Skip to content
Home » Blog » รีวิวหนังสือ : The Power of Output ศิลปะของการปล่อยของ (ชิออน คาบาซาวะ)

รีวิวหนังสือ : The Power of Output ศิลปะของการปล่อยของ (ชิออน คาบาซาวะ)

รีวิวหนังสือ The power of output ศิลปะของการปล่อยของ

เดิมทีเราเคยคิดว่าการเรียนรู้หรือเพิ่ม Input อย่างต่อเนื่องถือเป็นการพัฒนาตนเองอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

ทั้งที่ในความเป็นจริง ความรู้จำนวนไม่น้อยหล่นหายระหว่างการใช้ชีวิตโดยเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

แต่ด้วยวิถีทางจากหนังสือเล่มนี้ ทำให้ตระหนักรู้ถึงวิธีการ ‘ปล่อยของ’ ที่สั่งสมไว้

เพราะบางครั้ง การปล่อยบางสิ่งไป – ก็ทำให้ได้อะไรบางอย่างกลับมา

✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️

ชิออน คาบาซาวะ (Shion Kabasawa)
จิตแพทย์ที่เผยแพร่ข้อมูลมากที่สุดในญี่ปุ่น และนักอ่านหนังสือตัวยง
จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ซัปโปโร
แล้วศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เมืองชิคาโก
เมื่อเขากลับมาญี่ปุ่น ก็ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยจิตวิทยาคาบาซาวะขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานหนังสือมาแล้วร่วม 28 เล่ม
และนี่คือตัวอย่างกิจกรรม Output อันน่าทึ่งของเขา
เขียน E-Magazine ทุกวันเป็นเวลา 13 ปี
โพสต์ Facebook ทุกวันเป็นเวลา 8 ปี
อัพโหลด Youtube ทุกวันเป็นเวลา 5 ปี
เขียนหนังสือ 3 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน เป็นเวลา 11 ปี
มีผลงานหนังสือ 2 – 3 เล่มต่อปี ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี
เปิดสัมมนาใหม่ ๆ เดือนละ 2 ครั้งขึ้นไป ติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปี
🎯 SUMMARY VIEW 🎯

: The Power of Output กล่าวถึงวิธีการนำสิ่งที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้มาถ่ายทอดด้วยรูปแบบวิธีการต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเราไปสู่จุดที่สูงกว่าแค่ศึกษาแล้วเก็บงำไว้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

: หนังสือแบ่งวิธีการทำ Output เป็น 3 พาร์ทใหญ่ นั่นคือ การพูด (TALK) การเขียน (WRITE) และการลงมือทำ (DO)

: บทเรียนถูกย่อยออกมารวมทั้งสิ้น 80 บทด้วยกัน โดยเนื้อหาแต่ละบทมีความกระชับ อ่านเข้าใจง่าย และมีการใช้ภาพประกอบพร้อมบทสรุปประเด็นหลักของบทไว้ในตอนท้าย ทำให้เป็นหนังสือที่อ่านง่ายมากในความคิดเรา

: การแตกหัวข้อออกมาจำนวนมากเช่นนี้ช่วยในเรื่องของการกลับมารื้อทวนข้อมูลซ้ำเป็นอย่างยิ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราสามารถทบทวนความรู้ที่มีได้โดยอ่านเพียงแค่สารบัญ

: เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพของการเรียนรู้ให้เต็มศักยภาพ หรือผู้ที่กำลังหาแนวทางการสร้าง Output เพื่อทำให้ความรู้ที่ได้สามารถยึดโยงกับการใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงอย่างที่ต้องการ เพราะ Input ที่ไม่ได้มีการเกลาหรือทำ Output ออกมามีโอกาสถูกลืมเลือนได้ง่ายกว่า รวมถึงผู้ที่อยากได้เทคนิคการเขียนหนังสือจากผู้เขียนที่มีผลงานตีพิมพ์มาแล้ว 28 เล่มในชีวิตของเขา

