ขอขอบคุณสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็กสำหรับการแบ่งปันหนังสือในบทความชุดนี้ให้ Readcommend ได้ส่งต่อความประทับใจพร้อมบอกเล่าความรู้สึกส่วนตัวที่ได้รับจากการอ่านค่ะ
ในวัยผู้ใหญ่นั้นมีหนังสือพัฒนาตนเองมากมายให้ได้เลือกซื้อเลือกอ่าน หลายคนอาจอยากรู้ว่าแล้วถ้าสำหรับลูกๆ หลานๆ ของเราจะมีวิธีช่วยส่งเสริมพัฒนาการพวกเขาได้อย่างไร หนึ่งในวิธีที่นอกจากจะสนุกแล้วยังช่วยได้จริง อีกทั้งยังเป็นการสานความสัมพันธ์ด้วย นั่นคือ “การอ่านนิทาน”
จากงานวิจัยเรื่องผลกระทบจากการอ่านหนังสือภาพต่อการใช้กลยุทธ์เพื่อควบคุมอารมณ์ในเด็กเล็กซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ PLOS ONE1 พบว่า ในสถานการณ์ที่ถูกออกแบบมาให้เด็กต้องรอและก่อให้เกิดอารมณ์เชิงลบ เมื่อให้เด็กอายุ 3 ปีทดลองอ่านหนังสือภาพที่มีตัวละครในวัยใกล้เคียงกันและมีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับการเบี่ยงเบนความสนใจระหว่างรอคอย พวกเขามีสมาธิและสามารถปรับตัวได้ดีกว่าอีกกลุ่มที่อ่านหนังสือภาพซึ่งมีเนื้อหาเรื่องอื่น ยิ่งไปกว่านั้นการอ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟังจะส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษาและการเห็นอกเห็นใจในผู้อื่นผ่านตัวละครอันเต็มไปด้วยสีสันและเนื้อเรื่องที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากจินตนาการ และยังช่วยผูกสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลและเด็กผ่านประสาทสัมผัสหรือการพูดคุยโต้ตอบระหว่างอ่านเรื่องราวได้อีกด้วย2 และถ้าใครลังเลว่าจะหยิบเรื่องไหนมาเล่าดี เรามีหนังสือนิทานเด็กฝีมือคนไทยที่น่าสนใจจากสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็กมาแนะนำค่ะ
แม่ไก่ลายกับไข่ขี้เซา
(เรื่อง: สุริยัน สุดศรีวงศ์ / ภาพ: ภูมิไฑ ปทุมสูติ)
เมื่อไข่ฟองหนึ่งที่ตนเองเฝ้ากกเช้าเย็นไม่ยอมฟักเป็นตัวเสียที จึงเป็นหน้าที่ของแม่ไก่ลายที่จะต้องออกค้นหาวิธีที่จะทำให้ลูกเจี๊ยบฟักออกมาให้ได้ เธอจึงออกเดินทางไปทั่วทั้งหมู่บ้านเพื่อตามหาเสียงจากแม่สัตว์ใจดีเพื่อหลอกล่อให้เจ้าลูกเจี๊ยบที่หลับอุตุยอมออกมาดูโลกภายนอกตามคำแนะนำของคุณหมอโฮ่ง หนังสือได้สะท้อนภาพความตั้งใจและความเพียรพยายามช่วยเหลือเจ้าไข่ขี้เซาผ่านตัวละคร ก่อนที่จะทิ้งท้ายด้วยช่วงเวลาแห่งความอบอุ่นของการกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาหลังจบภาระหน้าที่ระหว่างวันของพ่อไก่
เมล็ดพันธุ์แห่งความดี (The Seeds of Virtue)
(เรื่อง: ภาคภูมิ ศิริอาชาวัฒนา / รูป: ชนัญญา กิจเจริญชัย / แปล: ธันยา บรอคเคลแมน)
นิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) เล่าถึงเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากกล้าไม้โดยมีชายชราคนหนึ่งเฝ้าฟูมฟักเพาะปลูกมันขึ้นมา แต่แล้วกลับถูกสายลมพัดพาจนไปตกอยู่ในซอกตึกร้างซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะแก่การเติบโต กระทั่งเกิดเหตุการณ์โรคระบาดที่ทำให้เจ้าเมล็ดพันธุ์ได้ทำหน้าที่ที่มันไม่เคยรู้มาก่อนว่าตนเองทำได้ นั่นคือการเยียวยารักษา และเมื่อหมอหนุ่มค้นพบว่ามันเป็นยา เขาก็นำไปปลูกจนเต็มเมือง
หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากชีวประวัติของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว (พ.ศ.2454 – 2554) ซึ่งเป็นแพทย์ในยุคสมัยที่การสาธารณสุขยังไม่มีประสิทธิภาพ ผ่านช่วงเวลายากลำบากมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับการระบาดของอหิวาตกโรคและการพยาบาลในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา3 นอกจากนิทานจะใช้ความเป็นสมุนไพรเพื่อสื่อในด้านการสาธารณสุขตามความตั้งใจของผู้เขียนแล้ว เนื้อหายังสอดแทรกมุมมองความมุ่งมั่นที่จะเติบโตจนค้นพบตัวตนและที่ทางของตัวเองผ่านเจ้าเมล็ดพันธุ์นี้ด้วย
ป๊อกเปลี่ยนสี (The Boy Who Could Change His Color)
(เรื่อง: นทธี ศศิวิมล / ภาพ: พรวิไล เจษฎานภาวงศ์ / แปล: บุลวัชร เสรีชัยพร)
เป็นอีกหนึ่งเล่มที่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษแนบไว้ให้ท้ายเล่ม เรื่องราวของเด็กชายป๊อกที่สามารถเปลี่ยนสีได้ตามความรู้สึก ความแตกต่างทำให้เขามีแต่สีโทนหม่นหมองด้วยความโศกเศร้าที่เข้ากับใครไม่ได้ จนกระทั่งเจอคุณป้าใจดีมอบกระดาษที่ว่างเปล่าแล้วให้ป๊อกลองระบายสีของตนลงในนั้น เขาพบว่าทันทีที่ได้ใช้นิ้วลากถ่ายเทสีไปบนกระดาษก็ราวกับความกังวลได้ไหลรินออกไปด้วย จากนั้นเป็นต้นมาเขาก็เริ่มค้นพบสีใหม่ๆ จากการความรู้สึกเชิงบวกที่ตนเองได้เจอ เรื่องของป๊อกคล้ายเป็นการเชิญชวนให้เด็กๆ เรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์เชิงลบด้วยความสร้างสรรค์ ซึ่งระหว่างการอ่านอาจเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนกับเด็กๆ ถึงวิธีการที่พวกเขาใช้เมื่อตนเองตกอยู่ในอารมณ์เศร้าเสียใจได้
ตุ๊ดตู่
(เรื่อง: ภัทรา พิทักษานนท์กุล / ภาพ: สุวิมล ปรีชาพงศ์กิจ)
เรื่องนี้เป็นเรื่องโปรดของเรา เพราะทันทีที่อ่านจบแล้วยังนิ่งอยู่ที่หน้าสุดท้ายไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ใจยังทึ่งว่านี่อาจไม่ใช่แค่นิทานสำหรับเด็กแล้ว หนังสือเล่าเรื่องของเจ้า ‘ตุ๊ดตู่’ สัตว์ตัวเล็กที่เกิดจากไข่ในรังของแม่ไก่โดยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่ เพราะนับวันที่ยิ่งโต ยิ่งใช้ชีวิต ตุ๊ดตู่ก็ยิ่งค้นพบมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเขาแตกต่างจากสัตว์รอบข้างที่พบเจอแค่ไหน และในชั่วขณะที่เขาสับสน สิ่งที่เด่นชัดที่สุดกลับเป็นสิ่งที่สวนทางกับสัญชาตญาณดั้งเดิมของตัวเอง ท้ายสุดแล้วตุ๊ดตู่ยังคงเลือกในสิ่งที่ตนเชื่อและรู้สึก ซึ่งน่าคิดว่าความเชื่อและสิ่งที่ตุ๊ดตู่รู้สึกอาจเกิดขึ้นโดยสภาพแวดล้อม หาใช่ความเป็นจริงโดยธรรมชาติ นอกจากนี้ก็ยังชวนให้อยากค้นหาคำตอบอีกว่าแล้วระหว่างสองสิ่งนี้ สิ่งไหนที่ดีกว่าหรือควรเป็นไปมากกว่ากันแน่ เป็นนิทานภาพอีกเล่มที่น่าจะเชิญชวนให้เด็กๆ สงสัยและอยากตั้งคำถามขึ้นมา
