบียบความคิดยังไง ให้เป็นประโยชน์ในภายหลัง

ผู้เขียนได้นำเสนอเทคนิคการจดบันทึกด้วยระบบ PARA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเทคนิค CODE มาใช้สำหรับการจัดระเบียบข้อมูลที่เราสนใจมาไว้รวมกันในที่เดียว โดยแบ่งหมวดหมู่ตามตัวย่อ ดังนี้

      P = Project คือ ภารกิจระยะสั้นที่คุณกำลังทำอยู่
      A = Area คือ ความรับผิดชอบระยะยาวที่ต้องค่อย ๆ จัดการไป
      R = Resource คือ เรื่องน่าสนใจที่อาจเป็นประโยชน์ในอนาคต
      A สุดท้าย = Archive คือ เนื้อหาที่นอกเหนือไปจาก 3 หมวดข้างต้น

ด้วยรูปแบบการจัดเก็บเช่นนี้ จะทำให้การเข้าถึงข้อมูลหนึ่งครั้งไม่ถูกรบกวนด้วยเนื้อหาอื่นที่ยังไม่ถึงเวลาต้องใช้ เราเป็นคนหนึ่งที่เคยชินกับการจัดเก็บโดยแยกเป็นหมวดหมู่ เช่น หมวดรูปภาพ หมวดงานวิจัย หมวดการเงินการลงทุน หมวดสุขภาพ แต่เมื่อมาศึกษาระบบ PARA แล้วก็รู้สึกถึงความสนุก (จากการค้นพบวิธีใหม่) และความน่าสนใจจากภาพความเป็นไปได้ที่ข้อมูลซึ่งเราเข้าถึงและเก็บไว้จำนวนมากจะได้มีการจัดระเบียบที่พร้อมใช้งานจริงได้มากขึ้น ซึ่งภายในหนังสือจะมีตัวอย่างบันทึกจากผู้เขียนให้ดูเป็นแนวทางพร้อมอธิบายรายละเอียดในแต่ละส่วนจนเอาไปประยุกต์ใช้ตามได้อย่างไม่ยากนัก

Building a second brain รีวิวหนังสือ

เทคนิคทำสรุปแบบก้าวหน้า ประหยัดเวลาในการเข้าถึงเนื้อหาสำคัญ

ความสะดวกอีกอย่างหนึ่งของรูปแบบการจดบันทึกด้วยระบบดิจิทัล คือเราสามารถสร้างความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้รวดเร็ว ค้นหาปรับปรุงแก้ไขได้ง่าย และการทำสรุปแบบก้าวหน้าจะช่วยให้เมื่อกลับมาอ่านบทความชิ้นเดิมอีกครั้งเราได้เห็นแก่นหรือแนวคิดที่ทำให้เราตัดสินใจเลือกบันทึกมันไว้ในระบบสมองที่สอง ด้วยวิธีกลั่นกรองประเด็นสำคัญทีละชั้นและใช้เครื่องมือการทำตัวหนาเพื่อเน้นข้อความ การทำไฮไลต์เฉพาะเนื้อหาที่เป็นตัวหนาเพื่อกรองอีกชั้น และสุดท้ายคือสรุปแบบกระชับไว้ถึงสิ่งที่เราได้อย่างแท้จริงสั้น ๆ เพื่อการรื้อทวนความจำได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องอ่านใหม่ทั้งบทความ

เราไม่ได้เก็บเพื่อยืนยัน เราเก็บเพื่อเฟ้นหาไอเดีย

อีกหนึ่งไอเดียที่เราชอบจากหนังสือ คือการเลือกจัดเก็บข้อมูลที่มีแนวคิดหลากหลาย เพราะทุกวันนี้อัลกอริทึมต่าง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่ป้อนข้อมูลที่ตรงใจตรงความต้องการของเราเพื่อกระตุ้นการตอบสนองอยู่แล้วทั้งสิ้น การฝึกตั้งสมมติฐานในใจระหว่างเลือกข้อมูลที่จะสะสมถึงโอกาสที่จะนำไปใช้งานได้ในอนาคตและผลที่อาจได้รับจากชุดแนวคิดใหม่ ๆ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สมองที่สองของคุณกลายเป็นพื้นที่ที่จะต่อยอดงานสร้างสรรค์ให้กับสมองตามธรรมชาติของคุณได้เป็นอย่างดี

