“…ถ้ามีคนคิดว่าบางสิ่งเป็นไปไม่ได้ คุณต้องหาคนที่ไม่รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้…”
( – แบร์ทร็อง ปีการ์, จากหนังสือหน้า 238 )
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน
Cyril Bouquet (ซิริล บูเค)
อาจารย์ชาวฝรั่งเศสและแคนาดา
จบปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากโรงเรียนธุรกิจไอวีย์แห่งมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น แคนาดา
เขาทำงานที่สถาบันพัฒนาการจัดการในโลซานมากว่า 10 ปี
ร่วมกับผู้นำองค์กรต่างๆ เช่น SAP การรถไฟแห่งฝรั่งเศส และยูฟ่า
งานวิจัยของเขาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ดีที่สุด
Jean-Louis Barsoux (ฌ็อง-หลุยส์ บาร์โซ)
จบปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาการจัดการเชิงเปรียบเทียบ
มหาวิทยาลัยลัฟเบอระ ประเทศอังกฤษ
อดีตผู้ช่วยวิจัยที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและอินเซียด (ฝรั่งเศส)
ก่อนเข้าทำงานที่สถาบันพัฒนาการจัดการในปี 2008
Michael Wade (ไมเคิล เวด)
ผู้กำกับดูแลศูนย์ระหว่างประเทศสำหรับการใช้ดิจิทัลเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ
ของสถาบันพัฒนาการจัดการ
เขามีผลงานตีพิมพ์หนังสือ 9 เล่ม กรณีศึกษาอีกร้อยกว่าเรื่อง
และยังได้รับการเสนอชื่อจากภาคีวารสารธุรกิจ
ให้เป็นหนึ่งในผู้นำความคิดด้านดิจิทัลระดับสูงที่สวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย
🎯 มุมมองสรุป
: หนังสือนำเสนอแนวทางการก่อร่างความคิดริเริ่มใหม่ๆ ผ่านรูปแบบหลักการคิดแบบ ALIEN ซึ่งได้แก่ ความสนใจ (Attention) การลอยตัว (Levitation) จินตนาการ (Imagination) การทดลอง (Experimentation) และการหาเส้นทาง (Navigation) โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ร่วมด้วย หลักการเหล่านี้มาจากการรวบรวมและศึกษาความสำเร็จของเหล่านักคิด นักธุรกิจ และนักสร้างผู้ให้กำเนิดนวัตกรรมที่หลุดไปจากกรอบคิดแบบเดิมๆ มากมาย หรือบางครั้งพวกเขาก็ท้าทายกับคำว่าไม่น่าเป็นไปได้ของโลก
: วิธีคิดเหล่านี้ไม่ใช่ขั้นตอนการปฏิบัติที่ดำเนินไปตามลำดับ หากแต่สามารถปรับ ประยุกต์ และดึงรูปแบบใดออกมาใช้ก็ได้เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือปัญหาที่คุณเผชิญ ซึ่งภายในหนังสือได้นำเสนอกรณีศึกษาต่างๆ เป็นจำนวนมาก ช่วยให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน
: หลังจบแต่ละบทเรียนจะมีประเด็นสำคัญสรุปไว้เพื่อให้ง่ายต่อการทบทวนภายหลัง รวมทั้งมีคำถามสมมติที่จะช่วยคุณขุดลึกลงไปถึงความเป็นเอเลี่ยนในตัวคุณแบบสั้นๆ ซึ่งเป็นประโยชน์มาก
: เนื้อหาแบ่งออกเป็น 10 บท ได้แก่
(1)ค้นพบดีเอ็นเอของความคิดริเริ่ม
(2)ความสนใจ: มองโลกด้วยมุมมองใหม่
(3)การลอยตัว: ยกระดับวิธีการคิดของคุณ
(4)จินตนาการ: ผลิตไอเดียอันน่าทึ่ง