: พาร์ทสุดท้ายมีเทคนิคการฝึกทักษะการทำ Output ทางด้านการเขียนลงบนแพลตฟอร์มโซเชียล ซึ่งนับว่ามีความทันยุค ทันสมัย และน่าจะตรงใจผู้ที่ต้องการเริ่มต้นปล่อยของด้วยวิธีที่ง่ายและใกล้ตัว
รีวิวหนังสือ ศิลปะของการปล่อยของ

“ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” เป็นคำที่ผุดขึ้นมาบางช่วงตอนขณะที่เรากำลังศึกษาวิธีการปล่อยของจากจิตแพทย์และนักเขียนผู้ใช้เวลาเที่ยวเล่นไม่แพ้ใคร แต่ก็ยังมีวินัยของการสร้าง Output ของตัวเอง เราเป็นอีกคนที่มักจะมองหาทางเพิ่ม Input ให้กับสมองโดยไม่ค่อยสนใจถึงการนำมันออกมาใช้ ความรู้บางส่วนจึงมักเลือนหายไป หรือบางครั้งก็แค่รับรู้และอยู่ในหัวว่าเคยผ่านตามาแล้ว รายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมากที่อาจนำไปปรับใช้ได้จริงกับชีวิตปัจจุบันของเราถูกละทิ้งความสำคัญ บ่อยครั้งที่จดจำได้แค่หัวข้อของเรื่องราวที่ได้ศึกษา และนั่นเป็นเหตุผลที่เราเห็นหนังสือเล่มนี้แล้วถึงกับกระตุ้นต่อมความอยากรู้ของเราขึ้นมาทันทีทันใด

ชิออน คาบาซาวะ ได้ให้กฎในการสร้าง Output ว่า “ข้อมูลที่นำมาใช้ 3 ครั้งใน 2 สัปดาห์ จะกลายเป็นความทรงจำระยะยาว และอัตราส่วนที่ดีที่สุดระหว่าง Input : Output ควรเป็น 3:7” ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้สำหรับเพศและวัยใดก็ตาม นอกจากนี้ยังต้องรู้จักการทำ Feedback เพื่อประเมินการเรียนรู้ของเราว่ามีสิ่งใดขาดตกบกพร่องหรือไม่ และเมื่อเราหมั่นฝึกฝนวงจรการเรียนรู้ – ปล่อยของ – ประเมินผล อย่างต่อเนื่อง นั่นจึงถือเป็นวิธีพัฒนาการเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพเช่นที่มันควรจะเป็น

การตอกย้ำของเขาดูจะเป็นเรื่องท้าทายเมื่อแท้จริงแล้วข้อมูลบางส่วนเป็นสิ่งที่เราน่าจะรับรู้กันได้อยู่แล้ว เพียงแต่อาจไม่ได้ใส่ใจตระหนักยึดมั่นไว้เป็นแก่นแกนของการเรียนรู้ การได้ทำความรู้จักผ่านหนังสือโดยนักเขียนผู้มีผลงานประจักษ์ยืนยันถึงการหมั่นสร้าง Output ของตัวเองจึงช่วยให้เราประทับข้อมูลต่าง ๆ นั้นไว้ให้ฝังลงไปในสมอง

ศิลปะของการปล่อยของได้แบ่งวิธีสร้าง Output ไว้เป็น 3 ส่วน นั่นคือ การพูด (TALK) การเขียน (WRITE) และการลงมือทำ (DO) พร้อมทั้งอธิบายแต่ละส่วนว่าเราจะทำการสร้างสิ่งเหล่านั้นผ่านกลวิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมาได้อย่างไรบ้าง ต้องบอกว่าสำหรับเราแล้วไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด แต่ทุกบทมีรายละเอียดที่ช่วยให้เราเข้าถึงวิธีการเหล่านั้นได้อย่างลึกซึ้งและรู้สึกอยากนำไปทดลองใช้อย่างยิ่ง