จัดระเบียบความคิด เทคนิคการจดบันทึก รีวิวหนังสือ

จบงานโดยมีจุดเริ่มต้นในใจ

และเพื่อประหยัดพลังงานชีวิตสำหรับการเริ่มงานที่ต้องทำต่อในวันรุ่งขึ้น ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกลยุทธ์แบบหนึ่งที่เขาตั้งชื่อให้ว่า ‘สะพานเฮมิงเวย์’ ซึ่งมาจาก เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) นักเขียนนวนิยายในยุคศตวรรษที่ 20 ที่มักจะพักการเขียนเมื่อมองเห็นพล็อตตอนต่อไปอย่างชัดเจน คล้ายกับการสร้างสะพานสำหรับการเริ่มต้นครั้งต่อไปที่จะเริ่มลงมือทำงาน สำหรับเราที่ไม่ใช่นักเขียน อาจใช้วิธีจดไอเดียสำหรับขั้นต่อไปทิ้งไว้ หรือระบุจุดมุ่งหมายในงานครั้งหน้า อย่างน้อยเมื่อคุณกลับมาที่งานเดิมอีกครั้ง คุณจะได้ไม่ต้องเริ่มต้นจากความว่างเปล่าที่ชวนอึดอัดกดดัน

เครื่องทุ่นแรงแห่งยุคสมัย

หากใครที่ใช้แอปพลิเคชันบันทึกหรือจัดระเบียบตารางงานลงในอุปกรณ์เทคโนโลยีเป็นประจำอยู่แล้ว คุณอาจนำเนื้อหาภายในเล่มมาปรับประยุกต์ใช้ได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับใครที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน ระบบที่ผู้เขียนนำมาเสนอจะช่วยให้คุณค้นพบแนวทางการเรียบเรียงกลั่นกรองข้อมูลและวิธีจัดเก็บที่จะสามารถเรียกใช้มันขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ที่ต้องการ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะในยุคสมัยแห่งการท่วมท้นด้วยข้อมูลเช่นนี้ และในความคิดเห็นส่วนตัว เราเชื่อว่ามันยังมีประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ผลิตผลงานบนโลกออนไลน์ หรือกลุ่ม Content Creator ที่จะมีคลังความคิดสำรองเป็นสมองที่สองที่จะทำหน้าที่จัดเก็บวัตถุดิบเพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป

ไม่แน่ว่าด้วยวิธีการใหม่ ๆ คุณอาจสนุกกับการจัดระเบียบไอเดียดี ๆ แล้วปล่อยสมองตามธรรมชาติที่มีระเบิดจินตนาการได้เต็มที่…ร้อยเปอร์เซ็นต์

รีวิวหนังสือ การจดบันทึก การจัดระเบียบความคิด

🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์

“พลังแห่งสมองที่สอง (Building A Second Brain)”

ผู้เขียน : Tiago Forte
(รินทร์ลิตา ศรีโรจนภิญโญ แปล)

จำนวนหน้า : 296 หน้า / ราคาปก : 350 บาท

สำนักพิมพ์ : Bookscape

หมวด : จิตวิทยา/พัฒนาตนเอง

how to win friends and influence people review thai version bookreview
ต้นแบบหนังสือจิตวิทยาแปลไทยเล่มแรกที่เนื้อหายังคงปรับใช้ได้ในยุคปัจจุบันแม้ผ่านพ้นนานครึ่งศตวรรษ ร่วมศึกษาแนวปฏิบัติที่จะช่วยให้คุณสร้างมิตรทั้งในเชิงธุรกิจและชีวิตส่วนตัว
ก.ค. 24, 2022
อ่านกันยันโลกหน้า งานหนังสือ 2567
ลิสต์มาไว้ให้บางส่วนแล้วที่นี่ กับหนังสือออกใหม่ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 10 - 20 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้คอนเซ็ปต์งาน 'อ่านกันยันโลกหน้า' ... //กุ๊กกุ๊กกู๋วววว
ต.ค. 11, 2024
หนังสือ คริสโตเฟอร์ โนแลน รีวิว
"....ต้องมีประเด็นที่อยากเล่าชัดเจนพอ เราบอกให้คนคิดแบบเราไม่ได้ เราทำได้แค่เชื้อเชิญให้เขามารู้สึกบางอย่างเท่านั้น..." ร่วมสัมผัสประสบการณ์ แนวคิด และชีวิตแห่งการสร้างหนังของคริสโตเฟอร์ โนแลน ตัวพ่อวงการภาพยนตร์ – เพราะการดูหนังโนแลนหนึ่งครั้ง อาจทำให้คุณต้องคิดถึงมันไปทั้งชีวิต
ส.ค. 5, 2023
3 วิธีแบบ Shoshin เพื่อปรับ Mi…
อยากปรับ Mindset ใหม่ เลิกยึดติดกับอะไรเดิม ๆ เสียที วันนี้เรามีแนวคิดจากปรัชญาแบบ Shoshin มาให้ลองปรับใช้ แนะนำโดยคุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ จากผลงานหนังสือสำหรับคนทำงานทุกช่วงวัย – "แด่คลื่นเล็ก ๆ ในมหาสมุทร"
มิ.ย. 13, 2023