(5)การทดลอง: ทดสอบอย่างชาญฉลาดขึ้น เพื่อเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
(6)การหาเส้นทาง: กลยุทธ์ทะยานฟ้า...และหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยิงตก
(7)นำแนวทางเอเลี่ยนไปใช้จริง
(8)ลำดับที่ยืดหยุ่นได้
(9)ดิจิทัล: พลังเพื่อทำให้ไอเดียที่ก้าวล้ำกลายเป็นจริง
(10)ทักทายเอเลี่ยนในตัวคุณ
: ความคิดเห็นส่วนตัวของเรายกให้เล่มนี้เป็นอีกหนึ่งเล่มของการฝึกกระบวนการคิดสร้างสรรค์ มันช่วยสร้างแรงผลักให้เรารู้สึกถึงการออกมาจากกรอบมากกว่าคิดนอกกรอบ มีทั้งความผ่อนปรนและขับเคี่ยวอยู่ในตัว (คือแนะนำทั้งวิธีเดินหน้าและถอยหลัง) และยังครอบคลุมไปถึงการนำเสนอประเด็นที่มักถูกมองข้ามเมื่อเราพูดถึงวิธีการคิดออกจากกรอบ นั่นคือการจัดการตัวเองและผลเสียอันเกิดจากคุณสมบัตินักคิดแบบเอเลี่ยนที่ล้นเกิน
หากใครกำลังรู้สึกว่าตนเองมีแนวโน้มจะยึดติดอยู่ในวิธีคิดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นเวลานาน จนการคิดถึงแนวทางที่แตกต่างกลายเป็นเรื่องยาก รวมทั้งยังหาวิธีปรับเปลี่ยนมันไม่ได้ ส่งผลให้ต้องใช้วงจรความคิดแบบเดิมๆ ในการแก้ปัญหา ซึ่งบางครั้งวิวัฒนาการของปัญหากลายเป็นความท้าทายที่เราแทบจะตามไม่ทัน เพราะไม่เพียงแต่เราจะขาดแคลนนวัตกรรม เรายังขาดแคลนพื้นฐานกระบวนการคิดที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ ด้วย
และหลักการคิดอย่างเอเลี่ยนนี่เองที่อาจเป็นทางออก มันไม่ต้องการขั้นตอนหรือไล่เรียงลำดับเพื่อก่อร่างกระบวนการคิด หากแต่เป็นแนวทางการลงมือทำต่างหากที่จะนำมาซึ่งความคิดอันหลากหลายและหลุดทลายจากกรอบหล่านั้น
คิดอย่าง ALIEN คืออะไร?
หลักคิดของ ALIEN ประกอบไปด้วย 5 อย่างตามพยัญชนะอักษรแรกของแต่ละตัวที่ถูกนำมาเรียงเป็นคำโดยมีความหมายสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะการมองโลกในแบบที่ไม่รู้จัก (ความหมายตามพจนานุกรม: สิ่งที่มาจากนอกโลก, คนต่างด้าว) ทำให้ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบความรู้ความเข้าใจอันคุ้นเคย ซึ่งมีส่วนช่วยให้กระบวนการคิดมีโอกาสเข้าถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ง่ายยิ่งขึ้น หลักคิดเหล่านี้ได้แก่
• A – Attention = ความสนใจ ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นรายละเอียดที่มองข้ามไปหรือภาพใหญ่ที่ไม่เคยสังเกตเห็น
• L – Levitation = การลอยตัว เป็นการถอนความสนใจออกมาเพื่อทบทวนความคิดให้รอบคอบยิ่งขึ้น ต่างจากความสนใจตรงที่ความสนใจนั้นเน้นจดจ่อกับปัญหาหรือสถานการณ์ ในขณะที่การลอยตัวจะเน้นการทำงานภายในตนเองมากกว่า
• I – Imagination = จินตนาการ คือการนึกถึงสิ่งที่ไม่อาจเป็นหรือไม่อาจมีได้ วิธีจินตนาการแบบเอเลี่ยนจะช่วยให้คุณข้ามผ่านวงจำกัดของความรู้ความเข้าใจที่คุณกอดเก็บไว้โดยไม่รู้ตัว
