… “ตอนเราย้ายมาอยู่ที่นี่เมื่อปี 1973 มีผู้ชายสองคนเดินมาบอกเราที่ร้านว่า
‘กลับจีนไปเลย แล้วก็เอาอาหารต่างชาติสกปรกนี่กลับไปด้วย’
ฉันพูดว่า ‘คุณกำลังโกรธ ความโกรธมีผลมาจากกระเพาะ นั่งลงสิฉันจะเอาซุปมาให้กินฟรี มันจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น’
พวกเขากินเกี๊ยวน้ำสูตรคุณย่า จากนั้นพวกเขาก็กลายเป็นลูกค้าร้านฉันมาตลอดสี่สิบปี
การต่อสู้กับความแข็งกระด้างด้วยความอ่อนโยนเป็นสูตรของชีวิตเลยนะ ทีนี้คุณคงเข้าใจแล้ว”
น่าแปลกเหลือเกินที่เขาเข้าใจ …
( – จากหนังสือหน้า 113 )
ในชีวิตคนเรา บ่อยแค่ไหนที่จะเปิดเผยเรื่องราวหรือความเปราะบางของตนเองอย่างซื่อสัตย์โดยปราศจากความกลัวการถูกตัดสิน?
… ผมชื่อจูเลียน เจสชอป อายุเจ็ดสิบเก้า และผมเป็นศิลปิน ตลอดระยะเวลาห้าสิบเจ็ดปีที่ผ่านมา ผมอาศัยอยู่ที่เชลซีสตูดิโอส์บนถนนฟูลัม
เหล่านั้นเป็นข้อมูลพื้นฐาน แต่นี่คือความจริง : ผมเหงา …
สถานการณ์แรกเริ่มจากช่วงต้นของหนังสือคือส่วนที่ตรึงเราไว้ให้อยากรู้อยากเห็นความเป็นไปของเรื่องราวประหนึ่งเป็นคนอีกคนที่บังเอิญพบสมุดบันทึกแห่งความสัตย์จริงเล่มนี้ด้วย
‘จูเลียน’ ศิลปินโดดเดี่ยวสูงวัยคนหนึ่ง เจ้าของโปรเจ็กต์เรื่องการเขียนเล่าความจริงของตัวเองแล้วนำไปวางทิ้งไว้เพื่อว่าอาจจะมีใครสักคนหยิบขึ้นมาอ่าน และที่ ๆ เขาเลือกก็คือร้านกาแฟของ ‘โมนิกา’ หญิงสาววัย 37 ที่มีความเป็นเพอร์เฟกต์ชันนิสต์และใฝ่ฝันถึงการมีความรักและครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อม แล้วทุกอย่างก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อเธอไม่ได้ปล่อยให้เรื่องเล่าเหล่านั้นเป็นแค่ข้อความที่ถูกทิ้งและลืมเลือนไป ไม่ได้ปล่อยให้สมุดหน้าถัดไปของบันทึกเล่มนั้นว่างเปล่า หากแต่เธอเลือกที่จะสานต่อและลงมือทำสิ่งที่คิดว่าตนเองอาจจะพอทำได้ ซึ่งความตั้งใจล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานมาจากอุปนิสัยส่วนตัวของเธอเอง
แล้วเรื่องราวมันก็ร้อยเรียงต่อเนื่องกันไปเช่นนี้ ใครคนหนึ่งได้อ่านเรื่องของใครอีกคนหนึ่ง แล้วก็เกิดความรู้สึกสนใจใคร่รู้หรือกระทั่งความเห็นอกเห็นใจ จนมารู้ตัวอีกที พวกเขาที่ไม่น่ามาใช้เวลาร่วมกันได้ก็เข้ามาอยู่ในวงโคจรเดียวกันแล้ว
ความประทับใจแรกสุดของวรรณกรรมเล่มนี้ คือวิธีการเล่าเรื่องที่ทั้งน่าติดตามและสอดแทรกมุกตลกประปรายอย่างไม่ตั้งใจกระจัดกระจายตลอดเล่ม (ส่วนนี้ต้องชื่นชมสำนวนการแปลอีกด้วยที่ช่วยให้เราอ่านได้อย่างไหลลื่นไม่ติดขัด) การแบ่งพาร์ทเล่าโดยใช้มุมมองของแต่ละตัวละครเป็นเกณฑ์ซึ่งทำให้เราในฐานะผู้อ่านเข้าถึงทุกความคิดอ่านของแต่ละตัวละครต่อเนื่องกันไปจนเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของการกระทำเหล่านั้น