เราเคยคิดว่า “คอนเซปต์” เป็นไอเดียเจ๋ง ๆ ที่ปิ๊งขึ้นมาจากการคิดในเรื่องหนึ่งอย่างหมกมุ่นโดยมองข้ามสิ่งอื่น
แท้จริงแล้ว มันเป็นสิ่งถูกสร้างขึ้นมาได้
ด้วยกระบวนการคิดของร่างกาย ไม่ใช่สมอง
✒️ เกี่ยวกับผู้เขียน ✒️ ยะมะดะ โซ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ และที่ปรึกษาของบริษัทเดนท์สุ บริษัทเอเจนซี่โฆษณาอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นและอันดับ 5 ของโลก (ข้อมูลปี 2020) ในปี 2009 เขาได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสิน ของเทศกาล Cannes Lions International Festival of Creativity ณ เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส
🎯 SUMMARY VIEW 🎯 : ช่วยเรื่องวิธีคิดคอนเซปต์ผ่านการคิดด้วยร่างกาย (การรู้สึก) : ใช้ “โครงกางเขน” เป็นตัวจัดการองค์ประกอบหลักของคอนเซปต์เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ : มี “เทคนิคการคิดวน” เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย : มีกรณีตัวอย่างให้ทดลองศึกษาบางส่วน : เหมาะกับนักสร้างสรรค์มือใหม่หรือใครก็ตามที่อยากได้แนวทางการคิดคอนเซปต์ฉบับย่อ : ภาษาการแปล การเปรียบเทียบ และคำอธิบาย ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจน : เล่มบาง กะทัดรัด อ่านจบได้ในเวลารวดเร็ว
ในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์เช่นนี้ เรามักจะรู้สึกว่าหัวไม่แล่น คิดอะไรไม่ออก ในยามที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาสักชิ้น คล้ายกับว่าความคิดมันวนไปเวียนมาภายในหัวแต่ไม่มีคำตอบที่ต้องการ นั่นเป็นเหตุผลของการตัดสินใจหยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เพราะรู้สึกอยู่ลึก ๆ เหมือนกันว่า Concept is Everything
ทุกอย่างล้วนแล้วแต่มี “คอนเซปต์” เป็นของตัวเองเสมอ
และคอนเซปต์ที่ “ต่างออกไป” ก็ย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ส่งผลให้สิ่ง ๆ นั้นมีคุณค่าในแบบฉบับของตัวมันเอง อะไรที่ไม่เหมือนใครอาจมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจมากกว่า และด้วยความสดใหม่ของแนวคิดในทางธุรกิจหรือตลาดของการขายผลงานทางความคิดสร้างสรรค์ ก็ย่อมทำให้เจ้าของคอนเซปต์นั้นกลายเป็นผู้ริเริ่มได้อีกด้วย
ผู้เขียนเปรียบเทียบคอนเซปต์นี้ว่ามันคือไฟส่องทางที่จะฉายให้โลกแห่งประสบการณ์นั้นสว่างไสว และท่ามกลางคอนเซปต์อันหลากหลายที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนั้น การจะสร้างแนวคิดใหม่ขึ้นมาอาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เราจำเป็นต้องสลัดสามัญสำนึกเก่าที่ยึดติดกับภาพลักษณ์เดิมเหล่านั้นทิ้งไป และริเริ่มใหม่ด้วยการคิดจากร่างกาย นั่นคือการรับรู้ทางความรู้สึก และใช้ “เทคนิคคิดวน” ซึ่งเป็นเทคนิคที่เขาใช้ในวงการโฆษณา แต่มันสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกโครงการที่เราอยากปั้นผลงานรวมไปถึงการสร้างคอนเซปต์
อีกส่วนหนึ่งที่เราชอบคือการเล่าถึง “โครงกางเขน” ของการคิดด้วยร่างกาย อันประกอบไปด้วยแกนการจัดการแนวตั้ง ที่เริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ เงื่อนไข คอนเซปต์ และการลงมือทำ ประกอบเข้ากับแกนการสื่อสารแนวนอน ซึ่งเป็นส่วนของกลุ่มเป้าหมายและสินค้าหรือบริการของเรา เราว่าแผนภาพนี้เหมาะมากสำหรับผู้เริ่มต้น เพราะมันทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจน และยังสามารถวิเคราะห์ภาพรวมของตลาดที่โครงการเราจะก่อร่างขึ้นมาด้วย
อย่างไรก็ตาม แผนภาพโครงกางเขนนั้นไม่อาจลุล่วงได้ด้วยการทำเพียงหาคำตอบเติมเต็มตามตารางให้สมบูรณ์เท่านั้น หากแต่ยังต้องอาศัยเทคนิคการคิดวนที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้ เพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นภาพฉายที่สะท้อนวนไปวนมา (ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว) และมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง
และสำหรับใครที่กำลังมองหาแนวทางการคิดคอนเซปต์และเทคนิคที่จะช่วยให้เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในฉบับรวบรัด เราว่าเล่มนี้ค่อนข้างตรงตามจุดประสงค์ เพราะนอกจากจะได้คำตอบดังใจในระยะเวลาอันสั้นแล้ว ก็ยังสามารถใช้มันเป็นคู่มือในการคิดทำโครงการหรือต่อยอดพัฒนาของที่มีอยู่เดิมให้เกิดภาพลักษณ์ที่แตกต่างออกไป
เพราะคอนเซปต์ที่มีความแปลกใหม่ สามารถสร้างขึ้นได้โดยอาศัยกระบวนการ
“Concept is Everything”
ผู้เขียน : ยะมะดะ โซ (โยซุเกะ แปล)
จำนวนหน้า : 144 หน้า / ราคาปก : 185 บาท
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น
หมวด : ธุรกิจ/จิตวิทยา
📌 สนใจหนังสือเล่มนี้