• E – Experimentation = การทดลอง เป็นวิธีที่ช่วยทดสอบแนวทางหรือความคิดที่คุณจะใช้เพื่อปรับปรุงและค้นหาสิ่งที่จะพาคุณไปสู่เส้นทางความสำเร็จมากที่สุด
• N – Navigation = การหาเส้นทาง เป็นอีกหนึ่งหลักการสำคัญของนักคิดอย่างเอเลี่ยน ความคิดดีๆ และนวัตกรรมอันน่าทึ่งมากมายไม่สามารถก้าวพ้นการถูกโจมตีได้เนื่องจากพวกเขาหาเส้นทางที่จะรุดสู่จุดสูงสุดอย่างปลอดภัยไม่พบ
หากคุณคิดว่าประสบการณ์และวัฒนธรรมไม่เคยมีผลต่อความสนใจของคุณสักนิด
คุณอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าปลามองไม่เห็นน้ำ คล้ายกันกับในสถานการณ์ที่เรามักไม่รู้ตัวว่าอิทธิพลจากสิ่งที่เราเผชิญเป็นระยะเวลานานๆ นั้นมีผลโดยตรงกับเราเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ การใช้ชีวิตโดยอิงกับวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นหรือองค์กร สิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้มุมมองของเราค่อยๆ หลอมไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งด้วยความเคยชิน ซึ่งการจะคิดข้ามไปจากวิถีปกติอาจกลายเป็นเรื่องยาก และมันยังไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามที่น้อยเกินไปในการคิดใคร่ครวญอีกด้วย เมื่อไฟส่องทางฉายทอดอยู่เพียงมุมเดียว สองข้างทางอันมืดมิดจึงยากต่อการมองเห็น การใช้หลักคิดแบบเอเลี่ยนที่เล่าถึงการให้ความสนใจจะช่วยให้เราเรียนรู้วิธีส่องไฟไปยังพื้นที่อื่นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นด้วยการถอยออกมาให้เห็นภาพกว้าง หรือจดจ่อในรายละเอียดให้มากขึ้น
พลังแห่งความว่างและการหันเหทางความคิด
มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่ค้นพบว่าเครือข่ายอัตโนมัติในสมอง (Default Network) ซึ่งเกิดขึ้นในยามที่เราไม่ได้ใช้ความคิดหนักๆ หรือช่วงจังหวะที่กำลังทำอะไรบางอย่างไปโดยอัตโนมัติ มีส่วนช่วยให้เราเกิดจินตนาการสร้างสรรค์และไตร่ตรองเรื่องราวได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากในบางครั้งเรายิ่งคิด ยิ่งตั้งใจ ก็กลับยิ่งคิดอะไรไม่ออก การลองละจากสิ่งที่จดจ่อเพื่อหยุดพัก หรือเปลี่ยนไปทำกิจกรรมง่ายๆ อย่างเช่นการเดินเล่น ก็อาจช่วยกระตุ้นความคิดอื่นให้ลอยตัวขึ้นได้ นอกจากนี้ การตัดขาดจากสิ่งที่ทำโดยสิ้นเชิงก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งสำหรับนักคิดเอเลี่ยน ดังเช่นที่ร้านอาหารเอลบูยีของเฟร์รัน อาเดรีย ได้รับการจัดอันดับเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งเคล็ดลับของเขาประการหนึ่งคือการปิดร้านเป็นเวลาถึง 6 เดือนต่อปี
(หากใครไม่ชินกับการปล่อยให้ตัวเองว่าง เราอยากชวนทำความรู้จักปรัชญา Niksen ของชาวดัตช์ที่อาจช่วยสมดุลชีวิตให้คุณได้)
จงมองหาสะพานเพื่อเชื่อมโลกใบใหม่ของคุณ
