สำหรับนักอ่านตัวยงเราเชื่อว่าแต่ละคนคงมีวิธีเลือกซื้อหนังสือของตัวเองกันโดยเฉพาะอยู่แล้ว แต่สำหรับใครที่เริ่มอยากหาหนังสืออ่านสักเล่มแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน วันนี้เรามีวิธีง่าย ๆ ของเราเองมาแนะนำเพื่อน ๆ เผื่อไว้ใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกซื้อหนังสือกันค่ะ ^^
1.) เลือกหนังสือที่มีเนื้อหาอยู่ในความสนใจของเราเป็นลำดับต้น ๆ
แน่นอนว่าอะไรที่เราสนใจย่อมเสริมสร้างแรงบันดาลใจได้ดีกว่า ลองนั่งสำรวจตัวเองหรือคิดทบทวนว่าเรากำลังอยากเรียนรู้อะไร มีเรื่องไหนที่เราสนใจในตอนนี้บ้าง แล้วเริ่มต้นจากความอยากรู้อยากเห็นนั้น
2.) ลองหาอ่านรีวิวหนังสือเล่มดังกล่าว
วิธีนี้ทำให้เราได้รู้จักภาพรวมคร่าว ๆ ของหนังสือว่ากล่าวถึงอะไร มีวิธีการเล่าเรื่องอย่างไร นักรีวิวหนังสือบางคนสามารถให้รายละเอียดแง่มุมที่ได้จากการอ่านและประสบการณ์บางอย่างจากหนังสือนั้นได้ดีถึงขั้นที่ว่าพาให้เราตัดสินใจซื้อหนังสือได้ตั้งแต่ขั้นตอนนี้เลย
3.) ค้นหาหรือเปรียบเทียบกับหนังสือเรื่องอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาแบบเดียวกัน
ความสงสัยใคร่รู้ที่ไม่จบสิ้นจะชวนให้เราคัดกรองสิ่งที่ตรงใจเราได้มากที่สุดเสมอ แต่กระบวนการนี้ก็ก้ำกึ่งอยู่เหมือนกันนะคะ เพราะบางทีเราก็มีตัวเลือกเยอะเกินไปจนทำให้เสียทั้งเวลาและเหนื่อยล้าที่จะตัดสินใจไปเลย
4.) พิจารณาจำนวนครั้งที่ตีพิมพ์ ความนิยม หรือ Best Seller
เพราะมันอาจจะเป็นเครื่องการันตีขั้นแรกเริ่มได้ดีทีเดียว การตีพิมพ์หรือลิขสิทธิ์ในการแปลมีต้นทุนค่าใช้จ่ายของมัน เล่มใดที่มีการตีพิมพ์ซ้ำบ่อยครั้ง แปลไปหลายภาษา หรือว่าสร้างรายได้ระดับ Best Seller ก็อาจอนุมานได้ว่าหนังสือเล่มนั้นคุ้มค่าที่จะหยิบขึ้นมาอ่านได้เหมือนกันค่ะ
ในขั้นตอนข้างต้นนี้ทำได้โดยไม่ยากนักเมื่อเรามีเครื่องมือช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
แล้วกรณีที่เราเดินเข้าร้านหนังสือแบบตัวเปล่าเลยล่ะ?
เรามีอีก 4 ข้อเคล็ดลับที่ใช้พิจารณาเลือกหยิบหนังสือติดมือกลับบ้านได้แบบไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลังของเรามาฝากกันด้วยค่ะ ^^
1.) หน้าปก + ชื่อหนังสือ
นับเป็นสิ่งจูงใจอย่างแรกที่จะเชิญชวนให้มองเห็นได้ยามกวาดสายตามองไปรอบ ๆ ร้านที่เรียงรายไปด้วยกระดาษอัดเป็นเล่ม ๆ หากการออกแบบปก สีสัน ความสวยงามมันท้าทายให้หยิบ และมีชื่อหนังสือที่ตรงกับความสนใจ เราก็จะไม่รอช้าที่จะคว้าค่ะ
2.) ผู้เขียน + ความนิยม
ถ้าเป็นนักเขียนในดวงใจหรือผู้เขียนคนเดียวกันกับเล่มที่เราเคยอ่านแล้วว่าดี ย่อมมีแรงจูงใจให้อยากหยิบแน่นอน แต่หากว่าไม่ใช่ ความนิยมของนักเขียนเป็นสิ่งที่เราสังเกตค่ะ หากมีการันตียอดขาย จำนวนครั้งที่ตีพิมพ์บ่อย หรือได้รับการแปลไปแล้วหลายภาษา ก็จะช่วยกระตุ้นความอยากจ่ายของเราขึ้นมาได้
3.) คำโปรยปกหลัง + สารบัญ
อันนี้คือลำดับถัดไปที่เราเก็บมาคิดและมีส่วนในการตัดสินใจไม่น้อยเลยค่ะ บางครั้งชื่อหนังสือตรงใจแต่สารบัญข้างในไม่ใช่อย่างที่คิด เล่มนั้นก็จะถูกวางกลับลงที่เดิม
4.) ลองเปิดอ่านเนื้อหาภายในถ้าทำได้
เราจะลองเปิดอ่านดูคร่าว ๆ บางย่อหน้า หรือบางข้อความค่ะ ดูภาษาว่าเราอ่านแล้วพอทำความเข้าใจได้ง่ายมั้ย การจัดรูปแบบเล่ม ตัวอักษร ช่วยให้เราอ่านได้อย่างราบรื่นหรือเปล่า
และเมื่อทุกอย่างเข้าเงื่อนไขทะลุปรอทความอยากได้ ก็หยิบไปจ่ายตังค์แล้วค่ะสำหรับเรา ^^
หวังว่า 4 วิธี 4 ข้อเคล็ดลับนี้จะพอช่วยเพื่อน ๆ ที่กำลังหาแนวทางกันได้บ้างนะคะ