ตุ๊ต๊ะ แมวน้อยไม่อยากปีนต้นไม้
(เรื่อง: ณิชา พีชวณิชย์ / ภาพ: สรรประภา วุฒิวร)
เรื่องราวของลูกแมวตัวกลมที่ไม่ชอบการปีนป่ายในเมืองที่ยกย่องการปีนป่ายว่าเป็นศักยภาพสูงสุดของแมวเหมียว แต่เมื่อตุ๊ต๊ะได้ก้าวออกไปพบเจอพื้นที่แห่งใหม่ก็ทำให้เขารู้ว่าตนเองสามารถมีความสุขในแบบอื่นได้หากเรามีโอกาสได้เลือกและลองทำ ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการประกวดนิทานของมูลนิธิเด็กภายใต้หัวข้อ “โรงเรียนของความรักและประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเล่มที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและเด็กๆ ได้แลกเปลี่ยนความหมายเหล่านี้ผ่านตัวละครสรรพสัตว์อันแสนน่ารักที่ต่างก็มีเรื่องราวของตัวเอง โดยแต่ละเรื่องจะมีคำนิยมจากคณะกรรมการตัดสินผลงาน ผศ.พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ กุมารแพทย์พัฒนาการเด็ก มาให้มุมมองที่ได้รับจากนิทานที่จะช่วยเป็นแนวทางให้กับผู้ปกครองนำไปต่อยอดชวนคุยระหว่างการทำกิจกรรมร่วมกัน และภายในเล่มยังมีผลงานนิทานดาวรุ่งอีก 7 เรื่องที่สนุกและน่าสนใจเช่นเดียวกัน ได้แก่
• อาณาจักรมดสีฟ้า (ผลงานโดย วรรณรินทร์ วินิจกิจเจริญ) ว่าด้วยเรื่องของดินแดนที่จะได้รับประโยชน์จากการเต็มไปด้วยความหลากหลายเมื่อผู้ปกครองมีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นคุณค่าในความแตกต่าง
• เรื่องเล่าของลูกกลมๆ (ผลงานโดย ปัญชณิก แสวงสุข) เป็นนิทานที่นำกีฬาฟุตบอลที่ต้องใช้ทั้งทักษะการเล่นเป็นทีมและการพูดคุยแลกเปลี่ยน ตลอดจนการเรียนรู้ที่จะรับฟังเพื่อให้ทีมได้รับชัยชนะ มาผสานเข้ากับแนวคิดการนำเสนอความเป็นประชาธิปไตย
• โรงเรียนผีเสื้อแห่งท้องทุ่งกว้าง (ผลงานโดย พัชราพรรณ เก้าเอี้ยน) เรื่องราวของการจัดสรรอาณาเขตและการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียนผีเสื้อที่มาอยู่ก่อนและฝูงผึ้งที่ย้ายถิ่นฐานมา ทำให้ดินแดนทุ่งคอสมอสขยายขอบเขตกลายเป็นทุ่งดอกไม้กว้างใหญ่กว่าที่เคย
• ห้องเรียนแห่งความสุข (ผลงานโดย ไปรยา ประดิพัทธ์ลาวัณย์) เมื่อชุดอุปกรณ์การเรียนในห้องเรียนของเด็กๆ ถกเถียงกันถึงความสำคัญที่ตนมี จนทำให้ไม่เหลือพื้นที่สำหรับความสุขและผลงานสร้างสรรค์ของเด็กๆ อีกต่อไป
• โรงเรียนกีฏวิทยา (ผลงานโดย พงศกร เถาทอง) นิทานที่จะชวนให้เห็นถึงผลลัพธ์จากการตัดสินใจลงมือทำในขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละแมลงแล้วประกอบขึ้นกลายเป็นผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจในภาพรวม
• ชั่วโมงเรียนหรรษา (ผลงานโดย ศศิภา กิจก้าวหน้า) นิทานที่สอดแทรกแนวคิดการเคารพเสียงส่วนใหญ่โดยไม่ลืมเสียงส่วนน้อย จากการร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ห้องเรียนสรรพสัตว์มีกิจกรรมร่วมกันที่นำมาซึ่งความสุขได้อย่างทั่วถึง