ในสภาพแวดล้อมหนึ่งซึ่งมีลักษณะยึดติดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผูกกับความสำเร็จที่เคยมีและไม่ยอมเปลี่ยนทิศทาง นับเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเหล่านักคิดเอเลี่ยนที่มองเห็นช่องว่างของโอกาสแห่งการเติบโตแต่ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำจริงได้ ดังเช่นการนำเสนอนวัตกรรมของเครื่องดูดฝุ่นแบบไร้ถุงเก็บฝุ่นของเจมส์ ไดสันที่ถูกปัดตกอย่างง่ายดาย อันเป็นเหตุมาจากธุรกิจประเภทนี้เป็นสินค้าที่ขายควบคู่กัน ฉะนั้นการกระโจนเข้าใส่โดยไม่คำนวณลู่ทางก็อาจทำให้ความคิดอันน่าทึ่งของคุณไม่อาจกลายร่างเป็นความสำเร็จทั้งที่มันมีศักยภาพมากพอ
เป็นอีกพาร์ทของหนังสือที่เราชอบในหลักคิดเอเลี่ยน มันคือ ‘การหาเส้นทาง’ เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดูขัดแย้งหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาล เราอาจจำเป็นต้องสอดส่ายสายตาเพื่อมองหาการอยู่รอดแทนแบบแผนดั้งเดิมที่เราวางไว้ เดวิด แกรม อดีตผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมของเลโก้เรียกสิ่งนี้ว่าการเป็น “ขบถที่มีชั้นเชิงแบบนักการทูต”
นักคิดเอเลี่ยนแห่งโลกมนุษย์
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาของหลักคิด ทว่าใจความสำคัญต่างนำเสนอถึงหนทางเชิงปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงความสำเร็จที่ตั้งไว้ และยังเสริมด้วยประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามได้แห่งยุคสมัยซึ่งเป็นสิ่งที่มาคู่กันกับเอเลี่ยน นั่นคือเครื่องมือดิจิทัล เราจะเห็นการดึงประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากรในการนำมาประยุกต์ใช้กับแต่ละหลักคิดภายในหนังสือ พร้อมการหยิบยกแง่มุมอุปสรรคที่ขัดขวางความเป็นนักคิดเอเลี่ยนตลอดจนคุณสมบัติบางประการที่ต้องอาศัยการจัดการอย่างเหมาะสม
ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะต้องการริเริ่มนวัตกรรมพลิกชีวิตหรืออยากได้ความคิดแปลกใหม่ในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง จะเป็นในฐานะผู้ประกอบการ พนักงานองค์กร คนทั่วไปที่คับข้องใจกับปัญหา หรือว่าบทบาทใดก็ตามแต่ เราเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะให้แง่คิดกับคุณได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสภาพแวดล้อมที่ราวกับมีฟิลเตอร์สวมครอบเอาไว้ มีระบบฝังรากจากภายในที่ยากต่อการขุดย้ายสู่พื้นที่ที่อาจเจริญเติบโตได้มากกว่า หลักคิดเอเลี่ยนจะกลั่นกรองเอากระบวนท่ามาช่วยพานักคิดไปให้ถึงฝั่งฝัน
ใครจะรู้ว่าความคิดที่ไม่มีกรอบขวางกั้น มันอาจพาเราทะยานไปได้ไกลอีกหลายดวงดาว
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“A.L.I.E.N. Thinking คิดให้ต่างอย่างเอเลี่ยน”
ผู้เขียน : Cyril Bouquet, Jean-Louis Barsoux, Michael Wade
(พรรษรัตน์ พลสุวรรณา แปล)
จำนวนหน้า : 400 หน้า / ราคาปก : 449 บาท
สำนักพิมพ์ : Be(ing)
หมวด : การบริหารธุรกิจ