หลายคนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับวิธีคิดหรือกรอบความคิดของตนเองที่บ่อยครั้งเราไม่อาจควบคุมให้มันเปิดรับประสบการณ์ที่ต่างไปจากเดิมได้อย่างเต็มใจ แม้จะออกแรงพยายามมากแค่ไหนแต่สุดท้ายก็พบว่าต้องพ่ายแพ้ให้กับสิ่งเดิม ๆ หรือรูปแบบวิธีคิดแบบเดิม ๆ ด้วยความเคยชินในทุกครั้ง แล้วก็วนเข้าลูปเดิมของความคิดที่อยากปรับ Mindset หมุนวนกันเป็นวัฏจักรแบบนี้ไม่จบไม่สิ้น
วันนี้เราลองมาดูต้นสายปลายเหตุของเจ้าการยึดติดของมนุษย์กัน ว่าส่วนเสี้ยวในตัวเรานั้น มันเกิดจากอะไรกันแน่นะ?
Confirmation Bias เรามีอคติเป็นกับดัก เลยยากที่จะปรับ Mindset
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับรูปแบบการยึดติดที่เป็นกับดักของการปรับ Mindset ก่อนว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร
ในทางจิตวิทยา มีรูปแบบทางการรู้คิดประเภทหนึ่งที่ทำให้เรา ‘เห็นแต่ในสิ่งที่อยากเห็น’ และนำไปสู่การเชื่อแต่สิ่งที่เข้ากันกับสมมติฐานของตนเอง สิ่งนั้นเรียกว่า “ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน (Confirmation Bias)” ซึ่งเป็นกระบวนการรู้คิดที่เกิดขึ้นจากกลไก 2 อย่าง ได้แก่ การหลีกเลี่ยงความท้าทาย ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงว่าคุณคิดผิด และ การแสวงหากำลังเสริม ซึ่งเป็นความปรารถนาที่จะได้รู้ว่าคุณนั้นถูกต้อง
รูปแบบกลไกทั้ง 2 ส่วนนั้นจะทำงานร่วมมือกันอย่างขะมักเขม้นที่จะขัดขวางการปรับ Mindset ของคุณยามที่ต้องเผชิญหน้ากับประสบการณ์ใหม่ ๆ หรือความเชื่อที่ต่างไปจากความคาดหวังของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นรูปแบบการเยียวยาจิตใจเพื่อลดความทุกข์อันเกิดจากการพบเจอความเชื่อที่ขัดแย้งตั้งแต่สองความเชื่อขึ้นไป เรียกได้ว่า เราจะหลีกเลี่ยงความไม่ลงรอยกับชุดความเชื่อของเราด้วยวิธีลดการมีส่วนร่วมกับข้อมูลที่ขัดแย้ง และมองหาการเสริมกำลังด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับข้อมูลที่ยืนยันความถูกต้องของเราให้บ่อยขึ้น
แล้วเราจะหยุดกลไกเหล่านี้ เพื่อไปสู่วิธีปรับ Mindset ของตนเองได้อย่างไรกันนะ?
เลิกยึดติด ด้วยแนวคิด Shoshin
ในทางศาสนาเซน มีแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า “Shoshin” ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างภาษาญี่ปุ่น 2 คำ ได้แก่ Sho ที่แปลว่า ดั้งเดิมหรือเริ่มต้น (Initial) และ Shin ที่แปลว่าจิตใจ (Mind) โดยคำ ๆ นี้สื่อความหมายถึง “จิตใจของผู้เริ่มต้น (Beginner’s mind)” ซึ่งมีลักษณะเปิดกว้าง ปราศจากอคติ มันจึงนำไปสู่ความพร้อมที่จะเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ เป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับคำว่า ‘น้ำเต็มแก้ว’
แนวคิดนี้เริ่มถูกพูดถึงกันทั่วโลกเมื่อ ชุนริว ซูซูกิ (Shunryū Suzuki) พระภิกษุสงฆ์รูปแรกที่เป็นผู้เริ่มเผยแผ่แนวคิดพุทธศาสนานิกายเซนนอกเอเชีย ได้นำเสนอคำสอนที่ชัดเจนและเรียบง่ายเหล่านี้ผ่านหนังสืออันทรงคุณค่าและเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในตะวันตก ชื่อ Zen Mind, Beginner’s Mind แนวคิดนี้ตรึงใจและดึงดูดผู้คนเข้าสู่ศรัทธาใหม่ตั้งแต่บรรทัดเริ่มแรกที่กล่าวว่า “In the beginner’s mind there are many possibilities, but in the expert’s there are few.”