• โรงเรียนบ้านไพร (ผลงานโดย พีชะพะงา นิรัตติมานนท์) แม้ความคิดเห็นจะไม่ตรงกันแต่ก็ยังมีมิตรภาพที่ดีต่อกันได้ เป็นเรื่องราวของการอยากช่วยเหลือคุณยายให้ได้ไปเที่ยวอย่างมีความสุขของนักเรียนบ้านไพร แม้จะเลือกทางที่ต่างกันไปแต่เป้าหมายยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน
ดินแดนนิทานมหัศจรรย์
(เรื่อง: กชกร ชิณะวงศ์ / ภาพ: อลิสา นุรักษ์เข)
รางวัลชนะเลิศโครงการประกวดนิทานมูลนิธิเด็กในหัวข้อ “ถ้าโลกนี้ไม่มีนิทาน” เล่าถึงสถานที่แห่งนิทาน 7 เล่มที่จะมอบความสุขและรอยยิ้ม แต่เด็กที่จะมาได้ต้องได้รับอนุญาตจากนางฟ้าผู้ดูแลเท่านั้น และอ่านได้เพียงครั้งละ 1 เล่มแล้วกลับไปทำตามคำสอนของนิทานจึงจะกลับมาอ่านเล่มต่อไปได้ เด็กชายจูเนียร์เป็นผู้ที่ได้รับการ์ดเชิญ และนิทานเล่มแรกที่ว่าด้วยเรื่องความรักก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีเหลือเกินจนทำให้เด็กๆ ทุกคนได้มีโอกาสพิเศษแบบเดียวกันกับเขา นอกจากเนื้อหาที่ชวนติดตามของนิทานแล้ว แต่ละเรื่องยังประกอบด้วยคำนิยมจาก ดร.ประภาพรรณ จูเจริญ คณะกรรมการตัดสินซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการสมองและการเรียนรู้ มาบอกเล่ามุมมองที่ได้รับจากนิทานเพื่อช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจบริบทแฝงที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็กอีกด้วย โดยภายในเล่มยังมีนิทานดาวรุ่งอีก 7 เรื่อง ได้แก่
• มหัศจรรย์นิทานนางฟ้า (ผลงานโดย หทัยรัตน์ ทิพวะลี) เมื่อปีศาจเศร้าหมองเข้าใจว่าการกินนางฟ้าเทพนิยายซึ่งมีนิทานเป็นของตัวเองเข้าไปจะทำให้มันมีความสุขมากขึ้น แต่ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไปเมื่อมันพบเข้ากับเจ้าหญิงนางฟ้าที่มีความสามารถพิเศษไม่เหมือนใครและยังมีความเมตตาอยู่ในหัวใจอย่างเต็มเปี่ยม
• พระราชาหนักแน่นและพระราชาแสนสุข (ผลงานโดย ณิชา พีชวณิชย์) เรื่องเล่าของพระราชาสองพี่น้องที่มีอำนาจวิเศษในคู่ตรงข้าม พระราชาหนักแน่นเป็นคนจริงจังมีเหตุผล ส่วนพระราชาแสนสุขนั้นชอบความสนุกสนาน มีบ่อยครั้งที่พระราชาหนักแน่นต้องคอยปราม แต่ในดินแดนที่ขาดจินตนาการก็ย่อมยากที่จะนำมาซึ่งความสุขให้แก่ทุกคน
• นักเล่านิทานหน้าใหม่ (ผลงานโดย วรพรต ก่อเจริญวัฒน์) การออกเดินทางเผชิญหน้ากับความกลัวด้วยความกล้าและสติปัญญา ประกอบกับการมีเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองของมดตะนอยทำให้มันได้ค้นพบความสามารถใหม่และส่งต่อความสุขของบทเรียนการผจญภัยให้กับผู้อื่นได้มากมาย
• นิทานจากดาวไกล (ผลงานโดย เขมรัชฎ์ ไชยโย) เล่าถึงครอบครัวหนูจากโลกแห่งจินตนาการซึ่งมีหน้าที่ส่งมอบนิทานให้กับ ‘คนสำคัญ’ ของดาวแต่ละดวงเพื่อบอกเล่าความสนุกต่อๆ ไป และดาวซึ่งเป็นหมุดหมายที่พวกเขาออกเดินทางครั้งใหม่ก็คือดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก
• ผจญภัยตามล่านิทาน (ผลงานโดย เอลียาห์ จารุศศิธร) เมื่อวันหนึ่งตัวหนังสือในนิทานทั้งหมดได้หายไป ‘ออนเดรย์’ลูกสาวนักแต่งนิทานอันโด่งดังจึงตัดสินใจออกตามหาคำตอบ การผจญภัยที่เต็มไปด้วยความรักและความปรารถนาดีของเธอได้ทำให้โลกนี้กลับมามีนิทานอีกครั้ง
• ยูนิคอร์นน้อยจากดาวอื่น (ผลงานโดย อาภัสรา ตันติกำธน) เรื่องราวของยูนิคอร์นน้อยจากดาวแสนซึ่งกำลังถูกโรคระบาดแห่งความเศร้ารุมเร้า เขาจึงถูกส่งมาทำภารกิจขโมยพลังแห่งการเล่านิทานจากดาวโลกเพื่อทำให้เด็กๆ กลับมามีความสุขและเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของดาว แต่สิ่งที่ยูนิคอร์นน้อยขโมยไปกลับยิ่งทำให้โรคระบาดนั้นกระจายเป็นวงกว้างจนลามมายังดาวโลกด้วย
• เรื่องเล่าของเต่าน้อย (ผลงานโดย ธนกร ฤทธิ์จำนงค์) เรื่องราวชีวิตในหนึ่งวันอันน่าภาคภูมิใจของเต่าน้อยซึ่งเป็นวันเปิดเรียนวันแรกที่เขาเฝ้ารอ เต่าน้อยได้พบเจอสถานการณ์ที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจว่าควรจะทำอย่างไร ทั้งเรื่องการเจอกระเป๋าสตางค์ตกอยู่และการเห็นเพื่อนร่วมชั้นกำลังมีปัญหา
สำหรับเราแล้ว ไม่เพียงแต่นิทานภาพจะน่ารักและมีสีสันสดใสช่วยดึงดูดความสนใจจากเด็กๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ได้เท่านั้น แต่พลังแห่งการเล่าเรื่องที่ผูกโยงไว้กับตัวละครในนิทานต่างก็ส่งเสริมพัฒนาการให้กับพวกเขาที่ได้ดู ได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอารมณ์หรือจิตใจ มันอาจกระตุ้นให้เกิดเป็นความรู้สึกสงสัยใคร่รู้ เห็นอกเห็นใจ หรือความพยายามที่ทำให้ต้องลุ้นเอาใจช่วย ซึ่งการทำกิจกรรมร่วมกันเช่นนี้เป็นโอกาสให้ผู้ดูแลสามารถสร้างช่วงเวลาดีๆ และมอบมันให้เป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำแก่พวกเขาได้ กระทั่งในบางครั้ง ตัวเราเองกลับพบว่าระหว่างอ่านนิทานเด็กบางเล่มนั้นก็ได้รับแง่มุมน่าคิดบางอย่างที่ต่างกันไป
หรือไม่แน่ว่าเราก็อาจจะยังมีเด็กน้อยคนหนึ่งในมุมเล็กๆ ของหัวใจ ร้องเรียกหาจินตนาการที่อยากวางทุกความเป็นผู้ใหญ่ไว้ ในบางช่วง–บางตอน
ขอขอบคุณสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็กสำหรับการแบ่งปันหนังสือในบทความชุดนี้ให้ Readcommend ได้ส่งต่อความประทับใจพร้อมบอกเล่าความรู้สึกส่วนตัวที่ได้รับจากการอ่านค่ะ
Reference:
- Johanna Schoppmann, Franziska Severin, Silvia Schneider, Sabine Seehagen. (2023). The effect of picture book reading on young children’s use of an emotion regulation strategy. Accessed on July 6th, 2024. ↩︎
- Hannah Sheldon-Dean. (2024). Why Is It Important to Read to Your Child?; The benefits go far beyond literacy. Accessed on July 6th, 2024. ↩︎
- คลังข้อมูลจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล. (2554). ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว คุณพ่อเสมสุดที่รัก สุดบูชา ของลูกๆ พยาบาล โรงเรียนพยาบาล โรงพยาบาลหญิง. เข้าถึงวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2567. ↩︎