เราสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ก็เพราะเราชอบที่จะสร้างสรรค์
เราไล่ตามสิ่งที่แปลกใหม่และน่าสนใจก็เพราะเราชอบสิ่งที่แปลกใหม่และน่าสนใจ …
… มันเริ่มมาจากความคิดที่ว่า ทำไมจะทำไม่ได้
ในเมื่อทุกอย่างไม่ได้คงทนถาวรอยู่แล้ว
– จากหนังสือ หน้า 96, 100
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️ Elizabeth Gilbert นักเขียนขายดีระดับโลกจากเรื่อง Eat Pray Love ไดอารีบันทึกการเดินทางและหล่อหลอมตัวตนที่เขียนขึ้นจากชีวิตเธอเอง Eat Pray Love นั้นได้รับการแปลมากกว่า 30 ภาษา และยังถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ นำแสดงโดยจูเลีย โรเบิร์ต ในปี 2010 นอกจากนี้ เธอยังเคยได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัล National Book Award ถึง 3 ครั้ง
🎯 SUMMARY VIEW 🎯 : หนังสือเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองจากตัวผู้เขียนเอง ภาษาที่ใช้จึงมีความเป็นกันเอง น่ารัก สนุกสนาน ชวนให้คนอ่านเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย : ชีวิตของเธอมีพื้นฐานที่ไม่ได้เริ่มต้นอย่างหวือหวา สูงสุดหรือต่ำสุด ทว่าทุกการเลือก-การตัดสินใจที่ก่อเกิดเป็นประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเธอได้ถูกย่อยและตีความจนนำมาสู่เนื้อหาที่มีความน่าดึงดูด กระตุ้นแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี สมกับชื่อหนังสือ : แบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 บท ได้แก่ ความกล้า มนตรา การอนุญาต ไม่ลดละ ความไว้ใจ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในแต่ละตอนจะใช้วลีสั้น ๆ จั่วหัวคร่าว ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เธอกำลังจะสื่อถึง : เรื่องราวที่เธอหยิบมาเล่าในแต่ละบทตอนเรารู้สึกว่ามีการผูกกันไว้อย่างหลวม ๆ ชวนให้ติดตามได้อย่างต่อเนื่อง ไม่น่าเบื่อ โดยเธอจะไล่ตั้งแต่การเริ่มต้นตระหนักถึงสมบัติลับภายในตัวตนแต่ละคน แล้วปลุกมันด้วยคำจูงใจที่สนับสนุนได้อย่างแรงกล้า พาไต่เส้นระดับการรักษาความคิดเหล่านั้นไว้ แล้วทิ้งท้ายด้วยแรงบันดาลใจที่ยังคงกลิ่นอายของความสนุกสนาน : ในความคิดเราเล่มนี้เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครก็ตามที่กำลังรู้สึกเฉา หมดไฟ เหนื่อยหน่าย และต้องการหาเพื่อนสักคนมากระตุ้นไฟอะไรบางอย่างในตัวให้กลับมาโชติช่วงอีกครั้ง (เรารู้สึกแบบนั้นจริง ๆ เพราะภาษาของหนังสือคืออ่านแล้วรู้สึกเหมือนมีเพื่อนมานั่งคุยเป็นตัวอักษรอยู่ข้าง ๆ) หรือใครที่อยากมองหาหนังสือสักเล่มเพื่อช่วยปลุกพลังการใช้ชีวิตให้กับตัวเอง เล่มนี้เป็นตัวเลือกที่ดี : อาจจะมีบางคนที่เพิ่งอ่านผลงานนี้ของเธอเป็นครั้งแรก แล้วย้อนกลับไปหาหนังสือขายดีของเธอมาอ่าน หรือควานหาภาพยนตร์ปี 2010 เรื่อง Eat Pray Love (อิ่ม มนต์ รัก) กลับมาดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น (เหมือนที่เราทำมาแล้ว ฮ่า ๆ)

มากกว่าพลังวิเศษทางใจที่หนังสือค่อย ๆ ฟูมฟัก และกระตุกต่อมกระตุ้นตัวตนให้ตื่น มันคือความเพลิดเพลินและความหรรษาที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อหาของแต่ละบทตอนได้อย่างกลมกลืน ไม่ขาดตกบกพร่อง ซ้ำยังชวนให้เรารู้สึกสนุกสนานไปกับประสบการณ์และผู้คนต่าง ๆ ที่เธอหยิบยกมาเล่าถึง