และนี่อาจเป็นงานเขียนที่สื่อสารออกมาได้อย่างซื่อตรง – เช่นเดียวกับชื่อหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องสมุดบันทึกแห่งความซื่อสัตย์ หยิบยกพกพาความสัมพันธ์เดียวดายพ่ายแพ้ขึ้นมาใส่บทบาทเพื่อให้พวกเขาโลดแล่นและเปิดเผยเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะแสดงออกมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่มุมแห่งความเปราะบาง
แต่ถึงแม้จะเปราะบาง พวกเขาก็ล้วนมีความเข้มแข็ง แต่ละตัวละครราวกับส่งพลังให้แก่กันและกันอย่างเงียบ ๆ จะว่าไปโปรเจ็กต์แห่งความสัตย์จริงนี้ของจูเลียนอาจมอบสิ่ง ๆ หนึ่งให้กับผู้คนที่ได้พบสมุดเล่มนี้โดยไม่คาดคิด เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นด้วยการเปิดเปลือยสิ่งซึ่งคนส่วนใหญ่มักซุกซ่อนมันเอาไว้ เปิดโอกาสให้พวกเขาพักหายใจจากความล้าของหน้าที่เข้มแข็ง กับเส้นทางที่คล้ายกับไม่ยอมปล่อยให้ได้เลี้ยวพักที่ไหนนอกจากต้องเดินต่อไปข้างหน้า – ภายใต้การปิดกั้นตัวเอง การถมเต็มความว่างเปล่าด้วยเหล้ายา หรือการสะกดความเจ็บปวดโหยหาด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม – แล้วสุดท้ายกลับกลายเป็นว่า จุดพักพิงที่ตามหา ก็คือจุดเดียวกันกับที่ความเปราะบางเคยถูกลืมเลือนทิ้งไว้
ความอ่อนแออาจไม่เคยเป็นอะไรได้มากกว่าความอ่อนแอ แต่มันไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ มนุษย์อาจถูกทำให้ยึดโยงเข้าหากันหรือผูกพันแน่นแฟ้นกว่าเก่าผ่านเรื่องเล่าร้าวรานที่ขับขานแผ่วเบาเช่นนี้ เราอ่อนแอ เพื่อรู้ว่ามีใครสักคนที่เข้มแข็งพอจะโอบรับ คล้ายกับในวันที่คุณเองก็อาจรู้สึกถูกชุบชูใจได้อย่างประหลาดผ่านการยื่นมือเข้าช่วยเหลือใครสักคน
เพราะมีรอยแตกร้าว จึงทำให้แสงสว่างสาดส่องเข้ามาได้ – บทกวีของ เลโอนาร์ด โคเฮน ยังคงสะท้อนไปมาระหว่างเรื่องราวตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด เราอาจไม่ค้นพบความสวยงามของบางสิ่งเลยหากชีวิตไม่เคยผ่านการปริแยกแตกสลาย และถ้าหากคุณได้เจอใครสักคนที่เข้าใจการเติบโตผ่านรอยร้าวในช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิต … จงรักษาพวกเขาเอาไว้
ว่าแต่ในชีวิตคนเรา บ่อยแค่ไหนที่จะเปิดเผยเรื่องราวหรือความเปราะบางของตนเองอย่างซื่อสัตย์โดยปราศจากความกลัวการถูกตัดสิน?
🛒 ซื้อหนังสือออนไลน์
“สมุดบันทึกแห่งความสัตย์จริง (The Authenticity Project)”
ผู้เขียน : แคลร์ พูลีย์
(ณัฏฐรี แปล)
จำนวนหน้า : 418 หน้า / ราคาปก : 395 บาท
สำนักพิมพ์ : Piccolo
หมวด : วรรณกรรมแปล