ราวกับว่าผู้เขียนเก็บทุกสัมผัสที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้าง Output ได้ แล้วกลั่นกรองพร้อมจับประเด็นให้กระชับ โดยใช้ภาพวาดประกอบและกรอบสรุปสั้น ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ตรงกับจุดประสงค์ของผู้เขียนที่ต้องการสื่อผ่านบทเรียนนั้น ๆ ทำให้แม้สารบัญจะแยกยิบย่อยก็ไม่ได้สร้างความสับสนงุนงงเวลาอ่าน จะว่าไปถือเป็นข้อดีของหนังสือเล่มนี้ด้วยซ้ำ เพราะคล้ายกับว่าเรามีคู่มือที่พร้อมใช้งานได้จริงโดยพลิกหาข้อมูลผ่านทางสารบัญ รวดเร็ว เข้าใจง่าย และตอบโจทย์คนชอบเรียนรู้โดยเน้นเนื้อหาหลักสำคัญที่หนังสือต้องการสื่อสาร

The power of output รีวิว

วิธีปล่อยของของผู้เขียนเป็นสิ่งที่เราสามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือการทำงานตามปกติได้เลย ไม่จำเป็นว่าจะต้องสร้างตารางกิจวัตรใหม่เพื่อใส่ช่วงเวลาของการทำ Output เพียงอย่างเดียว (แต่หากทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ) ผู้เขียนย่อยการเรียนรู้ให้สามารถเกิดการทำได้จริงแม้แค่เพียงในระยะเวลาสั้น ๆ เริ่มแรกที่เราอ่านบทนำเกี่ยวกับตัวอย่างการสร้าง Output ของเขาก็ถึงกับเผลออุทานว่า บ้าไปแล้ว ! แต่เมื่อมาเรียนรู้สิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมาจึงได้เข้าใจ สิ่งที่เขาทำนั้นดูไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย

โดยภายในเล่มก็ได้มีการเปิดเผยเทคนิควิธีการรวบรวมไอเดียที่ทำให้เขามีหนังสือเป็นของตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปี เช่น เทคนิคการประมวลไอเดียด้วยการ์ด 100 แผ่น และเทคนิคการเขียนบทความให้เร็วด้วยแพทเทิร์นที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้กับการเขียนบทความในทุกหมวดหมู่ อีกทั้งเขายังแนะนำให้ผู้ที่ต้องการเป็นนักเขียน หรือนักอยากเขียนให้หมั่นสะสมข้อมูลพร้อมแหล่งอ้างอิง รวมถึงหมั่นฝึกเขียนแผนงานอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ (เราประยุกต์เอาว่าแผนงานสามารถใช้กับการเขียนโครงการอะไรก็ตามที่เราบังเอิญนึกขึ้นได้ และมีรายละเอียดภาพรวมพร้อมไอเดียทั้งหมดบรรจุไว้) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่เขาใช้และนำมาบอกต่ออย่างไม่หวงแหน แม้จะดูไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ต้องบอกว่าถ้าไม่มีวินัยมากพอ การทำอย่างต่อเนื่องเฉกเช่นชิออน คาบาซาวะก็ดูจะไม่ง่ายเลย

ต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้สมบูรณ์อย่างยิ่งเมื่อมันมีรายละเอียดในส่วนของการลงมือทำ ซึ่งเป็นบทเรียนที่นอกเหนือไปจากวิธีการแบบ Outward เพราะเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมของตัวเองเพื่อที่จะปล่อยของให้ดีที่สุด อาจเพราะผู้เขียนเป็นจิตแพทย์ และจุดมุ่งหมายของเขาคือการสอนให้คนเรียนรู้วิธีการสร้าง Output ซึ่งสามารถกลายมาเป็นหนทางในการปลดปล่อยตัวเองจากปัญหาที่หมักหมมอยู่ในหัวได้ ฉะนั้นเราจึงมั่นใจได้ว่าวิธีการต่าง ๆ ในเล่มล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานโดยผู้เขียนที่มีความรู้ทางด้านจิตวิทยาเป็นอย่างดี นับเป็นการเรียนรู้แนวทางที่น่าจดจำและนำไปใช้ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงใดของชีวิต

ส่วนสุดท้ายผู้เขียนได้เพิ่มทักษะของการทำ Output ผ่านการเขียนและเผยแพร่ทางออนไลน์ซึ่งเป็นวิธีที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในยุคสมัยแห่ง Social Network Service (SNS) ในความคิดของชิออนนั้นมองว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และปัจจุบันคนเรามักใช้สมาร์ทโฟนในการทำ Input มากกว่า Output แทบจะตลอดทั้งวันขณะลืมตาตื่น ดังนั้นหากเราสามารถหยิบหลัก 3:7 มาใช้ได้ การฝึกปรือวิธีสร้าง Output ของเราก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม

หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็น Output ชิ้นโบว์แดงสำหรับชิออน คาบาซาวะอย่างแท้จริง เนื่องจากการสอนคนอื่นต่อนั้นถือเป็นวิธีการปล่อยของที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเป็นไปได้ว่าผู้ที่จะส่งต่อประสบการณ์ใด ๆ ก็ตามได้คือผู้ที่เวียนวนกับความเข้าใจนั้นภายในตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนแตกฉาน และว่ากันตามจริงแล้ว เราทุกคนอาจมีวิธีเรียนรู้ได้เหมือนกัน แต่การปล่อยของของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่าง คล้ายการอ่านหนังสือแต่ละเล่มแล้วนำมาบอกเล่าเชิญชวนนั้นก็ย่อมมีมุมมองในการนำเสนอที่ต่างกันออกไป

ยิ่งเราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้อื่นเข้าใจได้มากเท่าไร เราก็อาจยิ่งจดยิ่งจำได้มากขึ้นเท่านั้น

และนั่นคือ ‘ศิลปะของการปล่อยของ’ …

รีวิวหนังสือ The power of output - contents

“ศิลปะของการปล่อยของ The Power of Output”

ผู้เขียน : ชิออน คาบาซาวะ (อาคิรา รัตนาภิรัต แปล)

จำนวนหน้า : 344 หน้า / ราคาปก : 420 บาท

สำนักพิมพ์ : แซนด์คล็อคบุ๊คส์

หมวด : พัฒนาตนเอง

📌 สนใจหนังสือเล่มนี้

🛒 ร้านนายอินทร์

🛒 ร้าน SE-ED

🛒 SHOPEE ONLINE

🛒 LAZADA ONLINE

นิ้วกลม ความเรียง รีวิวหนังสือ ความรัก
ค้นพบความอบอุ่นและแง่มุมสวยงามจากการนิยามความหมายที่สอดแทรกอยู่ในห้วงแห่งรัก กับนักเขียนที่ถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างอบอุ่นละมุนละไมที่สุดคนหนึ่ง
ก.ย. 14, 2022
รีวิวหนังสือ การคิดคอนเซ็ปต์
เพราะคอนเซปต์ที่ดี สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยกระบวนการคิดทางด้านร่างกาย ไม่เพียงแต่การใช้สมองเท่านั้น ชวนอ่านหนังสือเล่มกะทัดรัดที่จะช่วยให้คุณสร้างคอนเซปต์ต่าง ๆ ของตัวเองได้อย่างง่ายดาย
ส.ค. 8, 2021
รีวิวหนังสือ นิ้วกลม 2022 ไม่เป็นบ้าไปกับโลก LIP L.I.P
อ้าแขนเปิดรับการปลอบประโลมที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งจากนักเขียนสายฮีลใจ ชวนให้คุณพักจากโลกเร็ว - โลกไว - โลกบ้า ... Why do we only ‘Rest In Peace’, why don’t we ‘Live In Peace’ too? ...
มิ.ย. 15, 2022
รีวิวหนังสือ เงียบ silence in the age of noise Erling Kagge
ชั่วขณะที่คุณอยากหลบพักจากเสียงตะโกนของโลกภายนอก มีสิ่งหนึ่งที่คุณเป็นเจ้าของและไม่เคยเรียกร้องให้คุณออกตามหา แต่เชื่อเถอะว่ามันคุ้มค่าที่จะใช้เวลาด้วย ...ชวนคุณค้นพบความเงียบภายใน สมบัติล้ำค่าที่ไม่ว่าใครก็มีในครอบครองไม่เหมือนกัน
เม.ย. 17, 2022