หนังสือที่ดูคล้ายกับเป็นเชื้อเพลิงเติมไฟให้แก่ชีวิตของเรานี้ อาจมีหลายคนคิดว่าอุปนิสัยพื้นฐานเดิมของตัวผู้เขียนเองน่าจะมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และพลังแห่งการยืนหยัดต่อสู้นับตั้งแต่จำความได้ หรือตั้งแต่วัยแบเบาะที่คล้ายกับมีเลือดนักสู้ที่มาพร้อมกับพลังสมองเปี่ยมล้น
เปล่าเลย … อลิซาเบธ กิลเบิร์ตได้นิยามตัวตนในวัยเด็กของเธอไว้ได้อย่างเห็นภาพว่าเป็น ‘ยัยหนูขี้ตื่น’ เพราะเธอเป็นเด็กขี้อ่อนไหว และตกใจง่าย อีกทั้งยังหวาดกลัวหลายสิ่งหลายอย่างที่เด็กในวัยเดียวกันกับเธอชื่นชอบ ทว่าแม่ที่แสนทรหดของเธอก็ไม่ยอมโอนอ่อนไปกับความขี้ตกอกตกใจเหล่านั้น ซ้ำยังพยายามสนับสนุนด้วยวิธีของแม่เพื่อให้เธอเข้าถึงประสบการณ์นั้นด้วยตัวเองเพื่อพบว่ามันไม่ได้เลวร้าย กระทั่งกาลเวลาผ่านไป การเติบโตและความเบื่อหน่ายได้ปลดแอกเธอออกจากพันธนาการและพาเธอก้าวสู่โลกใหม่บนใบเดิม
วิธีที่เธอหยิบยกมาอธิบายที่คล้ายกับมีเพื่อนมานั่งคุยนี้ชวนให้คิดตามและเสริมแรงบางอย่างให้เกิดขึ้นขณะที่เราไล่เรียงไปพร้อม ๆ กับรับรู้ทุกความคิดความอ่านของเธอ เรารู้สึกว่ามีหนังสือพัฒนาตนเองไม่มากนักที่จะพาเราค่อย ๆ อยากริเริ่มด้วยตัวของเราเองโดยไม่ได้ชี้นำเป็นข้อ ๆ ว่าต้องเริ่มที่จุดไหน เราคิดว่าแต่ละคนจะเริ่มรู้สึกอยากพัฒนาในแต่ละช่วงตอนที่ต่างกันออกไปด้วยซ้ำ
ดูคล้ายกับการอ่านนิยาย หนังสือการเดินทาง ที่พาท่องไปกับประสบการณ์และบันดาลใจให้เกิดขึ้นเองมากกว่า
และสำหรับเราแล้ว เรากล้าพูดได้เต็มปากเลยว่าเล่มนี้ทำเราวางยากมากกกกก… เพราะมันน่ารัก สนุก และมีสีสันชวนให้เราตื่นเต้นที่จะออกค้นหา “สมบัติ” ที่ถูกฝังอยู่ภายในตัวเอง
นับเป็นการปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ โดยไร้กระบวนการของแท้ !!
เราชอบวิธีการไล่เรียงตัวแปรและความรู้สึกที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีใครสักคนอยากลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เรียกว่า “การใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์” ซึ่งมันอาจติดขัด พบตัวเจ้าปัญหา หรืออาจมีความคิดลึกลับซับซ้อนมากมายประดังประเดอยู่ภายในหัว
เธออยู่เป็นเพื่อนกับทุกความคิดและทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการสร้างสรรค์จนกระทั่งทำมันออกไป และดูเธอจะสนุกกับการเขียนสาธยายแต่ละส่วนเอาเสียมาก ๆ
แน่นอนว่าการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาสักชิ้น เราอาจใช้จุดเริ่มต้นว่าต้องการสร้างมันขึ้นมาเพื่อ…เพื่ออะไรสักอย่าง เพื่อช่วยเหลือใครสักคน หรือเพื่อจุดมุ่งหมายบางประการ
แต่กิลเบิร์ตที่รักสารภาพด้วยความสัตย์จริงว่าเธอแค่อยากจะเขียนมันเพื่อตัวเธอเอง เพื่อความสุขของตัวเธอเอง
และกลับกลายเป็นว่าความสุขของเธอนั่นเองที่มันไปช่วยเหลือคนอื่นได้!
นี่อาจเป็นกลอุบายที่น่าทึ่งสำหรับการดำรงอยู่ของความคิดสร้างสรรค์บนโลกใบนี้ ด้วยความคิดความอ่านของมันยามไร้เนื้อหนัง มันช่วยชีวิตผู้ก่อร่าง แต่เมื่อใดที่มันถูกแปรสภาพไปเป็น “ผลงาน” มันจึงช่วยสร้างคนอื่นต่อได้
ซึ่งพลังวิเศษที่ว่านี้ ล้วนแอบซ่อนอยู่ในตัวเราทุกคน
เฝ้ารอการถูกค้นพบ – และทำงานร่วมกับผู้ที่พร้อมจะทุ่มเทยามได้เจอกับมนตราแห่งพลังนั้น

“Big Magic พลังวิเศษของคนธรรมดา”
ผู้เขียน : Elizabeth Gilbert (อาสยา ฐกัดกุล แปล)
จำนวนหน้า : 288 หน้า / ราคาปก : 250 บาท
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น
หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง
📌 สนใจหนังสือเล่มนี้