การนำแนวคิด Shoshin มาปรับใช้
วิธีการนำแนวคิดแบบ Shoshin มาใช้ในการหลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตประจำวันไม่ใช่เรื่องไกลตัวจนเกินไป คุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ เจ้าของเพจเฟซบุ๊กเขียนไว้ให้เธอ และนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือแด่คลื่นเล็ก ๆ ในมหาสมุทร ได้เปิดเผยถึงกระบวนการตกผลึกเกี่ยวกับการใช้ Shoshin เข้ากับประสบการณ์การทำงานเพื่อลดทอนอีโก้ของตนเองและเปิดกว้างไอเดียที่น่าเรียนรู้ใหม่ ๆ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. ไม่เก่งอะไร ให้ลองไปทำสิ่งนั้น
ความรู้สึกของจิตใจแบบผู้เริ่มต้นตามแนวคิด Shoshin และการก้าวออกจากเขตแดนความสบายใจหรือ Comfort zone ของตนเองไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เป็นวิธีทดลองรับมือกับสภาวะจิตใจในการกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่คุณตัดสินใจทำนั้นนับเป็นการฝืนสภาวะการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งจากภายในตนเองที่ว่ามันเป็นสิ่งที่คุณไม่รู้หรือไม่เคยทำมาก่อน และเมื่อกระบวนการเรียนรู้นี้ถูกนำมาทำซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง การปรับ Mindset ของคุณจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
2. ไปอยู่ในที่ที่ตัวเองตัวเล็ก หรือในสังคมที่ไม่คุ้น
คุณธนาได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้จากการสังเกตผู้คนในสมัยทำหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับคุณตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์เอาไว้ว่าความสนุกของการทำงานอยู่ที่สองสัปดาห์แรกตอนที่ได้เห็นผู้คนหลากหลายอาชีพ หลากหลายช่วงวัย มาละลายพฤติกรรมกันใหม่ภายในคลาสเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าความสนุกของผู้สอนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากผู้เข้าร่วมไม่ได้สนุกด้วย และตัวเขาเองก็เคยมีประสบการณ์ความตื่นเต้นแบบเดียวกันนี้ แม้จะต้องสูญเสียพลังงานไปกับการปรับตัวในสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ แต่เขาพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงตลอดจนวิธีคิดของตนเองบางอย่างปรากฏขึ้น ซึ่งเราคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยคุณไม่ให้ยึดติดกับรูปแบบเดิมของชีวิตและสามารถนำไปสู่การปรับ Mindset ของตนเองให้เป็นไปในกรอบที่คุณต้องการได้
3. แป้ก
ใช่แล้วค่ะ คุณธนาแนะนำว่าให้ลองแป้กดู และเราจะเข้าหาการแป้กได้ก็ด้วยการทดลองทำอะไรที่แปลกไปจากสิ่งที่เคยทำและรู้ผลลัพธ์ล่วงหน้า แล้วคุณจะพบว่าความแป้กเป็นยาชั้นดีที่จะทำให้เราเลิกยึดติดกับสิ่งที่เคยคิดว่าสำเร็จ เป็นการบอกตัวเองทางอ้อมว่าเรายังไม่เก่ง ยังต้องเรียนรู้อีกมาก และทำให้เราเลิกใช้สูตรสำเร็จแบบเดิมในทุก ๆ การเรียนรู้ นอกจากนี้เมื่อคุณผ่านไปถึงจุดที่แป้กและพบว่าตัวเองยังหยัดยืนอยู่ได้ ความเข้มแข็งนั้นจะย้อนกลับมาให้คุณมีความกล้าและแกร่งพอเมื่ออยากลองปรับ Mindset ของตนเองไปสู่การเปิดรับแง่มุมความคิดอันสดใหม่ที่จะทำให้คุณเข้าใกล้โอกาสของการพัฒนาตนเองได้มากขึ้น
บทสรุปส่งท้าย
อาจกล่าวได้ว่าความกล้าในการเปิดรับสิ่งใหม่และการมีหัวใจอย่างผู้เริ่มต้น นับเป็นแรงจูงใจที่จะช่วยให้การปรับ Mindset ของเราเข้าใกล้ความเป็นไปได้อย่างไม่ยากนัก เมื่อเรากระตือรือร้นที่จะทดลองและท้าทายสิ่งที่ไม่เคยลอง ใส่ความอยากรู้อยากเห็นและถอดเกราะประสบการณ์และอีโก้ของตนออกวางไว้นอกสนาม เมื่อนั้น คุณจะรู้สึกว่าตนเองตัวเบาพอที่จะวิ่งไปรอบ ๆ พื้นที่ทางความคิดอันยืดหยุ่นแห่งนั้นได้ แล้วคุณจะพบว่าการยึดติดอยู่กับกรอบความคิดใดความคิดหนึ่งไปนาน ๆ ทำให้ชีวิตเราสนุกน้อยลงไป
แล้วเมื่อถึงตอนนั้น ไม่ว่าคุณจะอยากได้ Mindset แบบไหน หัวใจคุณก็จะมีพื้นที่ให้กับมันได้เข้ามาอย่างแน่นอน
Reference: ธนา เธียรอัจฉริยะ. (2022). Shoshin 初心 เพราะไม่รู้ จึงรู้, (หน้า 200-208). ใน แด่คลื่นเล็ก ๆ ในมหาสมุทร. กรุงเทพฯ: KOOB. >> คลิกเพื่ออ่านรีวิวหนังสือเล่มนี้ << Dr. Itamar Shatz. The Confirmation Bias: Why People See What They Want to See. Accessed 12 June 2023, from https://effectiviology.com/confirmation-bias/#Summary_and_conclusions. Word: Shoshin. (2017). Kinfolk Magazine, (Issue 23). Accessed 12 June 2023, from https://www.kinfolk.com/word-shoshin/. Shunryū Suzuki. Wikipedia. Accessed 13 June 2023, from https://en.wikipedia.org/wiki/Shunryu_Suzuki.